กฎหมายลิบบี ไซออน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฎหมายกระทรวงสุขภาพรัฐนิวยอร์ก มาตรา 405 (อังกฤษ: New York State Department of Health Code, Section 405) หรือรู้จักในชื่อ กฎหมายลิบบี ไซออน (อังกฤษ: Libby Zion Law) เป็นข้อกำหนดที่จำกัดเวลางานของแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลในรัฐนิวยอร์กให้ไม่เกินราว 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์[1] ชื่อกฎหมายตั้งตามชื่อของลิบบี ไซออน (Libby Zion) ซึ่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1984 ด้วยวัย 18 ปีภายใต้การดูแลของแพทย์ที่พ่อของเธอเชื่อว่าเป็นแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ใช้ทุนที่ทำงานหนักเกินไป[2] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 สภารับรองบัณฑิตแพทยศาสตร์ได้นำเอาข้อบังคับคล้ายกันมาใช้กับทุกสถาบันผลิตแพทย์ในสหรัฐที่ได้รับการรับรองโดยสภา[1]

ถึงแม้ว่าขบวนการทางกฎหมายจะเจอหลักฐานเกี่ยวกับการเสียชีวิตของไซออนที่ขัดกันอยู่[3] แต่ในปัจจุบัน การเสียชีวิตของเธอเข้าใจว่าเกิดจากกลุ่มอาการเซโรโทนิน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยาฟีเนลซีนที่เธอทานอยู่แล้วก่อนเข้าโรงพยาบาล กับยาเพทิดีน ที่ให้โดยแพทย์ประจำบ้าน[4] การฟ้องร้องและตรวจสอบหลังการเสียชีวิตของเธอ และการนำมาปรับใช้กับสภาพการทำงานและการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ใช้ทุนและแพทย์ประจำบ้าน ถูกนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างหนักโดยสื่อและในวารสารทางการแพทย์หลายฉบับ[5]

การเสียชีวิตของลิบบี ไซออน[แก้]

ลิบบี ไซออน (Libby Zion, พฤศจิกายน ค.ศ. 1965 – 5 มีนาคม ค.ศ. 1984)[6][7] เป็นนักศึกษาชั้นปีหนึ่งของวิทยาลัยเบนนิงตัน ในเบนนิงตัน รัฐเวอร์มอนต์ เธอทานฟีเนลซีน ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้าเป็นประจำทุกวัน[8][9] ผลการชันสูตรพลิกศพของโรงพยาบาลพบร่องรอยของโคเคน แต่ผลการตรวจอื่น ๆ ในภายหลังไม่พบ[10][11][12][13] ไซออนเป็นลูกสาวของซิดนีย์ ไซออน นักกฎหมายที่เขียนให้กับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ เธอมีพี่น้องเป็นผู้ชายสองคน คือแอดัม (Adam) และ เจด (Jed) ข่าวมรณกรรมของเธอที่เผยแพร่ใน เดอะนิวยอร์กไทมส์ เขียนในหนึ่งวันหลังเธอเสียชีวิต ระบุว่าเธอป่วยด้วย "อาการคล้ายหวัด" เป็นเวลาหลายวันก่อนหน้า ในบทความระบุว่าเธอถูกรับเข้าเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลนิวยอร์ก และเสียชีวิตจากหัวใจวายโดยยังไม่ทราบสาเหตุ[14]

