ข้ามไปเนื้อหา

มีฮาอิล ตูฮาเชฟสกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มีคาอิล ตูคาเชฟสกี)

ในชื่อซึ่งตั้งตามธรรมเนียมภาษากลุ่มสลาฟตะวันออกนี้ นามสกุลที่แปลงมาจากชื่อบิดาคือ นีโคลาเยวิช ส่วนนามสกุลของตระกูลคือ ตูฮาเชฟสกี

มีฮาอิล ตูฮาเชฟสกี
Михаил Тухачевский
ตูฮาเชฟสกี ป.ค.ศ. 1935
ชื่อเกิดมีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี
Михаил Николаевич Тухачевский
ชื่อเล่นนโปเลียนแดง
เกิด16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1893(1893-02-16)
อะเลคซันดรอฟสโคเย มณฑลโดโรโกบุจสกี
เขตผู้ว่าการสโมเลนสค์ จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต12 มิถุนายน ค.ศ. 1937(1937-06-12) (44 ปี)
มอสโก รัสเซียโซเวียต สหภาพโซเวียต
สุสาน
สุสานดอนสโกเย
รับใช้ จักรวรรดิรัสเซีย (ค.ศ. 1914–1917)
 รัสเซียโซเวียต (ค.ศ. 1918–1922)
 สหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1922–1937)
แผนก/สังกัด กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย
กองทัพแดง
ประจำการค.ศ. 1914–1937
ชั้นยศ ร้อยโทชั้นที่สอง (กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย)
จอมพลแห่งสหภาพโซเวียต (กองทัพแดง)
บังคับบัญชาเสนาธิการทหารบก
การยุทธ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สงครามกลางเมืองรัสเซีย
สงครามโปแลนด์-โซเวียต

มีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี (รัสเซีย: Михаил Николаевич Тухачевский, อักษรโรมัน: Mikhail Nikolayevich Tukhachevskiy, สัทอักษรสากล: [tʊxɐˈtɕefskʲɪj]; 16 กุมภาพันธ์ [ตามปฎิทินเก่า: 4 กุมภาพันธ์] ค.ศ. 1893 – 12 มิถุนายน ค.ศ. 1937) หรือฉายา นโปเลียนแดง[1] เป็นผู้นำทหารและนักทฤษฎีชาวโซเวียต ผู้เป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียตที่มีบทบาทสำคัญในระหว่าง ค.ศ. 1918 ถึง ค.ศ. 1937 ต่อมาเขาถูกตัดสินประหารชีวิตในการพิจารณาคดีมอสโกเมื่อ ค.ศ. 1936-1938

เขาเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1914–1917 และในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1917–1923 เขาได้รับหน้าที่ในการปกป้องกรุงมอสโก (ค.ศ. 1918) จากนั้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 5 ในแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งเขาได้นำกองทัพเข้าพิชิตไซบีเรียจากอะเลคซันดร์ คอลชัค และต่อมาได้นำกองกำลังคอสแซ็กเข้าต่อสู้กับอันตอน เดนีกิน (ค.ศ. 1920) ในระหว่าง ค.ศ. 1920–1921 เขาเป็นผู้บัญชาการทหารแนวรบตะวันตกในสงครามโปแลนด์–โซเวียต กองทัพโซเวียตในบัญชาการของเขาสามารถขับไล่กองทัพโปแลนด์จากยูเครนตะวันตกได้สำเร็จ แต่กองทัพแดงกลับพ่ายแพ้ศึกที่ชานกรุงวอร์ซอ และสงครามสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของโซเวียต ตูฮาเชฟสกีกล่าวโทษสตาลินสำหรับความพ่ายแพ้ในยุทธการที่วอร์ซอ[2][3][4]

ต่อมาเขาได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบกของกองทัพแดงตั้งแต่ ค.ศ. 1925 ถึง ค.ศ. 1928 จากนั้นเป็นผู้ช่วยในกรมการราษฎรฝ่ายกลาโหมหลังจาก ค.ศ. 1934 และเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกโวลกาใน ค.ศ. 1937 เขาได้รับตำแหน่งจอมพลแห่งสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1935

เขามีส่วนในการพัฒนายุทโธปกรณ์และโครงสร้างกองทัพโซเวียตในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920–1930 รวมถึงยังพัฒนาเครื่องมือในการรบทั้งด้านการบิน ยานยนต์ และกำลังส่งทางอากาศ สำหรับด้านงานทฤษฎี เขาเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังในการพัฒนาทฤษฎีปฏิบัติการทางลึกของโซเวียต ทางการโซเวียตกล่าวหาตูฮาเชว่าเป็นผู้กบฏ และหลังจากที่เขาสารภาพเนื่องจากการทรมาน เขาจึงถูกตัดสินประหารชีวิตใน ค.ศ. 1937 ในช่วงการกวาดล้างใหญ่ ค.ศ. 1936–1938

ชีวิตช่วงแรก[แก้]

ตูฮาเชฟสกี เกิดที่อะเลคซันดรอฟสโคเย เขตซาโฟนอฟสกี (ปัจจุบันคือ แคว้นสโมเลนสค์ ประเทศรัสเซีย) ในครอบครัวยากจนที่มีเชื้อสายขุนนาง[5] ตามเรื่องเล่าระบุว่าครอบครัวของเขาสืบเชื้อสายมาจากเคานต์ชาวเฟลมิชซึ่งติดค้างอยู่ที่เขตตะวันออกในช่วงสงครามครูเสดและพาภรรยาชาวตุรกีเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัสเซีย[6][7] ปู่ทวดของเขาอะเลคซันดร์ ตูฮาเชฟสกี (ค.ศ. 1793–1831) ทำหน้าที่เป็นพันเอกในกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย เขามีเชื้อสายรัสเซีย[8] หลังจากเรียนที่โรงเรียนทหารมอสโกใน ค.ศ. 1912 เขาย้ายไปเรียนที่โรงเรียนการทหารอะเลคซันดรอฟสโคเย และจบการศึกษาใน ค.ศ. 1914 เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาเข้าร่วมกับกรมทหารเซมิออนอฟสกี (กรกฎาคม ค.ศ. 1914) โดยขณะนั้นเขาดำรงยศร้อยตรีและได้พูดว่า:

"ผมเชื่อว่าสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ผมต้องการมีเพียงความกล้าหาญและความมั่นใจในตนเองเท่านั้น แน่นอนผมมีความมั่นใจในตัวเองเพียงพอ ... ผมบอกกับตัวเองว่าผมจะเป็นนายพลตอนสามสิบหรือจนผมจะไม่มีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้น"[9]

เมื่อถูกกองทัพจักรวรรดิเยอรมันจับเป็นเชลยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1915 ตูฮาเชฟสกีหลบหนีออกจากค่ายเชลยศึกสี่ครั้ง ตูฮาเชฟสกีหลบหนีออกจากค่ายเชลยศึกสี่ครั้ง และที่สุดก็ถูกกุมตัวเป็นผู้พยายามหลบหนีซ้ำ ๆ ไว้ที่ป้อมอิงก็อลชตัทในบาวาเรีย[10] ณ ที่นั้น เขาอยู่ห้องขังเดียวกับชาร์ล เดอ โกลล์ ผู้บันทึกไว้ว่า ตูฮาเชฟสกีนำไวโอลินของโกลล์มาบรรเลง พล่ามความเชื่อแบบนิยมการทำลายล้าง และพูดจาต่อต้านชาวยิวซึ่งตูฮาเชฟสกีเรียกว่า เป็นสุนัขที่ "แพร่เห็บหมัดของตัวเองไปทั้งโลก"[11]

การหลบหนีครั้งที่ห้าของตูฮาเชฟสกีเป็นผลสำเร็จ เมื่อข้ามผ่านชายแดนสวิตเซอร์แลนด์–เยอรมนีแล้ว เขากลับถึงรัสเซียในเดือนกันยายน ค.ศ. 1917 และภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ตูฮาเชฟสกีเข้าร่วมบอลเชวิค และได้มีบทบาทสำคัญในกองทัพแดง แม้จะมีเชื้อสายขุนนาง

ช่วงสงครามกลางเมือง[แก้]

ตูฮาเชฟสกีได้กลายเป็นทหารในกองทัพแดงที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วด้วยศักยภาพชั้นเยี่ยม ระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซียเขาได้รับมอบหมายในการปกป้องกรุงมอสโก ต่อมาผู้ตรวจการกลาโหมบอลเชวิคเลออน ทรอตสกี ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 5 ใน ค.ศ. 1919 เขาได้นำกองทัพเข้ายึดครองไซบีเรีย จากกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ฝ่ายขาวของอะเลคซันดร์ คอลชัค[12] ตูฮาเชฟสกีใช้การโจมตีแบบเข้มข้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการเปิดแนวหลังของข้าศึกและข่มขวัญข้าศึกด้วยการล้อม

เขาช่วยนำความพ่ายแพ้มาสู่พลโท อันตอน เดนีกิน ที่ไครเมียใน ค.ศ. 1920 ขณะดำเนินปฏิบัติการสุดท้าย ในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 เขาเรื่มรุกเข้าสู่คูบาน โดยใช้ทหารม้าโจมตีจากด้านหลัง การล่าถอยทำให้กองกำลังของเดนีกินเสียขบวนและถูกกวาดล้างด้วยความรวดเร็วในโนโวรอสซีสค์[13]

ในการล้อมครั้งสุดท้ายของสงครามกลางเมือง ตูฮาเชฟสกีบัญชาการกองทัพที่ 7 ในช่วงปราบปรามกบฎโครนสตัดต์ (Kronstadt rebellion) ในเดือน มีนาคม ค.ศ. 1921 นอกจากนี้เขายังได้รับคำสั่งให้โจมตีสาธารณรัฐตามบอฟ ระหว่าง ค.ศ. 1921–22

ช่วงสงครามโปแลนด์–โซเวียต[แก้]

ทหารโปแลนด์กำลังยึดธงชัยของกองทัพแดงหลังยุทธการที่วอร์ซอ (ค.ศ. 1920)

ตูฮาเชฟสกีนำกองกำลังโซเวียตเข้าบุกโปแลนด์ใน ค.ศ. 1920 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโปแลนด์–โซเวียต ตูฮาเชฟสกีรวมกำลังพลของเขาเข้าใกล้เมืองวีเต็บสค์ ซึ่งเขาขนานนามว่า "ประตูเมืองสู่สโมเลนสค์" เมื่อเขาออกคำสั่งกองทัพให้ข้ามพรมแดน ตูฮาเชฟสกีกล่าวว่า "ชะตากรรมของการปฏิวัติโลกกำลังถูกตัดสินในฝั่งตะวันตก จากการกวาดล้างในโปแลนด์สู่การลุกฮือแห่งสากล ... ถึงวิลนอ, มินสค์ และ วอร์ซอ เดินหน้า !"[14]

นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด เอ็ม. วัตต์ เขียนไว้ว่า "ความกล้าหาญของตูฮาเชฟสกีในการมุ่งหน้าไปยังตะวันตกเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของเขา กองบัญชาการทหารสูงสุดของโซเวียตส่งทหารประมาณ 60,000 คนมาเป็นกำลังเสริม แต่ตูฮาเชฟสกีไม่เคยหยุดรอให้พวกเขาตามทัน การรุกเดินหน้าต่อไปทำให้ต้องทิ้งคนที่ตามไม่ทันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกวัน แต่ตูฮาเชฟสกีไม่สนใจการสูญเสียเหล่านี้ การส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ตกอยู่ในความยุ่งเหยิง ทัพหลังของเขากระจัดกระจาย แต่ตูฮาเชฟสกีก็ไม่แยแส ทำให้คนของเขาต้องหาเสบียงจากแถบนั้นแทน ในวันที่กองทัพของเขายึดเมืองมินสค์สำเร็จ ก็มีเสียงโห่ร้องใหม่ขึ้นว่า "เอาวอร์ซอมาให้เรา !" ตูฮาเชฟสกีมุ่งมั่นที่จะให้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ทุกองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้การดำเนินงานของตูฮาเชฟสกีแสดงถึงพลังความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และ ความใจร้อนของเขา"[15]

แต่กองทัพของเขาพ่ายแพ้ต่อกองทัพโปแลนด์ภายใต้การนำของยูแซฟ ปิวซุดสกีนอกกรุงวอร์ซอ ในช่วงระหว่างสงคราม ตูฮาเชฟสกีเริ่มมีความขัดแย้งกับโจเซฟ สตาลิน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายเป็นเหตุให้การยึดกรุงวอร์ซอของโซเวียตไม่สำเร็จ หลังจากความพ่ายแพ้ ตูฮาเชฟสกีได้กล่าวว่า:

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าเราได้รับชัยชนะบนแม่น้ำวิสตูลา ไฟแห่งการปฏิวัติคงจะลุกโชนไปทั้งทวีป[16]

หนังสือเกี่ยวกับสงครามของเขาได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาโปแลนด์พร้อมกับหนังสือของปิวซุดสกี

การปฏิรูปกองทัพแดง[แก้]

ตูฮาเชฟสกีใน ค.ศ. 1925

นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ไซมอน ซีแบก มอนตีฟิโอรี (Simon Sebag Montefiore) กล่าวว่า สตาลินถือว่าตูฮาเชฟสกีเป็นคู่ปรปักษ์ขมขื่นที่สุดของเขาและขนานนามเขาว่า นโปเลียนชิก (Napoleonchik นโปเลียนน้อย)[17][18] เมื่อสตาลินเป็นผู้นำพรรคใน ค.ศ. 1929 เขาเริ่มได้รับการประณามจากนายทหารอาวุโสซึ่งไม่เห็นด้วยกับทฤษฎียุทธวิธีของตูฮาเชฟสกี จากนั้นใน ค.ศ. 1930 หน่วยอำนวยการการเมืองรัฐร่วมบังคับให้นายทหารสองนายให้การว่าตูฮาเชฟสกีกำลังคบคิดรัฐประหารโค่นโปลิตบูโร

มอนเตฟิโออร์ ซึ่งวิจัยอย่างกว้างขวางในหอจดหมายเหตุโซเวียต กล่าวว่า:

ใน ค.ศ. 1930 นี้อาจเป็นเรื่องอุกอาจมากเกินแม้แต่กับบอลเชวิค สตาลินซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นผู้เผด็จการ สืบสวนพันธมิตรอันทรงพลังของเขา เซียร์โก โรดจอนอีคีดเซ: "เฉพาะโมโลตอฟ ตัวฉันเองและตอนนี้คุณที่รู้ ... มันเป็นไปได้ไหม? เรื่องอะไรกัน! คุยกับโมโลตอฟ ..." อย่างไรก็ตาม เซียร์โกจะไม่ไปไกลถึงเพียงนั้น จะไม่มีการจับกุมและการพิจารณาคดีตูฮาเชฟสกีใน ค.ศ. 1930: ผู้บัญชาการ "กลายเป็นว่ามือสะอาด 100%" สตาลินเขียนถึงโมโลตอฟอย่างไม่ตรงไปตรงมาในเดือนตุลาคม "นั่นดีมาก" น่าสนใจว่าเจ็ดปีก่อนการกวาดล้างใหญ่ สตาลินเคยทดสอบข้อกล่าวหาเดียวกันกับผู้ถูกกล่าวหาคนเดียวกัน - การซ้อมใหญ่สำหรับใน ค.ศ. 1937 แต่เขาไม่ได้รับการสนับสนุน จดหมายเหตุเปิดเผยผลสืบเนื่องที่น่าสนใจ: เมื่อเขาเข้าใจความทันสมัยทะเยอทะยานของยุทธศาสตร์ของตูฮาเชฟสกีแล้ว สตาลินก็ขอโทษเขาว่า "ตอนนี้ปัญหาปรากฏชัดเจนขึ้นต่อฉันแล้ว ฉันจำต้องยอมรับว่าความเห็นของฉันแรงเกินไปและข้อสรุปของฉันไม่ถูกต้องเลย"[19]

ตูฮาเชฟสกีเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการสงครามสมัยใหม่และใน ค.ศ. 1931 หลังสตาลินยอมรับความจำเป็นของกองทัพอุตสาหกรรม ตูฮาเชฟสกีได้รับบทบาทนำในการปฏิรูปกองทัพ เขานำความคิดก้าวหน้าว่าด้วยยุทธศาสตร์การทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถถังและอากาศยานในปฏิบัติการผสมเหล่า

ตูฮาเชฟสกียังมีความสนใจศิลปะ และเป็นผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองและเพื่อนสนิทของนักแต่งเพลงดมีตรี ชอสตโกวิช ทั้งสองพบกันใน ค.ศ. 1925[20] และต่อมาร่วมเล่นดนตรีกัน ณ บ้านจอมพล (ตูฮาเชฟสกีเล่นไวโอลิน) ใน ค.ศ. 1936 ดนตรีของชอสตโกวิชถูกโจมตีหลังปราฟดาประณามอุปรากรเลดีแม็กเบธออฟมตเซนสค์ (Lady Macbeth of Mtsensk) ทว่า ตูฮาเชฟสกีแทรกแซงกับสตาลินแทนเพื่อนเขา หลังการจับกุมตูฮาเชฟสกี มีแรงกดดันต่อชอสตโกวิชให้ประณามเขา แต่เขารอดไม่ต้องทำเช่นนั้นเพราะผู้สืบสวนถูกจับกุมเสียเอง[21]

ทฤษฎีปฏิบัติการทางลึก[แก้]

ตูฮาเชฟสกีมักได้รับความชอบจาก ทฤษฎีปฏิบัติการทางลึก (deep operation) ซึ่งรูปขบวนผสมเหล่าโจมตีลึกหลังแนวรบข้าศึกเพื่อทำลายแนวหลังและลอจิสติกส์ของข้าศึก[22] แต่บทบาทแน่ชัดของเขาไม่ชัดเจน และมีข้อพิพาทเพราะขาดแหล่งที่มาปฐมภูมิ และงานจัดพิมพ์ของเขามีปริมาณทฤษฎีต่อเรื่องจำกัด อาจารย์บางคนในวิทยาลัยการทหารคัดค้านทฤษฎีนี้ กองทัพแดงมักนำทฤษฎีมาในใช้ในกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 ซึ่งแสดงเป็นมโนทัศน์ในระเบียบสนามของกองทัพแดง ค.ศ. 1929 และพัฒนามากขึ้นในคำสั่งการยุทธ์ทางลึก ค.ศ. 1935 สุดท้ายมีการประมวลมโนทัศน์ดังกล่าวเข้าสู่กองทัพใน ค.ศ. 1936 ด้วยระเบียบสนามรบชั่วคราว ค.ศ. 1936 ตัวอย่างแรก ๆ ของศักยภาพของปฏิบัติการทางลึกพบได้จากชัยเหนือญี่ปุ่นของโซเวียตในยุทธการที่ฮาลฮินกอล ซึ่งทหารโซเวียตภายใต้บังคับบัญชาของเกออร์กี จูคอฟพิชิตกองทัพญี่ปุ่นที่ฮาลฮินกอลในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1939

มักกล่าวว่าการกวาดล้างเหล่านายทหารกองทัพแดงอย่างกว้างขวางใน ค.ศ. 1937–39 ทำให้ปฏิบัติการทางลึกเสื่อมความนิยมชั่วคราว[23] อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการทางลึกเป็นส่วนสำคัญของหลักนิยมโซเวียตอย่างแน่นอนหลังมีการแสดงประสิทธิภาพในยุทธการที่ฮาลฮินกอล[24]: 5  และความสำเร็จของปฏิบัติการของเยอรมันที่คล้ายกันในโปแลนด์และฝรั่งเศส[25]: 44  มีการใช้ปฏิบัติการทางลึกอย่างประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองซึงนำมาสู่ชัยชนะในยุทธการที่สตาลินกราด[24]: 11  และปฏิบัติการบากราติออน[26]: 17 

จุดจบ[แก้]

ใน ค.ศ. 1935 ตูฮาเชฟสกีได้รับเลื่อนยศเป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียต ตอนที่เขาอายุ 42 ปี และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1936 ตูฮาเชฟสกีได้มีโอกาสเยือนสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี

ก่อนถูกจับ ตูฮาเชฟสกีถูกปลดออกจากหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยแม่ทัพคลีเมนต์ โวโรชีลอฟ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารโวลกา[27] ไม่นานหลังคำสั่งใหม่ตูฮาเชฟสกีถูกจับกุมอย่างลับ ๆ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 และนำกลับไปยังกรุงมอสโกในรถตู้เรือนจำ[28]

การสอบปากคำและทรมานตูฮาเชฟสกี ได้รับการกำกับดูแลโดยตรงโดยหัวหน้า NKVD นีโคไล เยจอฟ โดยสตาลินสั่งเยจอฟว่า "เห็นด้วยตัวคุณเอง แต่ต้องบังคับตูฮาเชฟสกีให้บอกทุกอย่าง ... มันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะลงมือคนเดียว"[18]

มอนเตฟิโออร์ กล่าวว่า ไม่กี่วันต่อมาขณะที่เยจอฟพึมพำออกมาจากห้องทำงานของสตาลิน ตูฮาเชฟสกีก็รับสารภาพว่า อะเวล เยนูคีดเซที่สมัครเป็นนายทหารใน ค.ศ. 1928 เป็นสายลับจากเยอรมนีซึ่งร่วมมือกับนีโคไล บูคารินเพื่อโค่นอำนาจของสตาลิน เอกสารสีน้ำตาลซึ่งเป็นคำสารภาพของตูฮาเชฟสกีตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่พบในภายหลังพบว่ามีรอยเลือดติดอยู่[29]

สตาลินให้ความเห็นว่า "เป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นความจริงที่พวกเขายอมรับ"[29]

เอกสารคำสารภาพปลอมของตูฮาเชฟสกีที่พวกเยจอฟได้จัดทำขึ้น

วันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1937 ศาลสูงสุดโซเวียตเรียกประชุมคณะตุลาการทหารพิเศษเพื่อพิจารณาตูฮาเชฟสกีและนายพลแปดคนในข้อหากบฏ การพิจารณาดังกล่าวได้ชื่อว่า คดีองค์การทหารทรอตสกีอิสต์ต่อต้านโซเวียต เมื่อตูฮาเชฟสกีฟังข้อกล่าวหาแล้ว มีผู้ได้ยินเขากล่าวว่า "รู้สึกเหมือนฝันไป"[30] ตุลาการส่วนใหญ่ก็รู้สึกตระหนก มีผู้ได้ยินตุลาการคนหนึ่งออกความเห็นว่า "พรุ่งนี้ ผมคงโดนจับไปอยู่ที่เดียวกันนั้น"[30] (นายทหารแปดคนที่เป็นตุลาการในองค์คณะดังกล่าว มีห้าคนโดนประหารในภายหลัง) มีการอธิบายให้ผู้ถูกกล่าวหาฟังว่า การพิจารณาคดีเป็นไปตามกฎหมายฉบับวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1934 จึงห้ามทนายจำเลยเข้าห้องพิจารณา และห้ามอุทธรณ์คำตัดสิน[31]

เวลา 23:35 น. ของวันนั้น จำเลยทั้งหมดถูกตัดสินว่ามีความผิดและให้ประหารชีวิต สตาลิน ซึ่งรอฟังคำตัดสินพร้อมกับโมโลตอฟ คากาโนวิช และเยจอฟ กล่าวเพียงว่า "อนุมัติ" แม้ยังไม่ได้ดูบันทึกคำตัดสิน[30]

ภายในชั่วโมงนั้น ร้อยเอก วาซีลี โบลฮิน หัวหน้าหน่วย NKVD เรียกตูฮาเชฟสกีออกจากห้องขัง แล้วอดีตจอมพลผู้นี้ก็ถูกประหารด้วยการยิงนัดเดียวเข้าที่หลังศีรษะ โดยมีเยจอฟเป็นสักขีพยาน[32]

ทันทีหลังจากนั้นเยจอฟถูกสตาลินเรียกไปเข้าพบ สตาลินถามเยจอฟว่า "คำพูดสุดท้ายของตูฮาเชฟสกีคืออะไร"[30] เยจอฟตอบสตาลินว่า "เจ้างูบอกว่า เขาได้อุทิศตนเพื่อแผ่นดิน และ สหายสตาลิน เขาขอให้อภัยเขา แต่เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ได้เป็นคนตรงไปตรงมา เขาไม่ยอมวางมือ"[30]

มอนเตฟิโออร์กล่าวว่า สตาลินทราบมาตลอดว่ากองทัพแดงเป็นสถาบันเดียวที่สามารถต่อต้านการแสวงอำนาจเด็ดขาดของเขาได้ ความหวาดระแวงของสตาลินเกี่ยวกับการโค่นล้มภายในและความเชื่อมั่นในความสามารถไม่มีข้อผิดพลาดในการตรวจจับผู้ทรยศของเขาก็ทำให้มันเกิดขึ้น สตาลิน เยจอฟ และโวโรชีลอฟจัดการจับกุมและประหารชีวิตนายทหารโซเวียตหลายพันคนหลังตูฮาเชฟสกีถูกยิง ในที่สุด ห้าจากแปดนายพลที่เฝ้าดู "การพิจารณาคดีตูฮาเชฟสกี " ถูก NKVD จับกุมและยิงเช่นกัน[33]

ภายหลัง[แก้]

ตูฮาเชฟสกีบนชุดแสตมป์จอมพลของสหภาพโซเวียต ค.ศ. 1963

สมาชิกครอบครัวของตูฮาเชฟสกีเดือดร้อนหลังจากการประหารชีวิตเขา ภรรยาเขา (นีนา ตูฮาเชฟสกี) และพี่เขา อะเลคซันดร์และนีโคไล (ทั้งคู่เป็นอาจารย์ในวิทยาลัยการทหารโซเวียต) ถูกยิงหมด พี่สาวน้องสาวสามคนถูกส่งไปกูลัก ลูกสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของเขาถูกจับกุมเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่และอยู่ในกูลักจนคริสต์ทศวรรษ 1950 เธออาศัยอยู่ในกรุงมอสโกหลังได้รับการปล่อยตัวและเสียชีวิตใน ค.ศ. 1982[34]

ก่อนสุนทรพจน์ลับของนิกิตา ครุสชอฟใน ค.ศ. 1956 ตูฮาเชฟสกีถูกมองว่าเป็นฟาสซิสต์และแนวที่ห้าอย่างเป็นทางการ นักการทูตโซเวียตและผู้แก้ต่างในโลกตะวันตกเผยแพร่ความเห็นนี้อย่างกระตือรือร้น แล้วในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1957 ตูฮาเชฟสกีและจำเลยร่วมได้รับประกาศว่าบริสุทธิ์ทุกข้อกล่าวหาและได้รับการ "กู้ชื่อเสียง"

แม้แทบทุกคนถือว่าการฟ้องคดีตูฮาเชฟสกีเป็นเรื่องลวง แต่แรงจูงใจของสตาลินยังมีการถกเถียงอยู่ ในหนังสือ เดอะเกรตแทร์เรอร์ (The Great Terror) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1968 ของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ รอเบิร์ต คอนเควสต์ (Robert Conquest) เขากล่าวหาไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์และไรน์ฮาร์ด ฮายดริช ผู้นำพรรคนาซี ว่าปลอมเอกสาร คองเควสกล่าวว่าเอกสารเหล่านี้รั่วไหลสู่ประธานาธิบดี Edvard Beneš แห่งเชโกสโลวาเกียซึ่งส่งให้โซเวียตรัสเซียผ่านทางช่องทางการทูต ทฤษฎีการสมรู้ร่วมคิดของเอสเอสเพื่อกล่าวหาตูฮาเชฟสกีของคองเควสยึดตามบันทึกความทรงจำของวัลเทอร์ เชลเลนเบิร์กและ Beneš[35]

ใน ค.ศ. 1989 โปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตประกาศว่า พบหลักฐานใหม่ในจดหมายเหตุของสตาลินบ่งชี้ว่าเจตนารมณ์ของข่าวกรองเยอรมนีในการแต่งสารสนเทศเท็จเกี่ยวกับตูฮาเชฟสกีมีเป้าหมายกำจัดเขา[36]

ตามความเห็นของ ลูค อีกอร์ ซึ่งทำการศึกษาเรื่องนี้ เป็นสตาลิน คากาโนวิชและเยจอฟที่กุ "กบฏ" ของตูฮาเชฟสกีเอง เยจอฟสั่งให้สายลับสองหน้า นีโคไล สโคบลิน นำแผนคบคิดรั่วไปซีเชอร์ไฮซดีนสท์ (SD) เพื่อกุสารสนเทศที่เสนอแผนคบคิดของตูฮาเชฟสกีและแม่ทัพโซเวียตคนอื่นต่อสตาลิน[35]

เมื่อสบโอกาส ฮายดริชดำเนินการเกี่ยวกับสารสนเทศดังกล่าวทันทีและลงมือปรับปรุงสารสนเทศนั้น การปลอมแปลงของฮายดริช ซึ่งต่อมามีการปล่อยปล่อยให้โซเวียตผ่าน Beneš และประเทศเป็นกลางอื่น ทำให้ซีเชอร์ไฮซดีนสท์เชื่อว่าฝ่ายตนหลอกสตาลินให้ประหารชีวิตแม่ทัพยอดเยี่ยมของเขาได้สำเร็จ แต่ความเป็นจริงเพียงถูกใช้เป็นเบี้ยของ NKVD โซเวียตอย่างไม่รู้ตัว แต่การปลอมแปลงของฮายดริชไม่ถูกใช้ในการพิจารณาคดี เพราะผู้สอบสวนของโซเวียตใช้ "คำสารภาพ" ลงลายมือชื่อที่ทุบตีเอาจากจำเลยแทน[35]

ใน ค.ศ. 1956 ผู้แปรพักตร์จาก NKVD อะเลคซันดร์ มีฮาอิโลวิช ออร์ลอฟจัดพิพม์บทความในนิตยสาร ไลฟ์ "ความลับน่าสนใจเบื้องหลังการสาปแช่งสตาลิน" เรื่องนี้เล่าว่าเจ้าหน้าที่ NKVD พบเอกสารในหอจดหมายเหตุโอฮรานา (Okhrana) สมัยซาร์ซึ่งพิสูจน์ว่าสตาลินเคยเป็นสายลับ จากความรู้นี้ เจ้าหน้าที่ NKVD วางแผนรัฐประหารกับตูฮาเชฟสกีและนายทหารอาวุโสอื่นในกองทัพแดง ตามข้อมูลของออร์ลอฟ สตาลินค้นพบการสมรู้ร่วมคิดแล้วใช้เยจอฟประหารชีวิตผู้รับผิดชอบ

มอนเตฟิโออร์ ซึ่งวิจัยอย่างกว้างขวางในหอจดหมายเหตุโซเวียต กล่าวว่า

สตาลินไม่จำเป็นต้องใช้สารสนเทศเท็จของนาซีหรือเอกสารลับโอฮรานา เพื่อชักจูงให้เขาทำลายตูฮาเชฟสกี ถึงอย่างไรเขาก็เล่นกับความคิดนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1930 สามปีก่อนที่ฮิตเลอร์เถลิงอำนาจ นอกจากนี้สตาลินและพรรคพวกของเขายังเชื่อมั่นว่าจะต้องไม่ไว้ใจนายทหารและต้องกำจัดโดยทิ้งความสงสัยน้อยที่สุด เขาระลึกถึงโวโรชิลอฟในบันทึกไม่ลงวันที่ เกี่ยวกับนายทหารที่ถูกจับกุมในฤดูร้อน ค.ศ. 1918 "นายทหารพวกนี้" เขาว่า "เราอยากยิงทิ้งให้หมด" ไม่มีอะไรเปลี่ยน[37]

มอนเตฟิโออร์ยังกล่าวอีกว่า เพื่อนสนิทที่สตาลินไวใจ ลาซาร์ คากาโนวิช พูดติดตลกว่า "ตูฮาเชฟสกีซ่อนคทาของนโปเลียนไว้ในกระเป๋าเป้สะพายหลัง"[18]

เครื่องอิสริยาภรณ์[แก้]

จักรวรรดิรัสเซีย
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนน์[38]
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์สตานิสลาวา[38]
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์วลาดีมีร์[38]
สหภาพโซเวียต

อ้างอิง[แก้]

