งีสง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งีสง (ยฺหวี ซง)
虞松
เสนาบดีการเกษตร (大司農 ต้าซือหนง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
เจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจมอ
เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการกลาง
(中書郎 จงชูหลาง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
โจมอ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 215
นครไคเฟิง มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิตไม่ทราบ
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองชูเม่า (叔茂)

งีสง[1] (เกิด ค.ศ. 215) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ยฺหวี ซง (จีน: 虞松; พินอิน: Yú Sōng) ชื่อรอง ชูเม่า (จีน: 叔茂; พินอิน: Shūmào) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ[แก้]

งีสงเป็นชาวเมืองตันลิว (陳留 เฉินหลิว) ซึ่งอยู่บริเวณนครไคเฟิง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน บางแหล่งข้อมูลว่างีสงเป็นชาวเมืองห้อยเข (會稽 ไค่วจี) ซึ่งอยู่บริเวณนครอี้อู มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน[2] งีสงเป็นหลานตาของเปียนเหยียง (邊讓 เปียน ร่าง) เจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองกิวกั๋ง (九江 จิ่วเจียง) ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[3] งีสงมีชื่อในฐานะผู้มีความสามารถตั้งแต่เริ่มเข้าวัยผู้ใหญ่

ในปี ค.ศ. 238 ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอย งีสงได้ติดตามสุมาอี้ผู้เป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) ในการยกทัพบุกเลียวตั๋ง (遼東 เหลียวตง) สุมาอี้มอบหมายให้งีสงเขียนหนังสือประกาศศึก หลังจากที่สุมาอี้ปราบกองซุนเอี๋ยนที่ตั้งตนเป็นอิสระในเลียวตั๋งได้สำเร็จ สุมาอี้ก็มอบหมายให้งีสงเขียนหนังสือรายงานชัยชนะถึงราชสำนัก หลังจากงีสงติดตามมาในทัพของสุมาอี้ที่ยกทัพกลับ สุมาอี้ตั้งให้งีสงเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (掾 เยฺวี่ยน) ในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อ (正始; ค.ศ. 240-249) ในรัชสมัยจักรพรรดิโจฮอง งีสงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการกลาง (中書郎 จงชูหลาง)[3][4]

ในปี ค.ศ. 251 สุมาสูบุตรชายของสุมาอี้ได้เลื่อนขึ้นเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) สุมาสูมอบหมายให้งีสงเป็นผู้ช่วยในการวางแผน[5]

