ประวัติศาสตร์มวยไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การแข่งมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่งในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์มวยไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอพยพของประชากรที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน บนฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง ของประเทศจีน โดยตามตำนานของไทย เชื่อว่ามีผู้คนจำนวนมากที่เดินทางออกจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มาสู่ประเทศไทย เพื่อค้นหาที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการเกษตร อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการโยกย้ายของพวกเขา ชาวไทยกลุ่มนี้ได้ถูกโจมตีโดยโจรและสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีโรคต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญ เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันร่างกายและจิตใจ, การรับมือกับความทุกข์ยาก ชาวไทยสยามจึงได้คิดค้นวิธีการต่อสู้ โดยในเบื้องต้น ได้มีการเรียกกันในชื่อฉุปศาสตร์[1]

แม้ว่าการจัดเก็บเอกสารตำราทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะสูญหายไปเมื่อครั้งที่ถูกกองทัพพม่าทำลาย และขับไล่ออกจากเมืองอยุธยาในสมัยสงครามพม่า-ไทย (พ.ศ. 2302–2303) แต่เราก็ยังสามารถพบได้จากบันทึกของพม่า, กัมพูชา และจากชาวยุโรปเมื่อครั้งมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก รวมถึงจากบันทึกเหตุการณ์ของล้านนา หรือเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน[1][2]

สมัยหริภุญชัย[แก้]

ต้นกำเนิดมวยสืบย้อนไปได้ถึง พ.ศ. 1200 สมัยหริภุญชัย[3] มีพระฤๅษีนามว่า พระฤๅษีสุกกะทันตะ เป็นพระอาจารย์ผู้สั่งสอนวิทยาธรรมะและศิลปศาสตร์สำหรับผู้ปกครองแคว้น และขุนนางแม่ทัพนายกองต่อมาได้ตั้งสำนักเรียน ณ เขาสมอคอน เมืองลวะปุระ หรือละโว้[3]: 17, 151  (อาศรมของพระฤๅษีสุกกะทันตะในปัจจุบันเข้าชมได้ที่วัดเขาสมอคอน จังหวัดลพบุรี)

วิชาของพระฤๅษีสุกกะทันตะมีชื่อว่า มัยศาสตร์[3]: 18  (มาจาก มัย + ศาสตระ) แปลว่า วิชาที่ฝึกเพื่อให้สำเร็จ คำที่มีความหมายตรงกัน คือ Mai Śāstra (กันนาดา: ಮೈಶಾಸ್ತ್ರ, อักษรโรมัน: Mai Śāstra) คำ ಮೈ (Mai)[4] แปลว่า ความกล้าหาญ การกล้าเผชิญอันตราย คำ ಶಾಸ್ತ್ರ (Śāstra)[5] แปลว่า คู่มือ ความรู้ การศึกษา หรือหลักการ ซึ่งวิชามัยศาสตร์ประกอบด้วยวิชามวย วิชาดาบ วิชาธนู วิชาบังคับช้างและม้าสำหรับฝึกฝนเพื่อใช้ป้องกันตัวและการศึกสงคราม

ศิษย์ของพระฤๅษีสุกกะทันตะที่สำคัญเช่น พญามังรายผู้ครองแคว้นล้านนา พญางำเมืองผู้ครองแคว้นพะเยา พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย[3]: 151 

สมัยน่านเจ้า[แก้]

