ขอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"ขอม" คำไทดั้งเดิม ในตระกูล ไทกะได

ขอม (Khom) หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ทางตอนใต้ของแคว้นสุโขทัย อาจจะหมายถึงพวก ละโว้ (หรือ ลพบุรี) เอกสารทางล้านนา เช่น จารึกและตำนานต่าง ๆ ล้วนระบุสอดคล้องกันว่าขอมคือพวกที่อยู่ทางใต้ของล้านนา(ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย) พวกนี้ตัดผมเกรียน และนุ่งโจงกระเบน กินข้าวเจ้า ฯลฯ แคว้นละโว้นับถือทั้งฮินดูและพุทธมหายาน อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนอธิบายไว้ว่า ขอมเป็นพวกนับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ใครเข้ารีตเป็นฮินดู หรือพุทธมหายาน เป็นได้ชื่อว่า ขอม ทั้งหมด ขอมไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะไม่มีเชื้อชาติขอม แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ สยาม

นักวิชาการประวัติศาสตร์หลายคน เช่น ชาญวิทย์ เกษตรสิริ, ประเสริฐ ณ นคร, ไมเคิล ไรท์ และ สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าขอมกับละโว้คือคนกลุ่มเดียวกัน[1][2]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำ "ขอม" เก่าที่สุด พบในจารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 อายุราว พ.ศ. 1912 สมัยสุโขทัย (ภาพวาดจำลองจากภาพจริง)

คำ ขอม (Khom) เป็นคำไทยใต้[3][4] (ไม่ได้หมายถึงคนไทยในภาคใต้ในปัจจุบัน) หรือคำไทยเดิม คำ "ขอม" ไม่ใช่ภาษาเขมร[5] และไม่ได้แปลว่าเขมร[6] เพราะไม่ปรากฏคำว่า "ขอม" ในจารึกเขมรโบราณ[7] ดังนั้น ขอมและชาวเขมรในปัจจุบันเป็นคนละกลุ่มกัน ไม่ได้มีความเชื่อมต่อกัน

ดังนั้น คำ "ขอม" คนไทยและคนลาวใช้เรียก ผู้คน ชาติ ปราสาท ตัวอักษร ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่มีอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิที่พบในพื้นที่ประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน คำ "ขอม" จึงไม่ใช่ชื่อชนชาติใดชนชาติหนึ่ง[8]

ที่มา[แก้]

ที่มาของคำ ขอม มีดังนี้

  • ถ่ายทอดมาจากภาษาฮินดีว่า Kom[9] (ฮินดี: कोम) แผลงจากคำว่า Komala[10] (ฮินดี: कोमल) หมายถึง ความนุ่ม พื้นที่นุ่ม ที่ ๆ มีน้ำ ชนชาติ Kom (Kom peoples) ที่อาศัยอยู่ในรัฐมณีปุระทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย สอดคล้องกับบันทึกเปอร์เซียชื่อ The Ship of Sulaiman เรียกอาณาจักรอยุธยาว่า ชะฮฺริ เนาว์ หมายถึง เมืองใหม่อันเป็นเมืองแห่งนาวา มีเรือ และแม่น้ำลำคลองมากมาย[11]
  • อาจมาจากคำว่า อัญขยม, อํญขยุม เป็นคำสยามโบราณ[12][6]: 89–90  เกิดจากการผสมระหว่างคำภาษาบาลีว่า "อญฺญ" (อ่านว่า อัน-ยะ) แปลว่า อื่น คนที่ต่างจากผู้นั้น หรือคำสันสกฤตว่า "อนฺย" (สันสกฤต: अन्य, อักษรโรมัน: Anya) ส่วนคำ "ขยม" มาจากคำภาษาเขมรเก่าว่า "ขฺญุํ" หรือ "กฺญุม" (เขมร: ខ្ញុំ, อักษรโรมัน: khñuṃ)[13] แปลว่า ข้ารับใช้ ทาส (Slave, bondsman)
  • มาจากคำว่า "กโรม"[7]: 68–69  (Karom) ในภาษาเขมรเก่ายุคก่อนพุทธศตวรรษที่ 8 แล้วเพี้ยนมาเป็น "กรอม" แล้วเป็น "ขอม"

ความแตกต่าง ขอม–เขมร[แก้]

ชาวเขมรในกัมพูชา เรียกว่า ขะแมร์กร็อม หรือ ขะแมร์กรอม (Khmer Krom) หมายถึง ขอมกัมพูชาแท้เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 1400[14] อาศัยอยู่ในเขตฝั่งใต้ของลำน้ำมูล (ตามภูมิประเทศ เรียกว่า เขมรต่ำ หากอยู่เหนือลำน้ำมูลเรียกว่า เขมรสูง หรือขะแมร์ลือในภาษาเขมร)[15] คำว่า "กร็อม" หรือ "กรอม" (Krom) (เขมร: ក្រោម, อักษรโรมัน: karoṃ, karomm)[16] ในภาษาเขมรเมืองสุรินทร์ และภาษาเขมรกัมพูชา แปลว่า ใต้ ล่าง หรือต่ำ[17]

