ซุนโฮ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าซุนโฮ)
ซุนโฮ
พระสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าซุนโฮในสมัย ราชวงศ์ชิง
จักรพรรดิแห่งง่อก๊ก
ประสูติพ.ศ. 786
สวรรคตพ.ศ. 827
ทรงราชสมบัติช่วงพ.ศ. 807 - พ.ศ. 823
จักรพรรดิองค์ก่อนหน้าซุนฮิว
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม孫皓
อักษรจีนตัวย่อ孙皓
พระนามรองเหวียนจง

พระเจ้าซุนโฮ (อังกฤษ: Sun Hao; จีนตัวย่อ: 孙皓; จีนตัวเต็ม: 孫皓) พระนามรองว่า เหวียนจง แต่เดิมทรงมีพระนามว่า ซุนเฝิงจู กับพระนามรองว่า เฮาจง เป็นพระจักรพรรดิองค์ที่สี่และองค์สุดท้ายของรัฐอู๋ตะวันออก(ง่อก๊ก) ในช่วงยุคสามก๊กของจีน พระองค์เป็นพระราชโอรสของซุนโห อดีตองค์รัชทายาทของพระเจ้าซุนกวน ปฐมจักรพรรดิผู้สถาปนารัฐอู๋ พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 807 ภายหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าซุนฮิว(จักรพรรดิหวู่จิงตี้) ผู้เป็นพระปิตุลาของพระองค์ เนื่องจากเป็นความต้องการของประชาชนที่จะมีพระจักรพรรดิที่มีพระชนมพรรษาที่มากกว่าโดยคำนึงถึงการล่มสลายของรัฐฉู่ฮั่น(จ๊กก๊ก) ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐอู๋เมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงกลายเป็นตัวเลือกที่อาภัพมากที่สุด เนื่องจากความโหดเหี้ยม ความสุรุ่ยสุร่าย และไม่มีความสามารถจัดการเรื่องภายในแผ่นดินของพระองค์ทำให้รัฐอู๋ถึงวาระจบสิ้นแล้ว ซึ่งในที่สุดก็ถูกพิชิตลงโดยราชวงศ์จิ้นใน พ.ศ. 823 เป็นจุดสิ้นสุดของช่วงยุคสามก๊กของจีน

ซุนโฮยังเป็นที่รู้จักกันโดยพระนามอื่นว่า อู๋เฉิงโหว(烏程侯) ซึ่งพระทรงดำรงยศฐาบรรดาศักดิ์ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิ กุ้ยหมิงโหว(歸命侯; แปลตรงตัวอักษรว่า "ท่านโหวผู้ยอมจำนนต่อชะตากรรมของตนเอง") ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ราชวงศ์จิ้นได้มอบให้แก่พระองค์ภายหลังจากทรงยอมสวามิภักดิ์ เจ้าแห่งอู๋รุ่นหลัง (吳後主) และจักรพรรดิอู๋องค์สุดท้าย(吳末帝) ซึ่งถูกใช้โดยนักประวัติศาสตร์เพื่ออ้างอิงถึงพระองค์

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

ซุนโฮทรงประสูติใน พ.ศ. 786 เป็นพระราชโอรสองค์โตของซุนโห ซุนโหได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาทในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม พ.ศ. 785 เพียงไม่กี่เดือนภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของซุนเต๋ง พระราชโอรสองค์โตและองค์รัชทายาทองค์แรกในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน พ.ศ. 784 พระมารดาของซุนโฮ พระนามว่า พระชายาเหอ ผู้เป็นพระชายาของซุนโห

