คอสเพลย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหล่าคอสเพลเยอร์ในงานยูกิคอน 2014 เป็นงานประชุมแฟนคลับที่ประเทศประเทศฟินแลนด์
คอสเพลเยอร์ที่แต่งกายเป็นวิกิพีตัง

คอสเพลย์ (อังกฤษ; cosplay) เป็นคำที่เกิดจากหน่วยคำควบของคำว่า "costume play" คือกิจกรรมและศิลปะการแสดงสดอย่างหนึ่งโดยที่ผู้เข้าร่วมจะถูกเรียกว่าคอสเพลเยอร์ ซึ่งจะสวมใส่เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับเพื่อแสดงเป็นตัวละครที่เฉพาะเจาะจง[1] คอสเพลเยอร์มักจะมีปฏิสัมพันธ์กันบ่อยครั้งเพื่อสร้างวัฒนธรรมย่อยของตนเองขึ้นมา และการใช้คำว่า "คอสเพลย์" ในวงกว้างนั้นรวมไปถึงการสวมบทบาทพร้อมเครื่องแต่งกายใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในการชุมนุมใด ๆ โดยไม่นับรวมการแสดงบนเวทีอีกด้วย สิ่งใดก็ตามที่สามารถนำมาตีความเช่นนี้ได้อย่างชัดเจนก็สามารถถูกนับว่าเป็นคอสเพลย์ได้เช่นกัน แหล่งที่มาของคอสเพลย์ที่เป็นที่นิยมได้แก่อนิเมะ, การ์ตูน, หนังสือการ์ตูน, มังงะ, ซีรีส์โทรทัศน์, การแสดงดนตรีร็อก, วิดีโอเกม และในบางกรณีก็อาจจะเป็นตัวละครต้นแบบด้วยเช่นกัน คำว่าคอสเพลย์นี้ประกอบจากคำสองคำดังที่กล่าวไว้ข้างต้นซึ่งก็คือ costume และ role play

จุดเริ่มต้นของคอสเพลย์ในยุคใหม่นั้นมาจากการแต่งกายของแฟนนิยายวิทยาศาสตร์ในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์ที่เริ่มจัดขึ้นโดยโมโจโรภายใต้ชื่อ "futuristicostumes" ซึ่งจัดขึ้นในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกครั้งที่ 1 ในเมืองนครนิวยอร์กเมื่อปี 1939[2] คำว่าคอสเพลย์ในภาษาญี่ปุ่น (コスプレ, โคสุปุเระ, kosupure) เกิดขึ้นเมื่อปี 1984 การเติบโตของจำนวนประชากรคอสเพลเยอร์ที่ทำเป็นงานอดิเรกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์นี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมประชานิยมของญี่ปุ่น รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและโลกตะวันตกด้วยเช่นกัน งานคอสเพลย์ถือเป็นกิจกรรมที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในฐานะของงานประชุมแฟนคลับ และในปัจจุบันนี้ได้มีงานชุมนุมหรือการประกวดและแข่งขัน, รวมถึงเครือข่ายสังคม, เว็บไซต์ และสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์อีกมากมาย คอสเพลย์เป็นที่นิยมในคนทุกเพศทุกวัยและไม่แปลกเลยที่จะได้เห็นการแต่งกายข้ามเพศหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเจนเดอร์-เบนดิง (gender-bending)

ศัพท์มูลวิทยา[แก้]

คำว่า "cosplay" นั้นเป็นหน่วยคำควบในภาษาญี่ปุ่นซึ่งมาจากการคำในภาษาอังกฤษสองคำคือ costume และ play[1] คำว่าคอสเพลย์ถูกคิดค้นขึ้นโดยโนบุยูกิ ทาคาฮาชิจาก Studio Hard[3] หลังจากที่เขาได้เข้าร่วมงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกในปี 1984 (เวิลด์คอน) ที่ลอสแองเจลิส[4]และได้เห็นการแต่งกายของแฟนนิยายวิทยาศาสตร์ที่นั่น ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้เขียนบทความให้กับนิตยสารมายอะนิเมะของญี่ปุ่น[3] ทาคาฮาชิได้ตัดสินใจคิดค้นคำใหม่ชึ้นมาแทนที่การใช้คำแปลจากภาษาอังกฤษคำว่า "masquerade" เนื่องจากคำแปลในภาษาญี่ปุ่นนั้นจะได้ความหมายว่า "เครื่องแต่งกายของชนชั้นสูง" ซึ่งไม่เหมาะสมกับประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอมาที่เวิลด์คอน[5][6] การคิดค้นคำใหม่เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการย่อคำในภาษาญี่ปุ่นที่จะใช้มอราแรกของคู่คำนั้น ๆ มาสร้างเป็นคำใหม่ ซึ่งในที่นี้คือคำว่า 'costume' ที่ได้กลายเป็นโคสุ (コス) และคำว่า 'play' ที่ได้กลายเป็นปุเระ (プレ)

ประวัติศาสตร์[แก้]

ก่อนศตวรรษที่ 20[แก้]

