กะอ์บะฮ์

พิกัด: 21°25′21.0″N 39°49′34.2″E / 21.422500°N 39.826167°E / 21.422500; 39.826167
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กะอ์บะฮ์
ٱلْكَعْبَة (al-Kaʿba)
กะอ์บะฮ์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020
ศาสนา
ศาสนาอิสลาม
ภูมิภาคแคว้นมักกะฮ์
จารีตเฏาะวาฟ
หน่วยงานกำกับดูแลประธานใหญ่ฝ่ายกิจการของมัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง: อับดุรเราะห์มาน อัสซุดัยส์
ที่ตั้ง
ที่ตั้งมัสยิดใหญ่แห่งมักกะฮ์
มักกะฮ์ ฮิญาซ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
กะอ์บะฮ์ตั้งอยู่ในซาอุดีอาระเบีย
กะอ์บะฮ์
ที่ตั้งของกะอ์บะฮ์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย
กะอ์บะฮ์ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง
กะอ์บะฮ์
กะอ์บะฮ์ (เอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง)
ผู้บริหารThe Agency of the General Presidency for the Affairs of the Two Holy Mosques
พิกัดภูมิศาสตร์21°25′21.0″N 39°49′34.2″E / 21.422500°N 39.826167°E / 21.422500; 39.826167
สถาปัตยกรรม
ประเภทวิหาร (Temple)[1]
เริ่มก่อตั้งก่อนอิสลาม
ลักษณะจำเพาะ
ความยาว12.86 m (42 ft 2 in)
ความกว้าง11.03 m (36 ft 2 in)
ความสูงสูงสุด13.1 m (43 ft 0 in)
วัสดุหิน, หินอ่อน, หินปูน

กะอ์บะฮ์ (อาหรับ: ٱلْكَعْبَة, อักษรโรมัน: al-Kaʿba, แปลตรงตัว'ลูกบาศก์') บางครั้งเรียกเป็น อัลกะอ์บะตุลมุชัรเราะฟะฮ์ (อาหรับ: ٱلْكَعْبَة ٱلْمُشَرَّفَة, อักษรโรมัน: al-Kaʿba l-Mušarrafa, แปลตรงตัว'กะอ์บะฮ์อันทรงเกียรติ') เป็นอาคารหินที่ใจกลางมัสยิดอัลฮะรอม มัสยิดที่สำคัญที่สุดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม ที่มักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย[2][3][4] มุสลิมถือว่าเป็น บัยตุลลอฮ์ (อาหรับ: بَيْت ٱللَّٰه, แปลตรงตัว'บ้านของอัลลอฮ์') และเป็นกิบลัต (อาหรับ: قِبْلَة, ทิศทางละหมาด) สำหรับมุสลิมทั่วโลก โครงสร้างปัจจุบันสร้างขึ้นหลังอาคารเดิมถูกเพลิงไหม้ทำลายในช่วงการล้อมมักกะฮ์โดยฝ่ายอุมัยยะฮ์ใน ค.ศ. 683[1]

ในสมัยอิสลามยุคต้น มุสลิมหันหน้าละหมาดไปที่เยรูซาเลม ก่อนที่จะเปลี่ยนกิบลัตไปที่กะอ์บะฮ์ ซึ่งมุสลิมเชื่อว่าเป็นผลจากการเปิดเผยโองการอัลกุรอานที่ประทานแก่ศาสดามุฮัมมัด[5]