ลิบบี ไซออน ถูกรับเข้าเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหลังเธอมาที่ห้องฉุกเฉิน โดยแพทย์ประจำบ้านที่อยู่เวรห้องฉุกเฉินคืนวันที่ 4 มีนาคม เรย์มอนด์ เชอร์แมน (Raymond Sherman) แพทย์ประจำตระกูลของไซออน เห็นด้วยกับแผนที่จะให้สารน้ำและสังเกตอาการของเธอ แพทย์ประจำบ้านสองคนได้รับมอบหมายให้เป็นแพทย์ประจำตัวไซออนขณะเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล ทั้งสองคนได้แก่ ลุยส์ ไวน์สไตน์ (Luise Weinstein) และ เกร็ก สโตน (Gregg Stone) ซึ่งได้ทำการตรวจประเมินอาการของเธอ ไวน์สไตน์เป็นแพทย์ประจำบ้านปีที่หนึ่ง (ในสหรัฐเรียกว่าแพทย์ใช้ทุน; อินเทิร์น หรือ PGY-1) ส่วนสโตนเป็นแพทย์ประจำบ้าน PGY-2 ทั้งคู่ไม่สามารถประเมินได้ว่าไซออนเจ็บป่วยจากอะไร กระนั้น สโตนได้เสนอว่าอาการของเธออาจเป็นแค่การตอบสนองเกินจริง (simple overreaction) ต่ออาการเจ็บป่วยปกติ หลังปรึกษากับเชอร์แมน แพทย์ประจำบ้านทั้งสองได้จ่ายยาเพทิดีน เพื่อควบคุม "อาการกระตุกเคลื่อนไหวแปลก ๆ" ที่ไซออนมีตอนแรกเข้ารับ[15]

ทั้งไวน์สไตน์และสโตนมีภาระรับผิดชอบผู้ป่วยคนอื่นอีกหลายสิบคน หลังประเมินไซออนเสร็จแล้ว ไวน์สไตน์ได้ออกไปดูแลผู้ป่วยคนอื่นต่อ ส่วนสโตนไปหลับพักผ่อนในห้องพักรอเรียกที่ตึกติดกัน อย่างไรก็ตาม อาการของไซออนไม่ดีขึ้นและยังคงสั่นอยู่ พยาบาลได้โทรแจ้งอาการแก่ไวน์สไตน์ เขาได้สั่งให้รัดผู้ป่วยไว้ และสั่งยาฮาโลเพอริดอลทางโทรศัพท์เพื่อคุมอาการสั่น[15]

ท้ายที่สุด ไซออนนอนหลับหลังได้รับยา แต่พอเวลา 6:30 น. อุณหภูมิเธอสูงขึ้นถึง 107 องศาฟาเรนไฮต์ (42 องศาเซลเซียส) ไวน์สไตน์ถูกโทรเรียกและได้พยายามลดอุณหภูมิ แต่ท้ายที่สุดไซออนเสียชีวิตจากหัวใจวายก่อนที่ได้แก้อาการอุณหภูมิสูงได้ การกู้ชีพไม่เป็นผล และไวน์สไตน์ได้โทรแจ้งพ่อแม่ของไซออนทางโทรศัพท์[15]

การสอบสวน[แก้]

พ่อแม่ของไซออนเชื่อว่าเธอเสียชีวิตจากจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอของโรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอนนี้[3][15] ซิดนีย์ ไซออน ตั้งคำถามถึงความสามารถ (competence) ของแพทย์ด้วยสองเหตุผลหลัก ประการแรกคือการให้ยาเพทิดีนที่สามารถเกิดปฏิกิริยากับยาฟีเนลซีนที่ไซออนทานอยู่เดิมได้ ปฏิกิริยาระหว่างสองยานี้ไม่เป็นที่ทราบทั่วไปในแพทย์ในเวลานั้น และเพราะด้วยกรณีนี้ ปฏิกิริยาระหว่างยาทั้งสองถึงกลายมาเป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการแพทย์ ประการที่สองคือการใช้การมัดตัวและยาจิตเวชฉุกเฉิน (ฮาโลเพริดอล) ซิดนีย์กล่าวว่า "พวกเขา[แพทย์] ได้ให้ยาที่มีมุ่งหมายเพื่อฆ่าเธอ[ลิบบี] แล้วก็มาไม่สนใจเธอ ยกเว้นแต่แค่มามัดเธอเหมือนสุนัข" และยังเรียกการเสียชีวิตของเธอว่ามาจาก "ฆาตกรรม" ซึ่งสร้างความกังวลในบรรดาแพทย์อย่างมาก[9] ในขณะเดียวกัน ซิดนีย์ยังตั้งข้อสงสัยถึงชั่วโมงการทำงานต่อเนื่องที่ยาวนานของแพทย์ประจำบ้านในเวลานั้น ในส่วนความเห็น (op-ed) บน นิวยอร์กไทมส์ เขาได้เขียนว่า "คุณไม่ต้อง[เรียนจบ]อนุบาลด้วยซ้ำ ที่จะรู้ว่าแพทย์ประจำบ้านคนหนึ่งที่ทำงานกะ 36 ขั่วโมง ไม่ใช่สภาวะที่จะตัดสินใจได้ถูก - ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเป็นความตายเลย"[15] ท้ายที่สุด กรณีนี้กลายมาเป็นการต่อสู้ทางกฎหมายที่สำคัญและมีข้อโต้แย้งหลายครั้ง รวมถึงยังถูกนำไปเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสูงหลายฉบับ[16][17]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

