คลองลำปลาทิว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองลำปลาทิว

คลองลำปลาทิว เป็นคลองสาขาหนึ่งของคลองแสนแสบที่ขุดแยกขึ้นมาทางทิศตะวันออกไปทางลำต้นกล้วยและลำผักชี ส่วนต้นคลองเรียกว่า "คลองลำปะทิว" ส่วนกลางคลองเรียกว่า คลองขุดใหม่ ส่วนปลายคลองก่อนเชื่อมกับคลองลำพระองค์เรียกว่า คลองลำผักชี แต่ชาวหนองจอกมักเรียกว่า "คลองขุดใหม่" แต่เดิมนั้นคลองลำปลาทิวเริ่มต้นตั้งแต่ลำผักชีไปถึงหัวตะเข้และมีการขุดคลองต่อจากลำผักชีมาถึงหนองจอก คลองแสนแสบ เรียกว่า "คลองขุดใหม่" ต่อมาเรียกเป็นคลองเส้นเดียวกันว่า "คลองลำปลาทิว" ตั้งแต่หนองจอกถึงหัวตะเข้

คลองลำปลาทิวตลอดทั้งสายมีความกว้างเฉลี่ย 35 เมตร ก้นคลองกว้างเฉลี่ย 12–15 เมตร และมีความยาวคลอง 17.5 กิโลเมตร จึงมีความจุน้ำสูงสุดอยู่ที่ 1,534,000 ลูกบาศก์เมตร[1]

ชื่อ[แก้]

สมัยก่อนเรียกชื่อว่า คลองลำปะทิว ซึ่งอาจมีความหมายว่า เส้นทาง (ลำ) ที่พบเห็น (ปะ) แมกไม้สองข้างตลอดทาง (ทิว) ส่วนคำว่า "ปลาทิว" เป็นปลาที่ไม่มีอยู่จริง จึงอาจสันนิษฐานว่าคงเพี้ยนมาจาก "คลองลำปลาซิว"

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งมีเรื่องเล่าว่าบริเวณนี้มีชุมชนมอญอพยพมา มีผัวเมียคู่หนึ่งพายเรือตามกลุ่มเพื่อนไม่ทัน จนเพื่อน ๆ สงสัยและต้องพายเรือกลับมาดู พบว่าสองผัวเมียทะเลาะกันอยู่ ว่าจะพายไปเส้นทางไหน จึงตะโกนร้องว่า "ปะเทีย ปะเทีย" (แปลว่าอย่าทะเลาะกัน) ภายหลังจากเพี้ยนมาเป็นคลองลำปลาทิว[2]

สถานที่ริมคลอง[แก้]

บริเวณสี่แยกหัวตะเข้ เป็นจุดบรรจบกันของคลองลำปลาทิว คลองประเวศบุรีรมย์และคลองหัวตะเข้ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนหัวตะเข้

ชุมชนลำปลาทิวในพื้นที่เขตลาดกระบัง ตั้งอยู่ริมคลอง พื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้ถูกน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะในฤดูฝนเมื่อน้ำเหนือไหลมาพื้นที่แห่งนี้จะได้รับผลกระทบเป็นแห่งแรก ๆ ของกรุงเทพมหานคร[3]

วัดที่ตั้งอยู่ริมคลองคือ วัดสุทธาโภชน์ซึ่งเป็นวัดมอญ มีประเพณีที่สืบทอดยาวนานคือประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ โดยประชาชนจะนั่งคอยใส่บาตรพระเรียงรายอยู่ริมตลิ่งตามแนวคลองลำปลาทิว[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล. ""ศึกชิงน้ำ" การเสียสละอีกครั้งของภาคเกษตร".
  2. "#ชื่อนี้มีที่มา #คลองลำปลาทิว ชื่อนี้มาจากไหนหรือมีปลาเป็นทิวแถว".
  3. "ครอบครัวที่ถูกลืม...แห่งชุมชนลำปลาทิว". โพสต์ทูเดย์.
  4. "สืบสานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือที่วัดสุทธาโภชน์". ไทยโพสต์.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]