ศาสนาอิสลามรายงานว่า กะอ์บะฮ์ถูกสร้างใหม่หลายครั้งตลอดทั้งประวัติศาสตร์ โดยครั้งที่มีชื่อเสียงที่สุดคือสมัยอิบรอฮีม (อับราฮัม) กับอิสมาอีล (อิชมาเอล) ลูกชายท่าน เมื่ออิบรอฮีมเดินทางกลับมายังหุบเขามักกะฮ์เพียงไม่กี่ปีหลังทิ้งฮาญัร (ฮาการ์) ผู้เป็นภรรยา กับอิสมาอีลตามพระบัญชาของอัลลอฮ์ การเดินวนรอบ กะอ์บะฮ์ 7 ครั้งทวนเข็มนาฬิกา มีอีกชื่อว่า เฏาะวาฟ (طواف) ถือเป็น ฟัรฎ์ (ข้อบังคับ) ในการทำพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ให้สมบูรณ์[4] พื้นที่รอบกะอ์บะฮ์ที่ผู้แสวงบุญเดินวนรอบ ๆ นั้นเรียกว่า มะฏอฟ (المطاف)

ผู้แสวงบุญอยู่ล้อมรอบกะอ์บะฮ์และมะฏอฟทุกวัน ยกเว้นวันที่ 9 ษุลฮิจญ์ญะฮ์ (วันอะเราะฟะฮ์) ที่มีการนำผ้าคลุมโครงสร้าง รู้จักกันในชื่อ กิสวะฮ์ (อาหรับ: كسوة, อักษรโรมัน: Kiswah, แปลตรงตัว'ผ้า') มาเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ช่วงที่มีผู้เข้ามายังพื้นที่นี้มากที่สุดคือช่วงเราะมะฎอนและฮัจญ์ที่มีผู้แสวงบุญเข้ามาเฏาะวาฟหลายล้านคน[6] ทางกระทรวงฮัจญ์และอุมเราะฮ์ของซาอุดีอาระเบียรายงานว่า ใน ฮ.ศ. 1439 มีผู้แสวงบุญเข้ามาทำอุมเราะฮ์ถึง 6,791,100 คน[7]

ประวัติ[แก้]

ภาพกะอ์บะฮ์ใน ค.ศ. 1718. โดย Adriaan Reland: Verhandeling van de godsdienst der Mahometaanen

ต้นกำเนิด[แก้]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

ความหมายตรงตัวของคำว่า กะอ์บะฮ์ (كعبة) คือ ลูกบาศก์[8] ในอัลกุรอานจากสมัยของมุฮัมมัด กะอ์บะฮ์ได้รับการเรียกขานด้วยชื่อเหล่านี้:

  • อัลบัยต์ (อาหรับ: ٱلْبَيْت, แปลตรงตัว'บ้านหลังนั้น') ในโองการ 2:125 โดยอัลลอฮ์[อัลกุรอาน 2:125][9]
  • บัยตี (อาหรับ: بَيْتِي, แปลตรงตัว'บ้านของข้า') ในโองการ 22:26 โดยอัลลอฮ์[อัลกุรอาน 22:26][10]
  • บัยติกัลมุฮัรร็อม (อาหรับ: بَيْتِكَ ٱلْمُحَرَّم, แปลตรงตัว'บ้านอันเป็นเขตหวงห้ามของพระองค์') ในโองการ 14:37 โดยอิบรอฮีม[อัลกุรอาน 14:37][11]
  • อัลบัยตุลฮะรอม (อาหรับ: ٱلْبَيْت ٱلْحَرَام, แปลตรงตัว'บ้านที่ต้องห้าม') ในโองการ 5:97 โดยอัลลอฮ์[อัลกุรอาน 5:97]
  • อัลบัยติลอะตีก (อาหรับ: ٱلْبَيْت ٱلْعَتِيق, แปลตรงตัว'บ้านอันเก่าแก่') ในโองการ 22:29 โดยอัลลอฮ์[อัลกุรอาน 22:29]

Eduard Glaser นักประวัติศาสตร์ รายงานว่า ชื่อ "กะอ์บะฮ์" อาจมีความเกี่ยวข้องกับศัพท์อาระเบียใต้หรือเอธิโอเปียว่า "mikrab" ซึ่งบ่งชี้ถึงวิหาร[12] Patricia Crone นักเขียน โต้แย้งนิรุกติศาสตร์นี้[13]