ในปี ค.ศ. 253 เดือน 5 ของศักราชเจียผิง (嘉平; ค.ศ. 249-254) ปีที่ 5 จูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแห่งง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กนำทัพเข้าปิดล้อมซินเสีย (新城 ซินเฉิง; แปลว่า "เมือง/ป้อมปราการแห่งใหม่") ซึ่งเป็นป้อมปราการที่หับป๋า (合肥 เหอเฝย์) เกียงอุยขุนพลของจ๊กก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริของวุยก๊กนำทัพเข้าล้อมเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) สุมาสูถามงีสงว่า "บัดนี้ทั้งตะวันตกและตะวันออกล้วนเกิดศึก ล้วนอยู่ในสถานการณ์คับขัน ขุนพลหลายนายขวัญกำลังใจตกต่ำ ควรจะทำเช่นไรดี" งีสงยกตัวอย่างเรื่องที่โจว หย่าฟู (周亞夫) ขุนพลในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกซ่อนเสบียงอาหารในชางอี้ (昌邑) ให้พ้นจากข้าศึกและเรื่องความล้มเหลวของกบฏเจ็ดรัฐในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก แล้วจึงชี้ให้เห็นว่าจูกัดเก๊กส่งทหารชั้นยอดทั้งหมดออกไปเพียงเพื่อโจมตีซินเสียแห่งเดียวเพราะต้องการได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด หากไม่สามารถตีซินเสียได้ก็จะไม่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด วันเวลาเนิ่นช้าไปก็จำต้องล่าถอย ด้านเกียงอุยคุมทัพใหญ่แต่ก็เพียงสนองตอบคำขอของจูกัดเก๊กก็ไม่สามารถรุดหน้ามาได้ไกล เกียงอุยเชื่อว่าทัพวุยมุ่งแต่ทำศึกที่แนวรบด้านตะวันออก แนวรบด้านตะวันตกก็จะว่างเปล่า จึงนำทัพมุ่งมา หากเราส่งทหารทั้งหมดในกวนต๋ง (關中 กวานจง) เร่งบุกเข้าอย่างฉับไวทำให้ข้าศึกไม่ทันตั้งตัว เกียงอุยก็จะล่าถอยไปด้วยเช่นกัน สุมาสูเห็นว่างีสงกล่าวได้ถูกต้อง จึงส่งกุยห้วยแม่ทัพผู้บัญชาการทหารในมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว และต้านท่ายข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วให้นำทหารในภูมิภาคกวนต๋งไปสลายวงล้อมที่เต๊กโตเสีย และสั่งให้บู๊ขิวเขียมแม่ทัพผู้บัญชาการทหารในมณฑลยังจิ๋วและคนอื่น ๆ ให้รักษาตำแหน่งของตนไว้โดยไม่ต้องไปช่วยซินเสีย ท้ายที่สุดเกียงอุยก็ขาดแคลนเสบียงอาหารจึงล่าถอยไป ส่วนจูกัดเก๊กตีซินเสียไม่สำเร็จ ทหารง่อก๊กก็อ่อนล้าและล้มป่วย จูกัดเก๊กไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องล่าถอยเช่นกัน ทุกอย่างเป็นไปตามที่งีสงคาดการณ์ไว้[6][7]

ในปี ค.ศ. 256 เดือน 2 ของศักราชกำลอ (甘露 กานลู่; ค.ศ. 256-260) ปีที่ 1 โจมอจักรพรรดิแห่งวุยก๊กทรงจัดงานเลี้ยงให้เหล่าขุนนางในโถงตะวันออกของตำหนักไท่จี๋ (太極) พระองค์ตรัสสนทนาเรื่องพิธีกรรมกับสฺวิน อี่ (荀顗), ชุย จ้าน (崔贊), ยฺเหวียน เลี่ยง (袁亮), จง ยฺวี่ (钟毓) และงีสงซึ่งเวลาเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง) และเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการกลาง (中書郎 จงชูหลาง) แล้วตรัสต่อไปถึงเรื่องข้อดีข้อเสียของจักรพรรดิ อ้างถึงพระเจ้าเซียวคังเต้ (少康 เฉ่าคาง) และพระเจ้าฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่) วันถัดมาหลังจากงานเลี้ยง สฺวิน อี่, ยฺเหวียน เลี่ยง และคนอื่น ๆ เห็นพระเจ้าเซียงคังเต้ทรงพระปรีชามากกว่า ส่วนชุย จ้าน, จง ยฺวี่, งีสง และคนอื่น ๆ ที่เหลือเห็นว่า "เซียวคังทรงคุณธรรมล้ำเลิศ ฮั่นโกโจก็ทรงสำเร็จอย่างมาก เมื่อเทียบภูมิหลังครอบครัวแล้ว เซียวคังทรงประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายมากกว่า เมื่อเทียบสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นแล้วฮั่นโกโจทรงสำเร็จด้วยความยากลำบากมากกว่า" จักรพรรดิโจมอทรงชี้ให้เห็นว่าในยุคโบราณสามารถบรรลุการต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยคุณธรรม ในยุคราชวงศ์จิ๋นและฮั่นสามารถบรรลุการต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยกำลังทหาร เซียวคังสร้างคุณธรรม ฮั่นโกโจสร้างผลงานทางการรบ เซียวคังจึงเหนือกว่าฮั่นโกโจ เซียงคังสามารถกำจัดทรราช (หมายถึงฮันฉก (寒浞 หาน จั๋ว) ผู้ทรงอิทธิพล) ดังนั้นเรื่องการทหารก็อาจไม่ด้อยกว่าฮั่นโกโจ ความสำเร็จของเซียวคังไม่แน่ชัดเพราะบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไม่รอบด้าน มีเพียงหงอหวัน (伍員 อู่ ยฺหวิน) ที่กล่าวถึงอย่างกว้าง ๆ แต่ก็สามารถอนุมานได้ว่าเซียวคังเป็นผู้ทรงมากความสามารถ หากบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระดำรัสและราชกิจของพระองค์ครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะไม่มีข้อโต้แย้งเลย เหล่าขุนนางต่างถวายบังคมต่อจักรพรรดิโจมอด้วยความยินดี งีสงทูลยกย่องพระดำรัสอภิปรายของโจมอ และทูลเสนอให้บันทึกพระดำรัสไว้ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง โจมอทรงเห็นว่าตัวพระองค์เองยังมีความรู้ไม่เพียงพอ ไม่ควรทำให้คนรุ่นหลังหัวเราะเยาะ จึงไม่ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของงีสง แต่เมื่อจงโฮย (鍾會 จง ฮุ่ย) น้องชายของจง ยฺหวี่ออกมาจากการเข้าเฝ้า ก็ได้บันทึกพระดำรัสของโจมอไว้[8][9]