คำ "ขะแมร์, คแมร์, แขฺมร และ เขมร" มาจากคำว่า "เกฺมร" (เขมร: ខ្មែរ, อักษรโรมัน: kmer, แปลตรงตัว'ชาวขะแมร์ (Khmer), ชื่อข้ารับใช้ (Slavename)')[18] พบในศิลาจารึก Ka. 64 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 คำจารึกว่า "(๑๓) กฺญุม เกฺมร โฆ โต ๒๐. ๒๐. ๗. เทร สิ ๒..." แปลว่า ข้ารับใช้ (ที่เป็น) ชาวเขมร[19]

หนังสือ พระแสงราชศัสตรา[20] โดยกระทรวงมหาดไทย ชี้ให้เห็นความแตกต่างไว้ว่า ขอม คือ ราชวงค์ขอมที่ปกครองแคว้นกำพูชาซึ่งได้สูญสิ้นให้แก่กรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1974[20]: 18  (ดูเพิ่ม พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, หน้า 21 กล่าวว่า สักราช 793 กุนสก (พ.ส. 1974) สมเด็ดพระบรมราชาเจ้าสเด็ดไปเอาเมือง(นครหลวง)ได้ แลท่านจึงไห้พระราชกุมารท่านพระนครอินทร์เจ้าเสวยราชสมบัตินะเมืองนครหลวงนั้น[21] หมายถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา เสด็จการศึกมีชัยเหนือเมืองพระนครแล้วโปรดให้พระอินทราชา (พระนครอินทร์) พระราชโอรสทรงปกครองเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพระนคร) ส่วน เขมร คือ ชาวเขมรพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแคว้นกำพูชาซึ่งสยามเป็นผู้สนับสนุนให้เขมรพื้นเมืองมีอำนาจควบคุมกำจัดราชวงค์ขอม ทั้งยังสนับสนุนให้เขมรพื้นเมืองขึ้นครองบัลลังก์แทนราชวงค์ขอมแต่อยู่ภายในความปกครองควบคุมของสยาม[20]: 18 

หลักฐานทางโบราณคดี[แก้]

หลักฐานคำ "ขอม" เก่าที่สุดพบในศิลาจารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 สมัยสุโขทัย คำจารึกว่า:- "พ่อขุนบางกลางหาวแลขอมสบาดโขลญลำพงรบกนน"[7]: 69  จารึกล้านนาพบคำ "ขอม" ครั้งแรกในจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย (พะเยา) พ.ศ. 1945 สมัยสุโขทัย คำจารึกว่า "ในปีเต่าสง้า คำจวา ปีขอมไซร้ ปีมะแม"[22]: 16  และภาษาขอมที่เก่าแก่ที่สุดพบที่จารึกเขาน้อย จังหวัดปราจีนบุรี และจารึกเขารัง รัชสมัยพระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 อาณาจักรเจนละ เป็นจารึกอักษรปัลลวะเขียนด้วยภาษาสันสกฤตและขอม[23] พบที่จังหวัดศรีสะเกษ[24]

ความหมาย[แก้]

คำ "ขอม" มีความหมายดังนี้

  1. ขอม แปลว่า ใหญ่ หรือผู้เป็นใหญ่[25]
  2. ขอม แปลว่า ผู้มีภูมิรู้ประเสริฐสุด นระผู้บรรชาญ นระผู้คงแก่เรียน นระผู้รู้ เป็นคนชั้นหัวก๊ก ปู่ครูผู้บรรชาญในสาขาความรู้ต่าง ๆ[3]
  3. ขอม แปลว่า ใต้ ถิ่นใต้ สิ่งของทางใต้ คนใต้ หรือกลุ่มชนชาติไทยสยามที่ชาวไทยลื้อเรียกว่าไทยใต้[26]
  4. ขอม (กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทเรียกว่า ขรอม) แปลว่า คนที่พูดภาษาไตอาศัยอยู่ใกล้ๆ ทะเล หรือทางใต้ของภูเขา (โดยนาย มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการชาวเมียนมาร์ สันนิษฐานจากการอ่านศิลาจารึกภาษาขอมไทย พิพิธภัณฑ์โบราณคดีพุกาม และการสอบถามกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไท)[27]
  5. ขอม ในภาษาไทยละว้าเดิม แปลว่า รัด ครอบ สวม[28][5] พบการใช้คำนี้เรียกปากชะลอมที่จังหวัดราชบุรี
  6. ขอม ในตำนานไท เขียนว่า กรอม กล๋อม กะหล๋อม หรือ ก๋าหลอม แปลว่า คนที่อยู่ทางใต้[7]
  7. ขอม ในจารึกวัดศรีชุม แปลว่า กลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากกว่าจะหมายถึงเขมรเมืองพระนคร[7]
  8. ขอม ความหมายตามหลักฐานสมัยสุโขทัย แปลว่า คนทางใต้ หรือ คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วน "ขอม" ความหมายตามหลักฐานสมัยอยุธยา แปลว่า คนเขมรในประเทศกัมพูชา (โดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เขมร)[7]: 86 
  9. ขอม (คำสันกฤต, ฮินดี) คือคำว่า Kom แผลงมาจากคำว่า Komala แปลว่า ความนุ่ม พื้นที่นุ่ม ที่ ๆ มีน้ำ ชนชาติ Kom (Kom peoples) ที่อาศัยอยู่ในรัฐมณีปุระ[10]


