ข้ามไปเนื้อหา

ครู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาจารย์)
ครู
ภาพถ่ายนิสิตฝึกสอน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในอดีต
รายละเอียด
ชื่อครู อาจารย์
ประเภทอาชีพ
อาชีพเฉพาะทาง
กลุ่มงานการศึกษา
ความสามารถจิตวิทยาการศึกษา ปรัชญาการสอน ความรู้ในสาขาวิชาที่สอน
การศึกษาครุศาสตรบัณฑิต, ศึกษาศาสตรบัณฑิต, การศึกษาบัณฑิต
สถานที่ปฏิบัติงาน
สถาบันการศึกษา
อาชีพที่เกี่ยวข้อง
อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิชาการ, ติวเตอร์
รูปปั้นเจษฎาจารย์ฟ. ฮีแลร์ ครูสอนภาษาชาวฝรั่งเศสที่ริเริ่มการสอนภาษาไทยและแต่งตำราเรียนภาษาไทยในยุคแรก ๆ

ครู คือ ผู้ที่มีความสามารถให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเรียน สำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน โดยวิธีในการสอนจะแตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน และนอกจากการสอนแล้วครูยังเป็นผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์ ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี สอนในคุณงามความดีเพื่อเป็นแม่แบบให้เด็กได้ปฏิบัติตามทั้งต่อหน้าและลับหลัง

คำว่า "ครู" มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต "คุรุ" และภาษาบาลี "ครุ, คุรุ"

ครูในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา[แก้]

ครูประจำการ[แก้]

ครูประจำการ หมายถึง ข้าราชการครูผู้ดูแลนักเรียนในห้องเรียนหรือชั้นเรียนหนึ่ง ๆ เป็นเวลาหนึ่งภาคเรียนหรือหนึ่งปีการศึกษา พร้อมทั้งทำหน้าที่ธุรการประจำห้องเรียน ในโรงเรียนของรัฐบาล

ในอดีตความสัมพันธ์ของครูประจำชั้นจะเปรียบเสมือนผู้ปกครองคนที่สอง ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ อบรมสั่งสอน ช่วยแก้ปัญหา และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับบ้าน อันเป็นผลทำให้ครูและโรงเรียนได้รับความศรัทธาพร้อมทั้งมีบุญคุณต่อนักเรียนและครอบครัว

ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ในโรงเรียนทั่วโลกมีการนักเรียนออกเป็นชั้น ๆ เป็นห้อง ๆ เพื่อความสะดวกต่อการเรียนการสอน และการดูแลปกครอง รวมทั้งทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเรียกเรียกว่า "ห้องเรียน" หรือ "ชั้นเรียน" (Classroom) และเรียกเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกันว่า "เพื่อนร่วมชั้น" (Classmates)

ครูในระดับอุดมศึกษา[แก้]

ครูขณะทำการสอน

ผู้สอนในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือระดับอุดมศึกษา จะมีตำแหน่ง อาจารย์ โดยอาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ อาจารย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ตามลำดับ การได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

ตำแหน่งครู คือบุคคลที่ทำหน้าที่ช่วยสอน สอนทบทวน สอนภาคปฏิบัติ แตกต่างจากอาจารย์ที่ สอนภาคบรรยายเรื่องต่าง ๆ

ครูในระดับอาชีวศึกษา[แก้]

ครูขณะทำการสอน

ผู้สอนในวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตร จะมีตำแหน่ง ครู โดยครูที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ ครู, ครูผู้ช่วย, ครูปฏิบัติการ, ครูชำนาญการ, ครูชำนาญการพิเศษ , ครูเชี่ยวชาญ ตามลำดับ การได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา

ครูผู้ดูแลระบบจัดการโรงเรียน[แก้]

ครูที่ทำหน้าที่ดูแลระบบทั้งโรงเรียนจะเรียกว่า ครูใหญ่ ซึ่งคล้ายคลึงกับคณบดี หรืออธิการบดี ในระดับอุดมศึกษา โดยหน้าที่ของครูใหญ่มักจะทำหน้าที่ดูแลระบบการจัดการของโรงเรียนมากกว่าการสอนในห้องเรียน ต่อมาเป็นตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา

ครูในศตวรรษที่ 21[แก้]

การเรียนรู้แบบบูรณาการโดยโครงงาน

ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ กระบวนการเรียนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก [1] ผู้เรียนจะเรียนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัยมีความก้าวหน้า และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากและรวดเร็วขึ้น ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นต่อห้องเรียน[2] จนทำให้วิธีการสอนแบบเดิมๆ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สื่อที่แสดงมีขนาดใหญ่ไม่เพียงพอสำหรับ ผู้เรียนที่อยู่หลังห้อง ความจดจ่อกับผู้สอนถูกเบี่ยงเบนจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนขนาดใหญ่ ผู้เรียนมีการนำเอาคอมพิวเตอร์พกพาเข้ามาสืบค้นความรู้ในชั้นเรียน ผู้เรียนถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ครูกำลังสอน หรือนำข้อมูลเหล่านั้นมาพูดคุย โดยที่ครูตอบไม่ได้ หรือไม่เคยรู้มาก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ครูจึงต้องพร้อมที่จะปรับตัวและพัฒนาตนเองให้ทันยุคที่เปลี่ยนไป และต้องไม่ขาดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะและวิทยาการให้ทันสมัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เทคนิควิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้เด็กมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สังคมไทยและสังคมโลกต้องการ

ในการนี้ กระทรวงศึกษาธิการ[3] ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology :ICT) มาใช้ในการศึกษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนและการพัฒนาครูได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน ตลอดจนลดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาในโรงเรียนที่ห่างไกลอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. (2556). ศธ.จี้ครูปรับบทบาทใหม่ทันกับเทคโนโลยีสอนเด็ก. สืบค้นออนไลน์ จาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34113&Key=hotnews
  2. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ. 2553. การเปลี่ยนแปลงโลกของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการพัฒนาสู่ “ครูมืออาชีพ” ใน สุดาพร ลักษณียนาวิน (บรรณาธิการ). 2553. การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง. สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กร อุดมศึกษาแห่งประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวง ศึกษาธิการ.
  3. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 275/2556. (2556). รมว.ศธ.เปิดการเสวนา ICT เพื่อปฏิรูปการเรียนการสอน. สืบค้นออนไลน์ จาก http://www.moe.go.th/websm/2013/aug/275.html

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]