นุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณ

นุด
อาชีพหมอดู, หมอสัก
บิดามารดาออกญาแสรนธิบดี (ปัล)
หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
พิพากษาลงโทษฐานโจรกรรม (2461–2462)
แอบอ้างเบื้องสูง (2464)
บทลงโทษจำคุก 5 ปี (คดีแอบอ้างเบื้องสูง)
ลายมือชื่อ

นุด (บ้างสะกดว่า นุศ) เป็นหมอสักและหมอดูชาวเขมร เป็นโอรสเพียงคนเดียวในหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช กับออกญาแสรนธิบดี (ปัล) เจ้าเมืองระลาเปือย สามีคนที่สี่ของมารดา ทว่าเขากระทำความผิดด้วยการแอบอ้างเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารในฝั่งกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส ใช้ชื่อว่า พระองค์เจ้าพานดุรี (หรือ พานดูรี) หลอกเงินคนไปเป็นจำนวนมาก จึงถูกตัดสินจำคุกถึงสองครั้งที่เมืองพระตะบองและพนมเปญ ต่อมาเขาหลบหนีเข้าราชอาณาจักรสยาม โดยแอบอ้างเป็นเจ้านายชั้นสูงของเขมรอีกคำรบหนึ่ง ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ของจังหวัดพิจิตรจับกุมตัวในเวลาต่อมา[1]

งานเขียน โครงกระดูกในตู้ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อ้างว่า หม่อมเจ้าฉวีวาดได้ถวายตัวเป็นพระราชเทวีในสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งชื่อ พระองค์เจ้าพานคุลี จนกลายเป็นข้อมูลที่ถูกทำซ้ำต่อกันแพร่หลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[2][3] ซึ่งพระองค์เจ้ามาลิกา ยุคันธร เจ้านายฝ่ายในของราชวงศ์กัมพูชา และเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยแนบลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า นุดหรือพานดุรีไม่ใช่เจ้า หากแต่เป็นลูกของหม่อมเจ้าฉวีวาดที่เกิดกับเจ้าเมืองระลาเปือยซึ่งเป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนเท่านั้น[1]

ประวัติ[แก้]

นุด หรือสะกดว่า นุศ เป็นโอรสเพียงคนเดียวในหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช กับออกญาแสรนธิบดี (ปัล) เจ้าเมืองระลาเปือย สามีคนที่สี่ของมารดา[1] ซึ่งหม่อมเจ้าฉวีวาดนี้เป็นเจ้านายชั้นอนุวงศ์ของราชวงศ์จักรี ทั้งยังเป็นป้าของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย[2][3] ส่วนบิดาผู้เป็นเจ้าเมืองระลาเปือยนั้น "...เป็นเชื้อเจ๊กจะได้เป็นเชื้อเจ้าหามิได้..."[1] ตัวนุดเองก็ทราบด้วยว่ามารดาของตนนั้นมีเชื้อสายเจ้าจากสยาม "...ตังแต่ข้าพระพุฒีเจ้าเกีดม่ารู่ตัวว่าพระมาด่า เปนชาฏิสยาม ก็ตังใจ่จะรักส่าชาฏิสยามให้อุตมะชาฏิ..."[1]