การใช้คำ "ขอม" พบว่าเป็นคํานามประสมหรือสำนวนในหนังสือวิชาการหลากหลาย เช่น

  • อักษรขอมได้รับอิทธิพลจากอักษรปัลลวะ[29] เป็นรูปอักษรที่มีศกหรือมีผมบนตัวอักษร[22]: 25  ใช้เขียนทั้งภาษาไทย บาลี สันสกฤต และเขมร เช่น อักษรขอมสยาม หรืออักษรธรรมไทใต้ (พ.ศ. 1100) อักษรขอมไทย[30] อักษรขอมบาลี (หรืออักษรขอมมคธ) พบในจารึกวัดป่ามะม่วง หลักที่ 6 จารึกวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม (วัดตาเถรขึงหนัง) หลักที่ 8ค จังหวัดสุโขทัย ใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย-รัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5[7]: 130 [31]: 18–19  อักษรขอมสันสกฤต[32] เช่น วรรณกรรมเรื่อง วยาการศตกะหรือสุภาษิตร้อยบท แม่อักษรขอมขุดปรอท[22]: 21  คืออักษรสำหรับพระพุทธศาสนา อักษรขอมสุโขทัย[33] (จารึกวัดป่ามะม่วง พ.ศ. 1904) อักษรขอมอยุธยา[34] อักษรขอมธนบุรี-รัตนโกสินทร์[34] อักษรขอมเฉียง[35] พบในตำราพระเพลาวัดบางแก้ว แปลเป็นอักษรไทยโดยพระครูมณฑลกิจปาฏิกรณ์ (เอียด) อักษรขอมอินเดียใต้[36] พบในประเทศลาว อักษรขอมลาว[37] สันฐานคล้ายอักษรพม่าแต่ไม่ใช่อักษรพม่า พบที่วัดศีสะเกดเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว ฯลฯ อักษรที่ใช้เขียนหนังสือสวดด้วยปากกาเพื่อความสวยงาม (จารไม่ได้) เช่น อักษรขอมย่อ อักษรที่ใช้จารแผ่นหิน แผ่นไม้ ใบลาน สมุดไทย เช่น อักษรขอมหวัด อักษรขอมบรรจง เป็นต้น
  • ผู้คน เช่น ชาวขอม[22]: 20  คือ ชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับชนกลุ่มชาวไทตามหลักฐานจารึกสมัยสุโขทัย ขอมสยาม (ทหารคฺยวม)[38] คือ กองทัพสยามที่ยกไปตีเมืองสะเทิมของมอญสมัยพระเจ้าอุทินนะตามพงศาวดารกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม) ขอมสันสกฤต[39] คือ ชาวขอมพูดภาษาพราหมณ์ (ฮินดู) ขอมสบาดโขลญลำพง[31]: 27  คือแม่ทัพฝ่ายขอมซึ่งปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่านของขอม พ.ศ. 1781 ขอมดำดิน ในพงศาวดารเหนือ ขอมละว้า[40] (คือชนชาติละว้าพื้นราบผสมกับชนชาตินาคาจากอินเดียและตอนเหนือของพม่า วิวัฒนาการมาเป็นชาติ ขอมแท้) ชาวขอมเสลานคร[41]: 23  คือชนกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองอุโมงค์คเสลานคร (พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ชาวขอมดำ คือชนกลุ่มชาวกูยที่อาศัยริมแม่น้ำโขง ขอมแปรพักตร์ ในพระราชนิพนธ์เรื่อง แผ่นดินเขมรเป็น ๔ ภาค คือ หัวเมืองเขมรที่ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เช่น เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ ขอมกับพูชา[14]: 30  (ขอมกำพูชาแท้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1400) ชาวขอมดำกำโพชพิสัย[22]: 24  คือ ชาวขอมดำในถิ่นกัมพูชา ขอมเลือดผสมไทยน่านเจ้า[14]: 30  ขอมแท้[42] คือ กลุ่มพวกพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ยโสธรปุระ ผู้สร้างสร้างพระนครวัดนครธม
  • กษัตริย์ เช่น พระยาขอมดำ[41]: 22–23  คือ กษัตริย์โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น เจ้าเมืองขอม[43]: 21  เช่น พระยากาฬวรรณดิศ ราชบุตรของพระยากากะภัทรกรุงตักศิลาสร้างเมืองละโว้
  • ภาษา เช่น ขอมดำดิน (สำนวนไทย) แปลว่า คนที่ปรากฏตัวขึ้นทันทีอย่างไม่คาดฝัน หรือหายไปอย่างรวดเร็วไม่ทันได้สังเกต[44]
  • วัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมขอมลพบุรี[45] วัฒนธรรมขอมสยาม[38]: 348  วัฒนธรรมขอมกัมพูชา[46] วัฒนธรรมขอมฮินดู-พุทธมหายาน (แนวคิดของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช)
  • สถานที่ เช่น แม่น้ำขอม[43]: 22  คือชื่อเดิมของแม่น้ำโขง
  • กาลเวลา ปฏิทิน เช่น ขอมเดือน[47] คือ การนับเดือนแบบจันทรคติด้วยภาษาบาลีสันสกฤต เช่น เดือนกิตติกาเพ็ง หมายถึง ขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบสอง (พบในจารึกฐานพระพุทธรูป วัดพระธาตุศรีดอนคํา ว.ศ.ด.ค. ๐๒๑) ขอมปี[48] คือ การนับปีแบบนักกษัตร 12 ราศี เช่น ปีวอก


