ข้ามไปเนื้อหา

สมเกียรติ อ่อนวิมล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเกียรติ อ่อนวิมล
สมเกียรติ อ่อนวิมล ในปี พ.ศ. 2553
เกิด2 เมษายน พ.ศ. 2491 (76 ปี)
อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่า
อาชีพอาจารย์ นักธุรกิจ ผู้ประกาศข่าว สมาชิกวุฒิสภา
คู่สมรสธัญญา อ่อนวิมล
บุตรธัญญ์ อ่อนวิมล
เว็บไซต์ThaiVision

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด, อดีต[1]ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก[2], ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. 2543 อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 อดีตนักสร้างสรรค์รายการข่าวและผู้ประกาศข่าวของหลายสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

สมเกียรติ อ่อนวิมล เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม) ระหว่างนั้นก็ได้รับทุนจากมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส) เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปศึกษาที่รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา และกลับมาเรียนต่อจนจบ เมื่อปี พ.ศ. 2510[1] เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาสอบชิงทุนของรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดียได้ จึงลาออกไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดลี กรุงนิวเดลี จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ และได้ทุนไปศึกษาปริญญาเอก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียใต้ ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ชีวิตส่วนตัว สมเกียรติสมรสกับธัญญา (สกุลเดิม: ธัญญขันธ์) มีบุตรชายคนเดียวคือ ธัญญ์ อ่อนวิมล สมเกียรติชอบฟังเพลงลูกทุ่ง และเลี้ยงแมวในเวลาว่าง และไม่ว่างก็เลี้ยง[1] อนึ่ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558 เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ บาดเจ็บขาซ้ายหัก และข้อมือซ้ายหัก[3]

การทำงาน[แก้]

สมเกียรติ อ่อนวิมล เข้าบรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มเข้าสู่วงการโทรทัศน์ โดยเป็นผู้ดำเนินรายการความรู้คือประทีป ทางไทยทีวีสีช่อง 9 และเริ่มเป็นผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ ในรายการข่าวทันโลกช่วงดึก ทางช่อง 9 เช่นเดียวกัน และเมื่อ พ.ศ. 2528 สมเกียรติร่วมกับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ก่อตั้งบริษัท แปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยเข้าร่วมผลิตข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ในเวลา 19.30 น. จากเดิมที่อ่านเฉพาะข่าวในพระราชสำนักและข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล มีการปรับปรุงทั้งรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหารายการ โดยสมเกียรติเป็นผู้ประกาศข่าวด้วยตนเอง ร่วมกับกรรณิกา ธรรมเกษร และประชา เทพาหุดี ร่วมด้วยผู้สื่อข่าวภาคสนามรุ่นใหม่เช่น นิรมล เมธีสุวกุล, ยุพา เพชรฤทธิ์, สุริยนต์ จองลีพันธุ์, อนุชิต จุรีเกษ, ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์, ศศิธร ลิ้มศรีมณี, สาธิต ยุวนันทการุญ, อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง รวมทั้งวิทวัส สุนทรวิเนตร์ ที่รายงานพยากรณ์อากาศในรูปแบบใหม่

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2531 สมเกียรติเกิดขัดแย้งด้วยนโยบายการเสนอข่าวกับ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) จึงลาออก (ในเว็บไซต์ส่วนตัวของสมเกียรติ ระบุว่า ถูกมติคณะรัฐมนตรีให้เลิกสัญญา[1]) ไปร่วมงานกับฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นระยะสั้นๆแล้วขอลาออก หลังมีปัญหาจากรายงานข่าวอาการป่วยของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จากนั้นสมเกียรติในนาม บจก.แปซิฟิกฯ เข้าร่วมผลิตรายการข่าวกับเครือข่ายวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพบก โดยริเริ่มผลิตรายการเช้าวันนี้ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และสถานีวิทยุ จ.ส. 100 รายงานข่าวการจราจร ซึ่งเริ่มส่งกระจายเสียงเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2534 พร้อมทั้งเป็นผู้ผลิตรายงานข่าวต้นชั่วโมง แก่สถานีวิทยุกระจายเสียงเครือข่ายกองทัพบกทั่วประเทศ อันเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ข่าวแปซิฟิก ขึ้นเป็นหน่วยงานย่อยของ บจก.แปซิฟิกฯ

สมเกียรติถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ และในช่วงพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เมื่อสถานีวิทยุ จ.ส.100 รายงานข่าวและความเห็นในเชิงเป็นผลลบ กับการชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง (ในเว็บไซต์ส่วนตัวของสมเกียรติ ระบุว่า ตรงกับความเป็นจริงแต่ฝ่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและกลุ่มผู้สนับสนุนพลตรีจำลอง ศรีเมือง ไม่ชอบ) หลังจากนั้น สมเกียรติเข้าบริหารรายการข่าวทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะลงสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2540[1] ต่อมารับตำแหน่งคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในระยะสั้นๆ เมื่อปี พ.ศ. 2542 และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543[4] โดยร่วมในคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระ กิจการโทรคมนาคม และคณะกรรมาธิการกิจการโทรคมนาคม[1]ของวุฒิสภาด้วย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ภายหลังเครือเนชั่นถอนตัว สมเกียรติได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานข่าว และผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ก็อยู่ในตำแหน่งในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน

ระหว่างนั้น สมเกียรติก็เข้าเป็นนักจัดรายการวิทยุหลายรายการเช่น โลกยามเช้า, โลกยามเย็น ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท.เอฟเอ็ม 107.0 เมกะเฮิร์ตซ์ ยุคที่บริหารงานโดยบริษัท สตูดิโอ 107 จำกัด ของจันทรา ชัยนาม (ในเว็บไซต์ส่วนตัวของสมเกียรติ ระบุว่า FM107 ไม่มี ไม่เกี่ยว เคยไปให้สัมภาษณ์ในรายการที่ FM107 ครั้งหนึ่งเท่านั้น จันทรา ชัยนาม เป็นเพื่อนกัน) และรายการลูกทุ่งคนดัง, ลูกทุ่งเวทีไท, คุยเฟื่องเรื่องไทย ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท.เอฟเอ็ม 95.0 เมกะเฮิร์ตซ์ ลูกทุ่งเอฟเอ็ม แต่ก็ต้องทยอยเลิกจัดไปทั้งหมดในราว พ.ศ. 2545 ต่อมาสมเกียรติข้ามมาจัดรายการโลกยามเช้า ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ในระยะแรก ก่อนที่จะให้แคลร์ ปัจฉิมานนท์ ดำเนินรายการแทนและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการไปอีก (ในเว็บไซต์ส่วนตัวของสมเกียรติ ระบุว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการ เปลี่ยนเฉพาะผู้ดำเนินรายการ ผมยังคุมรายการต่อไป แต่ให้แคลร์ดำเนินรายการแทน ผมเป็นคนคัดเลือกรับแคลร์เข้าทำงานแทนผมเอง ตามแผนการสร้างคนสร้างงานของผมเอง เพราะผมไม่ชอบทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการหน้าจออีกต่อไปแล้ว ผมลาออกจากรายการ "โลกยามเช้า" ปี 2551[1])

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 สมเกียรติเขียนบทความปกป้อง ร้อยโทหญิงสุณิสา เลิศภควัต ผู้เขียนหนังสือทักษิณ Where are you? จากการเดินทางไปสัมภาษณ์ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ที่สหราชอาณาจักร เพื่อนำมาเขียนเป็นหนังสือว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่ของสื่อมวลชน และกล่าวโจมตีสื่อในเครือผู้จัดการที่เสนอข่าวทำลายความน่าเชื่อถือ ของร้อยโทหญิงสุณิสาด้วย

ในช่วงหลังจากรักษาตัวจากอาการป่วยมะเร็ง สมเกียรติยังเผยแพร่ผลงานเขียนของตน ผ่านเว็บไซต์ ThaiVision [5] และจัดรายการโลกยามเช้า[6]ทางวิทยุคลื่น FM 96.5 (ฟังย้อนหลัง)

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557[แก้]

ภาพยนตร์[แก้]

  • มอแกน 99 1/2 ก็ถึงได้ (2535)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "ไทยวิทัศน์ โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล | THAI VITAS by SOMKIAT ONWIMON". THAIVISION (ภาษาอังกฤษ).
  2. "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-09-04.
  3. อุบัติเหตุ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ขาหัก! พยาบาลขับข้ามเกาะกลางชนวอลโว่
  4. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เขตเลือกตั้งจังหวัดสุพรรณบุรี (นายสมเกียรติ อ่อนวิมล)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-04-10. สืบค้นเมื่อ 2018-03-12.
  5. 105Smilethailand (2022-08-03), SMILE THAILAND | วันนี้ของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล | Ep.17 [1/3], สืบค้นเมื่อ 2024-06-13
  6. "Thinking Channel". thinkingradio.mcot.net.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๙, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๕, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๓, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]