หลังการตัดสินลงโทษแพทย์ประจำบ้านทั้งสองคน ผู้ว่าการกระทรวงสุขภาพรัฐนิวยอร์ก เดวิด แอ็กเซลร็อด ตัดสินใจที่จะแจ้งปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบแพทย์ประจำบ้าน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการริบบินน้ำเงินประกอบด้วยผู้เขี่ยวชาญหลายคน ภายใต้การนำโดยเบอร์แทรนด์ เอ็ม เบลล์ แพทย์ปฐมภูมิประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์แอลเบิร์ท ไอน์สไตน์ ในเดอะบรองซ์ เบลล์เป็นที่รู้จักดีจากจุดยืนที่วิจารณ์การขาดการควบคุมดูแลแพทย์ที่กำลังฝึกหัดอยู่[15] คณะกรรมการนี้มีชื่อว่ากคณะกรรมการที่ปรึกษาเฉพาะกิจว่าด้วยบริการสุขภาพฉุกเฉิน (Ad Hoc Advisory Committee on Emergency Services) และต่อมาเป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ คณะกรรมการเบลล์ (Bell Commission) มีหน้าที่ในการประเมินการกำกับดูแลแพทย์ในรัฐ[15] และพัฒนารายการข้อแนะนำสำหรับปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย และชั่วโมงการทำงานของแพทย์ประจำบ้าน[3]

