ข้ามไปเนื้อหา

ยีเอ๋ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในบทความนี้นามสกุลคือ หมี

ยีเอ๋ง
禰衡
รูปวาดยี่เอ๋งสมัยราชวงศ์ชิง
เกิดค.ศ. 173
เสียชีวิตค.ศ. 198 (25 ปี)
ชื่ออื่นเจิ้งผิง (正平)
อาชีพนักวิชาการ
ยีเอ๋ง
อักษรจีนตัวเต็ม禰衡
อักษรจีนตัวย่อ祢衡
เจิ้งผิง
ภาษาจีน正平

ยีเอ๋ง (จีนตัวย่อ: 弥衡; จีนตัวเต็ม: 彌衡; พินอิน: Mí Héng) ชื่อรอง เจิ้งผิง (正平) เป็นนักเขียนและนักดนตรีที่มีชีวิตอยู่ในปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เขาเป็นที่รู้จักจากบทกวีร้อยแก้วชื่อ "Fu on the Parrot" ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเดียวของเขาที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน[1]

ประวัติ[แก้]

ยีเอ๋งเกิดเมื่อราวปี 173 ที่อำเภอปาน เมืองเพงงวนก๋วน[2] ในช่วงต้นทศวรรษ 190 ยีเอ๋งเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างพากันอพยพหนีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของจีนในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น เขาตั้งถิ่นฐานในเกงจิ๋ว (ครอบคลุมมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และเข้ารับราชการกับเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว

ราวปี 196 ยีเอ๋งมุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อเข้ารับราชการในราชสำนักที่โจโฉสถาปนาขึ้นที่เมืองฮูโต๋[2] ยีเอ๋งมีความสนิทสนมกับขงหยง ปราชญ์คนสำคัญ ซึ่งเขียนหนังสือแนะนำตัวเขาให้เข้ารับราชการและส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งเป็นเพียงจักรพรรดิหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของโจโฉ[2] ยีเอ๋งเดินทางกลับเกงจิ๋วในปี 197 เขาอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตในอีก 1–2 ปีต่อมา

แม้ว่า ยีเอ๋งจะเป็นที่รู้จักในฐานะกวีและนักเขียนที่มีพรสวรรค์ แต่เขากลับมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด ชอบพูดตลกขบขันอย่างไม่เหมาะสม และแสดงท่าทีเย่อหยิ่งจนยากต่อการเข้าสังคม สร้างความสงสัยให้กับบางคนถึงสภาพจิตของเขา[3]

เมื่อมาถึงเมืองฮูโต๋ในปี 196 ขงหยงพูดยกย่องยีเอ๋งต่อหน้าโจโฉ โจโฉจึงเชิญยีเอ๋งมาพบ[2] อย่างไรก็ตาม ยีเอ๋ง มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อโจโฉ และไม่ยอมเข้าพบ[2] โจโฉโกรธยีเอ๋งแต่ไม่ลงโทษเพราะพรสวรรค์ของเขา[1] ยีเอ๋งขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการตีกลอง จึงได้รับคำเชิญจากโจโฉ ให้ร่วมแสดงโชว์การตีกลองร่วมกับมือกลองคนอื่น ๆ ในงานเลี้ยง โจโฉมอบชุดพิเศษให้กับมือกลองได้สวมใส่ แต่ยีเอ๋งไม่ยอมใส่และสวมใส่ชุดของตัวเองเมื่อแสดงต่อหน้าโจโฉและแขกคนสำคัญ เขาถูกคนรับใช้ตำหนิเรื่องการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม ยีเอ๋งเปลือยกายอย่างช้า ๆ ต่อหน้าโจโฉและแขกคนสำคัญ เขาค่อย ๆ สวมชุดมือกลองและเล่นต่อโดยไม่แสดงอาการเขินอาย[1][3] ขงหยง จัดการให้ยีเอ๋งได้พบกับโจโฉอีกครั้ง แต่ยีเอ๋งกลับประพฤติตนไม่เหมาะสมดังเดิม โจโฉจึงส่งยีเอ๋งกลับคืนสู่เล่าเปียว[1]

ท่ามกลางผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเปียว ยีเอ๋ง ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากผลงานด้านวรรณกรรมของเขา อย่างไรก็ตาม เขายังวิพากษ์วิจารณ์เล่าเปียวว่าขาดความเด็ดขาด และสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ของเล่าเปียว ด้วยท่าทีเย่อหยิ่งของเขา[1][3] เล่าเปียวอดทนต่อพฤติกรรมโอหังของยีเอ๋งเป็นเวลา 1 ปี สุดท้ายจึงส่งเขาไปประจำการที่กังแฮ เพื่อรับราชการกับหองจอ เจ้าเมืองกังแฮ[1] หวงเช่อ (黄射) บุตรชายของหองจอชื่นชมยีเอ๋งเป็นอย่างมาก ในตอนแรกหองจอเองก็ประทับใจในสติปัญญาและความสามารถของยีเอ๋งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยีเอ๋งสร้างปัญหาให้กับตัวเองเมื่อเขาพูดจาดูถูกหองจอต่อหน้าลูกน้องในงานเลี้ยง[1][3] หองจอจึงออกคำสั่งประหารชีวิตยีเอ๋ง

หมายเหตุ[แก้]

  1. ข้อมูลบางส่วนอ่านชื่อสกุลเป็น "หนี" (Ní)

อ้างอิง[แก้]

ข้อมูล[แก้]

  • de Crespigny, Rafe (2007). "Ni Heng 禰衡". A Biographical Dictionary of the Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Leiden: Brill. p. 678. ISBN 978-90-04-15605-0.
  • Knechtges, David R. (2010). "Mi Heng 禰衡". ใน Knechtges, David R.; Chang, Taiping (บ.ก.). Ancient and Early Medieval Chinese Literature: A Reference Guide, Part One. Leiden: Brill. pp. 671–3. ISBN 978-90-04-19127-3.
  • หนังสือ คุยเฟื่องเรื่องสามก๊ก โดย โกวิท ตั้งตรงจิตร, พ.ศ. 2550 สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก
  • สามก๊กฉบับวณิพก โดย ยาขอบ