คลองคูจาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่แสดงคลองตะเคียน คลองคูจาม และแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2232 โดยวินเชนโซ มารีอา

คลองคูจาม หรือ คลองปทาคูจาม ในแผนที่กรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำโดยช่างแผนที่ฝรั่งเศสที่ชื่อฌัก นีกอลา เบแล็ง ระบุตำแหน่งคลองคูจามว่า คูจามน้อย คู่กับคลองคูจามใหญ่หรือคลองตะเคียน โดยระหว่างคลองคูจามทั้งสองเป็นที่ตั้งของเวียงเหล็ก (ปท่าคูจาม) ซึ่งเป็นชุมชนชาวสยามกลุ่มรัฐสุพรรณภูมิที่ปรากฏในตำนานพระเจ้าอู่ทอง

คลองคูจามเป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งใต้นอกเกาะเมือง บริเวณบ้านสำเภาล่ม (อยู่ถัดทางตะวันออกวัดพุทไธศวรรย์) ยาวเป็นเส้นตรงลงไปทางทิศใต้ ไหลมารวมกับคลองตะเคียนหลังมัสยิดช่อฟ้า (ฝั่งเหนือตะเกี่ยโภคิน) ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เกาะเรียน[1] คลองมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร[2]

ประวัติ[แก้]

ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวมุสลิม ทั้งที่เป็นราชการ ทำมาค้าขาย ทำนาทำไร่ มีส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณคลองตะเคียนและคลองคูจาม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มอญใหม่ที่อพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณคลองคูจามบ้าง สามโคกบ้าง[3] ในแผนที่ร่างของเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ มีตลาดน้ำปากคลองคูจาม เห็นเรือขนาดเล็กจอดเรียงรายหนาแน่น ริมฝั่งตะวันออกของปากคลองระหว่างปากคลองตะเคียนกับปากแม่น้ำหน้าป้อมเพชร ซึ่งตำแหน่งนี้น่าจะเป็นปากคลองคูจาม สอดคล้องกับคำพรรณนาภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา "อนึ่ง (ลูก) แขกชวามาลายู บันทุกหมากเกาะ แลหวายตะค้า กะแชงเตย สรรพเครื่องสินค้าปากใต้ บันทุกเรือปากกว้างสิบศอกสามวา มาทอดสมอขายอยู่ ที่ตรงปากคลองคูจาม"[4] หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทางราชการได้อพยพชาวปัตตานีมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาบริเวณปากคลองคูจามและคลองตะเคียน

ย่านคลองคูจามมีแขกจามอาศัยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินมาเนิ่นนาน พวกแขกจามมีอาชีพสานเสื่อลันไต สานภาชนะใส่สิ่งของต่าง ๆ (สมุก) เพื่อจำหน่ายและรังจ้างทั่วไป[5] มีแนวคลองที่ได้รับการขุดลอกแล้วเมื่อ พ.ศ. 2538 ริมคลองทั้งสองด้านบางช่วงเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวมุสลิม บางช่วงเป็นที่ว่างเปล่ามีต้นไม้ขึ้นปกคลุม ปัจจุบันคลองคูจามแทบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นคลอง เพราะมีบ้านเรือนมากมายรุกล้ำ บางช่วงของทางน้ำถูกถนนปิดกั้น[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุจิตต์ วงษ์เทศ. "จาม 'ปท่าคูจาม'อยู่เวียงเหล็ก ขุมกำลังของพระเจ้าอู่ทอง (สุพรรณภูมิ)". มติชนสุดสัปดาห์.
  2. "คลองคูจาม". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. อภิเชฏฐ์ จั่นเที่ยง. "บทบาทขุนนางมอญในสมัยอยุธยาระหว่าง พ.ศ.2127 ถึง 2310". ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย.
  4. "ตลาดน้ำ...สี่มุมเมืองอยุธยา". ไทยรัฐ.
  5. "มุสลิมชุมชนคลองตะเคียนและชุมชนสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา : การสำรวจเบื้องต้น". คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
  6. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. "ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อยุธยา แขกจาม กับคูคลอง". มติชนสุดสัปดาห์.