ในปี ค.ศ. 1989 รัฐนิวยอร์กได้นำเอาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเบลล์มาใช้ ข้อเสนอแนะดังกล่าวเสนอว่า "แพทย์ประจำบ้านไม่ควรจะทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือมากกว่า 24 ชั่วโมงติดต่อกัน", แพทย์เจ้าของไข้ "จะต้องปรากฏตัวด้วยตนเองที่โรงพยาบาลตลอดเวลา" และ ให้ "โรงพยาบาลจัดตั้ง 'เวรกลางคืน' (night floats) ซึ่งคือแพทย์ที่ทำงานข้ามคืนเพียงอย่างเดียวเพื่อให้เพื่อนร่วมงานได้พักผ่อน)"[15] การตรวจสอบหลังข้อบังคับนี้ประกาศใช้มีกระทรวงสุขภาพรัฐนิวยอร์กเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการกับโรงพยาบาลที่ละเมิดข้อบังคับเหล่านี้[2] นับจากนั้น ข้อบังคับคล้าย ๆ กันได้ถูกนำมาใช้ในรัฐอื่น ๆ หลายรัฐ[15] และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 สภาการรับรองบัณฑิตแพทยศาสตร์ (Accreditation Council for Graduate Medical Education; ACGME) ได้นำเอาข้อบังคับคล้ายกันมาบังคับใช้ในทุกสถาบันผลิตแพทย์ในสหรัฐ ที่ได้รับการรับรองโดยสภา[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Philibert I, Friedmann P, Williams WT, for the members of the ACGME Work Group on Resident Duty Hours (2002). "New Requirements for Resident Duty Hours". Journal of the American Medical Association. 288 (9): 1112–1114. doi:10.1001/jama.288.9.1112. PMID 12204081.
  2. 2.0 2.1 Zion, Sidney (18 ธันวาคม 1997). "Hospitals Flout My Daughter's Law". New York Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2009. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009. After it became clear to everybody, including a New York County grand jury, that Libby's death was caused by overworked and unsupervised interns and residents, the Libby Zion law was passed: No more 36-hour shifts for interns and residents; from now on, attending physicians would be at the ready to supervise the young, inexperienced student-doctors.
  3. 3.0 3.1 3.2 Fox, Margalit (5 มีนาคม 2005). "Elsa Zion, 70, City Official Who Helped Cut Doctor Workloads, Dies". New York Times. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009.
  4. Jane Brody (27 กุมภาพันธ์ 2007). "A Mix of Medicines That Can Be Lethal". New York Times. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009.
  5. Spritz, N. (สิงหาคม 1991). "Oversight of physicians' conduct by state licensing agencies. Lessons from New York's Libby Zion case". Annals of Internal Medicine. 115 (3): 219–22. doi:10.7326/0003-4819-115-3-219. PMID 2058876.
  6. สำหรับวันเกิดของเธอ ดูที่: Robins, Natalie (1996). The Girl Who Died Twice. Delacorte Press. p. 30. ISBN 0-440-22267-2. was born on a crisp fall day late in November 1965.
  7. สำหรับวันเสียชีวิตของเธอ ดูที่ "Libby Zion". New York Times. 6 มีนาคม 1984. p. 10. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009. Libby Zion, a freshman at Bennington College in Vermont and the daughter of the writer and lawyer Sidney E. Zion and his wife, Elsa, died of cardiac arrest yesterday at New York Presbyterian Hospital after a brief illness.
  8. Barron H. Lerner (28 พฤศจิกายน 2006). "A Case That Shook Medicine". Washington Post. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2014.
  9. 9.0 9.1 "What Doctors Don't Tell Us by David J. Rothman". The New York Review of Books. 29 กุมภาพันธ์ 1996. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2014.
  10. DAN COLLINS (1 ธันวาคม 2010). "A Father's Grief, a Father's Fight : Litigation: In 1984, Libby Zion was hospitalized with an earache and fever-and died. Her dad blames doctors. They blame cocaine. Her death brought new rules-and a lengthy lawsuit". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2014.
  11. SAMUEL MAULL (6 กุมภาพันธ์ 1995). "Jury Returns Verdict in Libby Zion Wrongful Death Case". Apnewsarchive.com. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2014.
  12. Mcpherson, Hope (19 พฤศจิกายน 1995). "Entertainment & the Arts : 'The Girl Who Died Twice: The Libby Zion Case And The Hidden Hazards Of Hospitals'". Seattle Times Newspaper. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2014.
  13. Robert D. McFadden (5 สิงหาคม 2009). "Sidney Zion, 75; worked to cut doctors' long hours". The Boston Globe. The New York Times. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2014.
  14. "Libby Zion". New York Times. 6 มีนาคม 1984. p. 10. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 15.7 15.8 Lerner, Barron H. (28 พฤศจิกายน 2006). "A Case That Shook Medicine: How One Man's Rage Over His Daughter's Death Sped Reform of Doctor Training". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009.
  16. Asch, D. A.; Parker, R. M. (มีนาคม 1988). "The Libby Zion case. One step forward or two steps backward?". New England Journal of Medicine. 318 (12): 771–5. doi:10.1056/NEJM198803243181209. PMID 3347226.
  17. Sack, Kevin (1 พฤศจิกายน 1991). "Appeals Court Clears Doctors Who Were Censured in the Libby Zion Case". New York Times. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009.