กงเต๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กงเต็ก)

กงเต๊ก (แต้จิ๋ว: 功德) เป็นการทำบุญให้แก่ผู้ตายตามพิธีของนักบวชนิกายจีนและญวน มีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปต่าง ๆ มีบ้านเรือน คนใช้ เป็นต้น

คำว่า กงเต๊ก เป็นคำสองคำประกอบกัน กง (功) แปลว่า ทำ เต๊ก (德) แปลว่า บุญกุศล

การเตรียมงาน[แก้]

  1. ติดต่อซินแส หรืออาจารย์ (กรณีที่ต้องการให้มีการดูวันดี) หรือติดต่อวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย
  2. ติดต่อเขตที่ผู้ตายอาศัยอยู่เพื่อออกใบมรณบัตร
  3. ติดต่อร้านโลงศพ เกี่ยวกับเรื่องโลงศพ พิธีบรรจุศพ การเคลื่อนศพ ฯลฯ
  4. นิมนต์พระ เพื่อสวดในพิธีบรรจุศพ (นิมนต์พระจีน 1 รูปทำพิธีบรรจุศพลงโลงและตอกโลง พร้อมจูงศพไปวัด)
  5. ติดต่อวัดเพื่อจัดสวดพระอภิธรรม
  6. ติดต่อสมาคมจีนเพื่อให้ทางสมาคมช่วยในการดำเนินพิธีการต่างๆ
  7. ติดต่อคนรับจัดของเซ่นไหว้ (สามารถจัดการเองได้)
  8. ติดต่อผู้ใหญ่ที่นับถือให้เป็นผู้ตอกตะปูโลงศพ (อาจใช้คนของทางสมาคมก็ได้)
  9. ติดต่อพระเรื่องฝังศพ เพื่อสวดมนต์ในระหว่างพิธีฝังศพ (งานฝังนิมนต์พระจีน 1 รูปจูงศพ)
  10. ติดต่อสุสานที่ต้องการจะนำศพไปฝัง
  11. ติดต่อของว่างหรืออาหารในระหว่างสวดพระอภิธรรมศพ
  • ในการเตรียมงานกงเต๊กหากท่านไม่มีความรู้ให้ติดต่อวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย ได้ทุกวัด
  • หรือติดต่อมูลนิธิจีนต่างๆ ในการทำพิธี

การเตรียมของให้สำหรับผู้ตาย[แก้]

เมื่อญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตลง สิ่งที่ลูกหลานจะต้องเตรียมมีดังต่อไปนี้

  1. ผ้าคลุมศพ หรือ ทอลอนีป๋วย (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด และร้านขายอุปกรณ์กงเต๊ก)
  2. ใบเบิกทาง หรือ อวงแซจิ้ (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด นิยมซื้อเป็นชุด คือ 1 ลัง ใช้ทั้งงาน)
  3. ภาพของผู้ตายใส่กรอบสำหรับตั้งหน้าโลงศพ
  4. ของใช้ส่วนตัว เช่น
    1. เสื้อผ้าเย็บกระเป๋าทุกใบแบบไม่มีปม (ให้เลือกชุดที่ผู้ตายชอบ)
    2. รองเท้า
    3. ไม้เท้า
    4. แว่นตา (ถ้ามี)
    5. ฟันปลอม (ถ้ามี)
  5. ดอกบัว 3 ดอก
  6. ยอดทับทิม
  7. เอกสารประจำตัวผู้ตาย เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เพื่อออกในมรณะบัตร
  8. เงินสด (ค่าใช้จ่ายกรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาล)
  9. ซองอั้งเปาหรือซองแดง (กรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเป็นเงินตอบแทนให้กับพยาบาล ที่ช่วยอาบน้ำและแต่งตัวให้ศพ)
  10. เตี๊ยบ (มีเฉพาะของผู้หญิง เป็นเสมือนใบประวัติของผู้ตาย ส่วนใหญ่จะประมูลได้มาจากวัดพระพุทธบาท สระบุรี)
  • หมายเหตุ เย็บกระเป๋าทุกใบ (ต้องเดินด้ายเส้นเดียวเท่านั้น)เพราะกระเป๋าถือเป็นแหล่งทรัพย์สมบัติ ความเจริญรุ่งเรืองที่จะทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลาน

เครื่องแต่งกายของลูกหลานในงาน[แก้]