ใน พ.ศ. 793 ภายหลังพระเจ้าซุนกวนทรงเอือมระอากับศึกแย่งชิงราชบังลังก์รที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างซุนโหและซุนป๋า ทั้งสองพระราชโอรสของพระองค์ ทรงตัดสินพระทัยที่จะยุติความขัดแย้งในครั้งนี้ด้วยการบีบบังคับให้ซุนป๋ากระทำอัตวินิบากกรรมและปลดซุนโหออกจากตำแหน่งองค์รัชทายาทและเนรเทศไปยังกู่จ่าง(故鄣; หูโจว, มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) พร้อมกับทั้งครอบครัวของพระองค์และถูกถอดยศเป็นสามัญชน ซุนโฮต้องถูกถอดยศจากพระราชโอรสขององค์รัชทายาทมาเป็นลูกชายของสามัญชนแทน แม้ว่าจะเป็นพระราชนัดดาของพระจักรพรรดิก็ตาม

ใน พ.ศ. 795 สถานะของซุนโหได้รับการเลื่อนขั้นจากสามัญชน เนื่องจากพระเจ้าซุนกวนทรงรับสั่งเสียก่อนที่จะสวรรคตในปีนั้น ซุนโหได้รับแต่งตั้งให้เป็นอ๋องแห่งหนานหยางและมอบอ๋องก๊ก(ราชรัฐ) ที่ฉางซา อันที่จริงมีข่าวลือแม้แต่กระทั่งช่วงภายหลังจากที่ซุนเหลียง พระอนุชาของซุนโหได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิแทนหลังจากพระเจ้าซุนกวนสวรรคตว่า จูกัดเก๊ก ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นพระปิตุลาขององคฺ์หญิงจาง พระชายาอีกองค์ของซุนโห ได้มีความสนใจที่จะฟื้นฟูและอัญเชิญซุนโหขึ้นมาเป็นพระจักรพรรดิแทน ภายหลังจูกัดเก็กถูกลอบสังหารและถูกแทนที่โดยซุนจุ๋นใน พ.ศ. 796 ซุนโหได้ตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากซุนจุ๋นเป็นตัวการที่สำคัญที่ทำให้ซุนโหถูกปลดตั้งแต่แรกและต้องการที่จะกำจัดโอกาสที่ซุนโหจะกลับมา ซุนจุ๋นได้ใช้ข่าวลือเป็นข้ออ้างที่จะทำให้ซุนโหถูกถอดยศเป็นสามัญชนอีกครั้งและเนรเทศไปยังซินตู(新都; เทศมณฑลชุนอัน, มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) และส่งคนส่งสารเพื่อบีบบังคับให้ซุนโหกระทำอัตวินิบากกรรม ส่วนองค์หญิงจางก็กระทำอัตวินิบากกรรมเช่นกัน ส่วนพระชายาเหอ เมื่อได้รับโอกาสให้กระทำอัตวินิบากกรรม พระนางได้ปฏิเสธและขอร้องไว้ชีวิตโดยกล่าวว่า หากพระนางตายไปก็จะไม่มีใครดูแลเหล่าโอรสของซุนโห ดังนั้น พระนางจึงเลี้ยงดูแลแก่ซุนโฮและพระอนุชาทั้งสามพระองค์ที่เกิดมาจากพระชายาองค์อื่น - ซุนเต๋อ (孫德), ซุนเฉียน (孫謙), และ ซุนจุ๋น (孫俊, คนละคนกับซุนจุ๋นที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

ภายหลังจากที่พระเจ้าซุนเหลียงทรงถูกปลดออกจากราชบังลังก์โดยซุนหลิม ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของซุนจุ๋นและผู้สืบทอดตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน พ.ศ. 801 ซุนฮิว พระราชโอรสของพระเจ้าซุนกวนได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 801 พระเจ้าซุนฮิวทรงแต่งตั้งให้ซุนโฮและพระอนุชาอย่างซุนเต๋อและซุนเฉียนเป็นขุนนางระดับโหว ยศฐาบรรดาศักดิ์ของซุนโฮคือ อู๋เฉิงโหว และพระองค์ถูกส่งไปยังพื้นที่ศักดินาตามตำแหน่งขุนนางระดับโหว เมื่อถึงจุดหนึ่ง พระองค์ทรงเป็นพระสหายกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภออู๋เฉิงนามว่า บั้นเฮ็ก (Wan Yu) ผู้ซึ่งประเมินว่าพระองค์ทรงเฉลียวฉลาดและขยันหมั่นเพียร นอกจากนี้ ในช่วงสมัยที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นอู๋เฉิงโหว พระองค์ได้รับฮูหยินเตงเป็นพระสนม ผู้ซึ่งเป็นพระจักรพรรดินีในอนาคต

ในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 807 พระเจ้าซุนฮิวทรงพระประชวรและไม่สามารถพระราชดำรัสได้ แต่ยังสามารถทรงพระอักษรได้ ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชหัตถเลขาเรียกผู่หยังซิ่งผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีให้มาเข้าเฝ้าที่พระราชวัง ซึ่งพระองค์ทรงมอบไว้วางพระราชหฤทัยในการค้ำจุนซุนว่านผู้เป็นองค์รัชทายาทแก่ผู่หยังซิ่ง พระเจ้าซุนฮิวสวรรคตหลังจากนั้นได้ไม่นาน ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 807 ผู่หยังซิ่งก็ไม่ได้ทำตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าซุนฮิวก่อนที่จะสวรรคต และแต่งตั้งให้ซุนว่านขึ้นเป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่ แต่ได้ปรึกษากับขุนพลนามว่า เตียวเป๋าแล้ว พวกเขาเชื่อว่า ประชาชนต่างคำนึงถึงการล่มสลายของรัฐฉู่ฮั่นซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐอู๋ใน พ.ศ. 806 เมื่อไม่นานนี้ พวกเขาต่างโหยหาพระจักรพรรดิที่ดูเป็นผู้ใหญ่กว่า (ตอนนี้ยังไม่อาจทราบว่า ซุนว่านทรงมีพระชนม์มายุเท่าไหร่ แต่พระเจ้าซุนฮิวเองสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษ 29 พรรษา ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ซุนว่าวจะยังทรงพระเยาว์ด้วยซ้ำ) ตามข้อเสนอของบั้นเฮ็ก ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นขุนพลในตอนนั้น ผู่หยังซิ่งและเตียวเป๋าได้อัญเชิญซุนโหขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่

รัชสมัยตอนต้น[แก้]

ในตอนแรก ประชาชนชาวอู๋รู้สึกประทับใจกับพระจักรพรรดิองค์ใหม่ ในขณะที่พระองค์จะทำการลดหย่อนเก็บภาษี ช่วยเหลือแก่คนยากจน และปล่อยอิสตรีจำนานมากที่เฝ้ารอคอยอยู่ในพระราชวังได้ออกมาเพื่อให้พวกนางได้แต่งงาน อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าความคาดหวังนั้นได้พังทลายลง เมื่อพระซุนโฮทรงประพฤติที่โหดร้ายในรับสั่งลงโทษ เชื่อเรื่องโชคลาง และคลุกเคล้าสุรากับนารี นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสั่งถอดยศของพระมเหสีม่ายของพระเจ้าซุนฮิว จากจูไทเฮามาเป็น "จิงฮองเฮา" พระองค์ทรงประกาศเกียรติคุณแก่พระมารดาของพระองค์ พระชายาเหอ โดยแต่งตั้งให้เป็นไทเฮาแทน ในขณะที่ได้ถวายพระราชสมัญญานามภายหลังมรณกรรมแก่ซุนโห พระราชบิดาของพระองค์ว่า "พระจักรพรรดิเหวิน" ผู่หยังซิ่งและเตียวเป๋ารู้สึกตกตะลึงและผิดหวังอย่างยิ่งที่เลือกอัญเชิญจักรพรรดิองค์นี้ขึ้นครองราชย์ เมื่อความผิดหวังของพวกเขาได้ถูกรายงานกราบทูลไปยังจักรพรรดิ จึงรับสั่งจับกุมพวกเขาและประหารชีวิตพร้อมครอบครัวทั้งตระกูลในปลาย พ.ศ. 807 ใน พ.ศ. 807 พระองค์ยังแต่งตั้งฮูหยินเตงเป็นพระจักรพรรดินี

