โมนาลิซา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โมนาลิซา
ภาษาอิตาลี: Gioconda, Monna Lisa
โมนาลิซา ที่ผ่านการปรับแต่งทางดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบการแก่ตัวของสี; ภาพที่ไม่ได้ผ่านการปรับแต่งดูค่อนข้างมืดกว่า[1][2][3]
ศิลปินเลโอนาร์โด ดา วินชี
ปีป. 1503–1506 อาจวาดต่อจนถึง ประมาณ 1517
สื่อสีน้ำมันบนแผงพอปลาร์
หัวเรื่องลีซา เดล โจกอนดา
มิติ77 cm × 53 cm (30 นิ้ว × 21 นิ้ว)
สถานที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส

โมนาลิซา (อังกฤษ: Mona Lisa; อิตาลี: Monna Lisa) หรือ ลาโจกอนดา (อิตาลี: La Gioconda) หรือ ลาฌอกงด์ (ฝรั่งเศส: La Joconde) เป็นภาพเหมือนขนาดความยาวครึ่งท่อนโดยเลโอนาร์โด ดา วินชี ศิลปินชาวอิตาลี โมนาลิซาถือเป็นแบบฉบับผลงานยอดเยี่ยมของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี[4][5] โดยได้รับการกล่าวขานเป็น "ภาพวาดที่เป็นที่รู้จักดีที่สุด เยี่ยมชมมากที่สุด เขียนถึงมากที่สุด ร้องเพลงถึงมากที่สุด [และ] มีงานศิลปะล้อเลียนมากที่สุดในโลก"[6] คุณสมบัติอันโดดเด่นของภาพวาด ได้แก่ การแสดงออกของวัตถุอย่างลึกลับ[7] ความยิ่งใหญ่ขององค์ประกอบ การสร้างรูปแบบจำลองที่ละเอียดอ่อน และภาพลวงตาในบรรยากาศ[8]

ตามธรรมเนียม ภาพวาดนี้พรรณนาถึงขุนนางหญิงชาวอิตาลี ลีซา เดล โจกอนดา[9] วาดด้วยสีน้ำมันบนแผงพอปลาร์ลอมบาร์ดีขาว เลโอนาร์โดไม่ได้ให้ภาพวาดนี้แก่ตระกูลโจกอนโด[10] เชื่อกันว่าภาพนี้วาดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1503 ถึง 1506 อย่างไรก็ตาม เลโอนาร์โดยังคงทำงานต่อจนถึงช้าสุดเมื่อ ค.ศ. 1517 พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสทรงซื้อ โมนาลิซา หลังเลโอนาร์โดเสียชีวิตใน ค.ศ. 1519 และปัจจุบันถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ภาพวาดนี้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปารีสตั้งแต่ ค.ศ. 1797[11]

ชื่อเสียงและความนิยมไปทั่วโลกของภาพวาดส่วนหนึ่งมาจากเหตุโจรกรรมใน ค.ศ. 1911 โดย Vincenzo Peruggia ที่ระบุการกระทำของตนต่อความรักชาติอิตาลี โดยเชื่อว่าภาพวาดนี้ควรเป็นของอิตาลี การโจรกรรมและการกู้คืนภายหลังใน ค.ศ. 1914 ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์ถึงการขโมยงานศิลปะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และนำไปสู่การตีพิมพ์ภาพวาดทางวัฒนธรรมมากมาย เช่น โอเปร่า โมนาลิซา ใน ค.ศ. 1915 ภาพยนตร์ยุค 1930 สองเรื่อง (The Theft of the Mona Lisa กับ อาร์แซน ลูแปง) และเพลง "โมนาลิซา" ที่บันทึกโดยแนท คิง โคล—ถือเป็นหนึ่งในเพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุดในคริสต์ทศวรรษ 1950[12]

โมนาลิซา เป็นหนึ่งในภาพวาดที่แพงที่สุดในโลก โดยถือครองบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ในด้านการประเมินมูลค่าประกันภาพวาดที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 1962[13] เทียบเท่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลเมื่อ 2023[14]

ที่มาของชื่อ[แก้]

จอร์โจ วาซารี (Giorgio Vasari) ศิลปินและนักชีวประวัติชาวอิตาลี ตั้งชื่อ "โมนาลิซา" ขึ้นหลังจากดา วินชีได้เสียชีวิตไป 31 ปี ในหนังสือที่เขาตีพิมพ์นั้นได้บอกไว้ว่าผู้ที่นั่งอยู่ในรูปนั้นคือ ลีซา เกราร์ดีนี ภรรยาของขุนนางนักธุรกิจไหมผู้มั่งคั่ง ชาวเมืองฟลอเรนซ์นามว่า ฟรันเชสโก เดล โจกอนโด (Francesco del Giocondo)

คำว่า โมนา (Mona) ในภาษาอิตาลีนั้นก็คือคำว่า มาดอนนา (madonna) คุณผู้หญิง (my lady) หรือ มาดาม (Madam) ในภาษาอังกฤษ ดังนั้นความหมายของชื่อก็คือ "มาดามลีซา" แต่ในปัจจุบัน บางครั้งก็จะใช้คำว่า มอนนาลีซา (Monna Lisa)

ประวัติ[แก้]

ดา วินชี ใช้เวลาวาดภาพนี้ 4 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1503–1507