สมัยน่านเจ้า นับเป็นจุดแรกเริ่มของการรวมกลุ่มคนไทย[3]: 21  มีการทำสงครามกับจีนเป็นเวลานานจึงมีการฝึกใช้อาวุธและการต่อสู้ด้วยมือเปล่า วิชามวยไทยจึงมีจุดเริ่มต้นมาจากวิชาเจิงคล้ายกับมวยจีนชื่อ เล่ยไถ (จีน: 擂台) ในสมัยราชวงศ์ซ่งตรงกับสมัยน่านเจ้า กล่าวคือ เป็นวิชาร่ายรำเรียกว่า ฟ้อนเจิง[3]: 21  โดยรำตามกระบวนท่าทั้งแบบมีอาวุธและมือเปล่า เช่น ฟ้อนเจิงหอก (ฟ้อนด้วยอาวุธหอก) ฟ้อนเจิงดาบ (ฟ้อนด้วยอาวุธดาบ) ฟ้อนเจิงลา (ฟ้อนมือเปล่า) เป็นต้น ในอดีตก่อนเรียนฟ้อนเจิงจะต้องผ่านการทดสอบจากครูผู้สอนโดยดูวิธีการเชือดไก่จะต้องให้ไก่ตายภายในเส้นที่ขีดไว้ หรือฝึกความอดทนโดยให้เดินฝ่าดงหญ้าพร้อมดาบคนละเล่มแล้วครูผู้สอนจะดูอุปนิสัยของแต่ละคน[3]: 22  การฟ้อนเจิงจัดเป็นนาฏศิลป์ไทยล้านนาที่ยังมีมาถึงปัจจุบัน ส่วนครูผู้สอนวิชาเจิงที่มีชื่อเสียงที่สุดของล้านนาในปัจจุบัน คือ พ่อครูปวน คำมาแดง แต่ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อ พ.ศ. 2500[3]: 26 

สมัยโยนก[แก้]

สมัยโยนก ว่าเป็นอาณาจักรแรกที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนไทยภายใต้ผู้นำแคว้น คือ พระเจ้าลวะจักราช (ปู่เจ้าลาวจก) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ[3]: 29  ศ.เกียรติคุณสวัสวดี อ๋องสกุล กล่าวว่า พระเจ้าลวะจักราชเป็นขุนลัวะสืบเชื้อสายไตอ้ายหลาว (จีน: 哀牢) มาตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงดอยตุงมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบซึ่งเป็นคนไท รับวัฒนธรรมไท พูดภาษาไท และนับถือพุทธศาสนา ควรถือว่าเป็นไท[6] ต่อมาราชวงศ์มังรายของอาณาจักรล้านนาซึ่งสืบเชื้อสายจากพระเจ้าลวจักราชมีอำนาจมากขึ้นจึงได้ทำศึกสงครามกับพวกขอม และคนไทยก็ขยายอำนาจลงมายังแผ่นดินลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยภายใต้ผู้นำแค้วน คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ซึ่งพระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าพรหมมหาราช ราชวงศ์สิงหนวัติ

พระเจ้าลวะจักราช ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา

สมัยล้านนา[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 1839 พญามังรายผู้ครองอาณาจักรล้านนาทรงตรากฏหมายชื่อ มังรายศาสตร์[3]: 30  จารลงใบลาน เป็นกฎหมายมังรายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏคำที่เกี่ยวกับมวย[3]: 30  คือ เหตุคนผิดกัน 18 ประการ ในประการที่ 7 ระบุว่า ชกต่อย หรือทุบตีกัน เข้าใจว่ามังรายศาสตร์เป็นกฎหมายที่ปรับปรุงมาจากพระธรรมศาสตร์ของรามัญ[7]

มังรายศาสตร์ ฉบับปริวรรต:-

พระญามังรายเจ้า จิ่งตั้งอาชญาไว้ เพื่อหื้อท้าวพระญาทังหลาย อันเปนลูก หลาน เหลน หลีด หลี้ แลเสนาอามายตย์ฝูงแต่งบ้านปองเมืองสืบไพ หื้อรู้อันผิดอันชอบ ดังนี้ ฯ [..] คนทังหลายในโลกนี้ จักผิดกันด้วยเหตุ ๑๘ ประการ ดังนี้ คือ [..] ด้วยอันตีกัน ๗[8]

สมัยสุโขทัย[แก้]