ภูมิหลัง[แก้]

"มุฮัมมัดที่กะอ์บะฮ์" จาก Siyer-i Nebi[14] มุฮัมมัดเป็นคนที่มีผ้าคลุมหน้า, ป. ค.ศ. 1595

Patricia Crone นักประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสงสัยถึงข้ออ้างที่ว่ามักกะฮ์เคยเป็นด่านการค้าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์[15][16] นักวิชาการกลุ่มอื่นอย่าง Glen Bowersock ปฏิเสธข้อสงสัยนี้และยืนยันว่ามักกะฮืเคยมีสถานะนั้นจริง[17][18] ภายหลัง Crone ปฏิเสธทฤษฎีของเธอบางส่วน[19] เธอโต้แย้งว่าการค้าขายของชาวมักกะฮ์อาศัยแผ่นหนัง หนังสัตว์ เครื่องหนังที่ผลิต เนยใส ขนสัตว์ฮิญาซ และอูฐ เธอแนะนำว่าสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มีไว้สำหรับกองทัพโรมัน ซึ่งทราบกันว่าต้องใช้แผ่นหนังและหนังสัตว์จำนวนมหาศาลสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ

จักรวาลวิทยาอิสลามรายงานว่า พิธีแสวงบุญ Zurah มีมาก่อนหน้ากะอ์บะฮ์[20] ก่อนหน้าศาสนาอิสลาม กะอ์บะฮ์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชนเผ่าเบดูอินหลายกลุ่มทั่วคาบสมุทรอาหรับ ชาวเบดูอินจะทำการแสวงบุญที่มักกะฮ์ครั้งหนึ่งทุกปีจันทรคติ พวกเขาจะบูชาเทพเจ้าของตนในกะอ์บะฮ์ และค้าขายกันในเมืองนี้ โดยไม่สนในเรื่องความบาดหมางของชนเผ่า[21] ภายในกะอ์บะฮ์มีประติมากรรมและภาพวาดต่าง ๆ โดยเทวรูปฮุบัล (เทวรูปหลักของมักกะฮ์) และรูปปั้นเทพนอกศาสนาอื่น ๆ ตั้งขึ้นทั้งในหรือรอบกะอ์บะฮ์[22] นอกจากภาพวาดเทวรูปบนกำแพงที่ถูกทำลายตามคำสั่งของมุฮัมมัดหลังการพิชิตมักกะฮ์[22] ยังมีภาพวาดของเทวทูต อิบรอฮีมถือลูกศรทำนาย และอีซา (พระเยซู) กับมัรยัม (พระแม่มารีย์) ที่มุฮัมมัดไม่ได้สั่งทำลาย[23] และยังมีบันทึกถึงเครื่องประดับที่ไม่ได้ระบุไว้ เงินทอง และเขาแกะคู่หนึ่งอยู่ภายในกะอ์บะฮ์[22] กล่าวกันว่าเขาแกะตัวผู้อันนั้เป็นของแกะที่อิบรอฮีมวางไว้เชือดแทนที่อิสมาอีลตามธรรมเนียมอิสลาม[22]

ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ หินดำที่กะอ์บะฮ์ถูกกระแทกและทุบเป็นรอยด้วยหินที่ยิงจากแคทะพัลต์[24] โดยเคยถูกทาด้วยอุจจาระ[25] ถูกขโมยและเป็นของไว้ไถ่โดยพวกเกาะรอมิเฏาะฮ์[26] และถูกตีจนแหลกเป็นชิ้น ๆ[26][22]

