ปิยรัฐ จงเทพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปิยรัฐ จงเทพ
ปิยรัฐ ใน พ.ศ. 2566
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
กรุงเทพมหานคร เขต 23
เริ่มดำรงตำแหน่ง
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
(1 ปี 4 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 ตุลาคม พ.ศ. 2533 (33 ปี)
อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเทศไทย
พรรคการเมืองอนาคตใหม่ (2561 – 2563)
ก้าวไกล (2563 – ปัจจุบัน)
ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
อาชีพช่างไฟฟ้า
นักการเมือง
ทรัพย์สินสุทธิ6.5 ล้านบาท[1]

ปิยรัฐ จงเทพ (เกิด 23 ตุลาคม พ.ศ. 2533) ชื่อเล่น โตโต้ เป็นนักการเมืองชาวไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัด พรรคก้าวไกล และเป็นอดีตนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ฉีกบัตรลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2559 และเขาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดที่มีชื่อว่า We Volunteer หรือการ์ดวีโว่ในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

ประวัติการศึกษา[แก้]

  • ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (เกียรตินิยมอับดับ 1)
  • ปริญญาตรี ครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ปัจจุบันสาขานี้ถูกยกเลิกไปแล้ว)[2]

การทำงาน[แก้]

  • พ.ศ. 2557-2561 - ช่างเทคนิคสายอากาศ การไฟฟ้านครหลวง เขตบางนา
  • พ.ศ. 2562-2563 - ผู้ชำนาญการประจำตัว สส. รังสิมันต์ โรม
  • พ.ศ. 2562-2563 - ผู้ประสานงานฝ่ายเครือข่าย พรรคอนาคตใหม่[3]

การเมือง[แก้]

ในปี พ.ศ. 2553 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ปิยรัฐในขณะนั้นศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 เดินทางไปสังเกตการณ์การชุมนุม และตัดสินใจเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม เขาจึงเข้าไปหลบอยู่ที่วัดปทุมวนาราม[4]

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ที่นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปิยรัฐและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้ออกมาทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร และหนึ่งในกิจกรรมที่เริ่มทำให้ปิยรัฐเริ่มเป็นที่รู้จัก คือกิจกรรมต่อต้านศาลทหารในปี พ.ศ. 2558 เขายังเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยใช้ชื่อว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่ง หนึ่งในนั้นมี รังสิมันต์ โรม เป็นแกนนำ[5]

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ปิยรัฐเดินทางมาเขียนใบสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคอนาคตใหม่[6] และผ่านกระบวนการคัดเลือกได้เป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ อันเป็นจังหวัดบ้านเกิดของเขาเอง แต่ไม่ได้รับเลือก โดยปิยรัฐได้ 17,800 คะแนน เป็นอันดับที่ 3[7]

ในปี พ.ศ. 2563 เกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปิยรัฐได้สร้างกลุ่มการ์ดที่มีชื่อว่าวีโว่ หรือ We Volunteer ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยผู้ชุมนุม[8] โดยเขาเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของการชุมนุม และถูกดำเนินคดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีมาตรา 112[9], คดีรื้อลวดหนามที่บริเวณแยกอุรุพงศ์[10], คดีอั้งยี่-ซ่องโจร[11], และคดีฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน[12]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ปิยรัฐลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตพระโขนง-บางนา กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ส่งเขาลงสมัคร แทนนายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันซึ่งสังกัดพรรคก้าวไกลในขณะนั้นว่า นายสมเกียรติไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการคัดเลือกของพรรคและกรรมการบริหารพรรค อีกทั้งนายปิยรัฐยังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่และมีผู้สนับสนุนอยู่จึงมีความเหมาะสมมากกว่า[13][14]

3 เมษายน พ.ศ. 2566 ปิยรัฐได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตพระโขนง-บางนา หลังจากที่ถูกร้องว่า เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันน้อยกว่า 5 ปีการศึกษา[15]

และต่อมา ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 47,225 คะแนน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

ปิยรัฐได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 1 สมัย

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล

คดีความ[แก้]