เมืองหลวงของประเทศไทยในช่วงนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1781 ถึง พ.ศ. 1951 ตามรายการที่บันทึกไว้ในศิลา สุโขทัยมีความขัดแย้งกับหลายเมืองที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมักจะเผชิญหน้ากับข้าศึกจากภูมิภาคต่าง ๆ ดังนั้น ทางเมืองสุโขทัยจึงมีคำสั่งให้มีการฝึกฝนในกองทัพ รวมถึงการใช้ดาบ, หอก และอาวุธอื่น ๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ นอกจากนี้ การฝึกต่อสู้โดยใช้ร่างกายมีประโยชน์มากในยามบ้านเมืองไม่มีสงคราม ทักษะการต่อสู้ด้วยการใช้หมัด, เข่า และศอก ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกซ้อมของกองทัพสุโขทัย[2][9] ซึ่งการรบสมัยสุโขทัยจะเป็นลักษณะประจัญบาน คือ รบแบบตะลุมบอน และรบแบบแอบซุ่มโจมตี การฝึกมวยไทยสมัยนั้นมีทั้งฝึกตามสำนักต่าง ๆ อาทิ สำนักหลวง เช่น สำนักราชบัณฑิต (สำหรับเจ้านายและขุนนาง) สำนักราษฎร์ เช่น วัดต่าง ๆ (ขุนนางและประชาชนทั่วไป)[3]: 18 

ในยามสงบ การฝึกมวยไทยจะเป็นกิจกรรมแบบไม่แบ่งชนชั้น โดยบรรดาชายไทยวัยหนุ่มจะได้รับทักษะการต่อสู้และป้องกันตัว ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อนเข้ารับราชการทหาร[2] ศูนย์ฝึกซ้อมส่วนใหญ่จัดขึ้นที่บริเวณรอบเมือง โดยเฉพาะสำนักสมอคร ในแขวงเมืองลพบุรี รวมถึงมีการสอนตามลานวัด โดยมีพระภิกษุเป็นผู้ฝึกสอน[9]

ในช่วงเวลานี้ มวยไทยได้รับการยกย่องเป็นศิลปะชั้นสูงทางสังคม และนำมาใช้จริง ในการพัฒนาสมรรถภาพทางกายแก่นักรบ, การสร้างความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญต่อผู้ปกครองบ้านเมือง[2] พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกของสุโขทัย ทรงเชื่อมั่นในประโยชน์ของมวยไทย จึงส่งราชโอรสสองพระองค์ไปยังสำนักสมอคร คือ พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบทอดราชบัลลังก์

พงศาวดารโยนก กล่าวว่า:-

พระยางำเมืองเจ้านครพะเยาตนนี้ เป็นบุตรพระยามิ่งเมืองผู้ครองเมืองพะเยาลำดับที่ ๙ ตั้งแต่ขุนจอมธรรมเป็นต้นมา [...] เมื่อเจริญชนมายุได้ ๑๔ ปี ได้เรียนศาสตรเพทกับเทพอิสิตนอยู่ ณ ภูเขาดอยด้วน ครั้นชนมายุได้ ๑๖ ปี ไปเรียนศิลปในสำนักพระสุกทันตฤๅษี ณ กรุงละโว้ อาจารย์เดียวกันกับสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย เหตุดังนั้นพระยางำเมืองกับสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยจึงได้เป็นสหายแก่กัน[10]

ระหว่างปี พ.ศ. 1818 ถึง 1860 พ่อขุนรามคำแหงทรงนิพนธ์ตำหรับพิชัยสงคราม ที่มีการกล่าวถึงมวยไทย เช่นเดียวกับทักษะการต่อสู้อื่น ๆ[3]: 40 [9] นอกจากนี้พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เมื่อครั้งยังทรงพระเยาวน์นอกจากจะได้ศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตในพระราชวังแล้ว พระองค์ทรงต้องฝึกวิชาปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมือเปล่า เช่น มวยไทย รวมถึงการใช้อาวุธ อาทิ ดาบ หอก มีด โล่ ธนู เป็นต้น[3]: 40 

สมัยกรุงศรีอยุธยา[แก้]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งองค์พระนเรศวรมหาราช

สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1988 ถึง พ.ศ. 2310 ในช่วงนี้มีสงครามจำนวนมากระหว่างไทย, พม่า และกัมพูชา[2] จึงได้มีการฝึกพัฒนาทักษะด้านมวยไทยเพื่อการป้องกันตัว อาจารย์ผู้ถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้นี้ให้แก่ชาวไทยไม่ได้มีจำกัดเฉพาะในพระบรมมหาราชวังดังเช่นก่อนหน้านี้[9] โดยมีสำนักดาบพุทไธสวรรย์ ที่ได้รับความนิยมในสมัยนี้ มีนักเรียนหลายคนเข้ามาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย พวกเขาฝึกวิชาดาบ และการต่อสู้ระยะประชิด ด้วยดาบหวาย จากการเรียนรู้การต่อสู้โดยไม่ใช้อาวุธของทหารนี้เอง ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้มวยไทยโบราณ ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมของมวยไทย โดยสำนักมวยไทยในยุคนั้น ได้เริ่มถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ประชาชน[2]

ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตราพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1988 มีกรมหนึ่งชื่อ กรมนักมวย สังกัดในกรมทนายเลือกฝ่ายซ้ายและขวา ตำแหน่งเจ้ากรม คือ ขุนภักดีอาสา และขุนโยธาภักดี กรมนักมวยมีความหมายตามพจนานุกรมว่า นักมวยสำหรับป้องกันพระเจ้าแผ่นดิน ชื่อกรม ๆ หนึ่งสำหรับกำกับมวย มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ในระยะประชิดโดยไม่ใช้อาวุธนอกเหนือจากมือเปล่าและอยู่เวรในพระราชวัง พระเจ้าแผ่นดินทรงคัดเลือกนักมวยมีฝีมือ ร่างกายล่ำสัน แข็งแรงเข้ามาเป็นทหารรักษาพระองค์[11]

สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133–2147)[แก้]

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงให้ความสำคัญต่อมวยไทยอย่างยิ่ง โดยให้การฝึกแก่บรรดาชายหนุ่ม เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านมวยไทยทั้งในแง่ของความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในตนเอง พวกเขาได้รับคำสั่งให้เรียนรู้การต่อสู้ด้วยอาวุธทุกชนิด นอกจากนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงแต่งตั้งกองเสือป่าแมวมอง ซึ่งเป็นหน่วยรบแบบกองโจร[2] โดยกองทหารเหล่านี้ สามารถกอบกู้เอกราชของประเทศไทยจากประเทศพม่าได้ในช่วงเวลาดังกล่าว[9][12]

สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148–2153)[แก้]

มีกฎหมายที่เกี่ยวกับมวย ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ชื่อ พระอัยการเบ็ดเสร็จ มีมาตราหนึ่งระบุว่า:-

117 มาตราหนึ่ง ชนชั้นสองเป็นเอกจิกเอกฉันท์ตีมวยด้วยกันก็ดี แลปล้ำกันก็ดี แลผู้หนึ่งต้องเจ็บปวดก็ดี ขั้นหักถึงแก่มรณภาพก็ดี ท่านว่าหามีโทษมิได้…[13]

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2147–2233)[แก้]

ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีแต่ความสงบสุข จึงทำให้มีโอกาสในการพัฒนาสังคม, เศรษฐกิจ และการทหารแห่งราชอาณาจักร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมวยไทย ที่ได้กลายเป็นกีฬาประจำชาติ ในช่วงเวลานี้ ได้มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายแห่ง[2] ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่ในการฝึกโดยเฉพาะ โดยการสร้างสังเวียนมวยและลานดิน ซึ่งมีเชือกเพียงเส้นเดียวกั้น และมีกฎกติการการแข่งขัน ในบริเวณสี่เหลี่ยมจัตุรัส[9] นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินให้แข็งเพื่อพันข้อมือ วิธีการเช่นนี้จึงได้รับการเรียกกันในชื่อคาดเชือก (การใช้เชือกพัน) หรือที่รู้จักกันในชื่อมวยคาดเชือก (การต่อสู้กันโดยมีเชือกพัน)[2][9]

จดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวถึงความนิยมชกมวยว่าในสมัยอยุธยามีการชกมวย หมัด ศอก เข่า และเท้า ผู้คนนิยมกันมาก จนบางคนก็ยึดเป็นอาชีพ:-[3] : 59 

La lutte, & le combat à coups de poing ou de coude y ſont des mêtiers de batteleur.[14]

(คำแปล): การชกมวยปล้ำและรำกระบี่กระบองบ้าง ก็เป็นสักแต่ว่าทางหากินเลี้ยงชีพ[15]

— ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (ค.ศ. 1687) (พระนิพนธ์แปลโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์), Du Royaume de Siam : Envoyé extraordinaire du ROY auprès du Roy de Siam en 1687 & 1688.

และกล่าวถึงลักษณะการชกมวยไทยไว้ว่ามีการชกมวยกันกลางพื้นดินใช้เชือกกั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยไม่สวมนวมแต่ถักหมัดด้วยด้ายดิบ[3]: 61 

สมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2231–2246)[แก้]

มีบันทึกเกี่ยวกับมวยในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาว่าได้ใช้มวยสำหรับรับศึกกับฝรั่งเศสที่อาจมายึดเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าของกรุงศรีอยุธยาในตอนนั้น[16]

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2241 กรุงศรีอยุธยาทราบข่าวว่า ที่อินเดียมีเรืออังกฤษมาจอดเทียบท่าหลายลำ ต่อมามีนายเรือชาวดัตช์คนหนึ่งมาแจ้งข่าวต่อกรุงศรีอยุธยาว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสแล่นผ่านแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) มาแล้ว และกองทัพเรือฝรั่งเศสจะมายึดเมืองปุฑุเจรี (เมืองพอนดิเชอร์รี) ที่อินเดีย และอาจเป็นไปได้ว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสจะมายึดเมืองมะริดของกรุงศรีอยุธยาด้วย เป็นเหตุให้สมเด็จพระเพทราชาทรงวิตกกังวลหลังจากทรงทราบข่าวแม้ว่ายุโรปได้ทำหนังสือสัญญาสงบศึกแล้วก็ตาม สมเด็จพระเพทราชาจึงทรงเกณฑ์คนให้มีการฝึกหัดการต่อสู้เพื่อเตรียมรับศึกสงคราม อาทิ หัดมวยปล้ำ ต่อยมวย กระบี่กระบอง และฝึกหัดทักษะการต่อสู้ต่าง ๆ[16]

จดหมายมองซิเออร์โบรด์ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ กรุงศรีอยุธยา วันที่ ๙ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒) กล่าวว่า:-

ข่าวอันนี้ได้ทำให้ข้าราชการในราชสำนักตกใจเป็นอันมาก พระเจ้ากรุงสยามจึงได้ตั้งต้นเกณฑ์คนฝึกหัดการต่าง ๆ บางทีหัดให้ปล้ำกัน บางทีหัดให้ต่อยมวย บางทีหัดกระบี่กระบอง และหัดการต่าง ๆ ชนิดนี้อีกหลายอย่าง การฝึกเหล่านี้ได้ทำให้ขุนนางข้าราชการมีงานมากขึ้น[16]

สมัยสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พ.ศ. 2246–2251)[แก้]

สมเด็จพระเจ้าเสือนับเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกล่าวขวัญในชั้นเชิงมวยมากที่สุดพระองค์หนึ่ง[17] เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ฝึกฝนวิชามวยไทยในราชสำนักและเร่ร่อนไปฝึกมวยไทยตามสำนักต่าง ๆ ทรงพอพระทัยในการชกมวยและฝึกซ้อมมวยอยู่เสมอ แล้วยังทรงส่งเสริมกีฬามวยไทยโดยทรงเป็นมักมวยเองแล้วปลอมเป็นชาวบ้านไปท้าชกมวยตามที่ต่าง ๆ เป็นที่ปิติของราษฎร[3]: 50 