ใน พ.ศ. 808 ซุนโฮทรงบีบบังคับให้อดีตจูไทเฮากระทำอัตวินิบากกรรมและเนรเทศพระราชโอรสทั้งสี่พระองค์ของพระเจ้าซุนฮิว ในไม่ช้าพระองค์ทรงรับสั่งประหารสองพระราชโอรสองค์โตอย่างซุนว่าน (อดีตองค์รัชทายาท) และซุนกง จากนั้นพระองค์ทรงเชื่อในคำทำนายจากโหรหลวงว่ารัศมีพระจักรพรรดิได้เคลื่อนย้ายจากมณฑลหยาง(หยางโจว)ไปยังมณฑลจิง(จิงโจว) และพลังของจิงโจวจะเอาชนะพลังของหยางโจวได้ ทรงดำเนินย้ายเมืองหลวงจากเจี้ยนเย่ไปยังอู๋เฉิงด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้เขายังสั่งประหารชีวิตขุนนางที่แสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุร่ยสุร่ายประจำของพระองค์ ขุนนางที่สำคัญเพียงคนเดียวที่สามารถพูดได้อย่างอิสระโดยไม่ได้รับผลกระทบคือ Lu Kai หลานชายของลกซุน และหนึ่งในอัครมหาเสนาบดีที่รับใช้ควบคู่กับบั้นเฮ็ก เนื่องจากประชาชนต่างเคารพนับถืออย่างมากที่มีต่อ Lu Kai

ใน พ.ศ. 809 ราชวงศ์จิ้น ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ในฐานะรัฐสืบทอดของรัฐเฉาเว่ย์ ซึ่งเป็นคู่ปรับของรัฐอู่ ภายหลังจากที่พระจักรพรรดิองค์แรก สุมาเอี๋ยนได้แย่งชิงราชบังลังก์แห่งรัฐเว่ย์ ได้พยายามสงบศึกกับรัฐอู๋ แต่พระซุนโฮทรงคิดที่จะโจมตีราชวงศ์จิ้นแทน แต่ในขณะที่พระองค์ไม่ได้ทำเช่นนั้นในช่วงขณะนั้น พระองค์ก็ไม่ได้ทำสงบศึกกับราชวงศ์จิ้น

ใน พ.ศ. 810 ประชาราษฎร์ในเจ้อเจียงในปัจจุบันไม่สามารถทนต่อการเก็บภาษีอย่างหนักของพระเจ้าซุนโฮได้(เพื่อสนับสนุนความฟุ่มเฟือยของพระองค์) จึงก่อการกบฎและลักพาตัวซุนเฉียน พระอนุชาของพระเจ้าซุนโฮมาเป็นหุ่นเชิด พวกเขามาถึงเจี้ยนเย่ แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ Ding Gu (丁固) และจูกัดเจ้ง ซึ่งรับผิดชอบสำหรับการป้องกันเจี้ยนเย่ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าซุนเฉียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อกบฏจริง แต่พระเจ้าซุนโฮไม่เพียงแต่รับสั่งให้ประหารชีวิตซุนเฉียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพระมารดาและซุนจุ๋น พระอนุชาองค์เล็กของพระองค์ซึ่งถูกประหารชีวิตพร้อมกับพระมารดาเดียวกัน พระเจ้าซุนโฮทรงเชื่อว่า นี่เป็นผลจากการปฏิบัติตามคำทำนายที่ทำให้พระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังอู่เฉิง และในปีต่อมา พระองค์ก็ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่เจี้ยนเย่

ใน พ.ศ. 812 พระเจ้าซุนโฮเริ่มนโยบายโจมตีชายแดนจิ้นเป็นครั้งคราว พระองค์ทรงมีขุนพลนามว่า Zhu Ji (朱繼) เข้าโจมตีกังแฮและบั้นเฮ็กเข้าโจมตีซงหยง ในขณะที่พระองค์เองก็เตรียมที่จะเข้าโจมตีเหอเฝ่ย์ การโจมตีครั้งนี้ถูกขับไล่โดยกองกำลังจิ้น เช่นเดียวกับการโจมตีหลายครั้งในภายหลัง