7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ปิยรัฐได้ทำการฉีกบัตรเลือกตั้งในวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่คูหาเลือกตั้งเขตบางนา พร้อมตะโกนว่า“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เนื่องจากไม่เห็นด้วยและไม่พึงพอใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาภายใต้การควบคุมสิทธิในการแสดงออกของพลเมืองจากรัฐบาล คสช.ในขณะนั้น ทำให้เขาถูกจับกุมและดำเนินคดีทันทีหลังจากฉีกบัตรลงประชามติ[16] และถูกตัดสินความผิดที่ศาลอาญาพระโขนง โดยศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี[17]

ปิยรัฐถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดทำป้ายไวนิลวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล แล้วใส่ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และโพสต์เผยแพร่ภาพป้ายดังกล่าวที่ติดตั้งอยู่ข้างทางใน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยถูกฝากขังเป็นเวลา 33 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัว[18]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนึ่ง (2023-09-22). "'สส.โตโต้' แจงยิบหลัง ปปช. เปิดทรัพย์สินรวย 6.5 ล้าน มีรถ 5 คันราคารวม 1 ล้าน".
  2. "ประวัติ โตโต้ ปิยรัฐ ว่าที่ ส.ส.เขตพระโขนง บางนา อดีตนักกิจกรรมการเมือง". www.thairath.co.th. 2023-05-15.
  3. "ปิยรัฐจงเทพ". election66.moveforwardparty.org.
  4. "เส้นทางชีวิต 'โตโต้' แม่ทัพการ์ด WeVo ผู้ผ่านสมรภูมิพฤษภาอำมหิต ปี '53 / บทความพิเศษในประเทศ". matichonweekly.com. 2021-02-22.
  5. ""รังสิมันต์ โรม" สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ท้าสู้เผด็จการ". Thai PBS.
  6. ""รังสิมันต์ โรม" สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ท้าสู้เผด็จการ". Thai PBS.
  7. "ประวัติ โตโต้ ปิยรัฐ ว่าที่ ส.ส.เขตพระโขนง บางนา อดีตนักกิจกรรมการเมือง". www.thairath.co.th. 2023-05-15.
  8. "'ผมยังเชื่อว่ามีทหารและตำรวจฝั่งประชาธิปไตย' คุยกับ ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้าการ์ด WeVo". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-02-23.
  9. "อัยการยื่นฟ้อง "โตโต้-ปิยรัฐ" อดีตหัวหน้าการ์ดกลุ่ม WeVo โพสต์หมิ่นเบื้องสูง". mgronline.com. 2021-11-30.
  10. "อัยการสั่งฟ้อง 'ก๊วนวีโว่' รื้อลวดหนาม ขัดขวางจนท. ขอให้นับโทษ 'โตโต้' ต่ออีกหลายคดี". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
  11. "ฝากขัง 'โตโต้'กับพวกรวม 15 คน ข้อหา 'อั้งยี่-ซ่องโจร'". bangkokbiznews. 2021-03-08.
  12. "โตโต้-ปิยรัฐ หัวหน้าการ์ดวีโว่ กับพวกรวม 16 คน ถูกตั้งข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังไลฟ์ขายกุ้ง". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-11-04.
  13. หยู (2022-09-10). "'ก้าวไกล' แจงส่ง 'โตโต้' เด็กเส้นธนาธร ลงส.ส.เขตพระโขนง อ้างคนเก่าไม่ตอบโจทย์!".
  14. ‘โตโต้’ แนะนำตัวชัด ‘เข้ามาเป็นจุดอ่อนพรรค ก.ก.?’ อ้อนชาวพระโขนง-บางนา ขอเป็นตัวแทน ‘สู้อีกบทบาท’ มติชน
  15. ""โตโต้ ปิยรัฐ"เฮ กกต.ไฟเขียวเป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 23 ไร้ปัญหาการศึกษา". thansettakij. 2023-05-08.
  16. "ครึ่งเช้าลงประชามติพบฉีกบัตรแล้ว 7 ครั้ง ส่วนใหญ่เข้าใจผิด". Thai PBS.
  17. "ฎีกา พิพากษายืน คุก 4 เดือน ปรับ 4 พัน "โตโต้-ปิยรัฐ" ฉีกบัตรประชามติ". www.thairath.co.th. 2020-07-21.
  18. "ฐานข้อมูลคดีสิทธิเสรีภาพ". database.tlhr2014.com.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]