อัยการสูงสุด (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัยการสูงสุด
ตราสำนักงานอัยการสูงสุด
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566
สมาชิกขององค์กรอัยการ
ผู้เสนอชื่อวุฒิสภาไทย
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์ไทย
วาระเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมาย
ผู้ประเดิมตำแหน่งศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์
สถาปนาพ.ศ. 2436 (กรมอัยการ)
พ.ศ. 2534 (สำนักงานอัยการสูงสุด)
เว็บไซต์https://www.ago.go.th/

อัยการสูงสุด (อังกฤษ: Attorney General , ตัวย่อ : อสส.) คือตำแหน่งข้าราชการอัยการ ชั้น 8[1] และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานอัยการในสำนักงานอัยการสูงสุด[2] มีอำนาจในการเข้าไปดำเนินคดีได้ทุกศาลในราชอาณาจักร[2] และสามารถมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่พนักงานอัยการผู้ใต้บังคับบัญชาได้[2] โดยพนักงานอัยการนั้นมีหน้าที่เป็นทนายแผ่นดินหรือนักกฎหมายให้แก่รัฐ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินคดีอาญาในนามของรัฐ

ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ[3] รับพิจารณาสั่งคดีขึ้นสู่ศาลและว่าความ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐตามหลักนิติรัฐ[1]

ในประเทศไทยแต่เดิมเรียกตำแหน่งนี้ว่า “อธิบดีกรมอัยการ”^ก เมื่อครั้งสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานระดับกรม ซึ่งกรมอัยการก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2436 สังกัดกระทรวงมหาดไทย จนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จึงได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 47[4] และฉบับที่ 49[5] แยกกรมอัยการออกจากกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นหน่วยงานราชการอิสระไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงใด แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น และเพื่อมิให้อิทธิพลทางการเมืองก้าวก่ายการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมยิ่งขึ้น มี ศ.ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ อธิบดีกรมอัยการขณะนั้นเป็น "อัยการสูงสุด" คนแรก

ปัจจุบัน อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอัยการสูงสุด

การได้มาซึ่งอัยการสูงสุดและการพ้นจากตำแหน่ง[แก้]

ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) จะเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด โดยคํานึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติ การปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น ต่อ ก.อ.[2] จากนั้น ก.อ. จะมีมติเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดต่อวุฒิสภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง[2]

ส่วนการพ้นจากตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้น มีเหตุเช่นเดียวกับพนักงานอัยการ คือ[1]

  1. ตาย
  2. พ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 65 ปี
  3. ได้รับอนุญาตให้ลาออก
  4. โอนไปรับราชการเป็นข้าราชการธุรการหรือข้าราชการฝ่ายอื่น
  5. ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหาร
  6. ถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุที่ไม่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่ง ขาดคุณสมบัติ หรือทุพพหภาพ
  7. ถูกสั่งโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก

ทั้งนี้ กรณีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุตามข้อ 4 ข้อ 6 และข้อ 7 ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา[1]

อำนาจหหน้าที่ของอัยการสูงสุด[แก้]

อัยการสูงสุดมีอำนาจหน้าที่ ตามที่กฎหมายต่าง ๆ กำหนดไว้ เช่น

  • ฟ้องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28
  • ให้พนักงานอัยการไปช่วยราชการในอีกท้องที่หนึ่งเป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 15
  • อำนาจหน้าที่ในการบริหารสำนักงานอัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 27

อำนาจเฉพาะตัวของอัยการสูงสุด (พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการฯ มาตรา 19)[2]

  • สอบสวนและฟ้องคดีอาญาที่เกิดนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 วรรคหก
  • สั่งสอบสวนเพิ่มเติมหรือให้ส่งพยานหลักฐานมาเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143
  • ชี้ขาดความเห็นแย้งสั่งไม่ฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145
  • สั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21

กรณีข้างต้นกำหนดให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเท่านั้น จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนมิได้

รายนามอธิบดีกรมอัยการและอัยการสูงสุดของไทย[6][แก้]

