ข้ามไปเนื้อหา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
Korat Museum
แผนที่
ก่อตั้งพ.ศ. 2523
ที่ตั้งอาคาร 10 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
พิกัดภูมิศาสตร์14°59′02″N 102°06′50″E / 14.98375°N 102.1140°E / 14.98375; 102.1140
ผู้อำนวยการผศ.ดร.ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์
ภัณฑารักษ์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา (อังกฤษ: Korat Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ ณ อาคาร 10 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557

ประวัติ

[แก้]

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้มีการพัฒนามาจาก “หอวัฒนธรรมนครราชสีมา” เมื่อ พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ยังเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยมีว่าที่ ร.ต. ถาวร สุบงกช เป็นหัวหน้าศูนย์ในขณะนั้น โดยใช้ห้อง 514-515 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและสิ่งอื่นๆ ที่ได้รับจากการบริจาคและขอซื้อเพิ่มเติมจนถึงปี พ.ศ. 2529 ได้ย้ายหอวัฒนธรรมไปอยู่ที่ อาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารไม้ดั้งเดิมของสถาบัน

จากนั้น พ.ศ. 2538 ได้มีการเคลื่อนย้าย อาคาร 1 และอาคาร 2 (โดยวิธีการดีดและเคลื่อนย้ายโดยรางรถไฟ) ไปยุบรวมอาคารทั้งสองและให้หมายเลขอาคารว่าอาคาร 1 ซึ่งหอวัฒนธรรม ก็ได้ย้ายไปตั้ง ณ อาคาร 1 ด้วย เช่นกัน

พ.ศ. 2555 ได้มีการรื้อถอนอาคาร 1 เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์รวมกิจการนักศึกษาและหอประชุมนานาชาติ ดังนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หอวัฒนธรรมจึงได้ถูกรื้อถอนอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. 2556 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 4.5 ล้านบาท เพื่อให้อาจารย์วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักฯ ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างนิทรรศการ ณ อาคาร 10 ซึ่งเป็นอาคารเดิมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 รวมเวลากว่า 40 ปี โดยได้ปรับปรุงบทและเนื้อหาการจัดแสดงโดยใช้รูปแบบเดิมที่เคยจัดแสดง ณ อาคาร 1 มาเป็นฐาน โดยต่อยอดการพัฒนาโดยเน้นความเชื่อมโยงของเรื่องราวร่วมกับโบราณวัตถุที่จัดแสดง และพัฒนาเนื้อหาในส่วนของความเจริญของจังหวัดนครราชสีมาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นพัฒนาการของจังหวัดนครราชสีมาที่มีเป็นมาอย่างยาวนาน โดยใช้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา” ภายใต้แนวคิด "บรรยากาศย้อนอดีต เพลินพินิจนครราชสีมา" ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ในสมัยการบริหารของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักฯ คนปัจจุบัน

พ.ศ. 2558 พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ 1 ใน 60 แหล่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

พ.ศ. 2559 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูนครราชสีมา ดำเนินการจัดสร้างเรือนโคราช ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาซุมโคราช ได้รับสนับสนุนงบประมาณสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยมี ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์เป็นประธาน และมีผศ.นฤมล ปิยวิทย์ เป็นผู้ัดำเนินการหลัก

พ.ศ. 2561 เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์

พื้นที่จัดแสดง

[แก้]

แบ่งหัวข้อการจัดแสดงออกเป็น 7 ห้อง ดังนี้

  1. ต้นกำเนิดอารยธรรม
  2. สมัยทวารวดี
  3. สมัยลพบุรี
  4. สมัยอยุธยา
  5. สมัยรัตนโกสินทร์
  6. มหานครแห่งอีสาน
  7. ของดีโคราช (นิทรรศการหมุนเวียน)