โดยการแต่งกายของผู้ที่มีความสัมพันธ์ของผู้เสียชีวิตโดยด้านในสุดจะใส่ชุดที่ตัดเย็บที่ผ้าดิบ โดยถือว่าผ้าดิบเป็นผ้าที่มีเนื้อบริสุทธิ์เปรียบดังความรักของบุพการีซึ่งรักเราด้วยความบริสุทธิ์ สว่นด้านนอกจะใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าปอหรือผ้ากระสอบ เรียกว่า หมั่วซ่า (จีน: 麻衣) โดยจะมีสีหรือเครื่องหมายแสดงความเกี่ยวข้องต่อผู้ตาย

ลูกชาย[แก้]

ลูกชายของผู้ตายทั้งหมดและรวมหลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต

  • หมายเหตุ หลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต ถือว่าเป็นลูกคนสุดท้ายของผู้ตาย
  • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
  • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
    1. เสื้อ
    2. หมวกทรงสูง ถ้าลูกชายคนใดแต่งงานแล้วจะมีผ้าสี่เหลี่ยมเล็กสีขาว ส่วนคนที่ยังไม่แต่งงานจะเป็นสีแดงติดที่หมวก
    3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้
    4. ไม้ไผ่ (เสียบไว้ที่เอว)
  • หมายเหตุ ไม้ไผ่เปรียบเสมือนคบเพลิง เพื่อส่องทาง และ ป้องกันอันตรายขณะเดินทางไปฝังศพ

ลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้[แก้]

  • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
  • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
    1. เสื้อ
    2. กระโปรง
    3. หมวกสามเหลี่ยมยาวถึงหลัง จะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีขาวเล็กติดที่หมวก
    4. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้ (กรณีของคนที่ตั้งท้อง จะไม่ใช้เชือกคาดเอวคาดไว้แต่ให้ผูกถุงเล็กๆไว้ที่ด้านขวาของ ชุดกระสอบบริเวณเอว)

ลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน[แก้]

  • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
  • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
    1. เสื้อ
    2. หมวกสามเหลี่ยม จะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีแดงเล็กติดที่หมวก
    3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อย

ลูกเขย[แก้]

  • ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว
  • ผ้าผืนยาวสีขาวสำหรับพันรอบ เอว และเหน็บชายผ้าทั้งสองข้างไว้ข้างเอว (คล้ายๆ ชุดในหนังจีน)
  • หมวกเหมือนลูกชายแต่เป็นสีขาว

หลาน[แก้]

  • ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว
  • หมวกผ้าสามเหลี่ยม
    • กรณีที่เป็นหลานใน (ลูกของลูกชาย) หมวกจะเป็นสีขาว
    • กรณีที่เป็นหลานนอก (ลูกของลูกสาว) หมวกจะเป็นสีน้ำเงิน

ถ้าหลานคนใดยังไม่แต่งงานจะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีแดงเล็กๆ ติดอยู่ ส่วนหลานคนใดแต่งงานแล้วจะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมสีขาว

เหลน[แก้]

  1. ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว
  2. หมวกผ้าสามเหลี่ยม
  • ลูกของหลานในชายส่วมหมวกผ้าสามเหลียมสีเขียว (หากแต่งงานแล้วจะมีผ้าสีแดงผืนเล็กๆติดอยู่บนหมวก)
  • ลูกของหลานนอกชายส่วมหมวกผ้าสามเหลี่ยมสีเหลือง


ญาติของผู้ตาย[แก้]

  • พี่ชายและน้องสาวของผู้ตาย
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาว
  • ลูกของพี่ชายหรือน้องชายที่เรียกผู้ตาย
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาว
  • หลานชาย (นอก) ของลูกสาว
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาวมีสายสีแดงรัดอยู่
  • หลานสาวเรียกผู้ตายว่า "น้า"
    • สวมเสื้อสีขาวหรือดำที่เอวผูกสายผ้าสีขาวมีสายสีแดงรัดอยู่

รูปแบบการทำพิธีกงเต๊ก[แก้]

แบ่งได้ สี่แบบ คือ พิธีของคนกวางตุ้ง พิธีคนแต้จิ๋ว (ชายหญิง ประกอบพิธีต่างกัน) พีธีของคนฮกเกี้ยน และ พิธีคนแคะ