จดหมายเหตุของเทเลอร์แรนดัล เล่าการชกมวยไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือทรงชำนาญ และมีฝีมือการชกมวยไทยอย่างมาก เคยใช้มวยไทยไล่ชกเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ข้าราชการชาวกรีกคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และก่อนสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ปรากฏว่ามีเรื่องชกต่อยกับฝรั่งอยู่เสมอเพราะเกรงว่าบ้านเมืองจะตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส[3]: 52 

ภายหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2245 อยู่วันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) มีพระราชโองการตรัสถามข้าราชการว่านอกกรุงศรีอยุธยามีงานมหรสพจัดที่ไหนบ้าง ข้าราชการจึงทูลตอบว่าวันพรุ่งนี้ชาวบ้านตำบลบ้านตระหลาดตรวจ แขวงเมืองวิเศษไชชาญ (จังหวัดอ่างทองในปัจจุบัน) มีงานฉลองพระอาราม และงานมหรสพใหญ่[18]: 283  พระองค์ทราบความเช่นนั้น จึงมีพระราชดำรัสว่า:-

แต่เราเป็นจ้าวมาช้านาน มิได้เล่นมวยปล้ำบ้างเลย แลมือก็หนักเหนื่อยเลื่อยล้าช้าอ่อนไป เพลาพรุ่งนี้เราจะไปเล่นสนุกนิ์ชกมวยลองฝีมือให้สะบายใจสักน่อยหนึ่งเถีด[18]

วันต่อมา สมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จประพาสโดยเรือพระที่นั่งพร้อมเหล่าข้าราชการไปยังถึงตำบลบ้านตระหลาดตรวจ โปรดให้หยุดเรือพระที่นั่งแล้วทรงตรัสห้ามข้าราชการติดตามการเสด็จ ทรงเปลี่ยนพระภูษา (เสื้อผ้า) ปลอมพระองค์เป็นสามัญชนแล้วเสด็จไปร่วมงานฉลองพระอารามพร้อมตำรวจมหาดเล็กคนสนิทจำนวน 4-5 คน

ครั้นเสด็จถึงงานแล้ว ขณะนั้นเจ้าภาพงานแข่งชกมวย เตรียมจัดคู่มวยขึ้นชก สมเด็จพระเจ้าเสือโปรดให้ข้าราชการไปแจ้งว่าจะขอขึ้นชกมวยทันที แม้ข้าราชการทูลทัดทานก็ทรงไม่ยอมจะขอขึ้นชกมวยเสียให้ได้[18]: 283  เมื่อการแข่งชกมวยเริ่มขึ้น ผลการชกมวยยกแรก คู่มวยเสมอกับสมเด็จพระเจ้าเสือไม่แพ้ชนะกัน ชาวบ้านต่างส่งเสียงร้องเชียร์พระองค์ และคู่มวยอย่างกึกก้อง ครั้นสู้กันไปได้ยกครึ่ง คู่มวยของพระเจ้าเสือจึงหย่อนกำลังเสียทีพ่ายแพ้ให้แก่สมเด็จพระเจ้าเสือ เนื่องจากพลาดถูกสมเด็จพระเจ้าเสือชกเข้าจุดสำคัญถึงกับเจ็บป่วยสาหัสไปหลายวัน นายสนามจึงตกรางวัลแก่พระเจ้าเสือเป็นเงิน 1 บาท และตกรางวัลแก่คู่มวย 2 สลึง[18]: 283 