กรมอัยการ
(พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2534)
ลำดับ รูป รายนามและยศ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
1 ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)[7] พ.ศ. 2436 - 2444[7] ถึงแก่อนิจกรรมระหว่างดำรงตำแหน่ง
2 พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด คุณะดิลก) [8] พ.ศ. 2445 - 2455 ปฏิบัติหน้าที่ว่าที่เจ้ากรมอัยการ
พ.ศ. 2455 - 2460
3 พระยาอรรถการยบดี (ชุ่ม อรรถจินดา) พ.ศ. 2461 - 2466
4 พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตบดี (บุญช่วย วณิกกุล) พ.ศ. 2466 - 2471
5 พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) พ.ศ. 2471 - 2477
6 พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) [9] พ.ศ. 2477 - 2488
7 พระยาอรรถกรมมณุตตี (อรรถกรม ศรียาภัย) [10] พ.ศ. 2488 - 2489
8 พระสารการประสิทธิ์ (พิณ คุณะเกษม) [11] พ.ศ. 2489 - 1 กรกฎาคม 2491[12] ลาออกจากราชการ
9 หลวงอรรถปรีชาชนูปการ (ฉอรรถ แสนโกศิก) [13] [14] พ.ศ. 2491 - 2505
10 เล็ก จุณณานนท์ 1 ตุลาคม 2505 – 30 มิถุนายน 2511
11 กมล วรรณประภา 1 กรกฎาคม 2511 – 31 มีนาคม 2512
12 โชติ สุวรรณโพธิ์ศรี 1 เมษายน 2512 – 30 กันยายน 2512
13 สงวน ชูปัญญา 1 ตุลาคม 2512 – 30 กันยายน 2515
14 โปร่ง เปล่งศรีงาม 1 ตุลาคม 2515 – 30 กันยายน 2518
15 อุทัย กัปปิยบุตร 1 ตุลาคม 2518 – 30 กันยายน 2519
16 ศาสตราจารย์พิเศษ ประเทือง กีรติบุตร 1 ตุลาคม 2519 – 31 กรกฎาคม 2524
17 สุจินต์ ทิมสุวรรณ 1 สิงหาคม 2524 – 31 กรกฎาคม 2530[15] ลาออกจากราชการก่อนครบวาระ
18 ศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ 1 สิงหาคม 2530 – 28 กุมภาพันธ์ 2534
สำนักงานอัยการสูงสุด
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2534)
ลำดับ รูป รายนามและยศ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
1 ศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ 1 มี.ค. 2534 - 1 ต.ค. 2536
2 โอภาส อรุณินท์ 1 ต.ค. 2536 - 30 ก.ย. 2537
3 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร 1 ต.ค. 2537 - 30 ก.ย. 2540
4 ศาสตราจารย์ สุชาติ ไตรประสิทธิ์ 1 ต.ค. 2540 - 30 ก.ย. 2544
5 วิเชียร วิริยะประสิทธิ์ 1 ต.ค. 2544 - 30 ก.ย. 2546
6 ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม 1 ต.ค. 2546 - 30 ก.ย. 2547
7 ศาสตราจารย์พิเศษ คัมภีร์ แก้วเจริญ 1 ต.ค. 2547 - 30 ก.ย. 2548
8 พชร ยุติธรรมดำรง 1 ต.ค. 2548 - 30 ก.ย. 2550[16]
9 ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ [17] 1 ต.ค. 2550 - 2552
10 ศาสตราจารย์พิเศษ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ [18] 1 ต.ค. 2552 - 30 ก.ย. 2556
11 ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง[19] [20] 1 ต.ค. 2556 - 26 มิ.ย. 2557
12 ตระกูล วินิจนัยภาค 27 มิ.ย.2557 - 30 ก.ย. 2558
13 ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร[21] 1 ต.ค. 2558 - 30 ก.ย. 2560
14 ศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์[22] 1 ต.ค. 2560 - 30 ก.ย. 2562
15 วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ [23] 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2564
16 สิงห์ชัย ทนินซ้อน [24] 1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2565
17 นารี ตัณฑเสถียร [25] 1 ต.ค. 2565 - 30 ก.ย. 2566[26] อัยการสูงสุดหญิงคนแรก
18 อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ [27] 1 ต.ค. 2566 - ปัจจุบัน[28]
19 ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ 1 ต.ค. 2567 - [29]

คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)[แก้]

เดิมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521[30] ระบุให้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็น ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) โดยตำแหน่ง ส่วนอัยการสูงสุด (ขณะนั้นเรียกว่าอธิบดีกรมอัยการ) เป็นรองประธานคณะกรรมการอัยการโดยตำแหน่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) กำหนดให้ประธาน ก.อ. มาจากการเลือกตั้งโดยข้าราชการอัยการโดยตรง [5]