  1. แบบพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งถ้าต่างคณะสงฆ์ก็มีรายละเอียดต่างกันชัดเจน อีกทั้งพระสงฆ์จีน และพระสงฆ์ญวน นั้นก็รูปแบบแตกกต่างกันขอยกตัวอย่าง ของกงเต๊กแบบพระจีน
    1. กงเต๊กแบบแต้จิ๋ว
      1. แบบคนตายผู้ชาย จะไม่มีพิธีกินน้ำแดง แต่จะสวดสาธยายพระสูตรต่าง ๆ แทน
      2. แบบคนตายผู้หญิง จะมีพิธีน้ำแดง พิธีกินน้ำแดง เป็นการสอนเรื่องความกตัญญู เลือด หรือน้ำแดง ที่ลูกหลานดื่ม นั้นคือน้ำนมจากแม่
    2. กงเต๊กแบบคนกวางตุ้ง กวางตุ้งจะมีพิธีแตกต่างกัน สังเกตง่าย ๆ คือผ้าโพกหัวจะเป็นสีขาว ไม่ใส่เสื้อกระสอบ และจะต้องมีพิธีโยคะตันตระเปรตพลี (เอี่ยมเค่า) พิธีเปิดประตูนรก
  2. แบบคนธรรมดาประกอบพิธี เป็นผู้ชายสวมชุดพระจีนสีขาว
  3. แบบเต๋าประกอบพิธี เป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนฮกเกี้ยน โดยจะใช้เต๋าเป็นผู้ประกอบพิธี
  4. แบบกงเต๊กจีนแคะ จะเป็นนางหรือ "ชี"(ไจ้จี้) ทำพิธี แต่ไม่ใช่นางชีโกนหัว หากเป็นชีซึ่งเป็นสาวสวย แต่งหน้าทำผม สวยงาม บางท่านเรียกนางชีพวกนี้ว่า “เจอี๊”

พิธีกรรมในกงเต๊ก[แก้]

การแต่งตัวให้ศพ[แก้]

ชาวจีนนิยมจัดพิธีศพที่บ้านของผู้ตาย ลูกหลานจะอาบน้ำแต่งตัวและตั้งศพไว้ในบ้าน 1 คืน การแต่งตัวศพ ผู้ชายนิยมใส่ชุดท่อนบน (เสื้อ) 4 ตัว ชุดท่อนล่างเป็นกางเกง 2 ตัว รวมกันเป็น 6 ชิ้น ผู้หญิงนิยมใส่ชุดท่อนบน 4 ตัว ชุดท่อนล่างเป็นกางเกง 2 ตัว ชิ้นนอกสุดเป็นผ้าถุงหรือเป็นชุดกระโปรงแบบจีน รวมเป็น 7 ชิ้น (ผู้ชายเป็นคู่ผู้หญิงเป็นคี่) ชิ้นนอกสุดนิยมเป็นสีม่วงเข้ม

การสวมเสื้อ 4 ตัวนั้น คนจีนสมัยก่อนจะนิยมเย็บเสื้อของตัวเองเตรียมไว้สำหรับสวมในวันตาย โดยชั้นในสุดมักเป็นชุดขาว ชั้นนอกเป็นการแต่งกายให้ผู้ตายดูดีมีเกียรติที่สุด การสวมเสื้อผ้าให้ผู้ตายนั้นมีพิธีที่เรียกว่า"'โถ้ซ้า" (จีน: 套衣) โดยลูกชายคนโตต้องไปยืนบนเก้าอี้เตี้ยๆ ที่หน้าประตูบ้าน สวมหมวกสานไม้ไผ่ บนหมวกปักดอกกุหลาบแดง ตะเกียบ 12 คู่ (เสียบบนหมวก) ยืนกางแขนหน้าบ้านถือเชือก (เพื่อเวลาถอดจะได้ดึงเชือกออกมาพร้อมกัน) ให้คนทำพิธีสวมเสื้อให้ทีละชิ้น เสร็จแล้วถอดเสื้อทั้งหมดออกพร้อมกัน จากนั้นลูกชายเดินออกมาแล้วขว้างหมวกขึ้นไปบนหลังคา แล้วจึงนำเสื้อไปสวมให้แก่ผู้ตาย “คนเป็นสวมกระดุมไว้ข้างหน้า คนตายสวมกระดุมไว้ข้างหลัง” หมายถึงการสวมเสื้อให้ผู้ตายจะสวมเอาด้านหลังของเสื้อมาไว้ด้านหน้า นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังสามารถสวมหมวก รองเท้า ถุงมือให้ผู้ตายอย่างเต็มยศ และต้องวางมุก 1 เม็ดไว้ที่หน้าผากของผู้ตาย มุกเปรียบเหมือนแสงสว่างติดไว้ที่หน้าผากเพื่อนำทางหรือเปิดทางให้ผู้ตายเดินทางไปสู่ปรโลก (ชาวกวางตุ้งนิยมนำหยกใส่ลงไปในปากของผู้ตาย)