หลังการแข่งขันรอบแรกผ่านไป สมเด็จพระเจ้าเสือมีพระประสงค์จะขึ้นชกมวยอีกจึงตรัสให้ข้าราชการบอกความแก่นายสนามให้จัดหาคู่มวยมาชกกับพระองค์อีกรอบ คู่มวยก็ยังพ้ายแพ้ให้แก่พระองค์อีกครั้งหลังชกไปได้ครึ่งยก บรรดาชาวบ้านที่มาดูการแข่งขันจึงส่งเสียงแห่สรรเสริญฝีมือสมเด็จพระเจ้าเสือกันถ้วนหน้าว่านักมวยคนนี้มีฝืมือดียิ่งนัก แล้วนายสนามจึงตกรางวัลให้สมเด็จพระเจ้าเสือเป็นเงิน 1 บาทเท่ากับรอบแรก จึงเสด็จกลับมายังเรือพระที่นั่งทรงเกษมพอพระทัยฝีมือมวยของพระองค์แล้วเสด็จกลับไปยังกรุงศรีอยุธยา[18]: 283 

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "The History of Muay Thai" (ภาษาอังกฤษ). muaythai-fighting.com. February 2008. สืบค้นเมื่อ 27 January 2013.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 "History and Traditions of Muay Thai" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2014-04-14. สืบค้นเมื่อ 27 January 2013.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สนามกีฬาแห่งชาติ. (2559). ประวัติศาสตร์มวยไทย History of Muay Thai. กรุงเทพฯ: บีทีเอส เพรส. ISBN 978-616-297-337-6
  4. "ಮೈ". “Alar” V. Krishna's Kannada → English dictionary. Retrieved on 29 May 2024.
  5. "ಶಾಸ್ತ್ರ". “Alar” V. Krishna's Kannada → English dictionary. Retrieved on 29 May 2024.
  6. สวัสวดี อ๋องสกุล. (2566). ประวัติศาสตร์ล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ 13). เชียงใหม่: สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 37. ISBN 978-616-398-905-5
  7. กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ. (2540). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. หน้า 22-23. ISBN 974-593-270-1
  8. ชัปนะ ปิ่นเงิน. (2551). การปริวรรตและวิเคราะห์เนื้อหากฎหมายมังรายศาสตร์ฉบับวัดแม่คือ (Wat Mae Khue version: The Transliteration and Analytical Study of Mangrai customary law). เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ฐานข้อมูลงานวิจัย: https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:31236. หน้า 81, 97-98.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 "Histoy of Muay Thai and Muay Thai Tranning" (ภาษาอังกฤษ). tigermuaythai.com. 2013. สืบค้นเมื่อ 27 February 2013.
  10. กรมศิลปากร. (2504). พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (เรียบเรียงโดย พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เมื่อ พ.ศ. 2478). กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร. หน้า 270.
  11. ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์. (2525). พัฒนาการของพลศึกษาในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2325 - 2525. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 37.
  12. "The Historical Origin of Muay Thai" (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 23 January 2014.
  13. มันตะ มันตะลัมพะ. (2561). ปัญหาข้อกฎหมายและการบังคับใช้ในพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 : ศึกษาเฉพาะกรณีการทุจริตและคุณสมบัติของบุคคลในกีฬามวยไทย. สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา) มหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพฯ. หน้า 48.
  14. La Loubère, Simon de. (1691). « De la Muſique, & des Exercices du Corps. », DU ROYAUME DE SIAM : Envoyé extraordinaire du ROY auprès du Roy de Siam en 1687 & 1688, TOME PREMIER. Paris: Chez Abraham Wolfgang, près de la Bourſe. p. 211.
  15. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2505). "ประลองกายกรรม", จดหมายเหตุลาลูแบร์ เล่ม ๑. พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 304.
  16. 16.0 16.1 16.2 "จดหมายมองซิเออร์โบรด์ถึงผู้อำนวยการ คณะการต่างประเทศ กรุงศรีอยุธยา วันที่ ๙ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒) เรื่องบาทหลวงตาชาร์ดกลับมาอีกครั้ง ๑", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๑ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๕ และ ๓๖). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 206–207.
  17. รัฐพล ศรีวิลาส. (2549). "Culture Vision II: ศิลปะการต่อสู้แห่งนักรบไทย... มวยไชยา", Advanced Thailand Geographic 11(88)(2549):269. ISSN 0849-5356
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558. ISBN 978-616-92351-0-1

บรรณานุกรม[แก้]