เจิ้ง มั่ว (鄭默) ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดหลวง (秘書郎 มี่ชูหลาง) ทำการตรวจสอบงานเขียนเก่า คัดเอาเนื้อหาไม่เหมาะสมที่เป็นส่วนเกินออก รวมงานเขียนเป็นตำราขื่อเว่ย์จงจิงปู้ (魏中經簿) งีสงกล่าวว่า "นับแต่นี้ไปสีแดงและสีม่วง (คำอุปมาถึงความดีและความชั่ว) จะแบ่งแยกชัดเจนแล้ว"[10]

ต่อมางีสงได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) และเสนาบดีการเกษตร (大司農 ต้าซือหนง)[2] บุตรชายของงีสงชื่อยฺหวี จฺวิ้น (虞濬) ชื่อรอง เสี่ยนหง (顯弘) รับราชการเป็นเสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) ในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ("งีสงที่ปรึกษาคนหนึ่งจึงว่าแก่สุมาสูว่า ครั้งนี้จูกัดเก๊กมาล้อมด่านซินเสีย ด่านนั้นก็มั่นคงผู้คนอยู่รักษาก็เข้มแขงเห็นจะไม่เปนอันตราย เรานิ่งเสียก่อนเถิดอย่าเพ่อแต่งกองทัพออกไปช่วยเลย จูกัดเก๊กยกทัพมาเปนทางไกลนักจะได้สเบียงอาหารมาสักกี่มากน้อย หน่อยหนึ่งก็จะสิ้นสเบียงอาหารก็จะล่าทัพกลับไปเอง เมื่อล่าทัพหนีไปเราจึงจะยกทัพไล่ติดตามตีเห็นจะได้ชัยชนะฝ่ายเดียว ข้อหนึ่งข้าพเจ้าเกรงข้างฝ่ายเหนือเกียงอุยจะยกลงมาเปนทัพกระหนาบ ขอให้แต่งกองทัพไปป้องกัน") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 17, 2024.
  2. 2.0 2.1 窦泉《述书赋上(有序)》
  3. 3.0 3.1 3.2 《三国志》卷二十八注引《魏晋世语》
  4. 全三国文
  5. 《晋书》卷二
  6. 《三国志》卷四注引《汉晋春秋
  7. 《资治通鉴》卷七十六
  8. 《三国志》卷四注引《魏氏春秋
  9. 《太极东堂夏少康、汉高祖论》
  10. 《晋书》卷四十四

บรรณานุกรม[แก้]