ขนาดในการทำพิธีกงเต๊ก[แก้]

ขนาดในการทำพิธีกงเต๊กจะใหญ่ หรือเล็กขึ้นอยู่กับจำนวนพระที่นิมนต์มาสวด ถ้าเป็นกงเต๊กใหญ่จะต้องนิมนต์พระมาสวด 5 รูป ขึ้นไปอาจเป็น 5, 7, 9 หรือ 11 รูป หรือ 21 รูป ก็ได้หากนิมนต์พระ 5 หรือ 7 รูป มาสวดเรียกว่า “จับอ๊วง” หรือ “จับอ๊วงฉ่ำ”หมายถึง การขอขมากรรมต่อ พระยายมราชทั้ง10 ซึ่ง เป็นนินมานรกายของพระพุทธและพระโพธิสัตว์ หากนิมนต์รพระ 9 รูปมาสวด เรียกว่า “โชยฮุกฉ่ำ” หมายถึงขอขมาต่อพระพุทธเจ้าพันพระองค์ หากนิมนต์พระ 11 รูปมาสวด เรียกว่า “เทียงโค่วฉ่ำ” หมายถึงการขอขมาต่อบรรดาพระพุทธและพระโพธิสัตว์ทั่วทุกสารทิศ กรณี นิมนต์พระมาสวดรูปเดียว เรียกว่า “คุยหมั่งโหล่ว” จะสวดในเวลานำศพใส่โลง นิมนต์พระมาสวด 3 รูป เรียกว่า “จุ๋ยฉ่ำ” หมายถึงการสวดขอขมาระลึกถึงพระบารมีของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตวื เพื่อขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติ คำว่า "ฉ่ำ" แปลว่า ขอขมา คือการ สวดมนต์ขอขมาต่อพระพุทธและพระโพธิสัตว์นั่นเอง

ช่วงเวลาในการทำพิธี[แก้]

พิธีกรรมงานกงเต๊กจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา เช้า-บ่าย-ค่ำ โดยทางวัดจีนส่งคนมาจัดสถานที่และเตรียมสิ่งของแต่เช้าตรู่ ก่อนเริ่มพิธีร้านทำของกงเต๊กจะเอาของมาส่งให้ ลูกหลานตรวจนับรับของให้เรียบร้อย แล้วจัดการเอากระดาษทอง ที่เตรียมไว้มากมายล่วงหน้า ใส่ในบรรดาของกงเต๊กชนิดต่าง ๆ ให้มากที่สุด ซึ่งกระดาษเงินกระดาษทองจะมี 3 แบบด้วยกันคือ

  1. แบบตั่วกิม หรือจะเรียกว่าค้อซีก็ได้ เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแบบแผ่นใหญ่ ลูกหลานเอามาพับเป็นแบบยาว ๆ แหลม ๆ
  2. แบบกิมจั้ว เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแบบแผ่นเล็ก ลูกหลานเอามาม้วนกลม ๆ แล้วปิดหัวท้ายให้แหลม ๆ
  3. แบบทองแท่งสำเร็จรูป เรียกว่า กิมเตี๊ยว

การทำพิธี[แก้]

ช่วงเตรียมของกงเต๊กนี้ พระจีนจะเป็นผู้เขียน "ใบส่งของ" ให้เหมือนเป็นการจ่าหน้าซองจดหมาย เพื่อให้รู้ว่าผู้รับของคือใคร ผู้ส่งคือใคร ใบกระดาษบอกชื่อผู้ส่งผู้รับนี้ ต้องปิดบนของกงเต๊กทุกชิ้น เช่นเดียวกับที่ลูกหลานต้องเอาเสื้อของผู้ตาย เลือกตัวที่ผู้ตายชอบมากที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ตายน่าจะจำลายผ้าได้เนื่องจากเสื้อผ้าจะต้องถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อแปะติดไปกับของทุกชิ้น เพื่อที่ผู้ตายจะได้รู้ว่ากองของกงเต๊กที่เผาไปนี้เป็นของท่านและเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาเอาของผิดกองเช่นกัน เพราะแต่ละวันแต่ละวัดจะมีพิธีกงเต๊กซ้อนกันหลายงาน