แคเรน อาร์มสตรองระบุไว้ในหนังสือ Islam: A Short History ของเธอ โดยระบุว่ากะอ์บะฮ์เคยอุทิศแด่ฮุบัล เทพแนบาเทีย อย่างเป็นทางการ และมีรูปปั้น 360 รูปที่น่าจะสื่อถึงช่วงวันของปี[27] อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในสมัยของมุฮัมมัด กะอ์บะฮ์ได้รับการยกย่องในฐานะวิหารของอัลลอฮ์ พระเจ้าผู้สูงส่ง ชนเผ่าต่าง ๆ จากทั่วคาบสมุทรอาหรับจะมารวมตัวกันที่นครมักกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความเชื่อมั่นที่แพร่หลายว่าอัลลอฮ์เป็นเทพองค์เดียวกับที่ผู้นับถือพระเจ้าองค์เดียวเคารพสักการะ ในช่วงนี้ มุสลิมทำการละหมาดหันหน้าไปยังเยรูซาเลม ตามที่มุฮัมมัดทำ และหันหลังให้กับกะอ์บะฮ์ที่มีความเกี่ยวโยงกับสิ่งนอกศาสนา[27] ผู้ชายมักเดินวนรอบแบบเปลี้องผ้า ส่วนผู้หญิงเดินวนรอบแบบเกือบเปลี้องทั้งหมด[28]

จุลจิตรกรรมใน ค.ศ. 1307 แสดงภาพมุฮัมมัดนำหินดำกลับไปตั้งที่กะอ์บะฮ์

ตามความเห็นอิสลาม[แก้]

อัลกุรอานมีบางโองการที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของกะอ์บะฮ์ โดยระบุว่าเป็นบ้านแห่งการนมัสการแห่งแรกของมนุษยชาติและสร้างขึ้นโดยอิบรอฮีมและอิสมาอีลตามคำสั่งของอัลลอฮ์[29][30][31]

แท้จริงบ้านหลังแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์ (เพื่อการอิบาดะฮฺ) นั้นคือบ้านที่มักกะฮฺ โดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย

และจงรำลึกเมื่อเราได้ชี้แนะสถานอัลบัยต์แก่อิบรอฮีมว่า เจ้าอย่าตั้งภาคีต่อข้าแต่อย่างใดและจงทำบ้านของข้าให้สะอาด สำหรับผู้มาเวียนรอบ ผู้ยืนละหมาด ผู้รุกัวะ และผู้สุญูด

— อัลกุรอาน, ซูเราะฮ์ อัลฮัจญ์ (22), อายะฮ์ 26[35][36][37]

และจงรำลึกถึงขณะที่อิบรอฮีมและอิสมาอีล ได้ก่อฐานของบ้านหลังนั้น ให้สูงขึ้น (ทั้งสองได้กล่าววิงวอนว่า): "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของพวกข้าพระองค์โปรดรับ (งาน) จากพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด แท้จริงพระองค์นั้นทรงได้ยินและทรงรอบรู้"

— อัลกุรอาน, อัลบะเกาะเราะฮ์ (2), อายะฮ์ 127[38][39][40]

อิบน์ กะษีรกล่าวถึงการตีความในหมู่ชาวมุสลิมเกี่ยวกับต้นกำเนิดของกะอ์บะฮ์อยู่สองแบบในอรรถกถา (ตัฟซีร) ที่มีชื่อเสียงของเขาในอัลกุรอานว่า แบบหนึ่งคือวิหารนี้เคยเป็นสถานที่สักการะของ มะลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) ก่อนที่จะมีการสร้างมนุษย์ ภายหลังมีการสร้างบ้านหลังนั้นบนสถานที่หนึ่งและสูญหายจากน้ำท่วมในสมัยนบีนูห์ (โนอาห์) และท้ายที่สุดจึงสร้างขึ้นใหม่โดยอิบรอฮีมและอิสมาอีลตามที่ปรากฏในอัลกุรอาน อิบน์ กะษีรถือว่าสายรายงานนี้เป็นสายที่อ่อน และถือการบรรยายของอะลีมากกว่า ซึ่งระบุว่า แม้ว่าจะมีวิหารอื่นที่มีมาก่อนกะอ์บะฮ์ กะอ์บะฮ์แห่งนี้ถือเป็น บัยตุลลอฮ์ ("บ้านของอัลลอฮ์") แห่งแรกที่อุทิศแด่พระองค์ สร้างขึ้นตามคำสั่งของพระองค์ และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์กับได้รับพรจากพระองค์ ตามที่ปรากฏในอัลกุรอาน 22:26–29[41] ฮะดีษในเศาะฮีฮ์ อัลบุคอรีระบุว่า กะอ์บะฮ์เป็นมัสยิดแห่งแรกของโลก ส่วนแห่งที่สองคือมัสยิดอัลอักศอในเยรูซาเลม[42]

