ข้ามไปเนื้อหา

กลีบ มหิธร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลีบ มหิธร

เกิดกลีบ บางยี่ขัน
24 ธันวาคม พ.ศ. 2419
ตำบลสำราญราษฎร์
เสียชีวิต3 เมษายน พ.ศ. 2504 (84 ปี)
คู่สมรสเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)
บิดามารดาหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน)
หุ่น สนธิรัตน์

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร (สกุลเดิม: บางยี่ขัน; 24 ธันวาคม พ.ศ. 2419 – 3 เมษายน พ.ศ. 2504) เป็นภรรยาของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) และเป็นมารดาของท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา

เธอเป็นผู้รจนาตำราอาหารชื่อ หนังสือกับข้าวสอนลูกหลานของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ซึ่งถือเป็นตำราอาหารตำรับชาววังหนึ่งในสี่ตำรับ แต่ตำรับของท่านผู้หญิงกลีบมีลักษณะอันพิเศษ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในอาหารชาววังตำรับนี้[1]

ประวัติ[แก้]

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พ.ศ. 2419 หรือ วันที่ 24 ธันวาคม ที่ตำบลสำราญราษฎร์[2] เป็นธิดาของหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน) เจ้าของสวนแถบบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี ส่วนมารดาชื่อหุ่น (สกุลเดิม สนธิรัตน์) [3] มีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า กลีบจำปา แต่หลังจากแต่งงาน เจ้าพระยามหิธร ผู้เป็นสามีได้ตัดคำว่า จำปา ออกเหลือแต่กลีบเพราะว่าการมีชื่อยาวเกินกว่าสองพยางค์นั้นเป็นการทำเทียมเจ้านาย ซึ่งท่านผู้หญิงได้กล่าวด้วยตัวเองภายในงานวันเกิดฉลองอายุครบ 60 ปีเมื่อปี 2479[4]

ท่านผู้หญิงเกิดและเติบโตในบ้านของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) ที่ตำบลสำราญราษฎร์ โดยมีเจ้าจอมพุ่ม (สนธิรัตน์) ในรัชกาลที่ 3 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อเจ้าจอมพุ่มถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจึงได้รับการอุปการะจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจามรี ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปุก (สนธิรัตน์) ในรัชกาลที่ 3[2]

แต่หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าจามรี ท่านผู้หญิงจึงตกอยู่ในการอุปการะของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี แต่ด้วยอัธยาศัยอันดีของท่านผู้หญิง เจ้าจอมมารดาท่านหนึ่งจึงมีดำริที่จะถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้เป็นบิดา บิดาจึงมารับตัวและมอบให้นางคำ บางยี่ขัน ผู้เป็นย่าเลี้ยงดูแทน[2]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ท่านผู้หญิงกลีบเป็นสตรีผู้ที่มีรูปโฉมอันงดงาม ประกอบกิริยามารยาทอันดี แม้จะอาศัยอยู่ในสวนร่วมกับย่า แต่ก็มีความรู้และมีความสุภาพกว่าชาวบ้านทั่วไป[2]

ท่านผู้หญิงกลีบ ได้สมรสกับเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)[5] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันถึง 12 คน หนึ่งในนั้นคือ ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา ภรรยาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ชื่อของบุตรทั้งหมดสามีเป็นผู้ตั้งเอง ชื่อของบุตรห้าคนแรกนำมาจากราชทินนามเดิมของตนคือ จักร ปาณี ศรี ศิล วิสุทธิ์ ส่วนชื่อหลัง ๆ เช่น ดุษฎี มาจากชื่อ เหรียญดุษฎีมาลา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงแรกที่สามีได้รับพระราชทาน[6]

ท่านผู้หญิงกลีบ ได้ถึงแก่อนิจกรรมวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2504 และพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504[7]

ตำรับอาหาร[แก้]

ท่านผู้หญิงกลีบมีความสามารถในการทำอาหาร และต้องการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้แก่ลูกหลาน จึงได้เขียนตำราอาหารขึ้น มีชื่อว่า หนังสือกับข้าวสอนลูกหลานของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยตรงคือเพื่อถ่ายทอดสู่ลูกหลาน โดยตำรับอาหารดังกล่าวถือเป็นมรดกตกทอดของสกุลไกรฤกษ์และสกุลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง[8]

อาหารในตำราของท่านผู้หญิงกลีบเป็นอาหารประเภทข้าวหลายชนิดที่มีกลิ่นอายของอาหารจีนที่ถูกปรับใช้เป็นอาหารไทยมากมายหลายชนิด เช่น ข้าวต้มกุ้ง. ข้าวต้มปลา, ข้าวต้มเนื้อไก่ (เซ่งจี๊ ตับเหล็ก), ข้าวผัดเต้าหู้ยี้ และข้าวผัดลูกหนำเลี๊ยบหรือหนำพ๊วย เป็นต้น[9] ทั้งมีการบันทึกอาหารขึ้นชื่อประจำตระกูลไกรฤกษ์ คือ แกงบวน[9] และนอกจากนี้ยังมีอาหารพิเศษ ที่ผสมผสานความเป็นไทย, จีน และแขกด้วยกัน คือ แกงจีจ๋วน ซึ่งเป็นแกงกะทิใส่ไก่มีเครื่องแกงแดง แต่ใส่โป๊ยกั๊กของจีน, ขมิ้นผงของแขก, ส้มซ่าของไทย และพริกหยวก[9]

อย่างไรก็ตามตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอาหารจีนในอาหารไทยที่ปรากฏในอาหารทั้งคาวและหวาน แต่อาหารตะวันตกก็มีอิทธิพลในตำราของท่านด้วยเช่นกันแม้จะไม่มากเท่าอิทธิพลของจีนก็ตาม ซึ่งอิทธิพลอาหารจีนถือเป็นอิทธิพลเฉพาะที่มาจากสายตระกูลไกรฤกษ์ที่สืบเชื้อสายมาแต่ประเทศจีน[10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 101
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 เรือนไทย - ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
  3. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 98
  4. ประวัติท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
  5. "พิพิธภัณฑ์ศาลไทย - เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-17. สืบค้นเมื่อ 2012-02-28.
  6. เรือนไทย - เรื่องของคน 5 แผ่นดิน ท่านผู้หญิงดุษฏี มาลากุล
  7. ร้านหนังสือเก่าป้าวิมล[ลิงก์เสีย]
  8. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 99
  9. 9.0 9.1 9.2 สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 100
  10. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 101
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙๘, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๒
  12. ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามและนามสมาชิกสมาชิกาเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า พระราชทานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๘๙, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๖๕

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]