ทิก กว๋าง ดึ๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กว๋าง ดึ๊ก
ภาพวาดของพระภิกษุกว๋าง ดึ๊ก
ชื่ออื่นโบ่ต๊าตทิก กว๋าง ดึ๊ก (Bồ Tát Thích Quảng Đức; แปลว่า โพธิสัตว์ทิก กว๋าง ดึ๊ก)[1]
ส่วนบุคคล
เกิด
เลิม วัน ตุ๊ก

ค.ศ. 1897
โห่ยคั้ญ แคว้นอันนัม อินโดจีนของฝรั่งเศส
มรณภาพ11 มิถุนายน ค.ศ. 1963(1963-06-11) (65–66 ปี)
ไซ่ง่อน เวียดนามใต้
สาเหตุเสียชีวิตการจุดไฟเผาตัวเอง
ศาสนาศาสนาพุทธ
นิกายมหายาน (สุขาวดี)
ชื่ออื่นโบ่ต๊าตทิก กว๋าง ดึ๊ก (Bồ Tát Thích Quảng Đức; แปลว่า โพธิสัตว์ทิก กว๋าง ดึ๊ก)[1]
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่เวียดนามใต้
ช่วงที่ดำรงตำแหน่งค.ศ. 1917–1963
ตำแหน่ง
  • ประธานคณะกรรมการศาสนพิธีสังฆะพระภิกษุเวียดนาม
  • เจ้าอาวาสวัดเจดีย์เฟื้อกฮหว่า

ทิก กว๋าง ดึ๊ก (เวียดนาม: Thích Quảng Đức, ออกเสียง: [tʰǐk̟ kʷâːŋ ɗɨ̌k] ( ฟังเสียง); เกิด ค.ศ. 1897 — 11 มิถุนายน ค.ศ. 1963) เป็นพระภิกษุมหายานชาวเวียดนามที่จุดไฟเผาตัวเองจนมรณภาพกลางทางแยกแห่งหนึ่งในกรุงไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2506[2] เพื่อประท้วงรัฐบาลโรมันคาทอลิกภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโง ดิ่ญ เสี่ยม ที่ข่มเหงชาวพุทธที่เป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศเวียดนามใต้ในเวลานั้น ภาพถ่ายการเผาตัวเองดังกล่าวได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางจนทำให้นโยบายของรัฐบาลเสี่ยมถูกเพ่งเล็งจากประชาคมโลก จอห์น เอฟ. เคนเนดี เคยกล่าวถึงภาพถ่ายของพระภิกษุรูปนี้ว่า "ไม่มีภาพข่าวใดในประวัติศาสตร์ที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกไปทั่วโลกได้เหมือนภาพใบนี้"[3] มัลคอล์ม บราวน์ นักข่าวอเมริกันผู้ถ่ายภาพการจุดไฟเผาตนเองจนมรณภาพได้รับรางวัลภาพถ่ายข่าวโลกประจำปี

การกระทำของพระกว๋าง ดึ๊ก สร้างแรงกดดันนานาชาติแก่รัฐบาลเสี่ยม จนทำให้เขายินยอมประกาศการปฏิรูปและแสดงเจตจำนงผ่อนผันตามความต้องการของชาวพุทธ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปที่รัฐบาลเสี่ยมสัญญาไว้ก็ไม่ได้ทำ จึงทำให้ประเด็นพิพาทนี้เลวร้ายลงกว่าเดิม การประท้วงก็ยังดำเนินเรื่อยไปในขณะเดียวกันกองกำลังพิเศษ ARVN ซึ่งภักดีต่อโง ดิ่ญ ญู น้องชายของเสี่ยม ก็ได้บุกรุกวัดพุทธทั่วเวียดนามใต้และพยายามยึดเอาหัวใจที่ไม่ไหม้ของพระกว๋างดึ๊กมาไว้ในการครอบครอง การบุกรุกระลอกนี้ก่อความเสียหายจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งที่เผาตนเองจนมรณภาพตามรอยพระกว๋างดึ๊ก ท้ายที่สุดรัฐประหารที่มีสหรัฐหนุนหลังก็โค่นล้มรัฐบาลของเสี่ยมลงโดยโง ดิ่ญ เสี่ยมถูกลอบสังหารในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963

