ศาลยุติธรรมชั้นสูงสำหรับพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพพิมพ์แสดงการไต่สวนพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1649 จาก “บันทึกการพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ที่ 1, ค.ศ. 1688” ในพิพิธภัณฑ์บริติช

ศาลยุติธรรมชั้นสูง (อังกฤษ: High Court of Justice) เป็นชื่อของศาลที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐสภารัมพ์เพื่อใช้ในการพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เป็นศาลที่ก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษสำหรับกรณีนี้เท่านั้น แม้ว่าชื่อของศาล “ศาลยุติธรรมชั้นสูง” จะใช้กันต่อมา

เบื้องหลัง[แก้]

หลังจากสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2 กองทหารและฝ่ายนิยมอิสระทางศาสนาในรัฐสภาก็มีความเห็นว่าพระเจ้าชาลส์ควรจะถูกลงโทษแต่ก็ไม่มีเสียงข้างมาก ฝ่ายที่ส่วนใหญ่เป็นเพรสไบทีเรียนก็ยังโต้แย้งกันว่าควรจะให้พระเจ้าชาลส์กลับไปเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปหรือไม่ ฝ่ายนี้ก็พยายามเจรจาต่อรองกับพระเจ้าชาลส์ต่อไป

ด้วยความไม่พอใจที่รัฐสภาบางส่วนยังคงสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ กองทหารกลุ่มหนึ่งที่นำโดยทอมัส ไพรด์ (Thomas Pride) ก็บุกเข้ายึดสภาสามัญชน ในเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันว่า “การยึดรัฐสภาของไพรด์” ตามชื่อผู้นำ เมื่อวันที่พุธที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1648 นายพันไพรด์ก็ยึดบริเวณบันไดที่ขึ้นไปยังสภาสามัญชน โดยมีนาเธเนียล ริชเป็นกองหนุน นายพันไพรด์เองยืนเหนือบันได เมื่อสมาชิกมาถึงนายพันไพรด์ก็ตรวจตามรายนามที่ได้รับมา กองทหารจับสมาชิกสภา 45 คนและกันไม่ให้อีก 146 เข้าไปในรัฐสภาและอนุญาตให้สมาชิกเพียง 75 คนที่กองทหารเป็นผู้เลือกเข้าประชุม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1648 รัฐสภารัมพ์ที่เป็นชื่อเรียกรัฐสภาที่เหลือก็ยุติการต่อรองกับพระเจ้าชาลส์ สองวันต่อมาสภานายทหารของกองทัพตัวอย่าง (Council of Officers) ก็ออกเสียงให้นำตัวพระเจ้าชาลส์ไปวินด์เซอร์ในบาร์เชอร์ “เพื่อที่จะนำตัวพระองค์มาตัดสินด้วยความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว”[1] ในกลางเดือนธันวาคมพระเจ้าชาลส์ก็ถูกนำตัวกลับมาลอนดอน

ก่อตั้งศาล[แก้]

หลังจากที่ทรงถูกนำตัวกลับมาลอนดอน รัฐสภารัมพ์ก็ผ่านร่างพระราชบัญญัติก่อตั้ง “ศาลยุติธรรมชั้นสูง” เพื่อใช้ในการพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ในข้อหากบฏต่อแผ่นดินในนามของประชาชนชาวอังกฤษ ร่างพระราชบัญญัติเสนอชื่อผู้พิพากษา 3 คนและคณะกรรมาธิการผู้พิพากษาอีก 150 คนผู้มีอำนาจในการพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ ในบรรดาคณะกรรมาธิการก็รวมโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ด้วย อัยการสูงสุดของอังกฤษและเวลส์จอห์น คุคได้รับแต่งตั้งให้เป็นเป็นอัยการ

แม้ว่าสภาขุนนางจะไม่ยอมอนุมัติร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติยังขาดพระบรมราชานุมัติ (Royal assent) รัฐสภารัมพ์ก็เรียกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า “พระราชบัญญัติ” และคงยังดำเนินการต่อไป

ความตั้งใจที่จะนำพระเจ้าชาลส์ขึ้นศาลก็ได้รับการยืนยันอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคมโดยการออกเสียง 29 ต่อ 26 ด้วย “An Act of the Commons Assembled in Parliament”[2][3] ขณะเดียวกันจำนวนคณะกรรมาธิการก็ลดลงเหลือ 135 คน[3] จากผู้ที่อาจจะมีความลำเอียงต่อพระเจ้าชาลส์

คณะกรรมาธิการผู้พิพากษาเริ่มประชุมกันเมื่อวันที่ 8 มกราคมเพื่อวางรูปแบบในการพิจารณาคดีแต่ก็มีผู้เข้าร่วมประชุมเพียงไม่ถึงครึ่งซึ่งเป็นแบบอย่างในการประชุมครั้งต่อ ๆ มา เมื่อวันที่ 10 มกราคม จอห์น แบรดชอว์ (John Bradshaw) ได้รับเลือกให้เป็นประธานของคณะกรรมาธิการ ระหว่างสิบวันต่อมาการวางรูปแบบก็เสร็จสิ้นรวมทั้งข้อหาและการรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ

การพิจารณาคดีและการปลงพระชนม์[แก้]

หลังจากการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1649 ในเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ พระเจ้าชาลส์ “ข้าพเจ้าต้องการทราบว่าด้วยอำนาจใดที่ข้าพเจ้าถูกเรียกตัวมา ข้าพเจ้าควรจะทราบว่าอำนาจใดที่เป็นอำนาจที่ถูกต้อง”[4] พระเจ้าชาลส์ทรงยืนยันว่าสภาสามัญชนเพียงอย่างเดียวไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีผู้ใด พระองค์จึงไม่ทรงยอมยอมรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา พยานสามสิบคนถูกเรียกตัวมาให้การแต่บางคนก็ได้รับการยกเว้น ศาลฟังคำให้การในห้องอีกห้องหนึ่งโดยไม่มีพระเจ้าชาลส์ พระองค์จึงไม่ทรงมีโอกาสสืบสวนพยาน ในเมื่อไม่ทรงยอมยอมรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาศาลดำเนินการต่อไปราวกับพระเจ้าชาลส์ทรงยอมรับผิดในข้อกล่าวหา (pro confesso) ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำกันในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมโต้แย้งข้อกล่าวหา พยานได้รับฟังโดยศาลเพื่อ “the further and clearer satisfaction of their own judgement and consciences”[5]

พระเจ้าชาลส์ถูกตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหาเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1649 และถูกตัดสินให้ประหารชีวิต เพื่อแสดงว่าเป็นการตกลงในคำพิพากษาคณะกรรมาธิการทั้ง 67 คนที่เข้าร่วมประชุมก็พร้อมใจกันยืนขึ้น ในวันนั้นและวันต่อมาก็เป็นการรวบรวมรายนามสำหรับหมายประหารชีวิต ในที่สุดก็มีผู้ลงชื่อ 59 คนรวมทั้งสองคนที่มิได้อยู่ในการประชุมเมื่อมีการอ่านคำพิพากษา[6]

พระเจ้าชาลส์ทรงถูกปลงพระชนม์ด้วยการบั่นพระเศียรบนตะแลงแกงหน้าตึกเลี้ยงรับรองของพระราชวังไวท์ฮอลล์เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649

ภายหลัง[แก้]

หลังจากการปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์แล้วก็ยังมีการต่อสู้ต่อไปในไอร์แลนด์, สกอตแลนด์ และอังกฤษ ที่เรียกกันว่าสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 3 อีกปีครึ่งต่อมาเจ้าชายชาลส์พระราชโอรสของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก็ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ โดยชาวสกอตแลนด์ และทรงนำกองทัพมารุกรานอังกฤษแต่ทรงได้รับความพ่ายแพ้ที่ยุทธการวูสเตอร์ซึ่งเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอังกฤษทั้งสิ้น

ศาลยุติธรรมชั้นสูงในสมัยไร้กษัตริย์[แก้]

ชื่อ “ศาลยุติธรรมชั้นสูง” ยังคงใช้กันต่อมาในระหว่างสมัยไร้กษัตริย์ เช่นในการพิจารณาคดีของเจมส์ แฮมมิลตัน ดยุคแห่งแฮมมิลตันที่ 1 (James Hamilton, 1st Duke of Hamilton) ถูกพิจารณาคดีและถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1649

ในปีต่อ ๆ มา “ศาลยุติธรรมชั้นสูง” ก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติต่าง ๆ ดังนี้

  • มีนาคม ค.ศ. 1650 พระราชบัญญัติเพื่อการก่อตั้งศาลยุติธรรมชั้นสูง
  • สิงหาคม ค.ศ. 1650 พระราชบัญญัติเพื่อเพิ่มอำนาจของศาลยุติธรรมชั้นสูง
  • ธันวาคม ค.ศ. 1650 พระราชบัญญัติเพื่อการก่อตั้งศาลยุติธรรมชั้นสูงภายในมลฑลนอร์โฟล์ค, ซัฟโฟล์ค, ฮันติงตัน, เคมบริดจ์, ลิงคอล์น, นอริช, และไอส์ออฟอีลี
  • พฤศจิกายน ค.ศ. 1653 พระราชบัญญัติเพื่อการก่อตั้งศาลยุติธรรมชั้นสูง

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1654 ปีเตอร์ วาวเวลล์ (Peter Vowell) และจอห์น เจอราร์ดได้รับการพิจารณาคดีในข้อหากบฏต่อแผ่นดินโดยศาลยุติธรรมชั้นสูงในแผนการที่จะสังหารโอลิเวอร์ ครอมเวลล์และนำพระเจ้าชาลส์ที่ 2 กลับมาครองราชย์ ผู้วางแผนถูกตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหาและถูกประหารชีวิต

การฟื้นฟูราชวงศ์[แก้]

หลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์ ในปี ค.ศ. 1660 แล้วผู้ที่มีหน้าที่ในศาลยุติธรรมชั้นสูงในการพิจารณาพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก็ถูกนำมาพิจารณาคดีและพิพากษา ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็พยายามหลบหนีแต่ผู้ที่หนีไม่ได้ก็ถูกพิจารณาคดีและถูกลงโทษต่าง ๆ

อ้างอิง[แก้]

  1. 'Historical preface: 1647-49', Charters and Documents relating to the City of Glasgow 1175-1649: Part 1 (1897), p. CDLXXV-DXIX. URL: http://www.british-history.ac.uk/report.asp?compid=47918. Date accessed: 12 March 2007.
  2. Graham Edwards, The Last Days of Charles I
  3. 3.0 3.1 Nenner ODoNB citing Wedgwood, p. 122.
  4. "The opening speech of Charles I at his trial". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-15. สืบค้นเมื่อ 2009-03-10.
  5. Robertson, G., The Tyrannicide Brief, Chatto & Windus, London 2005, p. 173.
  6. House of Lords Record Office The Death Warrant of King Charles I

ดูเพิ่ม[แก้]