ส่วนคำ ขอม ที่มีนัยหมายถึงเขมรในประเทศกัมพูชานับว่าเป็นทัศนะของผู้ชำระประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[7] ปรากฏในหลักฐานดังนี้[7]

  • ประชุมพงศาวดาร เรื่อง พงศาวดารตอนไทยมาจากเมืองเดิม ว่าด้วยต้นเหตุการณ์เกณฑ์ทหารไทยแต่โบราณ กล่าวว่า :-

แดนดินที่เป็นสยามประเทศนี้ เดิมทีเดียวได้เป็นที่อยู่ของชน ๓ ชาติ ซึ่งพูดภาษาคล้ายคลึงกัน คือพวกขอม (ซึ่งเรียกกันบัดนี้ว่าเขมร) อยู่ข้างใต้ตอนแผ่นดินต่ำในลุ่มแม่น้ำโขงที่เป็นแดนกรุงกำพูชาเดี๋ยวนี้ ชาติ ๑ พวกลาว (คือชนชาติที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่าละว้า) อยู่ตอนกลางคือในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ตลอดไปทางตะวันออกจนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนแผ่นดินสูง (คือมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรร้อยเอ็ดอุบลบัดนี้) ชาติ ๑ พวกมอญอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือตอนลุ่มแม่น้ำสาละวิน ตลอดไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเอราวดีข้างตอนใต้ ที่เป็นแดนประเทศพม่าบัดนี้ชาติ ๑ แดนดินที่กล่าวมานี้ชาวอินเดียแต่โบราณเรียกกันว่า "สุวรรณภูมิ" เพราะเหตุเป็นบ่อที่มีบ่อทอง[49]

  • พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก ๑๐๔ (ต้นฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณ)
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
  • พงศาวดารเขมรฉบับออกญาวงศสารเพชญ (นง) ฉบับแปลภาษาไทย พ.ศ. 2398[7]: 87 
  • พระราชนิพนธ์เรื่อง แผ่นดินเขมรเป็น ๔ ภาค ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มกำหนดว่า ขอมแปรพักตร์ หมายถึง หัวเมืองเขมรที่ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เช่น เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ[7]: 87 
  • กำสรวลสมุทร (โคลงบทที่ 20 และ 67)
  • กฏหมายตราสามดวงว่าด้วยกฏมณเฑียรบาล มาตรา ๒๐ ตราขึ้นปี จ.ศ. ๗๒๐ (พ.ศ. 1901)
  • คำฉันท์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงประสาททอง (ฉบับพระมหาราชครู)
  • จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ
  • เสภาพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่

นิรุกติศาสตร์[แก้]

เดิม ขอม ไม่ได้หมายถึงเขมรกลุ่มเดียว เพราะ เขมร นั้น เป็นคำไทย ซึ่ง หมายถึง ขะแมร์ ชาวเขมร ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ขอม และไม่รู้จัก ขอม โดยคำว่า เขมร ได้ปรากฏขึ้นอย่างน้อย ๆ เมื่อ พ.ศ. 1069 จากจารึกคำว่า เขมร ในจารึกซับบาก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา[50] ต่อมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1893 แล้วชื่อ ขอม มีความหมายเปลี่ยนไปเป็นพวกเขมรเท่านั้น สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำไมชื่อขอม เปลี่ยนความหมายไปเป็นเขมร ? ยังหาคำอธิบายไม่ได้ชัดเจน แต่พอจะจับเค้าว่าเพราะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานับถือพุทธนิกายเถรวาทหมดแล้ว รวมทั้งละโว้ แต่ทางเขมรยังมีพวกนับถือฮินดูกับพุทธมหายาน คือขอมอยู่บ้าง

คำว่า ขอม ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย 2 แห่ง ระบุชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักวิชาการคนแรก ๆ พยายามศึกษาและอธิบายคำคำนี้ใหม่ ได้เสนอว่า ขอม ไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง จิตร ยังอธิบายว่า คำว่าขอม ถูกนำมาใช้ในงานเขียนสมัยใหม่ (ขณะนั้น)โดยมีความรู้สึกชาตินิยมเป็นพื้นมากกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นการถือว่าขอมเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เคยแผ่อำนาจมาครอบครองดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงสุโขทัย มีอิทธิพลต่อชาวไทยโบราณ ต่อมาชาวไทยที่สุโขทัยรุ่งเรืองในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา อิทธิพลของขอมได้หายไปจากแผ่นดินไทย[51]

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการแห่งสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ก็เสนอว่า ขอม ในที่นี้น่าจะหมายถึงคนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ คำว่าขอม ใช้เรียกคนเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เก่าแก่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และต่อมาจึงเรียกรวมไปถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอยุธยา จากนั้นในหลักฐานประวัติศาสตร์ของอยุธยา ได้ใช้คำนี้เรียกคนในดินแดนเขมรแถบเมืองพระนครหรือนครธม ในข้อความที่ว่า "ขอมแปรพักตร์"และในกฎมณเฑียรบาล น่าจะหมายถึงคนในเขมรหรือกัมพูชา[52] โดยสรุป คำว่า ขอม เป็นคำเรียกคน มีความหมายทางวัฒนธรรมและมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

