ข้ามไปเนื้อหา

วาด รวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รวี สิริอิสสระนันท์
เกิด27 มิถุนายน พ.ศ. 2514
โรงพยาบาลหัวเฉียว กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
เสียชีวิต14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 (50 ปี)
โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกาวาด รวี
อาชีพนักเขียน, บรรณาธิการ
สัญชาติไทย ไทย
ช่วงเวลาพ.ศ. 2542 – 2563
แนวร่วมในทางวรรณคดีคณะนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยหัวก้าวหน้า ที่เชิญชวนให้ร่วมลงชื่อแก้ไข ม. 112 ในปี พ.ศ. 2554

วาด รวี ชื่อจริง รวี สิริอิสสระนันท์ (27 มิถุนายน พ.ศ. 2514 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565) เป็นนักเขียนชาวไทยและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ เคยเป็นบรรณาธิการวารสารหนังสือใต้ดินและดำเนินงานสำนักหนังสือใต้ดิน[1] วาด รวี เคยเป็นกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ทำหน้าที่ได้ไม่นานก็ลาออกเนื่องจากความไม่ลงรอยในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสมาคมนักเขียน[2]

วาด รวี เสียชีวิตลง โดยได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยการเปิดเผยของ วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชนผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน[3]

ประวัติ[แก้]

วาด รวี มีชื่อเล่นว่า "เป้" เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2514[4] ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว โดยที่เชื้อสายฝั่งพ่อมาจากประเทศจีน ฝั่งแม่สืบเชื้อสายมาจากทหารเรือ (ทวด) เรียนระดับชั้นอนุบาลที่ YWCA ระดับเตรียมประถมที่โรงเรียนบุปผานุกุล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ระดับอาชีวศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ และระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ[5]

ระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษา เขาเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อระยะเวลาผ่านไปเขากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนอยู่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาสนใจ จนทำทำให้เขาตัดสินใจเขียนหนังสือในระหว่างเรียน จึงเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องสั้น และส่งไปตีพิมพ์ที่นิตยสารช่อการะเกด ที่มีสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นบรรณาธิการ หลังจากเขียนเรื่องสั้นส่งตีพิมพ์ได้ระยะหนึงจึงตัดสินใจเขียนหนังสือเป็นหลัก และไม่เรียนหนังสือต่อ ออกมาเป็นนักเขียนอิสระ โดยเขียนทั้งเรื่องสั้น บทกวี ความเรียง และออกเดินทางโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง[6]

ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ด้านงานเขียนเลย วาด รวีจึงไปปรึกษากับ วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน ทำให้วชิระมีแนวคิดในการจัดตั้งสำนักพิมพ์ใต้ดินขึ้นมา โดยให้วาด รวีเป็นผู้ร่วมงานในสำนักพิมพ์แห่งนั้น โดยบางคนระบุว่าเขาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ใต้ดิน ซึ่งกิจกรรมแรกที่เขาจัดคือการจัดงาน “ทางเลือกทางรอดของวรรณกรรมนอกกระแส” และเชิญคนในวงการวรรณกรรมนอกกระแสมาร่วมพูดคุย อาทิ เรืองเดช จันทรคีรี, จตุพล บุญพรัด บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์, วชิระ บัวสนธ์, รักษ์ มนัญญา บรรณาธิการดอกหญ้า[6]

จากนั้นเขาได้ออกมาก่อตั้งสำนักพิมพ์ไชน์ (Shine Publishing House) จดทะเบียนในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2544[7] โดยตีพิมพ์งานเกี่ยวกับ งานเขียนวิชาการเพื่อสาธารณะ และความรู้เรื่องสังคมการเมือง บทกวี เรื่องสั้น นิยาย เรียงความ บันทึก ประวัติศาสตร์ และงานแปลต่าง ๆ[8] โดยมีสโลแกนว่า กล้าที่จะรู้ ! กล้าที่จะแสดงความคิดและจินตนาการ !![7]

