การศึกษาพิเศษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ

การศึกษาพิเศษ (อังกฤษ: special education, SPED) เป็นการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและความต้องการพิเศษของผู้เรียน ตามหลักการแล้ว กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนรายบุคคล การเตรียมกระบวนการสอนอย่างเป็นระบบ การดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์และการจัดการการเข้าถึง การแทรกแซงกระบวนการเหล่านี้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีความต้องการพิเศษให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และประสบความสำเร็จในการศึกษา ซึ่งไม่สามารถทำได้ในการจัดการศึกษาภายในห้องเรียนทั่วไป

การศึกษาพิเศษมีความเกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางการเรียน (เช่น ภาวะเสียการอ่านเข้าใจ) ความผิดปกติของการสื่อความหมาย ความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (เช่น โรคซนสมาธิสั้น) ความพิการทางร่างกาย (เช่น Osteogenesis imperfecta อัมพาตสมองใหญ่ กล้ามเนื้อเสื่อม ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลังและโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานแบบเฟรดริก) ความบกพร่องทางพัฒนาการ (เช่น ออทิซึมสเปกตรัม ซึ่งรวมถึง โรคออทิซึม กลุ่มอาการแอสเปอร์เจอร์ ปัญญาอ่อน) และความบกพร่องประเภทอื่น ๆ[1] ผู้เรียนที่มีความบกพร่องเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากการให้บริการทางการศึกษาเพิ่มเติม เช่น การใช้วิธีการสอนที่แตกต่าง การใช้เทคโนโลยี การดัดแปลงพื้นที่การสอน การใช้ห้องเสริมวิชาการหรือการใช้ห้องเรียนพิเศษ

บางครั้งอาจนับการศึกษาสำหรับเด็กปัญญาเลิศเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพิเศษ เนื่องจากมีการใช้กระบวนการและเทคนิกการสอนที่แตกต่างจากทั่วไป ทว่าโดยทั่วไปแล้วมักใช้นิยามของ "การศึกษาพิเศษ" อธิบายการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนที่มีความบกพร่อง ซึ่งสำหรับเด็กปัญญาเลิศจะมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ต่างออกไป นอกจากนี้แล้วมักมีความสับสนเกิดขึ้นระหว่างนิยามของคำว่าการศึกษาพิเศษและการสอนซ่อมเสริม โดยการศึกษาพิเศษจะถูกออกแบบให้กับผู้เรียนที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ ขณะที่ผู้สอนสามารถออกแบบแนวทางการสอนซ่อมเสริมให้กับผู้เรียนทุกคนได้ ไม่ว่าจะมีความต้องการพิเศษหรือไม่ก็ตาม เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนหรือให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น

ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนมาก นักการศึกษามักปรับปรุงวิธีการสอนและสิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนจำนวนมาก ขณะที่การศึกษาพิเศษในประเทศพัฒนาแล้วมักถูกจัดให้เป็นการบริการมากกว่าที่จะเป็นสถานที่[2][3][4][5][6] การเรียนร่วมเป็นแนวทางหนึ่งที่จะลดการตีตราทางสังคมและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนหลายคนให้สูงขึ้นได้[7]

การศึกษาพิเศษตรงกันข้ามกับ "การศึกษาทั่วไป" โดยการศึกษาทั่วไปจะจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรมาตรฐานโดยไม่มีวิธีการสอนหรือเครื่องมือสนับสนุนพิเศษ บางครั้งผู้เรียนที่ได้รับการศึกษาพิเศษอาจสามารถเข้าเรียนในรูปแบบการศึกษาทั่วไปกับผู้เรียนที่ไม่มีความบกพร่องได้

อ้างอิง[แก้]

  1. What is special education? เก็บถาวร 12 พฤษภาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน from New Zealand's Ministry of Education
  2. National Council on Disability. (1994). Inclusionary education for students with special needs: Keeping the promise. Washington, DC: Author.
  3. Swan, William W.; Morgan, Janet L (1993). "The Local Interagency Coordinating Council". Collaborating for Comprehensive Services for Young Children and Their Families. Baltimore: Paul H. Brookes Pub. Co. ISBN 978-1-55766-103-6. OCLC 25628688. OL 4285012W.
  4. Beverly Rainforth; York-Barr, Jennifer (1997). Collaborative Teams for Students With Severe Disabilities: Integrating Therapy and Educational Services. Brookes Publishing Company. ISBN 978-1-55766-291-0. OCLC 25025287.
  5. Stainback, Susan Bray; Stainback, William C. (1996). Support Networks for Inclusive Schooling: Interdependent Integrated Education. Paul H Brookes Pub Co. ISBN 978-1-55766-041-1. OCLC 300624925. OL 2219710M.
  6. Gaylord-Ross, Robert (1989). Integration strategies for students with handicaps. Baltimore: P.H. Brookes. ISBN 978-1-55766-010-7. OCLC 19130181.
  7. Gartner, Alan; Dorothy Kerzner Lipsky (1997). Inclusion and School Reform: Transforming America's Classrooms. Brookes Publishing Company. ISBN 978-1-55766-273-6. OCLC 35848926.