ข้ามไปเนื้อหา

กำแพงเมืองเชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำแพงเมืองเชียงใหม่
ชื่ออื่นกำแพงเวียงเชียงใหม่
ที่ตั้งตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
ประเภทระบบป้อมปราการ
ความกว้าง6.54 กิโลเมตร
ความเป็นมา
ผู้สร้างพญามังราย
วัสดุอิฐ
สร้างพ.ศ. 1839
ละทิ้งพ.ศ. 2491
สมัยล้านนา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
สภาพซากเหลือจากการรื้อถอน
ผู้บริหารจัดการเทศบาลนครเชียงใหม่
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนกำแพงเมืองเชียงใหม่
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงและคูเมืองเชียงใหม่
เลขอ้างอิง0003557
แผนผังแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่

กำแพงเมืองเชียงใหม่ หรือ กำแพงเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันหมายถึงกำแพงเมืองชั้นในของเวียงเชียงใหม่ (ในขณะที่กำแพงเมืองชั้นนอกคือแนวกำแพงดิน) สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นเมืองหลวงของล้านนา โดยขั้นแรกได้ขุดคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร และนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนั้นขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง เดิมประตูเมืองทั้งชั้นนอกชั้นในหนึ่งประตูก็ทำเป็นสองชั้น บานประตูวางเยื้องกัน เพื่อป้องกันข้าศึกเอาปืนใหญ่ยิงกรอกประตูเมือง ปัจจุบันถูกรื้อหมดแล้ว

กำแพงด้านทิศเหนือ มีความยาวมากที่สุด วัดได้ประมาณ 1.67 กิโลเมตร รองลงมาเป็นกำแพงด้านทิศใต้ วัดได้ 1.63 กิโลเมตร ส่วนกำแพงด้านทิศตะวันออกมีความยาวเท่ากับทิศตะวันตก คือ 1.62 กิโลเมตร

หลังจากที่เชียงใหม่ได้รับอิสรภาพจากพม่า เจ้ากาวิละได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์แรก ก็โปรดให้บูรณะกำแพงเมืองเป็นครั้งใหญ่ เป็นกำแพงอิฐที่มีความมั่นคงทนทาน และบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2361 ในรัชสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2[1]

ในสมัยมณฑลลาวเฉียง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยถวายความเห็นในการรื้อกำแพงเมืองเชียงใหม่ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ว่า "...เห็นว่าที่จะเอาตัวอย่างที่รื้อกำแพงพระนครกรุงเทพฯ ไปรื้อกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นไม่ควร กรุงเทพฯ เพราะบ้านเมืองเบียดเสียดเยียดยัด ต้องรื้อกำแพงขยายเป็นถนนหนทาง แลจัดบ้านเมืองให้เรียบร้อย เหตุเช่นนี้ไม่มีในเมืองเชียงใหม่ เปนแต่จะรื้อเสียโดยเห็นว่าเปนของเก่ารุงรังเปลืองแรง ไม่คุ้มค่าที่ได้อิฐหัก ๆ มาใช้สอย เห็นว่าเอาไว้ดูเล่นเปนของโบราณดีกว่า..."

ในปี พ.ศ. 2491 เนื่องจากกำแพงเมืองเชียงใหม่มีสภาพทรุดโทรมลงอย่างมาก และบางแห่งก็พังเป็นซากปรักหักพัง ทั้งยังมีวัชพืชขึ้นเป็นการรกอย่างมาก อีกทั้งยังบดบังทัศนียภาพของคนที่อยู่นอกกำแพงเมือง ทางเทศบาลนครเชียงใหม่จึงได้เริ่มรื้อกำแพงออก เพื่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคมในตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนอิฐจากกำแพงเมืองที่ถูกรื้อนั้นได้ถูกนำไปสร้างรั้วของค่ายกาวิละ

กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ. 2478[2]

ประตูเมืองเชียงใหม่[แก้]

ประตูท่าแพ

เดิมกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นมีสองชั้น ได้แก่กำแพงชั้นนอก ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดถึงปีสร้างและผู้สร้าง และกำแพงชั้นในซึ่งสร้างขึ้นมาในสมัยพญามังราย

ประตูเมืองชั้นใน[แก้]

โดยประตูเมืองในปัจจุบันจะเป็นประตูเมืองของกำแพงชั้นในซึ่งมีประตูทั้งหมด 5 ประตู ได้แก่

  • ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น
  • ประตูเชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้
  • ประตูท่าแพ เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้ มีบ้านเชียงเรือกตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง เดิมบ้านเชียงเรือกเป็นชุมชนค้าขายเพราะเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ซึ่งมีหลักฐานกล่าวถึงสมัยพญาแก้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงเรือกมีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416 – 2440) ชื่อประตูเชียงเรือก เปลี่ยนมาเป็นประตูท่าแพชั้นในเพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่
  • ประตูสวนดอก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญามังราย
  • ประตูแสนปุง หรือ ประตูสวนปรุง เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคารขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ส่วนชื่อ แสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่มีเตาปุง (เตาไฟ) มากมาย เพราะด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะจึงมีเตาปุงไว้หลอมโลหะจำนวนมากเปรียบนับแสน ปัจจุบันยังมีบ้านช่างหล่อพระพุทธรูปอาศัยอยู่ และถนนเลียบคูเมืองด้านนี้ชื่อถนนช่างหล่อจากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่ถือเป็นเขตกาลกิณีจึงกำหนดให้ประตูแสนปุงเป็นทางออกไปสุสาน เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