ใน พ.ศ. 813 Lu Kai ได้ถึงแก่อสัญกรรม และในไม่ช้าก็ไม่เหลือใครในฝ่ายบริหารที่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นอีกต่อไป ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของ Lu Kai พระเจ้าซุนโฮทรงเนรเทศครอบครัวตระกูลของ Lu Kai ไปยังเจี้ยนอัน ลกข้อง บุตรชายของลกซุน ซึ่งเป็นขุนพลที่รับผิดชอบในการปกป้องชายแดนตะวันตกของอู๋ ได้ยื่นฎีกาคำร้องขอให้มีการปฏิรูปเป็นระยะ แต่พระเจ้าซุนโฮทรงมักจะเพิกเฉย แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้รับสั่งลงโทษลกข้องก็ตาม

รัชสมัยตอนปลาย[แก้]

ในต้นปี พ.ศ. 815 ในช่วงกลางฤดูหนาว พระเจ้าซุนโฮได้เปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่ต่อราชวงศ์จิ้นเป็นการส่วนพระองค์ และพระองค์ทรงพาเหอไทเฮา พระมารดาของพระองค์ พระจักรพรรดินีเตง พระอัครมเหสีของพระองค์ และพระสนมอีกหลายพันคนในฝ่ายในวังของพระองค์ ด้วยการประทับรถเกวียนซึ่งใช้แรงงานหนักจากทหารเพื่อลากจูง ทำให้ทหารต่างบ่นพึมพำถึงความเป็นไปได้ที่จะแปรพักตร์ เพียงภายหลังพระเจ้าซุนโฮทรงพระสดับถึงความเป็นไปได้นี้ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยด้วยการรับสั่งยกเลิกและเดินทางกลับไปยังเจี้ยนเย่ บั้นเฮ็กและขุนพลอาวุโสนามว่า เตงฮอง และหลิวผิง(留平) ได้พิจารณาที่จะกลับไปยังเจี้ยนเย่โดยพลการก่อนที่พระเจ้าซุนโฮทรงเลือกที่จะรับสั่งยกเลิก เมื่อพระเจ้าซุนโฮทรงทราบเรื่องนี้เข้า พระองค์ทรงรู้สึกกริ้วต่อพวกเขาในโทษฐานที่แม่ทัพขุนพลบังอาจทอดทิ้งพระจักรพรรดิ

ต่อมาในปีนั้น ในที่สุดกองกำลังอู๋สามารถกอบกู้มณฑลเจียวโจวจากฝ่ายกบฎที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์จิ้น ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ พ.ศ. 807(ในรัชสมัยพระเจ้าซุนฮิว) สิ่งนี้ทำให้พระเจ้าซุนโฮทรงมีกำลังพระทัยและพระองค์ยังคงวางแผนปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านราชวงศ์จิ้นอย่างจริงจัง แม้ว่าพระองค์จะให้ขุนพลของพระองค์นามว่า Tao Huang มีหน้าที่รับผิดชอบในเจียวโจวและ Tao Huang สามารถบริหารมณฑลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มณฑลแห่งนั้นไม่เคยก่อการกบฎอีกเลยตลอดระยะเวลาที่พระเจ้าซุนโฮครองราชย์

ใน พ.ศ. 813 องโยย ผู้ว่าราชการมณฑลแห่งอี้โจว ด้วยการสนับสนุนของพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ได้ริเริ่มสร้างกองเรือขนาดใหญ่โดยมีแผนการที่จะใช้กองเรือในการพิชิตอู๋ในที่สุด ในขณะที่เศษไม้จากพื้นที่โครงการต่อเรือได้ลอยลงมาในแม่น้ำแยงซี ขุนพลรัฐอู๋นามว่า ง่อเอี๋ยน ตระหนักได้ว่าเกิดอะไรขึ้นและร้องขอให้เสริมป้องกันแนวชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือ แต่พระเจ้าซุนโฮทรงปฏิเสธ

