กูมาร์คัฆ

พิกัด: 15°1′24.7″N 91°10′19.16″W / 15.023528°N 91.1719889°W / 15.023528; -91.1719889
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กูมาร์คัฆ
ซากปรักหักพังของกูมาร์คัฆ มีสนามบอลอยู่ทางซ้ายและวิหารเทพโทฆิลอยู่ทางขวา[1]
กูมาร์คัฆตั้งอยู่ในกัวเตมาลา
กูมาร์คัฆ
ที่ตั้งกูมาร์คัฆในกัวเตมาลาและมีโซอเมริกา
กูมาร์คัฆตั้งอยู่ในมีโซอเมริกา
กูมาร์คัฆ
กูมาร์คัฆ (มีโซอเมริกา)
ชื่ออื่นอูตาตลัน
ที่ตั้งซานตากรุซเดลกิเช จังหวัดกิเช กัวเตมาลา
พิกัด15°1′24.7″N 91°10′19.16″W / 15.023528°N 91.1719889°W / 15.023528; -91.1719889
ประเภทนิคม
ความเป็นมา
สร้างค.ศ. 1400
ละทิ้งค.ศ. 1524
สมัยสมัยหลังคลาสสิกตอนปลาย
วัฒนธรรมมายา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
สภาพซากปรักหักพัง

กูมาร์คัฆ (กีเชะ: Qʼumarkaj) หรือ กูมาร์กาฮ์ (สเปน: Qʼumarkaj, Gumarcaj, Cumarcaj) เป็นเมืองโบราณทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดกิเช ประเทศกัวเตมาลา ชื่อเมืองนี้มีที่มาจากวลีในภาษากีเชะว่า กูมาร์คาฮ์ (Qʼumarkah) ซึ่งแปลว่า "สถานที่ที่สร้างจากต้นกกแก่"[2] กูมาร์คัฆยังเป็นที่รู้จักกันในนาม อูตาตลัน (Utatlán) ซึ่งเป็นคำแปลชื่อเมืองนี้ในภาษานาวัตล์

กูมาร์คัฆเป็นหนึ่งในเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดของอารยธรรมมายาเมื่อชาวสเปนเข้ามาถึงภูมิภาคนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16[3] เมืองนี้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมายากีเชะในสมัยหลังคลาสสิกตอนปลาย[4] ในช่วงที่สเปนเข้าพิชิตดินแดน กูมาร์คัฆเป็นเมืองหลวงที่ค่อนข้างใหม่ โดยเมืองหลวงของอาณาจักรกีเชะเดิมตั้งอยู่ที่ฆาคาวิทส์ (ได้รับการระบุว่าตรงกับแหล่งโบราณคดีชิตินามิตในปัจจุบัน) และพิสมาชิ[5] กูมาร์คัฆได้รับการก่อตั้งขึ้นทางทิศเหนือของพิสมาชิในรัชสมัยของกษัตริย์กูกูมัทส์ (หมายถึง "งูขนนก" ในภาษากีเชะ) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15[6] ใน ค.ศ. 1470 กูมาร์คัฆอ่อนแอลงอย่างมากจากการกบฏในหมู่ขุนนางซึ่งส่งผลให้ชาวกีเชะสูญเสียพันธมิตรที่สำคัญไป

ในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ กูมาร์คัฆเป็นเมืองหลวงที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของอารยธรรมมายาที่สูงในสมัยหลังคลาสสิก[7] การกล่าวถึงเมืองนี้ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนปรากฏในจดหมายที่เอร์นัน กอร์เตส ส่งไปจากเม็กซิโก แม้ว่าแหล่งโบราณคดีนี้จะได้รับการสำรวจแล้ว แต่งานบูรณะก็ดำเนินไปได้เพียงเล็กน้อย สถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ซึ่งรวมถึงสนามเล่นบอลแบบมีโซอเมริกา วิหาร และวังได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการถูกขโมยหินไปสร้างเมืองซานตากรุซเดลกิเชที่อยู่ใกล้เคียง

โครงสร้างหลักของกูมาร์คัฆได้รับการจัดวางรอบจัตุรัสแห่งหนึ่ง ได้แก่ วิหารเทพโทฆิลซึ่งเป็นเทพเจ้าจากัวร์และองค์อุปถัมภ์เมือง วิหารเทพีอาวีลิชซึ่งเป็นเทพีองค์อุปถัมภ์สายสกุลหนึ่ง วิหารเทพฆาคาวิทส์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งขุนเขาและองค์อุปถัมภ์สายสกุลหนึ่ง และวิหารเทพกูกูมัทส์ซึ่งเป็นเทพเจ้างูขนนกและองค์อุปถัมภ์ราชวงศ์ สนามเล่นบอลแบบมีโซอเมริกาตั้งอยู่ระหว่างวังของสกุลขุนนางสำคัญสองสกุล มีวังหรือ นิมฆา กระจายอยู่ทั่วเมือง

พื้นที่กูมาร์คัฆและปริมณฑลแบ่งออกเป็นส่วนทางการเมืองสี่ส่วน โดยแต่ละส่วนเป็นของสายสกุลผู้ปกครองที่สำคัญที่สุดแต่ละสาย นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงเมืองบริวารขนาดเล็กจำนวนหนึ่งซึ่งรวมถึงจีซาลิน, พิสมาชิ, อาทาลายา และพาคามัน[8] พื้นที่ใจกลางของแหล่งโบราณคดีนี้เปิดให้ผู้คนเข้าชมและมีโครงสร้างพื้นฐานบางอย่าง เช่น พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kelly 1996, p.201.
  2. Kelly 1996, p.200.
  3. Sharer & Traxler 2006, p.4.
  4. Sharer & Traxler 2006, pp.621-622.
  5. Sharer & Traxler 2006, pp.622-623. Carmack 2001a, p.155.
  6. Sharer & Traxler 2006, p.623.
  7. Coe 1999, p.189.
  8. Carmack & Weeks 1981, p.326.
  9. Vásquez et al. 2009, p.3.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Carmack, Robert M. (2001a). Kikʼulmatajem le Kʼicheʼaabʼ: Evolución del Reino Kʼicheʼ (ภาษาสเปน). Guatemala: Iximulew. ISBN 99922-56-22-2. OCLC 253481949.
  • Carmack, Robert M.; John M. Weeks (April 1981). "The Archaeology and Ethnohistory of Utatlan: A Conjunctive Approach". American Antiquity. Society for American Archaeology. 46 (2): 323–341. doi:10.2307/280211. JSTOR 280211.
  • Coe, Michael D. (1999). The Maya. Ancient peoples and places series (6th edition, fully revised and expanded ed.). London and New York: Thames & Hudson. ISBN 0-500-28066-5. OCLC 59432778.
  • Kelly, Joyce (1996). An Archaeological Guide to Northern Central America: Belize, Guatemala, Honduras, and El Salvador. Norman: University of Oklahoma Press. ISBN 0-8061-2858-5. OCLC 34658843.
  • Sharer, Robert J.; Loa P. Traxler (2006). The Ancient Maya (6th (fully revised) ed.). Stanford, CA: Stanford University Press. ISBN 0-8047-4817-9. OCLC 57577446.
  • Vásquez, Rosaura; Maribel Pinto; Alexander Urízar (August 2009). "Plan de Intervención Parque Arqueológico Qʼuʼmarkaj". Ministerio de Cultura y Deportes; Dirección General de Patrimonio Cultural y Natural; Instituto de Antropología e Historia; Departamento de Monumentos Prehispánicos y Coloniales. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Microsoft Word document)เมื่อ 2011-07-21. สืบค้นเมื่อ 2010-01-23.