  1. Котельников, Константин (November 11, 2022). ""Красный Наполеон" Михаил Тухачевский". Diletant (Дилетант).
  2. Brackman, Roman (23 November 2004). The Secret File of Joseph Stalin: A Hidden Life (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-135-75840-0.
  3. Grey, Ian (1979). Stalin, Man of History (ภาษาอังกฤษ). Doubleday. p. 482. ISBN 978-0-385-14333-2.
  4. Davies, Norman (31 May 2001). Heart of Europe: The Past in Poland's Present (ภาษาอังกฤษ). OUP Oxford. p. 103. ISBN 978-0-19-164713-0.
  5. Simon Sebag Montefiore, Stalin: Court of the Red Tsar, page 252.
  6. Norman Davies, White Eagle, Red Star: The Polish-Soviet War 1919-20, page 130.
  7. https://www.marxists.org/history/ussr/government/red-army/1937/wollenberg-red-army/ch03.htm
  8. "Жертвы политического террора в СССР". Lists.memo.ru. สืบค้นเมื่อ 2013-06-12.
  9. The Red Army - Page 111 - by Michel Berchin, Eliahu Ben-Horin - 1942
  10. Weintraub, Stanley. A Stillness Heard Round the World. Truman Talley Books, 1985, p. 340
  11. The General: Charles De Gaulle and the France He Saved by Jonathan Fenby p68
  12. Каппель и каппелевцы. 2-е изд., испр. и доп. — М.: НП «Посев», 2007. — С. 61. — ISBN 978-5-85824-174-4
  13. Гражданская война в СССР, т. 2. — С. 204.
  14. Richard M. Watt (1979), Bitter Glory: Poland and Its Fate, 1918-1939, Simon & Schuster, New York. Page 126.
  15. Watt (1979), page 128.
  16. A century's journey: how the great powers shape the world - Page 175 - by Robert A. Pastor, Stanley Hoffmann - Political Science - 1999.
  17. Stalin: The Court of the Red Tsar, pages 221-222.
  18. 18.0 18.1 18.2 Stalin: The Court of the Red Tsar, page 222.
  19. Stalin: The Court of the Red Tsar, page 59.
  20. Elizabeth Wilson, Shostakovich: a Life Remembered, p. 39.
  21. Elizabeth Wilson, pp. 124-5.
  22. Alexander Vasilevsky The Case of All My Life (Дело всей жизни). 3d ed. Политиздат, 1978 Chapter8 เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (รัสเซีย)
  23. Sebag, Simon. "31". Stalin: The Court of the Red Tsar. p. 342. ISBN 978-1-4000-7678-9.
  24. 24.0 24.1 Vlakancic, Peter J (1992). "Marshal Tukhachevsky and the "Deep Battle" : an analysis of operational level Soviet tank and mechanized doctrine, 1935-1945" (PDF). Arlington, VA. : Association of the United States Army, 1992. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  25. Glantz, David M. "Chapter 6: Operational art, 1965-1991". The Evolution of Soviet Operational Art, 1927-1991. p. 44. ISBN 978-0714642291.
  26. Watt, Robert N. (December 2008). "Feeling the Full Force of a Four Front Offensive: Re-Interpreting the Red Army's 1944 Belorussian and L'vov-Peremshyl' Operations". The Journal of Slavic Military Studies. Routledge Taylor & Francis Group. 21 (4): 670. doi:10.1080/13518040802497564.
  27. Fyodor Mikhailovich Sergeyev, Tainye operatsii natsistskoi razvediki, 1933-1945 (In Russian). Moscow: Politizdat, 1991. ISBN 5-250-00797-X: p.18
  28. Barmine, Alexander, One Who Survived, New York: G. P. Putnam (1945), pp. 7-8
  29. 29.0 29.1 Stalin: Court of the Red Tsar, page 223.
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 30.4 Stalin: Court of the Red Tsar, page 225.
  31. Sergeyev (1991) : p. 20
  32. Donald Rayfield, Donald (2005). Stalin and His Hangmen: the tyrant and those who killed for him. Random House. pp. 322–325.
  33. Barmine, Alexander, One Who Survived, New York: G.P. Putnam (1945), p. 322
  34. Sergeyev (1991) : p.44
  35. 35.0 35.1 35.2 Lukes, Igor, Czechoslovakia Between Stalin and Hitler: The Diplomacy of Edvard Beneš in the 1930s, Oxford University Press (1996), ISBN 0-19-510267-3, ISBN 978-0-19-510267-3, p. 95
  36. Sergeyev (1991) : p. 3
  37. Montefiore, Stalin: Court of the Red Tsar, page 226.
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 38.4 38.5 Информация по дореволюционным наградам приведена в статье: Шабанов В. М. «В свой полк из плена через шесть границ»//Военно-исторический журнал, 1996, № 5. — Стр.90-92. Там же приведены ссылки на документы Российского государственного военно-исторического архива.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Agricola, Kurt. Der Rote Marschall: Tuchatschewskis Aufstieg und Fall. Vol. 5, Berlin: Die Wehrmacht, 1939.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]