ชีวประวัติ[แก้]

อัตชีวประวัติของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มาจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยองค์การศาสนาพุทธตามสถานที่ต่าง ๆ ท่านเกิดที่หมู่บ้านโห่ยคั้ญ อำเภอหวั่นนิญ จังหวัดคั้ญฮหว่า ภาคกลางของประเทศเวียดนาม มีชื่อเมื่อเกิดว่า เลิม วัน ตุ๊ก (Lâm Văn Túc) ท่านมีพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน บิดาชื่อ เลิม หืว อึ๊ง มารดาชื่อ เหงียน ถิ เนือง เมื่ออายุได้เจ็ดปีท่านได้ออกเดินทางเพื่อศึกษาศาสนาพุทธภายใต้การอุปการะของพระมหาเถราจารย์[ก] ทิก ฮหวั่ง เทิม ผู้เป็นลุงฝั่งแม่ในฐานะบุตรคนหนึ่ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น เหงียน วัน เคี้ยต (Nguyễn Văn Khiết) เมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านก็เข้าบรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทเข้าเป็นภิกษุโดยได้รับฉายา ทิก กว๋าง ดึ๊ก ในชื่อภาษาเวียดนาม ทิก (Thích, ) มาจากคำว่า ทิกกา (Thích Ca) หรือ ทิกส่า (Thích Già, 釋迦) อันแปลว่า "ผู้มาจาก / เกี่ยวพันกับสกุลสักกะ"[6] หลังเข้าบวชเป็นพระภิกษุท่านก็ได้ออกธุดงค์สู่ภูเขาลูกหนึ่งใกล้กับเมืองนิญฮหว่าพร้อมกับประกาศตนขอปลีกวิเวกเป็นเวลาสามปี ในช่วงชีวิตภายหลังท่านก็ได้กลับมาเพื่อเปิดพระเจดีย์เทียนหลกที่สำนักสงฆ์บนภูเขาแห่งนี้[7][8]

หลังจากเสร็จสิ้นการปลีกวิเวก พระกว๋าง ดึ๊ก ก็ได้เริ่มต้นออกเดินทางไปทั่วเวียดนามกลางเพื่อเผยแผ่หลักธรรม หลังจากผ่านไปสองปีก็ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดซักตื๊อเทียนเอิ๊น ใกล้กับเมืองญาจาง ใน ค.ศ. 1932 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการประจำพุทธสมาคมในเมืองนิญฮหว่า และได้เป็นผู้ตรวจการภิกษุประจำจังหวัดคั้ญฮหว่าซึ่งเป็นบ้านเกิดในเวลาต่อมา ในระหว่างนี้ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างวัดในเวียดนามกลางรวมทั้งสิ้น 14 แห่ง[9] ใน ค.ศ. 1934 ท่านได้ออกเดินทางไปตามชนบททั่วเวียดนามใต้เพื่อเผยแผ่คำสอนของศาสนาพุทธ พร้อมกับเดินทางไปศึกษาศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่ประเทศกัมพูชาเป็นเวลาสองปี