วาด รวี เป็นหนึ่งใน 7 นักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยหัวก้าวหน้า ที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนไทยทั่วประเทศ ให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้ยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าวปิดกั้นการแสดงออกและความเห็นทางการเมืองในปี พ.ศ. 2554[5][9]

วาด รวี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ท่ามกลางความอาลัยของนักเขียน และนักกิจกรรมที่เคยร่วมงานด้วย โดยได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ณ วัดด่าน (พระราม 3) กรุงเทพมหานคร และฌาปณกิจในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[10]

ผลงาน[แก้]

วาด รวี มีผลงานเขียนหลากหลายและตีพิมพ์สม่ำเสมอ เฉพาะผลงานที่รวมเป็นหนังสือเล่ม ได้แก่[11]

  • พ.ศ. 2542 รวมเรื่องสั้น เดนฝัน พิมพ์โดย สำนักหนังสือใต้ดิน
  • พ.ศ. 2544 เรื่องสั้น ปิดบริสุทธิ์ พิมพ์โดย สำนักหนังสือใต้ดิน
  • พ.ศ. 2546 รวมเรียงความ คิดสั้น พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2548 รวมเรื่องสั้น ชั่วขณะ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2549 รวมบทความ ผู้ชายที่กำลังสืบพันธุ์ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ open
  • พ.ศ. 2551 สารคดี Fighting Publisher ประวัตินักทำหนังสือกบฏฉบับใต้ดิน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ open
  • พ.ศ. 2552 ผลงานแปล บันทึกสงครามปฏิว้ติคิวบา ของ เช เกวารา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา
  • พ.ศ. 2554 วิกฤต 19, ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
  • พ.ศ. 2555 รวมบทความ ภูเขาน้ำแข็ง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2556 รวมเรื่องสั้น พื้นผิวของความทรมาน โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2557 รวมเรียงความ ในลวงใจ โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2557 ผลงานแปลเรื่องสั้น ชายชรากับทะเล ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ โดย สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น
  • พ.ศ. 2560 รวมบทความ การเมืองโมเบียส พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์[12]
  • พ.ศ. 2563 โอลด์รอยัลลิสต์ดาย พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. วาด รวี ผมวางมือจากสำนักหนังสือใต้ดินแล้ว. สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น. 24 ก.ค. 2555 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) Link
  2. วาด รวี แถลงลาออก กก.พานแว่นฟ้า แฉพฤติกรรมแก๊งค์นักเขียน. ประชาไท. 25 ก.ย. 2556 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) Link
  3. matichon (2022-05-14). "วงการวรรณกรรม เศร้า ร่วมโพสต์อาลัย การจากไปของ 'วาด รวี'". มติชนออนไลน์.
  4. "รวี สิริอิสสระนันท์ (วาด รวี) 27 มิถุนายน 2514 - 14 พฤษภาคม 2565". Facebook. 2022-05-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 "THAIWRITER.ORG | วาด รวี" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. 6.0 6.1 "วาด รวี". www.praphansarn.com (ภาษาอังกฤษ).
  7. 7.0 7.1 "เกี่ยวกับสำนักพิมพ์ - Shine". Shine. สืบค้นเมื่อ 2022-05-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "สำนักพิมพ์ไชน์ - ศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย #ThaiBookFair". www.thaibookfair.com.
  9. "นักเขียนไทยนับร้อยร้องแก้มาตรา 112". www.posttoday.com. 2011-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-14. สืบค้นเมื่อ 2022-05-14.
  10. matichon (2022-05-14). "สวดอภิธรรมนักเขียนดัง 'วาด รวี' คืนแรก วงวรรณกรรม-นักเคลื่อนไหวยกย่องจุดยืนชัด ไม่แปรเปลี่ยน". มติชนออนไลน์.
  11. วาด รวี. ThaiWriter.org. 16 ก.ค. 2558 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) http://www.thaiwriter.org/?p=1019
  12. "การเมืองโมเบียส". m.se-ed.com.
  13. โอลด์รอยัลลิสต์ดาย Old Royalists Die — วาด รวี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-05-14.