ความเกี่ยวข้องระหว่างขอมกับกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา[แก้]

หลักฐานชั้นต้น ชื่อ ตำราทูตตอบ เป็นหนังคู่มือทูตตอบเขียนเป็นภาษาไทยสำหรับคณะราชทูตสยามที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุุเกส เมื่อ พ.ศ. 2227 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งว่าหากคณะราชทูตสยามได้รับคำถามเกี่ยวกับเชื้อสายกษัตริย์และสิ่งก่อสร้างโบราณของสยาม ให้คณะราชทูตตอบว่าทรงสืบสายลงมาตั้งแต่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ปรากฏใน ตำราทูตตอบ ว่า:-

"...ให้ตอบถึงกษัตริย์โดยอ้างลงมาตั้งแต่สมเด็จพระปทุมสุริยนรนิสสวรบพิตร... (Sommedethia Ppra Pattarma Souria Naaranissavoora Boppitra Seangae) (พระปทุมสุริยวงค์?) ชึ่งเป็นผู้สร้างเมืองชัยบุรีมหานคร (?) ใน พ.ศ. ๑๓๐๐ และกษัตริย์ที่ครองราชย์สืบมาอีกสิบพระองค์ ต่อมาสมเด็จพระยโศธรธเรนทร์เทพราชอติ (Sommedethia Prayasouttora Ttarrena Ttepperaraacchaatti) (พระเจ้ายโศธรวรมัน?) ผู้สร้างเมืองยโศธรนครหลวง (Yassouttora Nacoora Louang) และกษัตริย์ ๑๒ พระองค์ที่ครองราชย์ที่นั่น ต่อมาเมื่อกษัตริย์สมเด็จพระพนมไชยศิริมเหศวรินทธิราชบพิตร เสด็จไปประทับในสุโขทัย และในปี พ.ศ. ๑๗๓๑ พระองค์สร้างเมืองเพชรบุรี ที่นี้มีกษัตริย์ครองราชย์มาสี่พระองค์ เป็นเวลา ๑๖๓ ปี ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีบพิตร (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้สร้างพระนครของสยามในปี พ.ศ. ๑๘๙๔ ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรและเรียกว่า กรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา และพระองค์ครองราชย์มา ๒๗ ปี ดังนั้นจึงมีกษัตริย์ ๕๐ พระองค์ ใน ๙๖๒ ปี..."[53]

ซึ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ผู้สร้างเมืองนครธมนี้ พงศาวดารชาติไทย ของพระบริหารเทพธานี (เฉลิม) พ.ศ. 2508 กล่าวว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2[54] เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1652–95 (หลักฐานเรื่องพระแสงขรรค์ชัยศรีใน คำให้การชาวกรุงเก่า แย้งว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2[55] (ชัยวรมเทวะ) ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1345-93 มากกว่า ส่วนพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สืบวงศ์จากพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์อีกทีหนึ่ง)

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็นกษัตริย์ขอม[56] แต่พระราชมารดาของพระองค์เป็นเขมร[56] และยังทรงมีวัฒนธรรมไทยแบบไศเลนทร์อย่างอาณาจักรตามพรลิงค์จากการส่งไพร่พลไปช่วยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างเมืองนครธม และได้ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระพุทธศาสนาไว้ที่เมืองพระนครให้เป็นปึกแผ่นตาม ตำนานพระแก้วมรกต สอดคล้องกับ ตำนานต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา ใน จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่ากษัตริย์พระองค์แรกของชาวสยามมีชื่อว่า พระปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งปกครองนครไชยบุรีมหานครเป็นพระองค์แรกแต่ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ไม้รู้แน่ชัดว่านครไชยบุรีตั้งอยู่ที่ใด :-