ในวัยเยาว์ นุดและหม่อมเจ้าฉวีวาดเข้านอกออกในพระราชวังในกรุงกัมพูชาเพื่อถวายงานรับใช้เจ้านายกัมพูชาอยู่หลายครั้ง กระทั่งพระองค์เจ้าอรรคนารีทรงอุปการะนุดไปเลี้ยงในพระบรมราชวัง บ่าวไพร่ในพระองค์เจ้าอรรคนารี ต่างเรียกขานกันว่า คุณนุด ส่วนหม่อมเจ้าฉวีวาดเข้าไปอยู่กับหม่อมเจ้าพัชนีเพื่อทำขนมและลูกกวาดไทยในราชสำนักกัมพูชา และเคยเข้าไปถวายงานพระองค์เจ้ามาลิกา ยุคันธร ที่พระตำหนักส่วนพระองค์ เพื่อทำขนมลูกกวาด แต่อยู่ได้เพียงสองปี หม่อมเจ้าฉวีวาดก็ออกจากตำหนักหม่อมเจ้าพัชนีไปมีสามีใหม่ คือขุนพิทักราชสถาน (ทอง) เป็นสามีคนที่ห้า หลังขุนพิทักราชสถานถึงแก่กรรมลง หม่อมเจ้าฉวีวาดก็สมรสใหม่กับขุนศรีมโนไมย และพานุดออกไปอาศัยอยู่ด้วยกัน อย่างไรก็ตามสถานะทางการเงินของครอบครัวหม่อมเจ้าฉวีวาดนั้นอัตคัตนัก หลังขุนศรีมโนไมยล้มป่วยด้วยไข้ทรพิษ ก็เกรงว่าแพทย์จะขึ้นมาเผาเรือนและเสื้อผ้าของผู้ป่วย จึงหลอกขายเรือนดังกล่าวแก่ผู้อื่น แล้วนำเงินที่ได้ไปตั้งรกรากอยู่ที่เมืองบาสักทางตอนใต้ของกัมพูชาและอาศัยอยู่ที่นั่นร่วมกับนุดผู้เป็นบุตรชายอยู่พักใหญ่ ช่วงเวลานั้นนุดเที่ยวออกเล่าเรื่องตำนานโบราณปรัมปราแก่ชาวเมืองฟังซึ่งสร้างรายได้หลักร้อย ทว่านุดถูกจับกุมด้วยข้อหาโจรกรรมช่วง พ.ศ. 2461–2462 และติดคุกในเมืองเขมร ฝ่ายหม่อมเจ้าฉวีวาดเองก็กลับไปที่กรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2461 แต่กลับไม่ได้รับส่วนแบ่งมรดกจากหม่อมราชวงศ์ดวงใจผู้เป็นแม่ จึงออกบวชเป็นนางชี และเริ่มอ้างตัวว่าเคยเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร จนถูกพระองค์เจ้ายุคุนธร เจ้านายกรุงกัมพูชา ตรัสบริภาษอย่างรุนแรง

เมื่อนุดพ้นโทษจากคดีครั้งก่อนไม่นานปี นุดก็อ้างตนเป็นพระราชโอรสกษัตริย์กัมพูชา ใช้ชื่อว่า พระองค์เจ้าพานดุรี (หรือ พานดูรี) เที่ยวหลอกลวงผู้อื่นในเมืองพระตะบอง ตุลาการศาลอุทธรณ์กรุงพนมเปญตัดสินให้จำคุกห้าปี ข้อหาตั้งตนเป็นเจ้า นุดจึงต้องอยู่ในคุกเมืองเขมรเป็นครั้งที่สอง และพ้นโทษในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 หลังพ้นโทษนุดเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรสยามพร้อมกับภรรยาชาวเขมรเพื่อตามหาหม่อมเจ้าฉวีวาด โดยอ้างว่า "...มอมเจ้าแม่ใด่กรับม่าอยู่ไนสยาม ๑๖ ปีนีแล้ว ข้าพระพุฒีเจ้าก็ใด่ภย่ายามถามม่า วังใจ่จะทีพึงพระบูรมะโพธีสมพาน..."[1] ภายหลังภรรยาชาวเขมรได้เดินทางกลับกรุงกัมพูชาไปก่อน ระหว่างที่นุดอยู่ในแผ่นดินสยาม เขาได้แอบอ้างเป็นเจ้านายชั้นสูงของกัมพูชา ประกอบอาชีพเป็นช่างสักและหมอดูเร่ร่อนไปตามหัวเมืองต่าง ๆ กระทั่งพระยาวิฑูรธุระการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พบตัวนุดที่วัดท่าหลวงเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 จากนั้นได้ส่งจดหมายพร้อมแนบภาพถ่ายของนุด ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ[1]

หลังจากนั้นเรื่องราวของนุดก็เงียบหายไป ก่อนมาปรากฏอีกครั้งในงานเขียน โครงกระดูกในตู้ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งอ้างถึงประวัติของหม่อมเจ้าฉวีวาด ซึ่งเป็นป้าของตนเองไว้อย่างพิสดาร โดยเฉพาะเรื่องการเข้าเป็นพระราชเทวีของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทววาวตาร มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าพานคุลี[2][3] ซึ่งน่าจะหมายถึง พานดุรี หรือนุด งานเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ขัดแย้งกับลายพระหัตถ์ของพระองค์เจ้ามาลิกา ยุคันธร ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพานดุรีหรือนุดไม่ได้มีเชื้อเจ้าของกัมพูชาแต่อย่างใด[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 อภิญญา ตะวันออก (7 กุมภาพันธ์ 2565). "โอรส "นโรดม" กับเจ้าชายกำมะลอ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 โรม บุนนาค (27 มกราคม 2559). "เจ้าหญิงสยามหนีคดีความมั่นคง ลงสำเภาชักใบไปมีพระราชโอรสให้กษัตริย์เขมร!!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 กิเลน ประลองเชิง (4 สิงหาคม 2560). "ปฏิบัติการแบ่ง 3 สยาม". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)