เมื่อเดินทางกลับมาจากกัมพูชา ในระหว่างการพำนักที่เวียดนามใต้ท่านก็ได้ดูแลการก่อสร้างวัดใหม่อีกจำนวน 17 วัด โดยวัดแห่งสุดท้ายจาก 31 วัดใหม่ที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างคือ วัดกว๊านเท้เอิมในอำเภอฟู้หญ่วน จังหวัดซาดิ่ญ แถบชานกรุงไซ่ง่อน[9] ถนนสายที่วัดนี้ตั้งอยู่ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นถนนกว๋าง ดึ๊ก ในภายหลัง ใน ค.ศ. 1975 หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการก่อสร้างวัดจำนวนมาก พระกว๋าง ดึ๊ก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการศาสนพิธีสังฆะภิกษุเวียดนาม และเจ้าอาวาสวัดเฟื้อกฮหว่า ซึ่งเป็นที่สถานที่ก่อตั้งของสมาคมพุทธศาสนศึกษาเวียดนาม (Association for Buddhist Studies of Vietnam, ABSV)[9] เมื่อสำนักงานของสมาคมฯ ย้ายที่ตั้งสำนักงานไปที่วัดซ้าเหล่ยซึ่งเป็นวัดประจำกรุงไซ่ง่อน พระกว๋าง ดึ๊ก ก็ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง[7]

การจุดไฟเผาตนเอง[แก้]

ภูมิหลังทางศาสนา[แก้]

ประติมากรรมนูนต่ำแสดงเหตุการณ์การกดขี่ชาวพุทธที่อนุสรณ์พระกว๋าง ดึ๊ก ในนครโฮจิมินห์

จากผลสำรวจศาสนาของประชากรเวียดนามใต้ในขณะนั้น ประชากรส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70 ถึง 90 นับถือศาสนาพุทธ[10][11][12][13] ในขณะที่ประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยม เป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายคาทอลิก ซึ่งในเวลานั้นเป็นประชากรกลุ่มที่เล็กกว่า เสี่ยมได้ออกนโยบายเลือกปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ทางด้านกิจการสาธารณะและกองทัพแก่ศาสนิกชนคาทอลิกในเวียดนาม ไปจนถึงการจัดสรรที่ดิน การทำธุรกิจ และการลดหย่อนภาษี[14] เสี่ยมเคยกล่าวกับนายทหารระดับสูงนายหนึ่งโดยลืมไปว่านายทหารนายนี้มาจากครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธว่า "วางตัวทหารคาทอลิกของคุณไว้ในตำแหน่งสำคัญ พวกเขาไว้ใจได้"[15] นายทหารหลายนายในกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) เข้ารีตเป็นคาทอลิกเนื่องจากความก้าวหน้าในสายงานทหารขึ้นอยู่กับศาสนา[15] นอกเหนือไปจากนั้น การจัดสรรจำนวนอาวุธปืนแก่กองกำลังป้องกันตนเองตามหมู่บ้านยังแจกจ่ายให้แก่ชาวโรมันคาทอลิกเท่านั้น และชาวพุทธบางคนถูกปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งเว้นแต่ว่าจะเข้ารีตเป็นโรมันคาทอลิก[16]

บาทหลวงคาทอลิกบางรูปมีการจัดตั้งกองกำลังส่วนตัว[17] กองกำลังเหล่านี้ก่อการบังคับเข้ารีต ชิงทรัพย์ ระดมยิง ไปจนถึงทำลายวัดในบางพื้นที่ กระนั้น รัฐบาลทำเป็นไม่รู้เห็น[18] หมู่บ้านพุทธศาสนิกชนบางแห่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์กันทั้งหมู่บ้านเพื่อขอรับความช่วยเหลือ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับย้ายถิ่นฐานในรัฐบาลเสี่ยม[19] สถานะ "จำกัดกิจกรรมทางศาสนา" ซึ่งบังคับให้ผู้ที่จะประกอบพุทธศาสนพิธีในที่สาธารณะจะต้องยื่นขอใบอนุญาตจากทางการก่อน มีมาตั้งแต่จากสมัยฝรั่งเศสซึ่งบังคับใช้ต่อชาวพุทธ เสี่ยมไม่ได้เพิกถอนข้อบังคับนี้[20] ชาวคาทอลิกบางส่วนยังได้รับการยกเว้นโดยพฤตินัยจากการการเกณฑ์แรงงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งรัฐบาลบังคับพลเมืองให้ต้องปฏิบัติทุกคน และรัฐบาลของเสี่ยมยังจัดสรรความช่วยเหลือจากสหรัฐไปอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข้างหมู่บ้านที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก[21]

