ข้ามไปเนื้อหา

นนทรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นนทรี
ดอกกับดอกตูม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: โรสิด
อันดับ: ถั่ว
วงศ์: ถั่ว
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยราชพฤกษ์
สกุล: Peltophorum
(DC.) K.Heyne
สปีชีส์: Peltophorum pterocarpum
ชื่อทวินาม
Peltophorum pterocarpum
(DC.) K.Heyne
ชื่อพ้อง[1]
  • Baryxylum inerme (Roxb.) Pierre
  • Caesalpinia arborea Miq.
  • Caesalpinia ferruginea Decne.
  • Caesalpinia gleniei Thwaites
  • Caesalpinia inermis Roxb.
  • Inga pterocarpa DC.
  • Inga pterocarpum DC. [Spelling variant]
  • Peltophorum ferrugineum (Decne.) Benth.
  • Peltophorum inerme (Roxb.) Naves
  • Peltophorum roxburghii (G.Don) Degener
  • Poinciana roxburghii G.Don

นนทรี (ชื่อวิทยาศาสตร์: Peltophorum pterocarpum) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่ว ทรงพุ่มสูงได้ถึง 25 เมตร กึ่งผลัดใบ เรือนยอดรูปร่ม แผ่กว้าง ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตั้งขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน

นนทรีมีชื่อพื้นเมืองอื่นอีก ดังนี้ กระถินแดง (ตราด) กระถินป่า (ตราด, สุโขทัย) และสารเงิน (เชียงใหม่, เหนือ)[2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ต้นนนทรี เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมไปถึงประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงเรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงกลมกลายๆ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกค่อนข้างเรียบ และอาจแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดเต็มวัน เป็นต้นไม้ที่มักผลัดใบเมื่อมีอากาศแห้งแล้ง ชอบขึ้นตามป่าชายหาด

ใบนนทรี ใบออกเป็นช่อเรียงสลับเวียนกันถี่ ๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวประมาณ 20-27 เซนติเมตร มีใบย่อยที่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ประมาณ 9-13 คู่ แขนงย่อยคู่ต้นๆ จะสั้นกว่าคู่ถัดไป และคู่ที่อยู่ปลายช่อก็จะสั้นเช่นกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรหลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวอ่อน

ดอกนนทรี ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ตั้งขึ้น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง มีกิ่งแขนงในช่อดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะบางและค่อนข้างยับย่น โคนกลีบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1.6-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบวางเกยทับกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน โดยทั่วไปจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม และออกดอกทั้งต้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่อาจขยายเวลาได้ตามลักษณะของดินฟ้าอากาศในแต่ละปี และลักษณะของพันธุกรรมของต้นนนทรีแต่ละต้น

ผลนนทรี เนื่องจากต้นนนทรีเป็นพืชในตระกูลถั่ว จึงออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบนเป็นรูปหอก ปลายฝักและโคนฝักเรียวแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ฝักสดเป็นสีเขียวพอแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดวางตัวเรียงขวางกับฝักประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีความแข็งแรง มีรูปร่างและขนาดเท่าใบย่อย โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน[3]

การใช้ประโยชน์[แก้]

นนทรีเป็นพืชสมุนไพร ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ใช้เปลือกบดเป็นผงรักษาโรคสะเก็ดเงิน[4]

ดอกนนทรีเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดพิษณุโลก ส่วนต้นนนทรีเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนนทบุรี และเป็นต้นไม้ประจำสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนชุมแพศึกษา โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ โรงเรียนหอวัง โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนนนทรีวิทยา โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม โรงเรียนสตรีชัยภูมิ โรงเรียนเทพมงคลรังษี ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก จังหวัดกาญจนบุรี สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดสกลนคร โรงเรียนบ้านลาดพร้าว (สาคร-สุ่น พานิชเฮง) โรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี

อ้างอิง[แก้]

  1. "Peltophorum pterocarpum". International Legume Database & Information Service (ILDIS). สืบค้นเมื่อ 30 Aug 2016 – โดยทาง The Plant List.
  2. เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
  3. "นนทรี พันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดนนทบุรี".
  4. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]