ตามธรรมเนียมอิสลามระบุว่า หลังอิสมาอีลเสียชีวิตหลายสหัสวรรษ ลูกหลานของท่านกับชนเผ่าท้องถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานรอบบ่อซัมซัมหันมานับถือเทพเจ้าแบบพหุเทวนิยมและบูชารูปปั้น มีการตั้งรูปปั้นหลายรูปในกะอ์บะฮ์ที่เป็นตัวแทนของเทพแห่งธรรมชาติและชนเผ่าต่าง ๆ มีการนำพิธีกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการแสวงบุญ ซึ่งรวมถึงการเดินวนรอบแบบเปลือยเปล่า[28] กษัตริย์นาม Tubba' ถือเป็นบุคคลแรกที่สร้างประตูให้กะอ์บะฮ์ตามบันทึกคำพูดใน Akhbar Makka ของ อัลอัซเราะกี[43] การตีความว่าชาวอาหรับก่อนอิสลามเคยนับถือศาสนาอับราฮัมได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางวรรณกรรมบางส่วนในวัฒนธรรมอาหรับก่อนอิสลาม[44][45][46]

สมัยมุฮัมมัด[แก้]

ในสมัยมุฮัมมัด (ค.ศ. 570–632) กะอ์บะฮ์ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวอาหรับท้องถิ่น มุฮัมมัดมีส่วนในการฟื้นฟูกะอ์บะฮ์หลังโครงสร้างพังเสียหายจากน้ำท่วมช่วงประมาณ ค.ศ. 600 ซีเราะฮ์เราะซูลุลลอฮ์ หนึ่งในชีวประวัติของมุฮัมมัดที่เขียนโดยอิบน์ อิสฮาก ระบุว่ามุฮัมมัดยุติการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกลุ่มชนมักกะฮ์ว่าตระกูลใดสมควรรวางหินดำ โดยชีวประวัติของอิบน์ อิสฮากระบุต่อว่า แนวทางของมุฮัมมัดคือ ให้ผู้นำตระกูลทุกกลุ่มยกมุมหินบนเสื้อคลุม หลังจากนั้นมุฮัมมัดก็วางหินนั้นไว้ด้วยตนเอง[47][48] อิบน์ อิสฮากกล่าวว่า ท่อนไม้ในการฟื้นฟูกะอ์บะฮ์มาจากเรือกรีกที่อัปปางลงบริเวณริมทะเลแดงที่ Shu'aybah และงานฟื้นฟูดำเนินการโดยช่างไม้ชาวคอปต์ชื่อ Baqum[49]

หลังมุฮัมมัด[แก้]

ในสมัยที่อับดุลลอฮฺ อิบนุซซุเบร หลานตาคอลีฟะฮฺ อะบูบักรฺ แข็งเมืองต่อ อับดุลมะลิก บินมัรวาน คอลีฟะฮฺ (กษัตริย์) ซีเรีย ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองมักกะฮ์ งานชิ้นหนึ่งที่ท่านทำก็คือการบูรณะต่อเติมผนังกะอ์บะฮ์ออกไปสองด้านจนถึงกำแพง ฮิจญ์รุ อิสมาอีล ให้อาคารกะอ์บะฮ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทว่าเมื่ออับดุลลอฮฺแพ้ศึกและถูกสังหาร พวกทหารซีเรียก็เผาและถล่มทำลายกะอ์บะฮ์ที่อับดุลลอฮฺทำไว้ แล้วให้สร้างขึ้นมาใหม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเหมือนเดิมอีกครั้ง

กะอ์บะฮ์

กะอฺบะหที่มีอยู่ในวันนี้ เป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นด้วยหินธรรมชาติ ตัวอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีความกว้างยาวด้านละประมาณ 40 ฟุต และสูงประมาณ 50 ฟุต ผนังทั้งสี่ไม่มีหน้าต่าง มีแต่เพียงประตูด้านเดียว ข้างในว่างเปล่า ตรงมุมด้านหนึ่งของตัวอาคารเป็นที่ตั้งของ หินดำ (อัลฮะญัร อัลอัสวัด) ซึ่งในอดีตเป็นพลอยสีดำเม็ดใหญ่ แต่ต่อมาที่ได้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ก็ยังตั้งอยู่ที่มุมข้างประตู ปกปิดด้วยแก้วและครอบทับด้วยเงิน ประตูของกะอ์บะฮ์ที่เปลี่ยนเมื่อเวลา 20 ปีมานี้ ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์

มุมที่ติดตั้งพลอยสีดำนี้ใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดครบรอบของการเวียนรอบกะอ์บะฮ์ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งของการประกอบพิธีอุมเราะฮฺและฮัจญ์

ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลผู้ปกครองมหานครมักกะฮ์จะมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลกะอ์บะฮ์และจัดเตรียมความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาทำฮัจญ์ สิ่งที่ต้องทำทุกปีคือการเปลี่ยนมุ้งกะอ์บะฮ์

ในซาอุดีอาระเบียจะมีโรงงานทอมุ้งนี้โดยเฉพาะ โดยจะมีช่างผู้มีฝีมือจากต่างประเทศมาทำมุ้งนี้โดยเฉพาะ มุ้งกะอ์บะฮ์นี้ทอด้วยด้ายไหมสีดำ แล้วประดับด้วยการปักดิ้นทองเป็นตัวอักษรภาษาอาหรับวิจิตรงดงาม ตัวอักษรที่เขียนคือโองการจากอัลกุรอานและพระนามของอัลลอฮ์ เมื่อถึงเทศกาลฮัจญ์จะมีการเปลี่ยนมุ้งใหม่และยกขอบมุ้งขึ้นจนจนเห็นฝาผนังทั้งสี่ด้าน