ต่อมาในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553[1] ได้กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นประธาน ก.อ. โดยตำแหน่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้มรการแก้ไขให้ประธาน ก.อ. มาจากการเลือกตั้งโดยข้าราชการอัยการโดยตรง (เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย จะไม่มีสิทธิเลือกตั้งนี้)[31] เพื่อให้การบริหารงานบุคคลข้าราชการอัยการเป็นอิสระและปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง[32] โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้วในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาค หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า ทั้งนี้ ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนได้รับเลือก

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561)[1][31] ประกอบด้วย

(1) ประธาน ก.อ. ซึ่งข้าราชการอัยการเป็นผู้เลือก (เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย) จากผู้ที่มีคุณสมบัติข้างต้น[31] ซึ่งประธาน ก.อ. คนปัจจุบันคือ นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ [33]

(2) อัยการสูงสุด เป็นรองประธาน ก.อ.

(3) รองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโสจำนวนห้าคน เป็นกรรมการอัยการ

(4) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน ซึ่งข้าราชการอัยการเป็นผู้เลือก (เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย) จาก

(ก) ข้าราชการอัยการชั้น 5 ขึ้นไป ซึ่งมิได้เป็นกรรมการอัยการโดยตำแหน่งอยู่แล้วจำนวนสี่คน

(ข) ผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้วจำนวนสองคน

(5) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งข้าราชการอัยการเป็นผู้เลือก (เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย) จากผู้ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการมาก่อน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ

สำนักงานอัยการสูงสุดของไทย[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553
  3. อายุธ สมานเดชา. อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด : ศึกษาเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น (นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 2534
  4. ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 47
  5. 5.0 5.1 ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 (soc.go.th)
  6. "พิพิธภัณฑ์อัยการไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-22. สืบค้นเมื่อ 2009-05-17.
  7. 7.0 7.1 ขุนหลวงพระยาไกรสี จัดงานฌาปนกิจศพ หลังตาย ไป 80 กว่าปี (silpa-mag.com)
  8. แจ้งความกระทรวงยุติธรรม เรื่อง ให้พระยาอรรถการประสิทธิ์เป็นอธิบดีกรมอัยการ
  9. ประกาศ ตั้งอธิบดีกรมอัยการ
  10. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ
  11. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิบดีกรมอัยการ
  12. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อนุญาตให้อธิบดีกรมอัยการลาออกจากราชการ
  13. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ
  14. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิบดีกรมอัยการ
  15. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อนุญาตให้ข้าราชการอัยการลาออกจากราชการ อนุญาตให้นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ อธิบดีกรมอัยการลาออกจากราชการ
  16. ประกาศสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง ข้าราชการอัยการพ้นจากราชการ (นายพชร ยุติธรรมดำรง)
  17. ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ (นายชัยเกษม นิติสิริ)
  18. ประกาศวุฒิสภา เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ (นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์)
  19. ประวัติ อรรถพล ใหญ่สว่าง
  20. ประกาศวุฒิสภา เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ [นายอรรถพล  ใหญ่สว่าง]
  21. ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ [ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร]
  22. ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ [นายเข็มชัย ชุติวงศ์]
  23. ประกาศวุฒิสภา เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ [นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์]
  24. ประกาศวุฒิสภา เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ [นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน]
  25. ประกาศวุฒิสภา เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ [นางสาวนารี ตัณฑเสถียร]
  26. "มติ ก.อ.เอกฉันท์เห็นชอบ "นารี ตัณฑเสถียร" นั่ง อสส.หญิง คนแรกของไทย". bangkokbiznews. 2022-06-08.
  27. ประกาศวุฒิสภา เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ
  28. ก.อ.มติเอกฉันท์ ตั้ง 'อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์' เป็น 'อัยการสูงสุด' คนที่ 18
  29. https://www.pptvhd36.com (2024-04-18). "เปิดประวัติ ว่าที่อัยการสูงสุดคนที่ 19 "ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ" ครบเครื่องบู๊บุ๋น". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  30. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 (soc.go.th)
  31. 31.0 31.1 31.2 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561
  32. เกี่ยวกับองค์กร - สำนักงานอัยการสูงสุด (ago.go.th)
  33. ไทยโพสต์ (2023-05-23). "อัยการทั่วประเทศ เทคะแนนเลือก 'เรวัตร จันทร์ประเสริฐ' เป็นประธาน ก.อ."{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]