จากนั้นพระจะประจำที่เพื่อเริ่มพิธีสวดมนต์ ลูกหลานจะใส่ชุดกระสอบเต๊กชุดใหญ่ นั่งประจำหน้าที่พระพุทธ ลูกชายนั่งหน้าสุด ลูกสะใภ้ลูกสาวนั่งแถวสอง ชั้นเขยและชั้นหลานนั่งแถวหลังตามมา ที่เบื้องหน้าลูกชายมี ม้ากงเต๊ก

พิธีเริ่มด้วยการเปิดกลอง 3 ตูมดัง ๆ ปี่พาทย์มโหรีบรรเลงรับพระสวด ประสานมนต์ที่หน้าพระพุทธ และพระโพธิสัตว์ พิธีกรรมช่วงนี้ เรียกง่าย ๆ ว่า สวดเปิดมณฑลสถาน คืออัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมาเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธีให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคล ในช่วงระหว่างพิธีสวด หลังจากที่พระอ่านเอกสารเรียกว่าฎีกา (ภาษาจีนรียกส่อบุ่ง) ที่ระบุ ชื่อผู้ตาย ที่อยู่ที่เมืองจีน ที่อยู่เมืองไทยบ้านเลขที่ ซอย ถนน เวลาเกิด เสีย ของผู้ตาย และบรรดาชื่อลูกหลาน และระบุว่า ในขณะนี้กำลัจะประกอบพิธีใดที่ไหน เวลาอะไร แล้วก็จะนำเอาฎีกานั้นมาใส่ที่ม้ากงเต๊กพร้อมด้วยการทำพิธีที่ม้า ท่านจะเอาธูป 3 ดอก และเทียนเล่มหนึ่งมาเขียนยันต์ที่หัวม้า พร้อมสวดคาถา และพรมน้ำมนต์จากถ้วยเล็ก ๆ ด้วยนิ้วอย่างมีลีลาน่าดู แล้วใช้ใบทับทิมพรมตามอีกที จากนั้นพระจะสั่งให้ลูกชายคนโตยกม้ากงเต๊กขึ้นจบเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปเผา ระหว่างพิธีตอนนี้พระรูปอื่นก็ยังสวดมนต์อยู่

หลังจากสวดมนต์เปิดมณฑลสถานเสร็จพระสงฆ์จะพาลูกหลานมายังหน้าโต๊ะไหว้ผู้ตาย (เลงไจ้ ที่สถิตย์ของวิญญาณ) เพื่อทำพิธีสวดเชิญวิญญาณของผู้ตามให้มาร่วมพิธี ในระหว่างที่สวด พระสงฆ์จะทำการเปิดรัศมี (ไคกวง) โคมวิญญาณซึ่งมีชื่อผู้ตายและเสือผ้าของผู้ตายสวมอยู่ กระถางธูปหรือป้ายวิญญาณ รูปถ่าย ของผู้ตาย เพื่อให้ป็นที่สถิตย์แห่งวิญญาณของผู้ตาย หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะก็นำบรรดาของไหว้คือ

  1. ข้าว 1 ชาม
  2. เหล้า 1 แก้ว
  3. น้ำชา 1 แก้ว
  4. กับข้าว 3 อย่าง
  5. ซาแซ 1 ชุด (หมู ไก่ เป็ด ปลา ตับ)
  6. ผลไม้ 5 อย่าง
  7. ฮวกก๊วย 1 อัน สีขาว และให้ลูกหลานจบถวาย เมื่อพระสวดเสร็จ ลูกหลานกราบพระ 3 ครั้ง