ห้องต้นกำเนิดอารยธรรม

[แก้]
ห้องต้นกำเนิดอารยธรรม

เป็นส่วนนำเสนอเนื้อหาในการค้นพบมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมีประวัติศาสตร์อายุสมัยไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี หลายแหล่ง สามารถฉายภาพอดีตให้เห็นว่าบรรพบุรุษในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการดำรงชีวิตอย่างไรบ้าง รวมถึงให้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมโบราณคดีจึงศึกษาวิจัย ณ ลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น เป็นจำนวนมาก”

ห้องสมัยทวารวดี

[แก้]
ห้องสมัยทวารวดี

นำเสนอเนื้อหาถึงชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ เมืองเสมา ราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย คือนำศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงาย เหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่างๆ ให้กับศพซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แทนที่จะปลงศพด้วยการเผาตามแบบศาสนาพุทธ

ห้องสมัยลพบุรี

[แก้]
ห้องสมัยลพบุรี

นำเสนอเนื้อหาถึงวัฒนธรรมขอมที่ได้แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสาน ส่งผลต่อความความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมทางความเชื่อ ซึ่งสะท้อนอยู่ในโบราณสถานที่ได้รับแบบอย่างจากวัฒนธรรมขอมที่สำคัญ ได้แก่ แบบแผนการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าบาราย ศาสนสถานขนาดใหญ่ในรูปแบบปราสาทหิน เครื่องปั้นดินเผาแบบขอม เป็นต้น

ห้องสมัยอยุธยา

ห้องสมัยอยุธยา

[แก้]

นำเสนอเนื้อหาในส่วนของการก่อตั้ง "เมืองนครราชสีมา" ซึ่งเริ่มต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีฐานะเป็นเมืองชั้นโท มีบทบาทสำคัญในการเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร) ลาว ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้ได้มีการสร้างป้อมปราการให้มั่นคงแบบฝรั่ง และส่งเจ้านายผู้ใกล้ชิดมาปกครองเมือง โดยได้นำรูปแบบการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังคงหลงเหลือปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

ห้องสมัยรัตนโกสินทร์

[แก้]
ห้องสมัยรัตนโกสินทร์

นำเสนอเนื้อหาของเมืองนครราชสีมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองเอก ส่วนการดำรงชีวิตของชาวโคราชในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นถือว่าไม่ต่างจากในสมัยอยุธยามากนัก เนื่องจากการเดินทางไปเมืองหลวงยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ในด้านทำเลที่ตั้งนครราชสีมายังเป็นเมืองที่คอยสกัดกั้นการรุกรานจากข้าศึกในด้านภาคอีสานจนเกิดวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ของคุณหญิงโมซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นท้าวสุรนารีในภายหลัง

ห้องมหานครแห่งอีสาน

[แก้]

นำเสนอเนื้อหาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีการปฏิรูปการปกครองจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล และยังใช้เมืองนครราชสีมาเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางทหาร ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นตัวอย่างของการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางได้อย่างผสมกลมกลืนกันในทางสังคมและทางวัฒนธรรมของชาวกรุงเทพฯและชาวอีสานอีกด้วย

และในส่วนนี้ยังนำเสนอเนื้อหาในการจัดสร้างสนามกีฬาเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 333 ปีเมืองนครราชสีมา ในปี 2547 และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และอาเซียนพาราเกมส์ ในปี 2550-2551นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เมืองนครราชสีมาพัฒนาไปสู่การเป็นมหานครแห่งการกีฬา

ห้องของดีเมืองโคราช

[แก้]

ได้นำเสนอเนื้อหาในส่วนของดีโคราชที่มีอย่างมากมาย โดยเฉพาะในคำขวัญเก่าของจังหวัด คือ “โคราชลือเลื่อง เมืองก่อนเก่า นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก” และได้คัดเลือกบางส่วนมาจัดแสดงเพื่อนำเสนอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักว่าโคราชมีของดีอีกมากมายที่ได้รับการกล่าวขวัญในอดีต ทั้งมวยโคราช ผ้าหางกระรอก รถสามล้อถีบ รำโทนโคราช และเพลงโคราช และนอกจากนี้ยังได้รองรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียนอีกด้วย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]