เนื่องจากมุ้งนี้มีสีดำ จึงทำให้คนเข้าใจว่าหินดำคือตัวกะอ์บะฮ์ แต่ความจริงแล้วหินดำคือพลอยสีดำที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมกะอ์บะฮ์ต่างหาก อีกอย่างกะอ์บะฮ์เป็นชุมทิศ เวลาละหมาดจะมีการหันไปทางกะอ์บะฮ์นี้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากะอ์บะฮ์คือหินดำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมุสลิมเคารพบูชา ซึ่งความจริงแล้ว กะอ์บะฮ์เป็นเพียงจุดศูนย์รวมและจุดศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของมุสลิมทั่วโลกเท่านั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Wensinck & Jomier 1978, p. 319.
  2. Butt, Riazat (15 August 2011). "Explosives detectors to be installed at gates of Mecca's Holy Mosque". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 23 May 2021.
  3. Al-Azraqi (2003). Akhbar Mecca: History of Mecca. p. 262. ISBN 9773411273.
  4. 4.0 4.1 Wensinck, A. J; Kaʿba. Encyclopaedia of Islam IV p. 317
  5. Mubārakfūrī, Ṣafī al-Raḥmān (2002). The Sealed Nectar: Biography of the Noble Prophet (ภาษาอังกฤษ). Darussalam. ISBN 978-9960-899-55-8. OCLC 983834349.
  6. "In pictures: Hajj pilgrimage". BBC News. 7 December 2008. สืบค้นเมื่อ 8 December 2008.
  7. "Umrah Statistics Bulletin 2018" (PDF). General Authority for Statistics. Kingdom of Saudi Arabia. สืบค้นเมื่อ 28 May 2022.
  8. Hans Wehr, Dictionary of Modern Written Arabic, 1994.
  9. "Surah Al-Baqarah 2:122 - 2:126 - Towards Understanding the Quran". Tafheem. Islamic Foundation UK. สืบค้นเมื่อ May 30, 2021.
  10. "Surah Al-Haj 22:26-30 - Towards Understanding the Quran". Tafheem. Islamic Foundation UK. สืบค้นเมื่อ June 1, 2021.
  11. "Kaaba: Meaning, History and Significance".
  12. Wensinck, A. J; Kaʿba. Encyclopaedia of Islam IV p. 318 (1927, 1978)
  13. Crone, Patricia (2004). Makkan Trade and the Rise of Islam. Piscataway, New Jersey: Gorgias.
  14. "Ottomans : religious painting". สืบค้นเมื่อ 1 May 2016.
  15. Crone, Patricia; Meccan Trade and the Rise of Islam; 1987; p.7
  16. Holland, Tom (2012). In the Shadow of the Sword; Little, Brown; p. 303
  17. Abdullah Alwi Haji Hassan (1994). Sales and Contracts in Early Islamic Commercial Law. Islamic Research Institute, International Islamic University. pp. 3 ff. ISBN 978-9694081366.
  18. Bowersock, Glen. W. (2017). Bowersock, G. W. (2017). The crucible of Islam. Cambridge (Mass.): Harvard University Press. pp. 50 ff.
  19. Crone, Patricia (2007). "Quraysh and the Roman Army: Making Sense of the Meccan Leather Trade". Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London. 70 (1): 63–88. doi:10.1017/S0041977X0700002X. JSTOR 40378894. S2CID 154910558.
  20. Caʻfer Efendi (1987). Risāle-i Miʻmāriyye. Brill Archive. p. 49. ISBN 90-04-07846-0.
  21. Timur Kuran (2011). "Commercial Life under Islamic Rule". The Long Divergence : How Islamic Law Held Back the Middle East. Princeton University Press. pp. 45–62.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 King, G. R. D. (2004). "The Paintings of the Pre-Islamic Kaʿba". Muqarnas. 21: 219–229. JSTOR 1523357.
  23. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ EllenbogenTugendhaft2011
  24. Topkapı Sarayı Müzesi. Hırka-i Saadet Dairesi (2004). The sacred trusts : Pavilion of the Sacred Relics, Topkapı Palace Museum, Istanbul. Hilmi Aydın, Talha Uğurluel, Ahmet Doğru. Somerset, N.J.: Light. ISBN 1-932099-72-7. OCLC 56942620.
  25. Burton, Richard Francis (2009). Personal Narrative of a Pilgrimage to El-Medinah and Meccah. Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/cbo9781139162302. hdl:2027/coo.31924062544543. ISBN 978-1-139-16230-2.
  26. 26.0 26.1 Peters, F. E. (1994). Mecca : a literary history of the Muslim Holy Land. Mazal Holocaust Collection. Princeton, N.J.: Princeton University Press. ISBN 0-691-03267-X. OCLC 30671443.
