ปลามูนฟิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลามูนฟิช
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Lampriformes
วงศ์: Lampridae
สกุล: Lampris
สปีชีส์: L.  guttatus
ชื่อทวินาม
Lampris guttatus
(Brünnich, 1788[1])
ชื่อพ้อง
  • Lampris immaculata (Gilchrist, 1904)
  • Lampris lauta (Lowe, 1838)
  • Lampris luna (Gmelin, 1789)
  • Lampris regius (Bonnaterre, 1788)
  • Scomber gunneri (Bloch & Schneider, 1801)
  • Scomber pelagicus (Gunnerus, 1768)
  • Zeus guttatus (Brünnich, 1788)
  • Zeus imperialis (Shaw, 1793)
  • Zeus luna (Gmelin, 1789)
  • Zeus regius (Bonnaterre, 1788)
  • Zeus stroemii (Walbaum, 1792)

ปลามูนฟิช หรือ ปลาพระจันทร์ หรือ ปลาโอปาห์[1] (อังกฤษ: Moon fish, Opah; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lampris guttatus) ปลาทะเลกระดูกแข็งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลามูนฟิช (Lampridae)

โดยถือเป็นปลาหนึ่งในสองชนิดที่ยังคงเหลือเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบันของวงศ์นี้[1] ซึ่งถือเป็นปลาที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคปลายสมัยไมโอซีนมาจนถึงปัจจุบัน[2]

ปลามูนฟิช หรือ ปลาพระจันทร์ มีรูปร่างกลมแป้น แบนข้างมากเหมือนปลาจะละเม็ด กอรปกับตามผิวหนังจะมีจุดกลมสีขาวที่เมื่อสะท้อนกับแสงเมื่ออยู่ใต้น้ำแล้วจะมีความแวววาวดุจแสงจันทร์ จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญ[3] ครีบทุกครีบเป็นสีแดงสด มีขนาดใหญ่สุดได้ถึง 2 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 270 กิโลกรัม แต่ขนาดโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักประมาณ 40–80 กิโลกรัม[3]

ปลามูนฟิช เป็นปลาน้ำลึกในระดับความลึกของน้ำประมาณ 300–1,500 เมตร โดยพบในมหาสมุทรและทะเลเปิดเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก ได้ชื่อว่าเป็นปลาน้ำลึกที่มีสีสันสวยงามที่สุด หากินในเวลากลางคืน โดยกินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร[4] ด้วยเป็นปลาที่มีปากเล็กและไม่มีฟัน ปกติจะอาศัยอยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว แต่บางครั้งจะรวมฝูงไปกับปลาทูน่าและปลาในวงศ์ปลาอินทรีตัวอื่น ๆ ด้วย เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เชื่องช้า โดยว่ายน้ำได้เพียง 25 เซนติเมตร/วินาที และมีรายงานว่าว่ายน้ำได้เร็วที่สุดประมาณ 4 เมตร/วินาที[5] นอกจากนี้แล้ว ยังถือเป็นสัตว์เลือดอุ่น โดยสามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นกว่าสภาพแวดล้อมใต้น้ำประมาณ 5 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังมีเส้นเลือดบริเวณเนื้อเยื่อของเหงือก อยู่ในรูปแบบที่ทำให้เลือดเย็นจากบริเวณเหงือกไปสัมผัสเข้ากับเส้นเลือดอุ่นที่วิ่งสวนทางกันและด้วยกระบวนการนี้ทำให้เลือดที่ออกมาเป็นเลือดอุ่นโดยสามารถเพิ่มอุณหภูมิของหัวใจได้ ซึ่งช่วยทำให้สามารถว่ายลงไปได้ลึกกว่าปลาทั่วไปและอยู่ใต้ทะเลลึกได้นานกว่า [6]

ปลามูนฟิชที่อิตาลี

จัดเป็นปลาหายาก และเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เนื้อแน่นสีแดงสด มีรสชาติอร่อย และอุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร คือ โอเมกา 3, โปรตีน, ไนอาซิน, วิตามินบี 6, วิตามินบี 12 แต่มีโซเดียมต่ำ และปลาทั้งตัวจะมีส่วนที่รับประทานได้เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นส่วนที่เนื้อที่แข็งและก้าง

เป็นปลาราคาแพง ราคาขายกันในประเทศไทยตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 2,500 บาท โดยปลาส่วนมากที่จำหน่ายในประเทศไทยจะถูกนำเข้ามาจากนิวซีแลนด์[3][7]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Lampris guttatus (Brünnich, 1788)". itis. สืบค้นเมื่อ 27 July 2014.
  2. Sepkoski, Jack (2002). "A compendium of fossil marine animal genera". Bulletins of American Paleontology. 364: 560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-20. สืบค้นเมื่อ 2008-01-08.
  3. 3.0 3.1 3.2 "เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย 16 ก ค 57". ช่อง 7. 16 July 2014. สืบค้นเมื่อ 27 July 2014.
  4. "Family Lampridae". marinelifephotography.com. สืบค้นเมื่อ 27 July 2014.
  5. Polovina, Jeffrey J.; Hawn, Donald; Abecassis, Melanie (2008). "Vertical movement and habitat of opah (Lampris guttatus) in the central North Pacific recorded with pop-up archival tags". Marine Biology. 153 (3): 257–267. doi:10.1007/s00227-007-0801-2. ISSN 0025-3162.
  6. "รู้จัก ′โอปาห์′ ปลาเลือดอุ่นชนิดแรกของโลก". มติชนออนไลน์. 18 May 2015. สืบค้นเมื่อ 23 May 2015.
  7. "ยอดของอร่อยแพงระยับฉบับต่างแดน". คมชัดลึก. 21 June 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-01. สืบค้นเมื่อ 27 July 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lampris guttatus ที่วิกิสปีชีส์