ข้ามไปเนื้อหา

ตำบลบางตะบูน

พิกัด: 13°15′56.92″N 99°56′29.98″E / 13.2658111°N 99.9416611°E / 13.2658111; 99.9416611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำบลบางตะบูน
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Bang Tabun
สภาพทิวทัศน์ทางทะเลอ่าวบางตะบูน
สภาพทิวทัศน์ทางทะเลอ่าวบางตะบูน
คำขวัญ: 
ถิ่นทะเลงาม ฟาร์มหอยแครง ไข่เค็มแดง แหล่งกุลา ปูม้าสด กุเลาเลิศรส หอยเกาะหลัก แดนอนุรักษ์ป่าชายเลน
ตำบลบางตะบูนตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี
ตำบลบางตะบูน
ตำบลบางตะบูน
พิกัด: 13°15′56.92″N 99°56′29.98″E / 13.2658111°N 99.9416611°E / 13.2658111; 99.9416611
ประเทศไทย
จังหวัดเพชรบุรี
อำเภอบ้านแหลม
พื้นที่[ต้องการอ้างอิง]
 • ทั้งหมด29.32 ตร.กม. (11.32 ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 76110
รหัสภูมิศาสตร์760706
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

บางตะบูน เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ 29.32 ตารางกิโลเมตร จำนวนบ้าน 911 หลังคาเรือน

ภูมิศาสตร์[แก้]

ตำบลบางตะบูน ถูกตั้งชื่อขึ้นตามต้นไม้ชายเลนชนิดหนึ่ง ชื่อ "ตะบูน" หรือ "กระบูน" ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ของตำบลนี้ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล สภาพดินเป็นดินเลน และมีลุ่มน้ำมาก "บางตะบูน" เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เนื่องด้วยมีแม่น้ำบางตะบูนไหลผ่านซึ่งลำน้ำสายนี้แยกมาจากแม่น้ำเพชรบุรี ไหลออกทะเลบริเวณปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งเป็นปลายแม่น้ำเพชรบุรี ในสมัยก่อนแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือของพ่อค้าวาณิชต่าง ๆ นับแต่สมัยโบราณ ลำน้ำบางตะบูนเป็นเส้นทางการคมนาคมที่มีความจำเป็นและสำคัญทางเศราษฐกิจเป็นอย่างมาก

หมู่บ้าน[แก้]

ตำบลบางตะบูนประกอบไปด้วย 8 หมู่บ้าน ได้แก่

  • หมู่ 1 บ้านปากอ่าว
  • หมู่ 2 บ้านคุ้งใหญ่
  • หมู่ 3 บ้านคลองลัด
  • หมู่ 4 บ้านคลองขุด
  • หมู่ 5 บ้านท้องคุ้ง
  • หมู่ 6 บ้านคลองไหหลำ
  • หมู่ 7 บ้านบางกั้ง
  • หมู่ 8 บ้านบางสามแพรก

อาณาเขต[แก้]

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม

ความสำคัญทางประวัติศาสาตร์[แก้]

เล่ากันว่า ในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณบ้านบางด้วน (ปัจจุบัน คือ บ้านบางก้าง หมู่ที่ 7 ตำบลบางตะบูน) คุ้งน้ำบางตะบูน เคยมีพลับพลาหรือตำหนัก พระเจ้าเสือซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด ซึ่งในอดีตบริเวณดังกล่าวมีปลาชุกชุมมาก ในปัจจุบันมีวัดคุ้งตำหนัก เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยนั้นตั้งอยู่ ดังมีบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามคำกลอนของสุนทรภู่ที่ว่า

ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ มาทรงเบ็ดปลากระโห้ไม่สังหาร
ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน แต่โบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งรัชกาลที่ 3 เมื่อสุนทรภู่เดินทางมาเมืองเพชรบุรี พ.ศ. 2374 ก็ได้ใช้เส้นทางนี้ ดังคำกลอนที่ว่า

แล้วเคลื่อนคลาลาจากปากคลองช่อง ไปตามร่องน้ำหลักปักเป็นแถว
ข้ามยี่สารบ้านสองพี่น้องแล้ว ค่อยคล่องแคล่วเข้าชวากปากตะบูน

สถานที่สำคัญ[แก้]

  • ศาสนสถาน
  • สถานที่ราชการ
    • สถานีอนามัยบางตะบูน
    • สถานีอนามัยบางตะบูนออก
    • สถานีอนามัยบ้านบางสามแพรก
    • สถานีตำรวจภูธรบางตะบูน
    • องค์การบริหารส่วนตำบลบางตะบูน
    • เทศบาลตำบลบางตะบูน
  • สถานศึกษา
    • โรงเรียนวัดเกาะแก้ว ม. 1 ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
    • โรงเรียนวัดปากอ่าว (ญาณสาครวิทยาคาร) ม. 3 ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
    • โรงเรียนบางตะบูนวิทยา ม. 3 ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
    • โรงเรียนวัดปากลัด ม. 3 ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
    • โรงเรียนวัดคุ้งตำหนัก ม. 7 ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
    • โรงเรียนบ้านสามแพรก ม. 8 ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
  • อู่ต่อเรือประมง
  • ตลาดนัด
    • ตลาดนัดวัดปากอ่าวบางตะบูน
    • ตลาดนัดวัดปากลัด
    • ตลาดนัดศาลเจ้าปุนเถ้ากง

แหล่งท่องเที่ยว[แก้]

อ่าวบางตะบูน[แก้]

ดวงอาทิตย์กำลังลงที่อ่าวบางตะบูน

ตั้งอยู่ตำบลบางตะบูน จากตัวเมืองเพชรบุรีไปบ้านแหลมระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปปากอ่าวบางตะบูนระยะทางอีก 8 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพเก็บเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และประมงชายฝั่ง บริเวณปากอ่าวบางตะบูนยังเป็นจุดชม "ฝูงปลาวาฬบรูด้า" และ "ฝูงปลาโลมา" อีกทั้งชมนกกาน้ำใหญ่ และนกนาๆชนิด และยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ

สะพานเฉลิมพระเกียรติ[แก้]

บริเวณปากอ่าวบางตะบูนยังเป็นจุดชมจุดชมวิวดวงอาทิตย์ขึ้นทางทะเล และลงทางหมู่บ้าน สามารถมองเห็นทัศนียภาพทางทะเลอันสวยงามและหมู่บ้านชาวประมง

หมู่บ้านเนื้อปู[แก้]

ตลอดเส้นทางหมู่บ่านบางตะบูน จะมีการจำหน่าย ปูม้าต้ม เนื้อปูที่แกะแล้ว และก้ามปูใบ้ สามารถชมแหล่งผลิตเนื้อปูได้ที่บ้านผู้ใหญ่โรจน์ ที่จะมีการต้มปูม้าแกะเนื้อทุกส่วนส่งขายทั่วประเทศ

ฝูงปลาวาฬบรูด้า[แก้]

ฝูงวาฬบรูด้าในอ่าวบางตะบูน

บริเวณปากอ่าวบางตะบูนยังเป็นจุดชม "วาฬบรูด้า" (Balaenoptera brydei) เป็นสัตว์ห้ามค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของไทย และเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน มีลักษณะลำตัวสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40-70 ร่อง เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว 14-15.5 เมตร ส่วนวัยเจริญพันธุ์ อยู่ในช่วงอายุ 9-13 ปี จะออกลูกครั้งละ 1 ตัวทุก 2 ปี ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร วาฬบรูด้า อายุยืนถึง 50 ปี เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ จะอยู่รวมกัน 1-2 ตัว ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล อาหารส่วนใหญ่เป็น ลูกปลาและหมึก ปลาทู ปลากะตัก เป็นต้น สำหรับในเมืองไทยสามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเล

นกกาน้ำใหญ่[แก้]

บริเวณปากอ่าวบางตะบูนยังเป็นจุดชมนกกาน้ำใหญ่ เป็นนกที่ว่ายน้ำเก่ง แต่หลังจากว่ายน้ำเพื่อหาเหยื่อจะต้องขึ้นมากางปีกเพื่อตากขนให้แห้ง

ฟาร์มหอยแครง[แก้]