พิธีต่อมา คือ การเชิญวิญญาณผู้ตายมาร่วมพิธีชำระดวงวิญญาณ (มก-ยก) มักทำในช่วงบ่ายต้น ๆ พระและลูกหลานย้ายมาที่บริเวณหน้าศพ มีการนำห้องน้ำกงเต๊กมาวาง ภายในห้องน้ำมีอ่างขาวใส่น้ำสะอาด และผ้าขนหนูสีขาว ขั้นแรก พระสงฆ์จะสวดเจริญพุทธมนต์เชิญดวงวิญญาณมาร่วมในพิธีและอ่านฎีกา เพื่อขอนำวิญญาณผู้ตายมายังสถานที่ประกอบพิธี หลังจากนั้นจะนำฎีกา ใส่ยังนกกงเต๊ก ให้ลูกชายยกขึ้นจบแล้วเจ้าหน้าที่เอาไปเผา และยกโคมวิญญาณมาให้พระท่านถือไว้ถูกย้ายมาตั้งด้านหน้า พิธีกรรมในช่วงนี้คือ การสวดเชิญวิญญาณมาเข้าพิธี ต่อมาเจ้าหน้าที่จะเอาเสื้อผ้ากงเต๊กมาให้ลูกชายไหว้จบ เพื่อเอาไปเผา หลังจากพระสวดไปได้ครู่หนึ่ง เจ้าหน้าที่จะเชิญ ลูกชายคนโต มาเชิญกระถางธูปหรือป้ายวิญญาณ (ในกรณีธรรมเนียมกวางตุ้ง) ไปยังห้องน้ำ และพระสงฆ์จะสวดมนต์และทำน้ำพระพุทธมนต์ ให้เจ้าหน้าที่นำไปประพรม กระถางธูปหรือป้าย พร้อมกับเทน้ำพระพุทธมนต์ส่วนหนึ่งลงไปในอ่างน้ำที่เตรียมไว้ หลังจากนั้น พระสงฆ์จะสวดมนต์ครู่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็จะให้ลูกคนโตเชิญกระถางธูปมายังโต๊ะที่พระสงฆ์สวดมนต์อยู่ เพื่อให้พระสงฆ์ทำการประพรมน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้ง และจากนั้นพระสงฆ์จะนำลูกหลานเดินไปยังหน้าปะรำพระพุทธ โดยลูกชายคนโตจะเชิญกระถางธูป และลูกชายคนรองถือโคมวิญญาณตามไปด้วย แล้วพระสงฆ์จะสวดขอขมากรรมแทนผู้ตาย ในช่วงนี้ลูกหลานจะต้องกราบพระแทนวิญญาณผู้ตาย หลังจากนั้น พระจะพาเดินกลับไปยังหน้าโต๊ะผู้ตายอีกครั้ง เพื่อเชิญกระถางธูปกลับที่ เป็นอันจบพิธี ซึ่งในพิธีมีความหมายเพื่อชำระอกุศลกรรมขอผู้ตาย ที่ในช่วงที่มีชีวิตอยู่อาจได้กระทำกรรมใดไว้โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ บันนี้ลูกหลายของผู้ตาย อาศัยความกตัญญูขอขมากรรมเหล่านั้นแทนท่าน


เมื่อเสร็จพิธี ลูกสะใภ้จะถูกตามตัวให้ยกอ่างน้ำในห้องน้ำกงเต๊กไปเททิ้งตามธรรมเนียมที่ลูกสะใภ้ต้องปรนนิบัติพ่อแม่สามี ถ้าไม่มีสะใภ้ก็เป็นหน้าที่ลูกสาวไปแทน

ช่วงบ่ายแก่ ๆ เป็นการไหว้ใหญ่แก่บรรพบุรุษ ของไหว้ประกอบด้วย

  1. ข้าวสวย อย่างน้อย 6 ชาม
  2. เหล้า อย่างน้อย 6 แก้ว
  3. น้ำชา อย่างน้อย 6 แก้ว
  4. กับข้าว 5 อย่าง (เตี่ยเอี๊ยใช้กับข้าว 10 ชาม)
  5. เจฉ่าย 1ถาด
  6. ซาแซหรีอโหงวแซ 1 ชุด
  7. ผลไม้ 5 อย่าง 1 ชุด
  8. ขนมอี๋(อั่งอี๊) อย่างน้อย 6 ถ้วย
  9. ฮวกก๊วยปั๊มตราสีแดง
  10. อั่งถ่อก๊วย
  • จำนวนตะเกียบ จะมีเท่าจำนวนถ้วยข้าว
  • ไหว้บรรพชนนับจากผู้ตายย้อนขึ้นไป3รุ่น คือ พ่อแม่ของผู้ตาย ปู่ย่าของผู้ตาย และปู่ทวดย่าทวดของผู้ตาย

พระทำพิธีสวดมนต์จนถึงตอนที่ลูกหลานต้องทำการไหว้ อาหารให้บรรพบุรุษ เมื่อไหว้สำรับกับข้าวบนโต๊ะแล้ว ก็ตามด้วยการไหว้กระดาษเงิน กระดาษทอง