ในปี ค.ศ. 1516 ดา วินชีได้นำภาพจากอิตาลีไปที่ฝรั่งเศส ด้วยพระราชประสงค์ของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ที่ทรงปรารถนาที่จะให้ศิลปินทั้งหลายมารวมตัวทำงานกันที่ Clos Lucé ใกล้กับปราสาทในเมืองอัมบัวส์ และยังทรงให้ ดา วินชี วาดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์อีกด้วย หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงซื้อภาพโมนาลิซา ในราคา 4,000 เอกูว์ (écu)

ในปี ค.ศ. 1519 ดา วินชี ได้เสียชีวิตที่เมืองอัมบัวส์ ประเทศฝรั่งเศส รวมอายุได้ 67 ปี

ตอนที่ ดา วินชี เสียชีวิตแล้วได้ยกสมบัติและภาพวาดทั้งหมดให้เป็นมรดกของฟรันเชสโก เมลซี (Francesco Melzi) ผู้ติดตามของเขา และเมื่อเมลซีเสียชีวิตลงก็ไม่ได้ยกมรดกให้ใคร มรดกก็เริ่มกระจัดกระจาย

และต่อมามีการนำภาพโมนาลิซาไปเก็บไว้ที่พระราชวังฟงแตนโบลและที่พระราชวังแวร์ซาย หลังจากสิ้นสุดการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในห้องสรงของพระเจ้านโปเลียนที่ 1 ในพระราชวังตุยเลอรี แล้วในที่สุดก็ได้กลับมาที่พิพิธภัณฑ์ลูฟัวร์ เหมือนเดิม

ห้องแสดงในพิพิธภัณฑ์

ในช่วงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ระหว่างปี ค.ศ. 1870–1871 มีการนำภาพออกจากพิพิธภัณฑ์ ไปซ่อนไว้ในที่ลับในประเทศฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1911 ภาพโมนาลิซาถูกโจรกรรมออกจากพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกว่าจะค้นพบเธอก็ได้ใช้เวลาไปถึง 2 ปี พบในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ปัจจุบัน ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ในตู้กระจกปรับอากาศกันกระสุน พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ อันเป็นเครื่องหมายสากลว่า โมนาลิซา จะไม่มีวันที่จะได้เคลื่อนย้ายไปแสดงที่ไหนอีกเป็นเด็ดขาด

ทฤษฎีสมทบ[แก้]

กล่าวกันว่าภาพวาดนี้ ดา วินชี ตั้งใจจะวาดภาพของตนเองเมื่อเป็นหญิง และภาพวาดชิ้นนี้เมื่อส่องกับกระจกเงา จะพบว่ามุมการมองภาพรู้สึกเป็นธรรมชาติไม่แตกต่างจากการมองแบบปกติ เหมือนที่ ดา วินชี กล่าวไว้ว่า "ภาพเขียนที่จิตรกรจะคิดว่าสวยงามในทุก ๆ ด้านและทุก ๆ มุมมอง ต้องพิจารณาภาพในกระจกเงา" และจากการฉายรังสีที่ภาพวาด ทำให้พบว่าภาพเขียนนี้ซ่อนเจตนาที่แท้จริงหลายอย่าง และยังเคยถูกเขียนทับอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Mona Lisa's Twin Painting Discovered". All Things Considered. 2 February 2012. National Public Radio. The original Mona Lisa in the Louvre is difficult to see—it's covered with layers of varnish, which has darkened over the decades and the centuries, and even cracked', Bailey says
  2. "Theft of the Mona Lisa". Treasures of the World. PBS. time has aged and darkened her complexion.
  3. Sassoon, Donald (2001). Mona Lisa: The History of the World's Most Famous Painting. HarperCollins. p. 10. ISBN 978-0-00-710614-1. It is actually quite dirty, partly due to age and partly to the darkening of a varnish applied in the sixteenth century.
  4. "The Theft That Made Mona Lisa a Masterpiece". All Things Considered. 30 July 2011. NPR. สืบค้นเมื่อ 15 February 2019.
  5. Sassoon, Donald (21 September 2001). "Why I think Mona Lisa became an icon". Times Higher Education.
  6. Lichfield, John (1 April 2005). "The Moving of the Mona Lisa". The Independent. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 November 2016.
  7. Cohen, Philip (23 June 2004). "Noisy secret of Mona Lisa's". New Scientist. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 April 2008. สืบค้นเมื่อ 27 April 2008.
  8. "Mona Lisa – Portrait of Lisa Gherardini, wife of Francesco del Giocondo". Louvre. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 July 2014. สืบค้นเมื่อ 11 March 2012.
  9. "Mona Lisa – Heidelberger find clarifies identity". University Library Heidelberg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2011. สืบค้นเมื่อ 15 January 2008.
  10. "Was the 'Mona Lisa' Leonardo's Male Lover?". Artnet News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 22 April 2016. สืบค้นเมื่อ 20 May 2021.
  11. Carrier, David (2006). Museum Skepticism: A History of the Display of Art in Public Galleries. Duke University Press. p. 35. ISBN 978-0-8223-3694-5.
  12. Charney, N.; Fincham, D.; Charney, U. (2011). The Thefts of the Mona Lisa: On Stealing the World's Most Famous Painting. Arca Publications. ISBN 978-0-615-51902-9. สืบค้นเมื่อ 4 November 2022.
  13. "Highest insurance valuation for a painting". Guinness World Records (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 25 July 2017.
  14. "Value of 1962 US Dollars today – Inflation Calculator". www.inflationtool.com.

ข้อมูล[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]