ต่อมาใน พ.ศ. 813 พระเจ้าซุนโอทรงดำเนินการที่จะนำไปสู่การก่อการกำเริบครั้งใหญ่ โดยทรงรับสั่งเรียกเปาเสี้ยน ขุนพลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเมืองเสเหลง(อี้ชาง มณฑลหูเป่ยในปัจจุบัน) กลับมายังเจี้ยนเย่อันเป็นเมืองหลวง ด้วยความกลัวว่าเขากำลังจะถูกรับสั่งลงโทษด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เปาเสี้ยนจึงก่อการกบฎและแปรพักตร์ให้กับราชวงศ์จิ้น ในขณะที่ลกข้องสามารถเอาชนะเปาเสี้ยนได้ในที่สุดและกอบกู้เมืองเสเหลงกลับคืนมาสู่รัฐอู๋ ด้วยความไม่ไว้วางใจที่มีต่อพระจักรพรรดิของเหล่าขุนพลฝ่ายอู๋ไดู้ถูกเปิดเผยอย่างละเอียดและเหล่าขุนพลฝ่ายจิ้นเริ่มมีความกล้าที่จะเสนอแผนการพิชิตพระจักรพรรดิของพวกเขา

ในปีเดียวกัน พระเจ้าซุนโฮทรงเคียดแค้นต่อบั้นเฮ็กและหลิวผิงจากการที่พวกเขาทอดทิ้งพระองค์และกลับไปยังเจี้ยนเย่โดยพลการ ได้พยายามวางยาพิษแก่ทั้งสองคน ทั้งคู่ไม่ตาย แต่เมื่อพวกเขาพบว่าพระเจ้าซุนโฮเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางพิษ พวกเขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย บั้นเฮ็กได้กระทำอัตวินิบากกรรม ในขณะที่หลิวผิงถึงแก่อสัญกรรมด้วยตรอมใจตาย

ลกข้องถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 817 ในคำสั่งเสียสุดท้ายของเขา เขาได้ขอให้พระเจ้าซุนโฮเสริมการป้องกันที่ชายแดนตะวันตกของอู๋ แต่พระเจ้าซุนโฮทรงไม่ทำเช่นนั้น นอกจากนี้ พระองค์ยังแบ่งกองกำลังของลกข้องออกเป็นหกกองบัญชาการทหารที่แตกต่างกัน แม้ว่าแต่ละกองจะถูกนำโดยหนึ่งในบุตรชายของลกข้อง

ใน พ.ศ. 818 รัฐมนตรีอาวุโสแห่งอู๋ He Shao (賀邵) ล้มป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองและเป็นอัมพาต พระเจ้าซุนโฮทรงสงสัยว่าจะเสแสร้ง จึงรับสั่งจับกุมและทรมานด้วยการเฆี่ยนตีและตามมาด้วยเลื่อยและไฟ เขาจึงเสียชีวิตภายใต้การทรมานและครอบครัวตระกูลของเขาถูกเนรเทศ

ในอีกหลายปีต่อมา ประชาชนที่ต้องการประจบประแจงพระเจ้าซุนโฮมักจะนำเสนอของวิเศษมาถวายให้แก่พระเจ้าซุนโฮ(มีทั้งของจริงหรือถูกผลิตขึ้น) โดยอ้างว่าพระองค์จะสามารถทำลายราชวงศ์จิ้นและรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งได้ในที่สุด ธรรมชาติที่เชื่อเรื่องโชคลางของพระเจ้าซุนโฮยิ่งกระตุ้นมากขึ้น และพระองค์ใช้ความพยายามทั้งหมดที่มีในแผนการพิชิตราชวงศ์จิ้น

การล่มสลายของรัฐอู๋ตะวันออก[แก้]