การไหว้หีบเสื้อผ้าให้บรรพบุรุษ ซึ่งจำนวนหีบเสื้อผ้านั้น จะไม่ถูกกำหนดไว้ตายตัว โดยจะนับตามจำนวนของลูกใน คือคนในแซ่ จึงได้แก่ฝ่ายชายและสะใภ้ส่วนลูกนอกคือลูกสาวถือว่าแต่งงานไปแล้วใช้แซ่อื่น คือ ไปเป็นคนในตระกูลอื่นก็จะไม่ไหว้และไม่ฝากหีบเสื้อผ้าไปให้ แต่ถ้าลูกสาวจะฝากหีบเสื้อผ้าไปให้ด้วยก็ไม่ผิด แต่อย่างใด เสร็จจากการไหว้บรรพบุรุษจะเป็นพิธี "ซึงกิมซัว" แปลว่า ทลายภูเขาทอง เพื่อเป็นนัยอวยพรให้ลูกหลานรุ่งเรือง โดยเป็นการแสดงรำธงของพระจีนปลอม คือผู้ชายใส่ชุดพระสีแดงพร้อมหมวกพระจีนออกมาแล้ว แสดงโชว์เป็นธรรมเนียมเฉพาะ ของคนจีนอำเภอเตี้ยเอี้ยและเป็นธรรมเนียมว่าลูกสาวที่ออกเรือนแล้วจัดมาไหว้บุพการีให้ได้ชมก่อนจะถึงพิธีกรรมการพาข้ามสะพานกงเต๊กไปไหว้พระพุทธในแดนสวรรค์

ก่อนเริ่มพิธีจะต้องมีการไหว้บูชา โดยลูกสาวที่ออกเรือนแล้วเท่านั้นมาจุดธูปไหว้ บอกผู้ตายว่าจะไหว้ "ซึงกิมซัว" ที่หน้าโต๊ะไหว้ ที่ตั้งพิเศษอัญเชิญภาพปฏิมาขององค์อมิตาภพระพุทธเจ้ากับของพิเศษอย่างหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นถาดใส่ข้าวสาร ขันน้ำมนต์ เหรียญสตางค์ พร้อมซองอั้งเปา นับตามจำนวนลูกของผู้ตาย ซึ่งถ้าลูกชายคนโตมีลูกชายคนโต ก็ต้องนับเพิ่มอีกหนึ่ง

การข้ามสะพานโอฆสงสาร[แก้]

พิธีกรรมข้ามสะพานโอฆสงสารของลูกหลาน คือการที่พระพาดวงวิญญาณไปส่งแดนพุทธเกษตร โดยมีลูกหลาน กตัญญูตามมาส่งด้วย นั่นเอง ส่งเสร็จก็ข้ามกลับโดยทุกครั้งที่ข้ามสะพานลูกหลานทุกคนต้องโยนสตางค์ลงในอ่างน้ำ ประหนึ่งเป็นการซื้อทางให้แก่ผู้ตายและตนเอง แต่จะมีข้อสำคัญว่า ถ้าลูกหลานที่เป็นผู้หญิงใครมีประจำเดือนจะไม่ให้ข้ามสะพานทำให้ผู้ตายไปไม่ได้

ก่อนเริ่มพิธีลูกชายคนโตจะต้องไปไหว้บูชาสะพานไหว้ธูป 2 ดอก ขนม และกระดาษเงินกระดาษทอง

พิธีเริ่มจากการสวดมนต์ของพระที่ปะรำหน้าศพ สวดจนได้จังหวะของบทตอน พระทั้งหมดก็จะเดินขบวน โดยพระรูปที่ 2 จะเป็นผู้ถือโคมวิญญาณ ต่อจากแถวพระคือขบวนลูกหลาน โดยจะไล่ตามศักดิ์ และอาวุโส ลูกในที่นี้คือลูกชายนำหน้า ลูกชายคนโตคือหัวขบวน ตามด้วยลูกชายคนต่อ ๆ มา ถ้าลูกชายคนโตมีลูกชายตามศักดิ์แล้วลูกชายคนโตของลูกชายคนโตเท่านั้น ก็จะมาต่อท้าย เป็นลูกชายคนเล็ก แล้วจึงตามด้วยลูกสะใภ้ แล้วตามด้วยลูกสาว ตามด้วยลูกเขย แล้วตามด้วยชั้นหลาน

การข้ามสะพานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงข้ามไปและช่วงข้ามกลับ ช่วงแรกจะเป็นการพา ดวงวิญญาณข้ามไปส่ง แดนสวรรค์ เมื่อข้ามไปถึงพระจะหยุดขบวน พระจะวางโคมวิญญาณลงกับที่ เหล่าพระทั้งหมดล้วนก้มกราบพระพุทธ มีการจุดธูป 3 ดอก ให้ลูกชายคนโตไหว้ เพื่อเป็นการไหว้พระพุทธแทนตัวผู้ตาย แล้วปักธูปลงในกระถางธูปของผู้ตายเอง จากนั้นขบวนพระก็จะพาขบวนลูกหลานข้ามกลับมายังโลกมนุษย์ โดยจะไม่ถือโคมวิญญาณกลับมาด้วย และขากลับจะต้องข้ามสะพานสวนทางกับขาไป ข้ามไปกี่รอบก็ต้องข้ามกลับจำนวนรอบเท่าเดิม

เมื่อถึงโลกมนุษย์ ขบวนพระก็หยุด ลูกชายคนโตจะนำกระถางธูปไปวางไว้ที่ปะรำหน้าศพ เจ้าหน้าที่จะนำหีบเสื้อผ้าของผู้ตายมาวางโดยมีโคมวิญญาณวางซ้อนบนหีบเสื้อผ้าอีกที จากนั้นลูกหลานนั่งฟังพระสวดต่อ จนจบหนังสือมนต์เล่มสุดท้าย ซึ่งทุกครั้งที่มีการสวดมนต์จบเล่ม พระจะต้องนำ หนังสือมนต์นี้มา ให้ลูกชายเปิดดู แล้วยกสวดมนต์นั้นขึ้นจบถวาย เล่มสุดท้ายก็เช่นกัน

เสร็จพิธี ลูกหลานจะกราบหน้าศพ 4 ครั้ง แล้วเหี่ยมหีบเสื้อผ้ากับโคมวิญญาณเพื่อนำไปเผา เช่นเดียวกับบรรดาของกงเต๊กอื่น ๆ ทั้งหมด ลูกหลานต้องช่วยกันเหี่ยมโดยมีหลักการว่าคนอื่นอาจช่วยยกของได้ แต่ลูกหลานเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้เหี่ยมของกงเต๊กทั้งหลาย และต้องเหี่ยมทุกชิ้นไม่ขาดตกสิ่งใด

หมายเหตุ[แก้]

ในการจัดงานศพแบบจีน ขณะที่แขกคารวะศพ ลูกหลาน ของผู้ตายจะนั่ง 2 ฝั่ง (ลูกชายจะนั่งอยู่ด้านซ้ายและลูกสาวจะนั่งอยู่ ด้านขวาของประรำหน้าศพ) โดยเรียงตามศักดิ์ ลูกในลูกนอกเฉพาะในฝั่ง ของผู้หญิงลูกสะใภ้จะนั่งอยู่หัวแถว เพราะถือว่าลูกสะใภ้เป็นลูกใน และ ลูกสาวที่แต่งงานออกไปเป็นลูกนอกหลังจากนั้นจึงต่อด้วยขบวนหลานๆ ตามลำดับ เพื่อก้มศีรษะขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน

รวมของที่ใช้ในงานกงเต๊ก
  • ม้า
  • นก
  • โคม (ถ่งฮวง)
  • ห้องน้ำ
ธรรมเนียมการกราบ
  • พระ กราบ 3 ครั้ง
  • คนตาย (แบบไทย) กราบ 1 ครั้งแบบไม่แบมือ
  • คนตาย (แบบจีน)
    1. กราบ 4 ครั้งแบบแบมือ
    2. กราบแบบคุกเข่า โดยเอามือจับหัวเข่าแล้วก้ม คำนับ 3 ครั้ง (กรณีที่ผู้ตายมีอายุมากกว่า)
    3. ยืนคำนับ โดยการเอามือไว้ข้างลำตัวแล้วโน้มตัว คำนับ 3 ครั้ง (กรณีที่ผู้ตายมีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากัน) หมายเหตุ กราบ 4 ครั้งหมายถึง พ่อ-แม่ พ่อ-แม่ มี ความเชื่อว่าถ้ากราบ 4 ครั้งแล้วลูกหลานจะโชคดีทุกเวลา

อ้างอิง[แก้]

  • "พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ตอน ว่าด้วยเรื่องกงเต็ก" วัดโพธิ์แมนคุณาราม-วัดมังกรกมาลาวาส ร่วมกับพุทธบริษัทไทย-จีน พุทธสมาคม จัดพิมพ์,คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย,ตุลาคม 2531
  • www.susarn.com