"ปฐมบรมกษัตริย์ของชาวสยามนั้นทรงพระนามว่า พระปฐมสุริยเทพนรไทยสุวรรณบพิตร (Pra Poathonne Sourittep pennaratui sonanne bopitra) (พระปทุมสุริยวงศ์?) พระมหานครแห่งแรกที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น ชื่อว่า ไชยบุรีมหานคร (Tchai pappe Mahanacon) ซึ่งข้าพเจ้าไม่แจ้งว่าตั้งอยู่ที่ไหน เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงราชย์นั้นพระพุทธศาสนยุกาลล่วงแล้ว ๑,๓๐๐ พรรษา นับตามศักราชสยาม และมีพระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์ต่อมาอีก ๑๐ ชั่วกษัตริย์ องศ์สุดท้ายทรงพระนามว่า พญาสุนทรเทศมหาราชเทพ (Ipoïa Sanne Thora Thesma Teperat) (ยโศธรเทศมหาเทพราช?) ย้ายพระนครหลวงมาสร้างราชธานีใหม่ที่เมืองธาตุนครหลวง หลวงมาสร้างราชธานีใหม่ทีเมืองธาตุนครหลวง (Tasôo Nacorà Loüang) (ยโศ (ธร) นครหลวง ?)..."[53]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : ขอม คือ ใคร Who are the Khom?". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 30 January 2023.
  2. ""เขมร" ไม่เรียกตัวเองว่า "ขอม" ไม่มีคำว่าขอมในภาษาเขมร คำว่า "ขอม" มาจากชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กระจายตัวอยู่ตามที่ราบลุ่มมีวิธีผันน้ำและปลุกข้าวทำเกษตร". ศิลปวัฒนธรรม. 27 January 2023. สืบค้นเมื่อ 30 January 2023.
  3. 3.0 3.1 กรมศิลปากร. (2530). ทักษิณรัฐ. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 187 หน้า. หน้า 90.
  4. Pholsena, W., Nordic Institute of Southeast Asian Studies (NIAS) University of Copenhagen and Institute of Southeast Asian Studies (ISEAS), National University of Singapore. (2006). Post-war Laos: The politics of Culture, History and Identity. Pasir Panjang: Utopia Press. p. 36. ISBN 981-230-355-3, 981-230-356-1. "It seems Khom was an old word used by the Tai peoples in ancient times—perhaps before the foundation of the Lan Xan kingdom."
  5. 5.0 5.1 พระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต ป.ธ.6) และวันอุ่น เขียนไทย. (2538). "ขอม สายสือขอม", ต้นไทย ฅนไทย ก่อนสุโขไทย. เรียบเรียงจากการค้นคว้าและการอ่านลายสือไทยจารึกในแผ่นหินทราย-กเบื้องจาร ของพระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต ป.ธ. 6). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. หน้า 72. ISBN 978-974-7-65138-6
  6. 6.0 6.1 เทพ สุนทรศารทูล. (2545). ดาวพระศุกร์: ดาวประจำเมืองสยาม. กรุงเทพฯ: ดวงแก้ว. หน้า 35. ISBN 978-974-9-03342-5
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 ศานติ ภักดีคำ. (2562). "เขมร คำที่ไทยใช้เรียกเขมรมาตั้งแต่เมื่อใด?", แลหลังคำ เขมร-ไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. 375 หน้า. หน้า 61-87. ISBN 978-974-0-21687-2
  8. สัทธา อริยะธุกันต์. (2535). การวิเคราะห์วรรณกรรมคำสอนอีสานใต้. บุรีรัมย์: โครงการตำรามูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน, ศูนย์ตำราวิทยาลัยครูบุรีรัมย์. หน้า 59.
    • วารสารศิลปวัฒนธรรม, 30(1):13.
  9. Sharma G. C. (1999). "The Sixteen Devisioned of a Sign", Maharishi Parasara's Brihat Parasara Hora Sastra Vol. I: A Compendium in Vedic Astrology. Hapur, India: Sugar Publications. p. 126.
  10. 10.0 10.1 Fallon S. W. (1879). A new Hindustani-English dictionary: with Illustrations from Hindustani Literature and Folk-lore. Dedicated by Permission to Sir Richard Temple, Bart., G.C.S.I., C.I.E. Governor of Bombay. London: E.J. Lazarus and Co., Banaras-Trübner and Co. p. 959.
    • Tivari B. (1964). Bhasha Vijnana Kosa Linguistics Treasury भाषा विज्ञान कोष (in Hindi)]. Varanasi, India: Jnana-Mandala. p. 169
  11. ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. (2517). ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์ และวรรณคดีไทย และสำเภากษัตริย์สุลัยมาน (ฉบับย่อ). กรุงเทพฯ: สมาคมภาษา และหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. หน้า 146.
  12. ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พระยา. (2446). "คำสยามโบราณ" หนังสืออนันตวิภาค: หนังสือสำหรับกุลบุตร์ศึกษาศัพท์ต่าง ๆ มี ศัพท์โบราณ เขมร ชวา บาฬีแปลง ราชาศัพท์ เปนต้น. พระนคร: พิศาลบรรณนิติ์. หน้า 16.
  13. "ខ្ញុំ", Dictionary of Old Khmer. SEALANG Projects. cited in Phillip Jenner's Dictionary of Pre-Angkorian Khmer and Dictionary of Angkorian Khmer (Pacific Linguistics, 2009).
  14. 14.0 14.1 14.2 ประกิต (นามเดิม จิตร) บัวบุศย์. (2516). การศึกษาศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ: จักรานุกูลการพิมพ์. หน้า 30.
  15. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2512). โบราณคดีนครราชสีมา. พระนคร: กรุงสยามการพิมพ์. หน้า 218.
    • วีระ สุดสังข์. "ชาวกวย-ชาวเขมร รำตำตะ-เล่นตร๊ด ที่ศรีสะเกษ", เมืองโบราณ 26(1)(มกราคม-มีนาคม 2543):121.
  16. "ក្រោម", Dictionary of Old Khmer. SEALANG Projects. cited in Phillip Jenner's Dictionary of Pre-Angkorian Khmer and Dictionary of Angkorian Khmer (Pacific Linguistics, 2009).
  17. คติธรรม สิงคเสลิต. (2561). ภาษาเขมรเมืองสุรินทร์ (eBook). [ม.ป.ท.]: [ม.ป.พ.]. หน้า 49.
    • สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล. (2551). ๓๐ ปราสาทขอม ในเมืองพระนคร. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. หน้า 65. ISBN 978-974-7-38531-1
  18. "ខ្មែរ", Dictionary of Old Khmer. SEALANG Projects. cited in Phillip Jenner's Dictionary of Pre-Angkorian Khmer and Dictionary of Angkorian Khmer (Pacific Linguistics, 2009).