ใน พ.ศ. 822 ภายหลังพระเจ้าสุมาเอี๋ยนทรงยอมรับข้อเสนอขององโยยและเตาอี้ ในที่สุดราชวงศ์จิ้นได้เปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่โดยมีเป้าหมายเพื่อพิชิตรัฐอู่ตะวันออก การโจมตีถูกแบ่งออกเป็นหกง่าม: ด้วยกองกำลังที่นำโดยสุมาเตี้ยม ผู้เป็นพระปิตุลาของสุมาเอี๋ยน อองหุย(王渾) อ๋องหยง เฮาหุน(胡奮) เตาอี้ และองโยย ด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ภายใต้การบังคับบัญชาของอองหุยและองโยย กองกำลังจิ้นแต่ละกองต่างรุดหน้าอย่างรวดเร็วและยึดเมืองชายแดนที่พวกเขากำหนดเป้าหมายด้วยกองเรือขององโยยที่มุ่งหน้าไปทางตะวันออกลงแม่น้ำแยงซีและกำจัดกองเรือฝ่ายอู๋ให้หมดสิ้นไปจากแม่น้ำ เตียวเค้า อัครเสนาบดีของรัฐอู๋ตะวันออกได้พยายามครั้งสุดท้ายเพื่อหมายจะเอาชนะกองกำลังของอองหุย แต่กลับพ่ายแพ้และถูกสังหาร อองหุย องโยย และสุมาเตี้ยมต่างมุ่งหน้าสู่เจี้ยนเย่ เมืองหลวงของรัฐอู๋ตะวันออก พระเจ้าซุนโฮทรงถูกบีบบังคับให้ยอมสวามิภักดิ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 823

ซุนโฮและราชวงศ์ตระกูลซุนได้ถูกพาไปยังลั่วหยาง เมืองหลวงของราชวงศ์จิ้น ตอนนี้ซุนโฮได้ตกเป็นเชลย ทรงกระทำพระองค์ให้ได้รับความอัปยศด้วยการเอาดินโคลนมาคลุมพระวรกายและมัดพระกรของพระองค์ไว้ที่พระขนองของพระองค์ พระเจ้าสุมาเอี๋ยนทรงแก้มัดแก่ซุนโฮและให้มานั่งข้างพระองค์ในการประชุมจักรวรรดิครั้งถัดไป พระองค์ทรงตรัสว่า "เราจัดเตรียมที่นั่งนี้ไว้ให้นานแล้ว" ซุนโฮทรงตอบว่า "หม่อมฉันก็มีที่นั่งสำหรับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่เจี้ยนเย่เช่นกัน" เมื่อกาอุ้น ขุนนางแห่งจิ้นได้พยายามที่จะทำให้พระเจ้าซุนโฮรู้สึกอับอาย จึงถามว่า "หม่อมฉันได้ยินว่าพระองค์ทรงลงโทษที่ดูโหดร้าย เช่น การทิ่มลูกตา และถลกหนังหน้าคน การลงโทษแบบนี้คืออะไร?" ซุนโฮทรงตอบว่า "ถ้าข้าราชบริพารวางแผนที่จะสังหารพระจักรพรรดิของเขาหรือคิดคดทรยศ ข้าจะใช้การลงโทษเหล่านั้นกับเขา" กาอุ้นซึ่งมีส่วนสำคัญในการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าโจมอ พระจักรพรรดิแห่งรัฐเฉาเว่ย์ รู้สึกอับอายขายหน้าและไม่อาจทำอะไรได้

พระเจ้าสุมาเอี๋ยนทรงพระราชทานอภัยโทษแก่ซุนโฮและพระราชทายยศฐาบรรดาศักดิ์ในภายหลังว่า กุ้ยหมิงโหว(歸命侯; แปลตรงตัวอักษรว่า "ท่านโหวผู้ยอมจำนนต่อชะตากรรมของตนเอง") พระราชโอรสของซุนโฮได้รับตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยในรัฐบาลจิ้น ซุนโฮสวรรคตในต้นปี พ.ศ. 827

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า ซุนโฮ ถัดไป
จักรพรรดิหวูจิ่งตี้
(พระเจ้าซุนฮิว)
จักรพรรดิจีน
ง่อก๊ก

(พ.ศ. 807 - พ.ศ. 823)
ง่อก๊กล่มสลาย
จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก