ไพบูลย์ นิติตะวัน

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ไพบูลย์ ในปี พ.ศ. 2560
รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
21 ธันวาคม พ.ศ. 2562
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2566
สมาชิกวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
18 กันยายน พ.ศ. 2555 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ดำรงตำแหน่ง
2 มีนาคม พ.ศ. 2551 – 1 มีนาคม พ.ศ. 2554
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด15 มกราคม พ.ศ. 2497 (70 ปี)
จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย
เชื้อชาติไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาชนปฏิรูป (2561-2562)
พลังประชารัฐ (2562-ปัจจุบัน)

ไพบูลย์ นิติตะวัน นักกฎหมายและนักการเมือง เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ[1] ประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 แบบบัญชีรายชื่อ[2] และสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 10 สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 11[3][4] ในขณะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาปี พ.ศ.2551 - 2557 เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นผู้ประสานงาน กลุ่ม 40 ส.ว. ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในสมัยนั้น ด้วยกระบวนการทางกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้รัฐเป็นที่พึ่งของประชาชน

เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย "แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564"[5][6] ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สภาผู้แทนราษฎร[7] กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558[8] ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ[9] สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปรึกษาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และเคยดำรงตำแหน่งอื่นๆทางสังคม เช่น อุปนายกสโมสรรัฐสภาคนที่ 1 นายกสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า และประธานมูลนิธิ อีพีเอ ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทบาทในฐานะนักกฎหมาย

1.กรณียื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณี “MOU 2544” ว่าได้กระทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณี “MOU 2544” แต่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และ กระทรวงการต่างประเทศ กลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลมูลค่า 20 ล้านล้านบาทให้แก่กัมพูชาเป็นการกระทำละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง[10]

วันที่ 10 เมษายน 2567 ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นนักกฎหมายในฐานะปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลอ่าวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และ มาตรา 43 (2) ซึ่งผู้ร้องได้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและอาจจะได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธินั้นยังคงมีอยู่จากการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 และ มาตรา 48 และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา เมื่อกระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย “MOU 2544” จึงเป็นบทบัญญัติหรือการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีผลตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรกไม่ผูกพันไทยแต่ประการใด

2.กรณีปัญหาหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564[11] สืบเนื่องจากที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้เสนอญัติต่อประธานรัฐสภา เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภ าพ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ใจความว่า การที่มีสมาชิกรัฐสภายื่นญัตติร่างแล้วธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 2 ฉบับ และการที่มีประชาชนเข้าชื่อยื่นญัตติร่างแล้วธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... จำนวนอีก 1 ฉบับ ปรากฏว่าญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1) ทั้ง 3 ฉบับ มีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยบัญญัติให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างแล้วธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

ตามหลักกฎหมายมหาชนที่ว่า “ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ” หมายความว่าหากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้ จะกระทำมิได้รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงมีเพียงอำนาจเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คือ อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ที่ประชุมได้พิจารณาญัติดังกล่าวมีมติให้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามญัตติของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 ส่งศาลตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ[12]

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีแล้วธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห้นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูนฉบับใหม่แล้วจึงนำขึ้นทูลเก้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมหากษัตริย์ทรงลงพระประมาพี่ไทยเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระประมาพี่ไทยแล้วจึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไปอันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามคันรองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะมีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อมีอำนาจจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ถูกโหวตคว่ำในวาระที่ 3 หลังที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลา 4 ชม. ในการลงมติ ซึ่งปรากฏว่ามีคะแนน "เห็นชอบ" 208 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 94 และไม่ลงคะแนน 136 คะแนน ทว่าเมื่อคะแนนเสียงที่ได้ไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง จึงถูกตีตกไป[13]

3.กรณีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา129 ตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2555 มาตรา5 มาตรา8 และมาตรา13

วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 17/2563[14] ตามที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 เนื่องจากพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 135 กำหนดให้คณะกรรมาธิการมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 129 บัญญัติให้คณะกรรมาธิการมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจในการออกคำสั่งเรียกเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 135

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 129

มีผลให้อำนาจคณะกรรมาธิการในการเชิญบุคคลมาชี้แจงและเรียกเอกสาร แต่ก็ไม่มีผลบังคับสำหรับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้[15]

4.กรณีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างปี 2556-2557

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 12-13/2563[16] ตามคำร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องตนเองและพวก ต่อศาลอาญาในคดีหมายเลขดำที่ อ. 832/2561 เหตุเนื่องมาจากตนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในที่ชุมนุมของประชาชนระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... และไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน ได้กล่าวอ้างกระกระทำดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 54/2556 และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 57/2556

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง และการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีดังกล่าวรวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายโดยการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลในคดีดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดและผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ต่อรัฐบาลโดยเรียกร้องและมุ่งหวังที่จะให้รัฐบาลลาออกเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและแก้ไขปัญหาของประเทศก่อน หลังจากนั้น จึงจัดให้มีการเลือกตั้ง จึงไม่มีมูลกรณีเข้าลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นแนวบรรทัดฐานเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองไว้แล้วว่าไม่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงย่อมมีผลผูกพันคู่กรณี และผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละเหตุการณ์ของการชุมนุม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 211 วรรคสี่

5.กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ไพบูลย์ นิติตะวัน ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค[17][18] เนื่องจาก ถึงแม้ว่าทูลกระหม่อมฯ จะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้วตั้งแต่ปี 2515 แต่ทูลกระหม่อมฯ ยังทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นทูลกระหม่อมฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ จึงเป็นการเข้าข่ายความผิดตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. หมวด 4 ข้อ 17 ‘ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง’ ต่อมา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 18/2562 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ

วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2562[19] ว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ มีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำไปโดยรู้สำนึก และโดยสมัครใจอย่าง แท้จริง ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังคงดำรงอยู่ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชนคนไทยทั่วไป ย่อมรู้สึกได้ว่าสามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ต้องถูกนำไปใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยลให้ปรากฏผลเสมือนเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง และมุ่งหวัง ผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางในทางการเมือง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมี หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคไทยรักษาชาติกระทำการตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 วรรคสอง

6.กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2557[20] ตามคำร้องที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 (2) และ (3) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยมีมติเอกฉันท์ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะและตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองจึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำอันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ไปด้วย คำวินิจฉัยมีผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คน พ้นจากตำแหน่งและสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 10 คน[21]

การศึกษา

ปริญญาบัตร

ประกาศนียบัตร

  • ประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 5 (ปปร. 5) สถาบันพระปกเกล้า

รางวัลที่ได้รับ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 21 กรกฎาคม 2565
  2. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เก็บถาวร 2019-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
  4. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (นายไพบูลย์ นิติตะวัน)
  5. รายนาม คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91)
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564
  7. รายนาม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  8. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 4 พฤษจิกายน 2557
  9. ข่าว ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์ กิจการพระพุทธศาสนา รับยื่นหนังสือ
  10. ข่าว 'ไพบูลย์' ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.คว่ำ MOU 2544 ปกป้องทรัพยากรทะเล 20 ล้านล.
  11. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมณูญ ที่ 4/2564 กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมณูญแก้ไขเพิ่มเติม
  12. ข่าว ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 ส่งศาลตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  13. ข่าว แก้รัฐธรรมนูญ: พปชร. ผนึก ส.ว. โหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน. วาระ 3
  14. ราชกิจจานุเบกษา,คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมณูญ ที่ 17/2563 กรณี พ.ร.บ.คำสั่งเรียก
  15. ข่าว ฉีก ‘พ.ร.บ.คำสั่งเรียก’ 'ฝ่ายค้าน' ไร้ดาบฟันรัฐบาล
  16. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12-13/2563 กรณีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างปี 2556-2557
  17. ข่าว ไพบูลย์ยื่นคัดค้านกรณีไทยรักษาชาติเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ชี้ผิดระเบียบ กกต.
  18. ข่าว ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้สร้างสารพัดวีรกรรม “ส.ส. ปัดเศษ-นักร้อง-ซามูไร” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดสถานภาพ ส.ส.
  19. ราชกิจจานุเบกษา,คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ
  20. "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๕๗ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ระหว่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และคณะ รวม ๒๘ คน ผู้ร้อง กับ นางสาวยิ่งลักษณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-14. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
  21. ข่าว เปิดชื่อ 9 รมต.หลุดเก้าอี้พร้อมปู-“พงศ์เทพ-นิวัฒน์ธำรง”เต็งนายกฯรักษาการ
  22. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๗, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
  23. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๓๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
  24. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2015-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๒ ข หน้า ๒๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๔๐, ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐

แหล่งข้อมูลอื่น