จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
ประเภทเอกสารบันทึกความทรงจำ
ภาษาภาษาไทย
ผู้แต่งจดหมายเหตุความทรงจำ - กรมหลวงนรินทรเทวี
พระราชวิจารณ์ - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้รวบรวมกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กรมศิลปากร
เนื้อหาเหตุการณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2310 - 2381
(จ.ศ. 1129 - 1182)
ที่เก็บเดิมหอสมุดวชิรญาณ

จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นชื่อเรียกเอกสารที่หอสมุดวชิรญาณได้รับมาจากวังหน้า โดยเนื้อหาเป็นการบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปี พ.ศ. 2310 จนถึงปี พ.ศ. 2363[1] ในปี พ.ศ. 2451 (ร.ศ.127) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่าเนื้อหาของเอกสารมีความแปลกจึงได้คัดสำเนาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ รัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตร ทรงมีพระบรมวินิจฉัยว่าผู้เขียนจดหมายบันทึกความทรงจำนี้ คงจะเป็น "พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี" พระกนิษฐาต่างพระชนนี (น้องสาวต่างแม่) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยทรงเห็นว่าเป็นเอกสารที่บันทึกจากความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังได้มีพระราชวิจารณ์ประกอบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในงานไหวพระประจำปีวัดเบญจมบพิตรในปีเดียวกัน[1]

ที่มา[แก้]

ต้นฉบับจดหมายเหตุความทรงจำนี้มี 2 ฉบับ คือ

  1. ฉบับที่ได้จากวังหน้า อันเป็นสมบัติของท่านผู้หญิงพัน ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เขียนด้วยดินสอในสมุดไทยดำ พบเมื่อ พ.ศ. 2451 รายละเอียดเป็นเรื่องราวตั้งแต่ พ.ศ. 2310 - พ.ศ. 2363[2]
  2. ฉบับที่เป็นสมบัติของจมื่นทิพรักษา (เนตร บุณยรัตพันธุ์) และพระพิเรนทรเทพบุตร เขียนด้วยหมึกในสมุดฝรั่ง ได้รับมอบเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นเหตุการณ์ต่อจากฉบับแรกจนถึง พ.ศ. 2381 (จ.ศ. 1200)[2]

เนื้อหา[3][แก้]

  1. จดหมายเหตุความทรงจำ
  2. พระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  3. พระราชสาส์นต่าง ๆ

ข้อสันนิฐานผู้แต่ง[แก้]

ธรรมเนียมเดิมที่ "ผู้แต่ง" ไม่ได้รับความสำคัญเท่ากับ "ผู้คัดลอก"[2] ซึ่งเป็นผู้เอามาบอกต่อหรือเผยแพร่ ทำให้ไม่มีการระบุนามผู้แต่งไว้ รัชกาลที่ 5 จึงทรงสืบค้นว่าผู้ใดเป็นผู้แต่งจดหมายความทรงจำนี้ โดยทรงระบุถึงข้อบ่งชี้ถึงผู้แต่งไว้ 3 ประการคือ[2]

  1. เป็นสำนวนของผู้หญิง
  2. ผู้แต่งจดเรื่องราวตามที่ได้รู้เห็นมาด้วยตนเอง
  3. เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด

ดังพระราชวิจารณ์ความว่า "หนังสือที่จดลงนี้ ปรากฎโดยโวหารแลทางดำเนินความ ใช้ถ้อยคำเปนสำนวนจดหมายผู้หญิง คงจะเปนเจ้านาย แต่จะเปนเจ้านายเก่าฤๅเจ้านายใหม่ซึ่งเปนราชตระกูลนี้ แต่เนื่องในเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี ฤๅจะมีเกี่ยวข้องในเชื้อวงษ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เปนตระกูลในเวลานั้นคราวหนึ่งก็อาจจะเปนได้" [4] อาจเป็น พระองค์เจ้าประชุมวงษ์ พระองค์เจ้าปัญจปาปี (คุณสำลี) หรือ พระองค์เจ้าอรุณ [4]

ทั้งนี้ ทรงอธิบายต่อไปถึงส่วนที่ข้อบ่งชี้ถึงผู้แต่ง ซึ่งมิใช่เจ้านายทั้งสามพระองค์ที่ทรงสันนิฐานไว้ตอนต้น โดยมาจากข้อความที่กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุนทรเทพ ความว่า [4]

วันเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง ปีมโรงสัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ ไว้พระศพบนปราสาท พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่น ว่าสิ้นลูกคนนี้แล้ว พระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้าดูชำระเถิดอย่าทูลเลย

— จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ)
ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เปนเวลา 53 ปี, https://vajirayana.org/, (ร.ศ. 127)

และการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นนริทรพิทักษ์ ความว่า[4]

ณ เดือนห้าจุลศักราช 1179 ปีฉลูนพศก กรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิงณวัดราชบุรณ

— จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี(เจ้าครอกวัดโพ)
ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เปนเวลา 53 ปี, https://vajirayana.org/, (ร.ศ. 127)

การที่ผู้บันทึกใช้คำว่า "สิ้นชนมายุ" ต่างจากการบันทึกเรื่องของเจ้านายองค์อื่น เช่น เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรที่ใช้คำว่าสิ้นชนม์ และคำว่า "ประชุมเพลิง" แทนคำว่าถวายพระเพลิง อีกทั้งยังบันทึกว่า "กรมหมื่น" ไว้ห้วน ๆ แสดงถึงความคุ้นเคยกับกรมหมื่นนริทรพิทักษ์ จึงใช้คำเรียกอย่างสามัญ[2] ประกอบกับผู้ที่เก็บอากรตลาด ในช่วงที่เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรที่ใช้คำว่าสิ้นชนม์ คือ "พระองค์เจ้ากุ" พระกนิษฐาต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อีกทั้งมีกรมหมื่นนริทรพิทักษ์เป็นพระสวามี ดังนั้น ผู้ที่บันทึกคงจะเป็น "กรมหลวงนรินทรเทวี" (พระองค์เจ้ากุ) นั้นเอง[4] โดยขณะเรียบเรียงจดหมายนี้ คงจะมีอายุราว 70 ปีแล้ว[3]

จึงแก้ชื่อเดิมที่ผู้คัดลอกตั้งไว้ คือ "จดหมายเหตุตั้งแต่กรุงเก่าเสียแล้วเจ้าตากมาตั้งกรุงธนบุรี” เป็น "จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่จุลศักราช 1129 ถึงจุลศักราช 1182 เปนเวลา 53 ปี" [4]

หลังจากพระราชวิจารณ์ถึงผู้แต่งจดหมายนี้ ล่วงไปได้ 8 ปี ในปี พ.ศ. 2459 หอสมุดวชิรญาณได้รับจดหมายเหตุความทรงจำอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์เพิ่มเติมจากส่วนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 - พ.ศ. 2381 ซึ่งเป็นการบันทึกภายหลังจากที่กรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้ากุ) สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง 11 ปี[2] แต่เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่าสำนวนที่บันทึกในส่วนหลังนี้ แตกต่างจากสำนวนในส่วนแรกซึ่งรัชกาลที่ 5 มีพระราชวิจารณ์ว่าผู้ที่บันทึกคือ "กรมหลวงนรินทรเทวี" คงจะเป็นการบันทึกเพิ่มเติมของเจ้านายวังหน้าอีกพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้คัดลอกเพิ่มเติมเข้าไป และไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงว่าผู้แต่งจดหมายเหตุความทรงจำนี้ มิใช่กรมหลวงนรินทรเทวี[2]

ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน[แก้]

พระองค์เจ้าศรีสังข์ลี้ภัยไปฮาเตียน[แก้]

ณ ปีชวดสำฤทธิศก ไปตีเมืองนครหนังราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าศรีสังข์ไปอยู่ ภิมายต่อสู้รบประจัญกัน จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธบุตร์ชาย 2 บุตร์หญิง 1 กับเจ้าศรีสังข์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าศรีสังข์หนีไปเมืองขอม

— จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี(เจ้าครอกวัดโพ)
ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เปนเวลา 53 ปี, https://vajirayana.org/, (ร.ศ. 127)

