ผักตบชวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Eichhornia crassipes)
ผักตบชวา
ผักตบชวา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Liliopsida
ชั้น: Commelinidae
อันดับ: Commelinales
วงศ์: Pontederiaceae
สกุล: Eichhornia
สปีชีส์: E.  crassipes
ชื่อทวินาม
Eichhornia crassipes
(Mart.) Solms
ชื่อพ้อง

ผักตบชวา เป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู สามารถอยู่ได้ทุกสภาพน้ำ มีถิ่นกำเนิดในแถบลุ่มน้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นดังนี้: ผักปอด, สวะ, ผักโรค, ผักตบชวา, ผักยะวา, ผักอีโยก, ผักป่อง หรือ บัวลอย (พายัพ)

ประวัติ[แก้]

ผักตบชวาถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาจากเกาะชวาในฐานะเป็นไม้ประดับสวยงาม โดยขณะเสด็จประพาสหมู่เกาะอินเดียตะวันออกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2439 สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกำนัล ตลอดจนเจ้านายฝ่ายในของสุลต่านเกาะชวาได้ใช้ดอกของพืชชนิดนี้ทัดหู มีความสวยงามของสีม่วงอมฟ้าพร้อมกับมีดอกที่ใหญ่ จึงได้มีรับสั่งให้เก็บผักตบชวาจำนวน 3 เข่ง เพื่อนำมาปลูกไว้ในประเทศไทย พร้อมกับนำน้ำจากพื้นถิ่นกลับมาด้วยจำนวน 10 ปี๊บ เพื่อไม่ให้ผักตบชวาผิดน้ำ โดยขณะนั้นผักตบชวาก็เพิ่งถูกนำเข้าไปในเกาะชวาจากเนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคม โดยแรกเริ่มใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม ผักตบชวาก็เจริญเติบโตงอกงามอย่างมากมาย ถึงแม้จะเปลี่ยนน้ำแล้วก็เติบโตได้ดีจนออกดอกเพียงระยะเวลาแค่ 1 เดือน และได้ทรงพระราชทานหน่อให้เจ้านายพระองค์อื่นและบรรดาข้าราชบริพารนำไปปลูกด้วย เพียงแค่ 6 เดือน ผักตบชวาก็แพร่กระจายพันธุ์จนเต็มวังสระปทุม ต้องนำไปปล่อยทิ้งไว้ที่คลองสามเสนหลังวัง พร้อมกับคลองอื่น ๆ เช่น คลองเปรมประชากร, คลองผดุงกรุงเกษม ในระยะแรกประชาชนชาวไทยก็ได้ใช้ดอกของผักตบชวามาทัดหูเพื่อความสวยงามบ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เสื่อมความนิยมลง เหตุเพราะการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว[2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ก้านใบผักตบชวา

ผักตบชวามีลำต้นสั้นแตกใบเป็นกอลอยไปตามน้ำ มีไหล ซึ่งเกิดตามซอกใบแล้วเจริญเป็นต้นอ่อนที่ปลายไหล ถ้าน้ำตื้นก็จะหยั่งรากลงดิน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่หรือเกือบกลม ก้านใบกลมอวบน้ำตรงกลางพองออกภายในเป็นช่องอากาศคล้ายฟองน้ำช่วยให้ลอยน้ำได้ ดอกเกิดเป็นช่อที่ปลายยอดมีดอกย่อย 3–25 ดอก สีม่วงอ่อน มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบบนสุดขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ และมีจุดเหลืองที่กลางกลีบ ขยายพันธุ์โดยการแยกต้นอ่อนที่ปลายไหลไปปลูก

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น[แก้]

ผักตบชวาที่ขึ้นในแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร

ผักตบชวาจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่ระบาดรุกรานจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศในประเทศไทย มีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ใน 1 เดือนผักตบชวาเพียง 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น ถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตายแต่เมล็ดของมันก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปีและทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอมันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป[3] จนกลายเป็นปัญหาทางน้ำและทวีความรุนแรงจนเป็นปัญหาระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น อีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน เว้นแต่ประเทศในแถบยุโรปเท่านั้นที่ปลอดการรบกวน และบริเวณที่ถูกผักตบชวาคุกคามมากที่สุดคือ ทะเลสาบวิกตอเรีย

ประเทศไทยเริ่มมีการกำจัดผักตบชวามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456[4] ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือในการกำจัด เช่น นำไปผลิตเป็นของใช้ อาหารสัตว์ ทำปุ๋ย ฯลฯ และมีการนำแมลงมวนผักตบจากแหล่งกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ เข้ามาทดลองปล่อยในประเทศไทย เพื่อควบคุมจำนวนประชากรของผักตบชวา

ผักตบชวาเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจึงมีปริมาณมากในช่วงนั้น สารเคมีที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก ปุ๋ย เป็นธาตุอาหารของพืชน้ำโดยเฉพาะผักตบชวาเป็นอย่างดี แพผักตบชวาจะกีดขวางการเดินทางของน้ำ อัตราการไหลของน้ำจึงลดลง กีดขวางการระบายน้ำของประตูน้ำ อีกทั้งยังทำให้ระบบนิเวศเสียหาย แม้ผักตบชวาจะสามารถดูดซึมธาตุอาหารที่เป็นตัวการทำให้น้ำเสีย แต่เมื่อมีปริมาณมากเกินไปจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ กล่าวคือ สัตว์ใต้น้ำจะขาดออกซิเจนและตายลง รวมถึงการบดบังแสงแดดที่เป็นส่วนหนึ่งของการสังเคราะห์แสงของพืชใต้น้ำจะทำให้พืชเหล่านั้นเน่าและตายไป ดังนั้นจึงเกิดน้ำเน่าเสียอย่างง่ายดาย[5][6][7]

ประโยชน์[แก้]

  • การบริโภค ดอกอ่อนและก้านใบอ่อนกินเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้ม
  • ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่นหมู ใช้ทำปุ๋ยหมัก ก้านและใบอ่อนนำมารับประทานได้ เครื่องจักสานผักตบชวา
  • ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ[8]

บทบาทในการกำจัดน้ำเสีย[แก้]

ผักตบชวาสามารถช่วยบำบัดน้ำเสียโดยการทำหน้าที่กรองน้ำที่ไหลผ่านกอผักตบชวาอย่างช้า ๆ ทำให้ของแข็งแขวนลอยต่าง ๆ ที่ปนอยู่ในน้ำถูกสกัดกลั่นกรองออก นอกจากนั้น ระบบรากที่มีจำนวนมากจะช่วยกรองสารอินทรีย์ที่ละเอียด และจุลินทรีย์ที่อาศัยเกาะอยู่ที่ราก จะช่วยดูดสารอินทรีย์ไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง รากผักตบชวาจะดูดสารอาหารที่อยู่ในน้ำ ทำให้ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียจึงถูกกำจัดไป อย่างไรก็ตามไนโตรเจนในน้ำเสียนั้น ส่วนมากจะอยู่ในรูปสารประกอบทางเคมี เช่น สารอินทรีย์ไนโตรเจน, แอมโมเนียไนโตรเจน, ไนเตรตไนโตรเจน พบว่าผักตบชวาสามารถดูดไนโตรเจนได้ทั้ง 3 ชนิด แต่ในปริมาณที่แตกต่างกันคือ ผักตบชวาสามารถดูดอินทรีย์ไนโตรเจนได้สูงกว่าไนโตรเจนในรูปอื่น ๆ คือ ประมาณร้อยละ 95 ขณะที่ไนเตรตไนโตรเจนและแอมโมเนียไนโตรเจนจะเป็นประมาณร้อยละ 80 และร้อยละ 77 ตามลำดับ[9] สถานที่แรกในประเทศไทยที่ใช้การบำบัดด้วยวิธีนี้คือบึงมักกะสัน ซึ่งเป็นโครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้หลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration)[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. แม่แบบ:GISD
  2. กิเลน ประลองเชิง (13 กันยายน 2559). "ต้นทางผักตบชวา". ชักธงรบ. ไทยรัฐ. Vol. 67 no. 21240. p. 3.
  3. "ข้อมูลผักตบชวาเบื้องต้น". กรมโยธาธิการและผังเมือง.
  4. "พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช ๒๔๕๖". Public Law Net: เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 June 2011.
  5. "ปัญหาจากผักตบชวา". สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559.
  6. "ผักตบชวา...วัชพืชร้ายคู่สายน้ำ". Vol. 66. หนังสือพิมพ์รังสิต. 13–19 September 2012. p. 14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2017.
  7. ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ. "บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2537 เรื่อง ผักตบชวา". คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559.
  8. สุญาณี เวสสบุตร; และคณะ (2002). "ผักตบชวา". ใน วีระชัย ณ นคร (บ.ก.). พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. กรุงเทพฯ: องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. ISBN 9742779686.
  9. "ชีววิทยาของผักตบชวา". กรมชลประทาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2018.
  10. "การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา". คลังปัญญาไทย www.panyathai.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Eichhornia crassipes ที่วิกิสปีชีส์