แหล่งเพาะเลี้ยงหอยแครงธรรมชาติ

บริเวณปากอ่าวบางตะบูนยังเป็นจุดชมฟาร์มหอยแครง เป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศอีกชนิดหนึ่งเป็นที่นิยมบริโภคกันโดยทั่วไป เนื่องจากมีรสชาติดี มีคุณค่าทางอาหารสูงไม่แพ้อาหารโปรตีนชนิดอื่น

บ้านปากอ่าว[แก้]

ตั้งอยู่บริเวณปลายสุดของอ่าวบางตะบูน เป็นหมู่บ้านที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีดั่งเดิมไว้ อาทิ การละเล่นพื้นบ้าน การรำวงย้อนยุค การแข่งขันเรือยาว การแต่งเรือองค์ถวายผ้ากฐิน

หิ่งห้อย[แก้]

ล่องเรือชมฝูงหิ่งห้อยยามค่ำที่ คลองบ้านสามแพรก หมู่ที่ 8 บ้านสามแพรก   ตำบลบางตะบูน  อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

วิถีชีวิตในท้องถิ่น[แก้]

ชาวบางตะบูน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เลี้ยงสัตว์น้ำ ปลูกป่า เผาถ่าน เย็บจาก และรับจ้างทั่วไป

อาชีพประมง[แก้]

ชาวบางตะบูนส่วนมากจะทำการประมงชายฝั่ง ปล่อยอวนดักจับปลาทะเล เลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยกระปุก กระชังปลากระพง โป๊ปลาทู บ่อกุ้ง บ่อปูทะเล และโพงพาง

อาชีพเผาถ่าน[แก้]

อาชีพหนึ่งที่ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาแต่โบราณ คือ อาชีพ เผาถ่าน ไม้ที่ใช้ในการเผาถ่านเป็นไม้ในพื้นที่มีหลายชนิด แต่ที่เผาแล้วได้ถ่านไม้คุณภาพดีคือไม้โกงกาง โกงกางเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงโดยเฉลี่ย 8 - 10 เมตร ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกเป็นสวนป่านับเป็นพัน ๆ ไร่ เพื่อใช้ผลิตเป็นถ่านคุณภาพดีกระบวนการทำถ่านไม้โกงกางนับแต่การปลูกจนกระทั่งเป็นถ่านใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 - 15 ปี

อาชีพเย็บจาก[แก้]

จาก เป็นพืชท้องถิ่นอีกชนิดหนึ่งที่มีอยู่ทั่วไปในแถบพื้นที่ป่าชายเลน ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งอาศัย ใบจากในการทำฝาบ้าน มุงหลังคา มวนบุหรี่ ทำภาชนะชนิดต่าง ๆ เช่น หมวก เป็นต้น อีกหนึ่งอาชีพที่ทำสืบต่อกันมานานของชาว บางตะบูน คือ การเย็บจาก การเย็บจากมุงหลังคาจะใช้ใบจากที่แก่มาเย็บเป็นตับจาก โดยตัดใบที่ต้องการแล้วปล่อยให้เหลือใบไว้เลี้ยงกอ 3 - 4 ใบ การเย็บจาก นิยมใช้ไม้ตับยาว 1 เมตร โดยใช้ใบย่อยของจาก 2 ใบซ้อนให้ทับกันแล้วเย็บร้อยให้ติดกัน ใช้ วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ เชือกคล้าหรือเถาหวายลิง ซึ่งพบได้ทั่วไปในป่าจากเป็นเชือกเย็บร้อย สำหรับไม้ตับนั้นก็ได้จากก้านใบหรือ "ทางจาก" ตากแห้ง จากมุงหลังคา ส่วนมากจะมีความคงทนอยู่ได้นานถึง 7 - 8 ปี แต่ถ้าหากเย็บจากโดยใช้ใบ 3 ใบ ซ้อนทับกันจะอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า 10 ปี ในปัจจุบันตลาดมีความต้องการจากมุงหลังคา เพื่อใช้ในธุรกิจร้านอาหาร หรือทำโรงเรือนต่าง ๆ เพราะทำให้ไม่ร้อนอบอ้าว การเย็บจากสามารถทำได้ตลอดปี ขนาดของตับจากจะมี 2 ขนาด คือขนาด 1 เมตร และขนาด 1.20 เมตร แต่ที่นิยมคือขนาด 1 เมตร เรียกว่า "จาก 2 ศอก"

ภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]