ในจดหมายเหตุความทรงจำ ระบุว่าเจ้าศรีสงข์ พระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้งกุ้ง) โดยได้เข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธ เมื่อครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธตั้งก๊กเจ้าพิมาย ต่อมาเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธพ่ายต่อพระเจ้าตากและสำเร็จโทษแล้ว เจ้าศรีสังข์จึงหลบหนีไปยังเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน)[2] อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศสและเอกสารเวียดนาม พบว่าเจ้าศรีสงข์ไปยังเมืองฮาเตียนช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 โดยมิได้มีการเข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธแต่อย่างใด[2][5]

พระเจ้าตากสู่ขอพระราชธิดาเจ้ากรุงจีน[แก้]

ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาสน์ไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรมาธิราชผู้เถ้ากับหลวงนายฤทธิ์ หลวงนายศักดิ์ เปนราชทูตหุ้มแพร มหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง

— จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ)
ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เปนเวลา 53 ปี, https://vajirayana.org/, (ร.ศ. 127)

ข้อความส่วนนี้ ไม่สอดคล้องกับเอกสารจดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์ชิง (ชิงสือลู่) มีลักษณะเป็นการบอกเล่าแบบปากต่อปาก [2]

อนึ่ง เนื่องจากเอกสารฉบับนี้ เป็นการบันทึกเหตุการณ์ตามความทรงจำ จึงมีรายะเอียดของ "เลขศักราช" คลาดเคลื่อน ในส่วนนี้รัชกาลที่ 5 ได้พระราชวิจารณ์ไว้โดยละเอียดแล้ว[2]

ความสำคัญ[แก้]

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า บันทึกนี้ "ท่านไม่ได้มุ่งหมายที่จะเรียงเปนพงษาวดารฤๅจดหมายเหตุให้ผู้อื่นอ่าน เปนแต่ลูกหลานพี่น้องไปไต่ถามการเก่า ๆ ก็เล่าให้ฟังแล้วเขียนลงไว้" [4] ด้วยความที่เจ้านายฝ่ายหญิงทักจะมีบทบาทในการเล่าพระราชพงศาวดารถวายพระราชวงศ์[2] จึงเป็นการบันทึกแบบ "วงใน" หรือพงศาวดารกระซิบ ทำให้ได้ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การที่พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกคาดโทษในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก เนื่องจากยิงปืนใหญ่โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่ศาลาลูกขุนก่อน หรือ การนางห้ามในพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติพระราชโอรส แต่ทรงระแวงว่าจะมิใช่ลูกของพระองค์ เพราะถวายงานเพียง “หนเดียว” [3]

การบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวีนี้จัดได้ว่าเป็นบันทึกตามประเพณีบอกเล่า (Oral tradition) แต่ก็ไม่ปรากฏการบอกเล่าเรื่องในลักษณะที่เหนือจริง[2] เป็นการรวบรวมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ในช่วงกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังเป็นการบันทึกโดยผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ อาจกล่าวได้ว่าจดหมายเหตุความทรงจำนี้เป็น “พงศาวดารนอกกรอบ” ก่อนที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จะรวบรวมและจัดทำพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 1 - 3 ซึ่งเป็น “พงศาวดารในกรอบ”[2]

ประการสำคัญคือ ข้อเขียนนี้ต่อประเด็นของพระเจ้ากรุงธนบุรี นับเป็นความต่างเมื่อเปรียบเทียบกับ “พงศาวดารในกรอบ” ที่มักเป็นงานประวัติศาสตร์เพื่อผู้ชนะในขณะที่ “พงศาวดารนอกกรอบ” อย่างของกรมหลวงนรินทรเทวีนั้นเป็นงานประวัติศาสตร์ที่มีมุมมองต่อผู้แพ้อย่างเห็นอกเห็นใจมากกว่าจะทับถมผลิตซ้ําหรือปิดหูปิดตาต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น [2] และยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงในหน้าประวัติศาสตร์ เช่นกรณีของหม่อมฉิมกับหม่อมอุบล เผยให้เห็นลักษณะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนของบุคคลในประวัติศาสตร์[2] ช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์

เอกสารฉบับนี้ แม้จะผ่านการคัดลอกมา แต่ไม่ได้ผ่านการ "ชำระ" มาก่อน ดังคำบรรยายในการเรียบเรียงหนังสือเมื่อ ร.ศ. 127 ใจความว่า [2]

“ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าหนังสือฉบับนี้ไม่มีความเท็จเลยความที่คลาดเคลื่อนนั้นด้วยลืมบ้างด้วยทราบผิดไปบ้างเรียงลงไม่ถูกเปนภาษาไม่สู้แจ่มแจ้งบ้างทั้งวิธีเรียงหนังสือในอายุชั้นนั้นไม่สู้จะมีเครื่องมือสําหรับเขียนบริบูรณ์แลคล่องแคล่วเหมือนอย่างทุกวันนี้.. แต่เปนเคราะห์ดีที่สุดที่จดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีฉบับนี้ไม่ปรากฏแก่นักเลงแต่งหนังสือในรัชกาลที่ 4 ฤๅในรัชกาลปะจุบันนี้ตกอยู่ในก้นตู้ได้จนถึงรัตนโกสินทรศก 127 นี้นับว่าเปนหนังสือพรมจารีไม่มีด้วงแมลงได้เจาะไชเลยความยังคงเก่าบริบูรณ์เว้นไว้แต่หนังสือไม่ใช่เปนตัวหนังสือเก่าแท้”

— จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ)
ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เปนเวลา 53 ปี, https://vajirayana.org/, (ร.ศ. 127)

ประกอบกับพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงอธิบายเพิ่มเติมทำให้รายละเอียดในเอกสารนี้ถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นหนังสือที่ครบถ้วนกระบวนความ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในระหว่างสร้างบ้านแปลงเมืองช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์[3]

จดหมายเหตุความทรงจำ จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พ.ศ. 2459

การตีพิมพ์[แก้]

  • พ.ศ. 2451 (ร.ศ.127) - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดพิมพ์ในงานไหวพระประจำปีวัดเบญจมบพิตร[1]
  • พ.ศ. 2459 - จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช [1]
  • พ.ศ. 2459 - หลังการจัดพิมพ์ในการพระราชทานพระศพกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช หอสมุดได้รับเอกสารจดหมายเหตุส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ถึง พ.ศ. 2381 จัดพิมพ์ในชื่อ "จดหมายเหตุความทรงจำ" เฉพาะส่วนของจดหมายเหตุความทรงจำ โดยไม่มีส่วนของพระราชวิจารณ์[1]
  • พ.ศ. 2470 - หอสมุดจัดพิมพ์ในชื่อ "จดหมายเหตุความทรงจำ" เฉพาะส่วนของจดหมายเหตุความทรงจำ ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง [1]
  • พ.ศ. 2482 - จัดพิมพ์พร้อมพระราชวิจารณ์ โดยตัดพระราชสาส์นและศุภอักษรท้ายเล่มออก และได้มีการสอบทานกับหลักฐานต่าง ๆ [1]
  • พ.ศ. 2501 - จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพย์รัตนกิริฎกุลินี [1]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 หอสมุดแห่งชาติ ชลบุรี. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี. https://www.finearts.go.th/chonburilibrary
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 กําพล จําปาพันธ์. พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี “พงศาวดารนอกกรอบ” จากมุมมองผู้หญิงและการพลิกฟื้นพระเจ้าตาก ในประวัติศาสตร์ไทย. วารสารไทยคดีศึกษา, Thai Khadi Journal [Internet]. 2020 [cited 2024 Apr 29];17:-99. Available from: https://harrt.in.th/handle/123456789/7890
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เจ้าครอกวัดโพธิ์ "จดหมายเหตุความทรงจำ" ประวัติศาสตร์ฉบับผู้หญิงแต่ง (silpa-mag.com)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 พระราชวิจารณ์-จดหมายเหตุความทรงจำ (vajirayana.org)
  5. เจ้าศรีสังข์ รัชทายาทกรุงศรีฯ ลี้ภัยการเมืองสู่เขมร (silpa-mag.com)
  6. "THAMMASAT UNIVERSITY LIBRARY". library.tu.ac.th.
  7. นรินทรเทวี, พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวง (2546). จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ.1129-1182 เป็นเวลา 53 ปี และจดหมายเหตุความทรงจำ ฉบับ พ.ศ. 2459 [4th]. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ. ISBN 978-974-91085-7-4.
  8. "หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ - จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี". web.finearts.go.th.
  9. "จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พิมพ์พร้อมฉบับเพิ่มเติม (พ.ศ.2310-2381)และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะตอน พ.ศ.2310-2363)". www.car.chula.ac.th.