  19. กรมศิลปากร. (2565). "“เกฺมร” รูปเขียนของคำาว่า “เขมร” ในศิลาจารึกเขมรโบราณสมัยก่อนเมืองพระนคร", แถลงงานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยพุทธศักราช ๒๕๖๔. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. หน้า 134-135. ISBN 978-616-283-618-3
  20. 20.0 20.1 20.2 กระทรวงมหาดไทย. (2509). พระแสงราชศัสตรา. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก มังกร พรหมโยธี ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๙. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. 172 หน้า.
  21. พระราชพงสาวดารกรุงเก่า (ฉบับหลวงประเสิด). เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงสพ พันเอก พร้อม มิตรภักดี (พระยานรินทร์ราชเสนี). พระนคร: บริสัทการพิมพ์ไทย. หน้า 21.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 เอมอร เชาวร์สวน, สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. "คำว่าขอมในจารึกสุโขทัย อยุธยา และล้านนา", นิตยสารศิลปากร, 66(3)(พฤษภาคม-มิถุนายน 2566).
  23. กรรณิการ์ วิมลเกษม. (2552). ตําราเรียนอักษรไทยโบราณ อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน. นครปฐม: ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 324. ISBN 978-974-6-41252-0
    • สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี. (2510). "อธิบายภาษาขอมเทียบภาษาเขมร", ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา ภาค 1. กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี. หน้า 47.
    • กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ. (2529). จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓: อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 13.
    • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2534). สารานุกรมสุโขทัยศึกษา เล่ม 1. นนทบุรี: โครงการศูนย์สุโขทัยศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า 10. ISBN 978-974-6-14936-5
    • ชวลิต อังวิทยาธร. (2538). เงินตรานโม: เงินตราโบราณภาคใต้ 1. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. หน้า 57. ISBN 974-736-741-6
    • ธิดา สาระยา. (2537). รัฐโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กําเนิดและพัฒนาการ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. หน้า 261.
    • วิทยาลัยครูบุรีรัมย์. (2537). สมบัติอีสานใต้ 6(27–29 ธันวาคม 2537):60.
  24. ธิดา สาระยา. (2552). อารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. หน้า 266. ISBN 978-974-7-38540-3
    • ธิดา สาระยา. (2545). อารยธรรม-วัฒนธรรมในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 200. ISBN 978-974-1-31685-4
  25. เทพ สุนทรศารทูล. (2533). ชีวประวัติ พระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์). กรุงเทพ: พระนารายณ์. 225 หน้า. ISBN 978-974-5-75133-0. หน้า 19.
    • ศิลปวัฒนธรรม, 23(7), (2545): 22.
  26. กรมศิลปากร, กรมกองโบราณคดี. (2518). ตำราเรียนอักษรโบราณของ อ.สวัสดิ์ วิเศษวงษ์. กรุงเทพฯ: วงศ์สว่างการพิมพ์. 110 หน้า.
  27. สารคดี: โยเดีย ที่คิด (ไม่) ถึง จารึกปริศนาภาษาไทยก่อนสมัยสุโขทัย. Thai PBS.
  28. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และคณะ. (2546). สิทธิชุมชนท้องถิ่นพื้นเมืองดั้งเดิม ล้านนา: กรณีศึกษาชุมชนลัวะ ลื้อ ปกาเกอญอ (กระเหรี่ยง) ในจังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่. กรุงเทพฯ: นิติธรรม. 440 หน้า. หน้า 282. ISBN 974-203-218-1
  29. กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ. (2529). จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔ : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์. หน้า 13. ISBN 974-7920-74-3
  30. เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2530). อักษรไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล. 144 หน้า.
  31. 31.0 31.1 สุทัศน์ สิริสวย. (2509). พระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหงในการก่อตั้งสถาบันการปกครองของชาติไทย. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรุงเทพฯ. NIDA Wisdom Repository: http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/1168. 141 หน้า.
  32. หอพระสมุดวชิรญาณ. (2467). วยาการศตกม หรือ สุภาษิตร้อยบท. นางประเพณีวินิจฉัย แลขุนอนัคฆานุบาล กับสวิง เสริมประเสริญ พิมพ์ในงารศพสนองคุณ นางบุญรอด เสริมประเสริญ ผู้มารดา เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
  33. เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2562). แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. หน้า 190. ISBN 978-616-4-41530-0
  34. 34.0 34.1 กรรณิการ์ วิมลเกษม. (2552). ตําราเรียนอักษรไทยโบราณ อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน. หน้า 14. ISBN 978-974-6-41252-0
  35. ชัยวุฒิ พิยะกูล, สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. (2550). การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ประเภทหนังสือบุด เรื่อง ตําราพระเพลาวัดบางแก้ว. สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. หน้า 4.
    • วารสารวัฒนธรรมไทย 25(2529):45.
  36. กรมศิลปากร. วารสารศิลปากร, 20(1-2)(2519):134–145. ISSN 0125-0531
  37. กรมศิลปากร, กองโบราณคดี. (2531). ตํานานและนิทานพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 19. ISBN 978-974-7-93634-6
  38. 38.0 38.1 วินัย ผู้นำพล ขมลศิษฐ์ เดชกำธร และโสพล ช่วยสุก. (2552). วัฒนธรรมผสมในศิลปกรรมสยาม. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์. หน้า 348. ISBN 978-974-6-41261-2
  39. อนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), พระยา. (2533). งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดสุภาษิต เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว. หน้า 135. ISBN 974-417-136-7
    • ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ. (2004). วรรณกรรมบาลีและฉบับแปล ในภาคกลางและภาคเหนือของสยาม (Pali and vernacular literature transmitted in Central and Northern Siam). กรุงเทพฯ: Lumbini International Research Institute และ The Fragile Palm Leaves Foundation. หน้า. 102-103. ISBN 978-974-1-33150-5
  40. กรมศิลปากร. วารสารศิลปากร, 35(2535):60. * มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย. วารสารช่อฟ้า, 25(7)(2533):38.
  41. 41.0 41.1 ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑(ต่อ)-๖๒) พงศาวดารเมืองเงินยาง (ต่อ) เชียงแสน ว่าด้วยเรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2512.
  42. ธรรมทาส พานิช. (2515). พนม ทวารวดี ศรีวิชัย. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. หน้า 152.* ธรรมทาส พานิช. (2533). นิพพานธรรม ในประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา. หน้า 214. ISBN 978-974-8-56914-7
  43. 43.0 43.1 ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. (2516). พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค). (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: คลังวิทยา
  44. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2556, 26 สิงหาคม). ขอมดำดิน. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567. อ้างใน บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
  45. กรมศิลปากร, สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. (2554). งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทย-ญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 33. ISBN 978-974-4-25064-3
    • ชลิต ชัยครรชิต. (2534). ขอนแก่น: ภูมิหลังบ้านเมืองตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงพุทธศตวรรษที่ 19. ขอนแก่น: ศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. หน้า 90–91. ISBN 978-974-5-55853-3
  46. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2512). โบราณคดีนครราชสีมา. พระนคร: กรุงสยามการพิมพ์. หน้า 218.
  47. อุดม รุ่งเรืองศรี. (2547). พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 80.
    • ศิรินันท์ บุญศิริ (อักษรศาสตร์ ๘ ว.), กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. "เกร็ดความรู้จากการตรวจสอบชำระประชุมพงศาวดาร ปัญหาเรื่องศักราชและวันเดือนปีทางจันทรคติ", วารสารศิลปากร, 44(5)(กันยายน-ตุลาคม 2544):100.
  48. ชัยสิทธิ์ ปะนันวงค์. (2559). การศึกษาวิเคราะห์จารึกที่ฐานพระพุทธรูป พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุศรีดอนคํา อําเภอลอง จังหวัดแพร่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (จารึกศึกษา) มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 111-112.
  49. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2507). ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒-๒๕). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 74.
  50. เยาวชนไทยกับขแมร์ ร่วมเมิลขแมร์แลไทย ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2558
  51. "ผลงานบางส่วนของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2008-07-21.
  52. ขอม กับ เขมร เทียบเคียงคำว่าสยามกับไทยรี มติชนออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2565
  53. 53.0 53.1 ศานติ ภักดีคำ. (2563). นครวัดทัศนะสยาม (eBook). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 34-35. ISBN 978-974-0-21712-1
    • ศานติ ภักดีคำ. (2554). เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 92. ISBN 978-974-0-20810-5
  54. บริหารเทพธานี (เฉลิม), พระ. (2508). พงศาวดารชาติไทย ความเป็นมาของชาติตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์. รวบรวมโดย พระบริหารเทพธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ลพบุรี ตราด และข้าหลวงประจำจังหวัดนนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (รวม ๒ เล่มจบบริบูรณ์)]. พระนคร: สำนักงาน ส.ธรรมภักดี. หน้า 133
  55. กำพล จำปาพันธ์. "เครื่องทองอยุธยา เจ้าสามพระยา และโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์", ศิลปวัฒนธรรม 44(6)(เมษายน 2566):83, เชิงอรรค ๑๖. อ้างใน คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546. หน้า 6–7.
    • สมบัติ พลายน้อย. (2515). เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย เล่ม 2. กรุงเทพฯ: โบราณสาส์น. หน้า 14.
    • ฉวีงาม มาเจริญ. (2528). พระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 30. ISBN 978-974-7-92530-2
    • ธรรมทาส พานิช. (2533). นิพพานธรรมในประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา. หน้า 40.
    • มารอาคเนย์. (2566). ภูตหมอกควัน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: พบสันต์ รุกขรังสฤษฏ์. หน้า 159. (เชิงอรรถท้ายหน้า). ISBN 9786165989268
    • ธรรมทาส พานิช. (2541). ประวัติศาสตร์ไชยา-นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: ธรรมทานมูลนิธิ. หน้า 76.
  56. 56.0 56.1 ธรรมทาส พานิช. (2533). นิพพานธรรมในประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา. หน้า 40. "พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็กษัตริย์ขอม (มารดาเป็นเขมร) เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๔๓๒-๑๔๔๓ พระองค์สามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงไว้ เป็นปึกแผ่นในเมืองพระนคร"
    • ธรรมทาส พานิช, มูลนิธิธรรมทาน. (2542). "พระปทุมสุริยวงศ์องค์ที่ได้พระแก้วมรกตไปไว้ท่านเป็นขอมมีวัฒนธรรมไทยแบบไศเลนทร์", วัฒนธรรมพุทธศาสนาของชาวไทยในตํานานพระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา. หน้า 155. ISBN 978-974-8-66851-2