บทความหลัก: งานเต้นรำหน้ากาก, ฮาโลวีน, ปาร์ตี้คอสตูม

งานเต้นรำหน้ากากถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานคาร์นิวัลในศตวรรษที่ 15 พร้อมทั้งเป็นส่วนสำคัญในงานพระราชพิธี, งานประกวด, และงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของราชวงศ์ในช่วงปลายยุคกลางอย่างเช่นงานฉลองชัยชนะหรืองานอภิเษกสมรสเป็นต้น นอกจากนี้ยังขยายออกไปยังเทศกาลการแต่งกายสาธารณะในอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 16 ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอีกด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานเต้นรำของชนชั้นสูงโดยเฉพาะในแถบเวนิส

ในเดือนเมษายนปี 1877 ฌูล แวร์นได้ส่งบัตรเชิญเกือบ 700 ใบสำหรับงานเต้นรำในเครื่องแต่งกายที่หรูหรา ซึ่งแขกหลายคนแต่งตัวเป็นตัวละครจากนิยายของแวร์น

งานปาร์ตี้เครื่องแต่งกาย (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน) หรืองานปาร์ตี้แต่งกายแฟนซี (ภาษาอังกฤษแบบบริติช) เป็นงานที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นอกจากนี้หนังสือแนะนำการแต่งกายในยุคนั้นเช่น เครื่องแต่งกายของตัวละครเพศชาย (Male Character Costumes) ของซามูเอล มิลเลอร์ (1884) หรือ หนังสืออธิบายการแต่งกายแฟนซี (Fancy Dresses Described) ของอาร์ดดิร์น โฮลต์ (1887) มักเน้นไปที่การแต่งกายแบบทั่วไปโดยส่วนใหญ่ เช่นการแต่งกายในยุคต่าง ๆ , การแต่งกายประจำชาติ, วัตถุสิ่งของหรือแนวคิดทางนามธรรมเช่น "ฤดูใบไม้ร่วง" หรือ "กลางคืน" ซึ่งบางส่วนของการแต่งกายที่ระบุไว้ในนั้นเป็นของบุคคลในประวัติศาสตร์ แม้ว่าบางส่วนจะมาจากนวนิยาย เช่นตัวละครจาก สามทหารเสือ หรือตัวละครอื่น ๆ จากผลงานของเชกสเปียร์

ในเดือนมีนาคมปี 1891 เฮอร์เบิร์ต ทิบบิตส์ได้มีการเชิญชวนคนกลุ่มหนึ่งที่ในปัจจุบันอาจถูกเรียกได้ว่าเป็น "คอสเพลเยอร์" ซึ่งการเชิญชวนนี้ยังได้รับการโฆษณาอีกด้วย เพื่อให้มาเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 5–10 มีนาคมในปีเดียวกันที่อาคารรอยัลอัลเบิร์ตฮอลล์ในกรุงลอนดอน งานนี้มีชื่อว่า Vril-Ya Bazaar and Fete ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นจากนวนิยายวิทยาศาสตร์และตัวละครในเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านั้นยี่สิบปี

การแต่งกายของแฟนคลับ[แก้]

ชุดแต่งกายมิสเตอร์สกายแก็ค ซึ่งเป็นชุดแต่งกายหรือการคอสเพลย์ในช่วงต้นของยุคใหม่ จากรัฐวอชิงตันในปี 1912

ตัวละครจากการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ของ เอ.ดี. คอนโดที่มีชื่อว่ามิสเตอร์สกายแก็คจากดาวอังคาร (นักชาติพันธุ์วิทยาจากดาวอังคารที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องราวบนโลกอย่างน่าตลกขบขัน) อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครสมมุติตัวแรกที่ผู้คนได้ทำการเลียนแบบโดยสวมใส่เครื่องแต่งกาย ซึ่งในปี 1908 คู่สามีภรรยาวิลเลียมเฟลล์ (William Fell) จากเมืองซินซินแนติในรัฐโอไฮโอถูกรายงานว่ามีการเข้าร่วมงานหน้ากากที่ลานสเก็ตโดยสวมเครื่องแต่งกายเป็นมิสเตอร์สกายแก็คและมิสดิลล์พิกเกิลส์ ต่อมาในปี 1910 ผู้หญิงที่ไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในงานหน้ากากที่เทศมณฑลทาโคมาในรัฐวอชิงตัน โดยสวมเครื่องแต่งกายเป็นมิสเตอร์สกายแก็คด้วยเช่นกัน

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Washingtonpost.com: What Would Godzilla Say?". www.washingtonpost.com.
  2. Culp, Jennifer (2016-05-09). "Meet the Woman Who Invented Cosplay". Racked (ภาษาอังกฤษ).
  3. 3.0 3.1 "Nobuyuki (Nov) Takahashi". web.archive.org. 2012-07-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-05. สืบค้นเมื่อ 2024-04-26.
  4. "75 Years Of Capes and Face Paint: A History of Cosplay". Yahoo Entertainment (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-07-24.
  5. "The History of Cosplay". Japan Powered (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-10-16.
  6. Mechademia. 1, Emerging worlds of anime and manga. Internet Archive. Minneapolis, Minn. : University of Minnesota Press ; Bristol : University Presses Marketing [distributor]. 2006. ISBN 978-0-8166-4945-7.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)