ข้ามไปเนื้อหา

ทองมาก จันทะลือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทองมาก จันทะลือ
ชื่อเกิดทองมาก จันทะลือ
ชื่ออื่นหมอลำถูทา
เกิด6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472
จุดกำเนิดประเทศไทย อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
เสียชีวิต17 มีนาคม พ.ศ. 2554 (82 ปี)
อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ประเทศไทย
อาชีพศิลปินพื้นบ้าน
นักร้องหมอลำ
ปีที่แสดงพ.ศ. 2491 - 2554
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2529 - สาขาศิลปะการแสดง(หมอลำ)

ทองมาก จันทะลือ ศิลปินหมอลำ ผู้ถ่ายทอดท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน ปรมาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในวงการหมอลำ ถึงขั้นที่เรียกว่า "แตกลำ" คือเป็นผู้ที่มีความสามารถในการลำกลอน ไม่ว่าจะเป็นกลอน 7 กลอน 8 หรือแม้แต่กลอน 9 ก็สามารถลำได้สดๆ ไม่มีติดขัด และที่สำคัญได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) คนแรก ประจำปี พ.ศ. 2529[1][2]

ประวัติ[แก้]

หมอลำทองมาก จันทะลือ หรือที่คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นรู้จักกันในชื่อของ "หมอลำถูทา" ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 87 ปี (ตามอายุจริงซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2467 แต่แจ้งเกิดตามบัตรประชาชน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ซึ่งหากนับตามบัตรประชาชน เสียชีวิตเมื่ออายุ 82 ปี) และสุดท้ายของชีวิต หมอลำถูทาคนนี้ ยังได้บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มาของ "หมอลำถูทา" เนื่องจากท่านได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุ และเป็นโฆษกผู้โฆษณายาให้กับ บริษัท โอสถสภาเต็กเฮงหยู โดยท่านได้นำเอาศิลปะหมอลำเข้าไปประยุกต์ใช้ในการโฆษณา ส่งผลให้ยอดขายของทางบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โฆษณาทาง วิทยุชิ้นหนึ่งอันเป็นผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และติดหูของชาวอีสานในยุคนั้น ได้แก่ โฆษณายาหม่องถ้วยทอง ที่มีถ้อยคำติดหูผู้ฟังทั่วไปว่า "ถูทา" จนทำให้ชาวบ้านพากันเรียกหมอลำทองมากว่า " พ่อถูทา" นับแต่นั้นมา

การศึกษา[แก้]

หมอลำทองมาก จันทะลือ จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านชีท่าม่วง วัดประคู่ชำน้อย[3]

เข้าสู่วงการ[แก้]

หมอลำทองมาก จันทะลือ เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำเมื่ออายุ 14 ปี โดยบิดาได้พาไปสมัครเรียนหมอลำ กับพระรูปหนึ่งนามว่า พระอาจารย์อ่อน ที่วัดประดู่น้อย โดยได้เรียนรู้ทั้งด้านกลอนลำ และพระธรรมคำสอนทาง พระพุทธศาสนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่หมอลำจะต้องเรียนรู้อย่างละเอียด ท่านได้ร่ำเรียนอยู่กับพระอาจารย์อ่อน อยู่เป็นเวลา 2 ปี จึงได้ลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกับครูหมอลำอื่นๆ อีกหลายท่าน อาทิ หมอลำคำอ้าย อาจารย์คำผาย โยมา ที่สอนให้รู้จัก การวาดลำ (คือจังหวะในการรำและฟ้อน) และแตกฉานในกลอนลำ นอกจากนั้นยังมี สิบตรีภิรมย์ อาจารย์กึม อาจารย์เคน อามาตย์บัณฑิต อาจารย์หลวย และอาจารย์บุญคา เป็นต้น ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านล้วนมีความชำนาญในด้านต่างๆ เกี่ยวกับหมอลำที่แตกต่างกันไป ทำให้หมอลำทองมาก ได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ของหมอลำอย่างกว้างขวางจนแตกฉาน

การเมือง[แก้]

ในด้านการเมือง ท่านเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ ส.ส. อุบลราชธานี 1 สมัย ต่อมาได้ตั้ง สมาคมหมอลำถูทาบริการ และรับงานแสดง ตลอดจนช่วยเหลืองานราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการนำเอาศิลปะพื้นบ้านมารับใช้สังคม

ความภูมิใจ/รางวัลสำคัญ[แก้]

ช่วงชีวิตของหมอลำทองมาก จันทะลือ ได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้ง ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ปี พ.ศ. 2500 ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นเอก ที่จังหวดขอนแก่น
  • ปี พ.ศ. 2500 ชนะเลิศการประกวดหมอลำที่อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
  • ปี พ.ศ. 2502 ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นหนึ่งที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแกน
  • ปี พ.ศ. 2510 ชนะเลิศการประกวดหมอลำคู่ ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ปี พ.ศ. 2511 และ 2512 ชนะเลิศการประกวดหมอลำในงานสงกรานต์ ที่อำเภอวารินชาราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ปี พ.ศ. 2514 อาศัยความเป็นผู้แทนของชาวหมอลำ พ่อทองมากได้ก่อตั้งสหพันธ์ "สหพันธ์หมอลำแห่งประเทศไทย" และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสหพันธ์เป็นคนแรก
  • ปี พ.ศ. 2524 ได้รับรางวัลดีเด่นการผลิตผลงานเพื่อเยาวชนประเภทสื่อชาวบ้าน จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
  • ปี พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • และในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สาขาย่อย(หมอลำ) ประจำปี พุทธศักราช 2529 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]