  27. 27.0 27.1 Karen Armstrong (2002). Islam: A Short History. Random House Publishing. pp. 11. ISBN 0-8129-6618-X.
  28. 28.0 28.1 Ibn Ishaq, Muhammad (1955). Ibn Ishaq's Sirat Rasul Allah – The Life of Muhammad Translated by A. Guillaume. Oxford: Oxford University Press. pp. 88–9. ISBN 9780196360331.
  29. Michigan Consortium for Medieval and Early Modern Studies (1986). Goss, V. P.; Bornstein, C. V. (บ.ก.). The Meeting of Two Worlds: Cultural Exchange Between East and West During the Period of the Crusades. Vol. 21. Medieval Institute Publications, Western Michigan University. p. 208. ISBN 0918720583. OCLC 13159056.
  30. Mustafa Abu Sway. "The Holy Land, Jerusalem and Al-Aqsa Mosque in the Qur'an, Sunnah and other Islamic Literary Source" (PDF). Central Conference of American Rabbis. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 July 2011.
  31. Dyrness, W. A. (29 May 2013). Senses of Devotion: Interfaith Aesthetics in Buddhist and Muslim Communities. Vol. 7. Wipf and Stock Publishers. p. 25. ISBN 978-1620321362. OCLC 855764827.
  32. อัลกุรอาน 3:96 (แปลโดย ยูซุฟ อาลี)
  33. An alternative version is in Pickthall, Muhammad M. (บ.ก.). "The Quran". สืบค้นเมื่อ 10 January 2018. Lo! the first Sanctuary appointed for mankind was that at Becca, a blessed place, a guidance to the peoples;
  34. Another version is in Shakir, M. H. (บ.ก.). "The Quran". สืบค้นเมื่อ 10 January 2018. Most surely the first house appointed for men is the one at Bekka, blessed and a guidance for the nations.
  35. อัลกุรอาน 22:26 (แปลโดย ยูซุฟ อาลี)
  36. Another version is in Pickthall, Muhammad M. (บ.ก.). "The Quran". สืบค้นเมื่อ 10 January 2018. And (remember) when We prepared for Abraham the place of the (holy) House, saying: Ascribe thou no thing as partner unto Me, and purify My House for those who make the round (thereof) and those who stand and those who bow and make prostration.
  37. Another version is in Shakir, M. H. (บ.ก.). "The Quran". สืบค้นเมื่อ 10 January 2018. And when We assigned to Ibrahim the place of the House, saying: Do not associate with Me aught, and purify My House for those who make the circuit and stand to pray and bow and prostrate themselves.
  38. อัลกุรอาน 2:127 (แปลโดย ยูซุฟ อาลี)
  39. Another version is in Pickthall, Muhammad M. (บ.ก.). "The Quran". สืบค้นเมื่อ 10 January 2018. And when Ibrahim and Ismail were raising the foundations of the House, (Abraham prayed): Our Lord! Accept from us (this duty). Lo! Thou, only Thou, art the Hearer, the Knower.
  40. Another version is in Shakir, M. H. (บ.ก.). "The Quran". สืบค้นเมื่อ 10 January 2018. And when Ibrahim and Ismail raised the foundations of the House: Our Lord! accept from us; surely Thou art the Hearing, the Knowing:
  41. Tafsir Ibn Kathir on 3:96.
  42. Sahih Bukhari. Book 55, Hadith 585.
  43. "IN PICTURES: Six doors of Ka'aba over 5,000 years". Al Arabiya. 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 22 October 2019.
  44. The Treasury of literature, Sect. 437
  45. The Beginning of History, Volume 3, Sect.10
  46. The Collection of the Speeches of Arabs, volume 1, section 75
  47. Guillaume, A. (1955). The Life of Muhammad. Oxford: Oxford University Press. pp. 84–87
  48. Saifur Rahman al-Mubarakpuri, translated by Issam Diab (1979). "Muhammad's Birth and Forty Years prior to Prophethood". Ar-Raheeq Al-Makhtum (The Sealed Nectar): Memoirs of the Noble Prophet. สืบค้นเมื่อ 4 May 2007.
  49. Cyril Glasse, New Encyclopedia of Islam, p. 245. Rowman Altamira, 2001. ISBN 0-7591-0190-6

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]