ประตูเมืองชั้นนอก[แก้]

เป็นประตูของกำแพงเมืองชั้นนอก มีทั้งหมด 4 ประตู ได้แก่

  • ประตูท่าแพ อยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองบริเวณหน้าวัดแสนฝาง ที่ชื่อท่าแพ เพราะเป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เรียกชื่อประตูนี้ว่า ประตูท่าแพชั้นนอก เพราะความเจริญเติบโตของเมืองชื่อของประตูท่าแพชั้นนอกจึงค่อย ๆ หายไป ประตูท่าแพจึงเหลือเพียงประตูเดียว
  • ประตูหล่ายแกง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึง ประตูนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2313 เมื่อกองทัพธนบุรียกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ที่ชื่อหล่ายแคง เพราะบริเวณริมคูเมืองมีลักษณะลาดเท ในสมัยต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น ประตูระแกง
  • ประตูขัวก้อม อยู่ทางทิศใต้ ปรากฏในหลักฐานโคลงมังทรารบเชียงใหม่ว่าสร้างขึ้นอย่างน้อยในปี พ.ศ. 2158
  • ประตูไหยา (ประตูหายยา) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตำนานสิบห้าราชวงศ์ กล่าวถึงประตูไหยาเป็นครั้งแรกว่า " อยูบ่นานเท่าใด เทพสิงห์ยอเสิก็ (ศึก) เข้ามาคุมเวียง ลวดได้ ประตูไหยา"

แจ่งเมืองเชียงใหม่[แก้]

กำแพงเมืองเชียงใหม่มีแจ่ง (มุม) 4 แจ่ง ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองในอดีต ได้แก่

  • แจ่งศรีภูมิ เดิมชื่อ แจ่งสะหลีภูมิ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มาของชื่อหมายถึง ศรีแห่งเมือง ถือเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่ เชื่อมต่อถนนอัษฏาธร ออกไปยังตลาดคำเที่ยง และถนนวิชยานนท์ ออกไปยังตลาดเมืองใหม่, เจดีย์ขาว
  • แจ่งก๊ะต้ำ หรือ แจ่งขะต๊ำ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อหมายถึง กับดัก เป็นเครื่องจับปลาชนิดหนึ่ง เพราะมุมด้านนี้อยู่ต่ำสุดมีปลาชุกชุม จึงมีผู้คนมาดักปลาโดยใช้ ขะต๊ำเชื่อมต่อถนนศรีดอนชัย ออกไปยังไนท์บาร์ซ่า, ขัว(สะพาน)เหล็ก, ถนนช้างคลาน
  • แจ่งกู่เฮือง เป็นแจ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นที่เก็บอัฐิของ อ้ายเฮือง ผู้คุมของแจ่งนี้
  • แจ่งหัวลิน เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นจุดรับน้ำจากห้วยแก้ว (ดอยสุเทพ) ผ่านราง (ลิน) ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำประปาแบบโบราณ เชื่อมต่อถนนสุเทพ ออกไปยังดอยสุเทพ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สวนสัตว์เชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมี แจ่งหายยา (บ้างก็เรียกแจ่งทิพเนตร) ซึ่งเป็นแจ่งของกำแพงเมืองชั้นนอกหลงเหลืออยู่และมีสภาพดีมาก เป็นแจ่งที่ก่อด้วยอิฐมีลักษณะเป็นป้อมอย่างแจ่งกู่เฮือง ตั้งอยู่ทางใต้จากแจ่งกู่เฮืองราว 600 เมตร

คูเมืองเชียงใหม่[แก้]

คูเมืองเชียงใหม่ อดีตเป็นคูเมืองที่ใช้ป้องกันข้าศึก และยังเป็นแหล่งประมงและแหล่งน้ำสำหรับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งน้ำในคูเมืองเป็นน้ำที่รับมาจากดอยสุเทพ

ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีกำแพงเมืองแล้ว จึงเรียกแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่นี้อย่างเป็นทางการว่า "คูเมือง" ซึ่งคูเมืองเชียงใหม่ เป็นคูน้ำความกว้างราว 13 เมตร (อดีตเคยกว้างสูงสุด 25 เมตร) ลึกสุด 4 เมตร ตลอดคูเมืองจะมีน้ำพุ และจุดกลับรถกั้นเป็นระยะ ๆ การจราจร รอบนอกเป็นแบบวิ่งรถทางเดียวตามเข็มนาฬิกา ส่วนรอบในวิ่งรถทางเดียวทวนเข็มนาฬิกา อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครเชียงใหม่

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่, บรรณาธิการ, เจ้าหลวงเชียงใหม่, 2539, เชียงใหม่ : คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่
  2. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