ประหยัด ไพทีกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประหยัด ไพทีกุล (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2455---24 ตุลาคม พ.ศ. 2530) เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนชลประทานวิทยา อดีตหัวหน้าแผนกอาณาบาลกรมชลประทาน เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ที่ตำบลดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนโตของนายประยูร ไพทีกุล และนางเฮียง ไพทีกุล มีน้องชาย 2 คน คือ นายประสิทธิ์ ไพทีกุล และนายประยงค์ ไพทีกุล สำหรับชีวิตสมรส อาจารย์ประหยัด ไพทีกุล ได้สมรสกับนางแถบ ศรีตะปันย์ ที่จังหวัดนครนายก มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน คือ

  1. พล.ร.อ.วิศาล ไพทีกุล รับราชการกองทัพเรือ
  2. นางกัลยา ปัญญาชีวะ รับราชการกรมชลประทาน
  3. นายยรรยง ไพทีกุล รับราชการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรการศึกษา

ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2530 อาจารย์ประหยัด ไพทีกุล ได้จากไปด้วยอาการสงบ ในขณะมีอายุได้ 75 ปี

การศึกษา[แก้]

ในวัยเด็กได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมโสมนัสวิหาร สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 3 ต่อมาภิกษุเขมรสี (ขณะที่ยังเป็นถวัลย์ ชาติอาษา) ได้ชักชวนให้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล 2 ปี และโรงเรียนอัสสัมชัญ 1 ปี ต่อมาเมื่อได้จัดตั้งโรงเรียนและเป็นครู ที่โรงเรียนนายกวัฒนากร สอบชุดครู พ.ม.ได้ ต่อมาศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองจนสำเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2495 นอกจากนั้นยังศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเองจนแตกฉานทั้งการพูด และการเขียนในระหว่างที่อุปสมบทอยู่ที่วัดมหาธาตุสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค จึงมีความรู้ด้านภาษาไทยและภาษาบาลี

หน้าที่การทำงาน[แก้]

  • พ.ศ. 2477 ร่วมก่อตั้งโรงเรียนนายกวัฒนากร ในขณะครองเพศบรรพชิต
  • พ.ศ. 2485 รับราชการครูโรงเรียนประจำจังหวัดนครนายก
  • พ.ศ. 2486 รับราชการครูโรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี
  • พ.ศ. 2492-2491 รับราชการครูโรงเรียนประจำจังหวัดนครนายก
  • พ.ศ. 2492-2495 รับราชการครูโรงเรียนนายกวัฒนากร และช่วยดำเนินการและวางระเบียบการบริหารให้กับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2496 โอนมารับราชการที่กรมชลประทาน
  • พ.ศ. 2498 หัวหน้าแผนกอาณาบาล และเริ่มดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนชลประทานวิทยา
  • พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนชลประทานวิทยา
  • พ.ศ. 2502 ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนชลประทานวิทยาอีกตำแหน่ง
  • พ.ศ. 2504 หัวหน้าแผนกอาณาบาลชั้นเอก
  • พ.ศ. 2515 เกษียณอายุราชการ

นอกจากหน้าที่การงานดังกล่าวแล้ว อาจารย์ประหยัด ไพทีกุล ยังมีหน้าที่การงานพิเศษคือ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในขณะเป็นครูอยู่ที่จังหวัดนครนายก โดยให้ทำหน้าที่เป็นล่ามทำการติดต่อประสานงานระหว่าง คณะกรรมการจังหวัดปราจีนบุรี คณะกรรมการอำเภอนครนายก กับนายทหารฝ่ายสหประชาชาติ และทำหน้าที่แปลเอกสารทางราชการซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ

การพัฒนาการศึกษา[แก้]

ด้านการพัฒนาการศึกษา อาจารย์ประหยัด ไพทีกุล ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในประเทศต่างๆ เพื่อนำเอาสิ่งที่ได้ไปดูงาน มาปรับปรุงโรงเรียนชลประทานวิทยา อาทิเช่น พ.ศ. 2509 กรมชลประทานส่งไปดูงานการศึกษาในประเทศภาคพื้นยุโรป 9 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกรีซ อิตาลี สเปน สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เยอรมันตะวันตก ฝรั่งเศส อังกฤษ และเดนมาร์ก และได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศพม่า และอินเดีย

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]