คริสตจักรคาทอลิกเป็นเจ้าของที่ดินมากที่สุดในประเทศ และได้รับข้อยกเว้นพิเศษในการยึดครองที่ดิน ที่ดินของคริสตจักรคาทอลิกยังได้รับการยกเว้นจากการปฏิรูปที่ดิน[22] ธงวาติกันสีขาวทองยังถูกนำมาประดับตามกิจกรรมสำคัญหลัก ๆ ทั้งหมดในเวียดนามใต้[23] และเสี่ยมได้อุทิศประเทศของเขาแด่แม่พระมารีพรหมจารีย์ใน ค.ศ. 1959[21]

ธงฉัพพรรณรังสี

ความไม่พึงพอใจในหมู่ชาวพุทธได้ปะทุขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1959 เมื่อรัฐประกาศสั่งห้ามประดับธงฉัพพรรณรังสีในเว้ระหว่างเทศกาลวันวิสาขบูชา วันประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่กี่วันก่อนหน้า ชาวคาทอลิกได้รับการสนับสนุนให้ประดับธงวาติกันเพื่อเฉลิมฉลองพระอัครสังฆราชโง ดิ่ญ ถึก แห่งเว้ ผู้เป็นพี่ชายของเสี่ยม ชาวพุทธจำนวนมากรวมตัวประท้วงคำสั่งห้ามนี้ และท้าทายอำนาจรัฐโดยการนำธงพุทธออกมาประดับในวันวิสาขบูชา รวมถึงเดินขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล กองกำลังของรัฐกราดยิงฝูงชนผู้ประท้วง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมเก้าราย และเสี่ยมปฏิเสธความรับผิดชอบ เขากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของเวียดกง และเรียกร้องให้มีความเท่าเทียมทางศาสนาเกิดขึ้น[24] เสี่ยมยังคงปฏิเสธที่จะโอนอ่อนต่อคำร้องขอของชาวพุทธ ตามมาด้วยการประท้วงของชาวพุทธที่มีถี่มากขึ้น

วันก่อการ[แก้]

ภาพของพระกว๋าง ดึ๊ก จุดไฟเผาตนเอง ที่ถ่ายโดยมัลคอล์ม บราวน์ ได้รับรางวัลภาพถ่ายข่าวโลกแห่งปี 1963[25]
ภาพถ่ายอีกมุมหนึ่งโดยบราวน์
รถยนต์คันที่พระกว๋าง ดึ๊ก ใช้ในการเดินทางไปจุดไฟเผาตนเอง เก็บรักษาอยู่ที่วัดเจดีย์เทียนหมุ เมืองเว้

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1963 บรรดาผู้สื่อข่าวสหรัฐประจำเวียดนามได้รับแจ้งว่ามี "เรื่องสำคัญ" จะเกิดขึ้นในเช้าวันต่อมาบนถนนด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงไซ่ง่อน[26] ผู้สื่อข่าวจำนวนมากไม่ได้ให้ความสนใจใด ๆ กับข้อความนี้ เนื่องจากวิกฤตการณ์ชาวพุทธได้ดำเนินไปในเวลานั้นนานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ในเช้าวันต่อมา นักข่าวเพียงไม่กี่คนเดินทางไปยังถนนหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาตามข้อมูลที่ได้รับ ในจำนวนนี้รวมถึงเดวิด แฮลเบิร์สแตม จาก เดอะนิวยอร์กไทมส์ และมัลคอล์ม บราวน์ หัวหน้าสำนักงานไซ่ง่อนของแอสโซซิเอเต็ดเพรส (เอพี)[26] พระกว๋าง ดึ๊ก เดินทางถึงจุดก่อการ โดยเดินทางมาในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนที่เริ่มเดินใกล้กับวัดเจดีย์ ภิกษุและภิกษุณี 350 รูปเดินขบวนเป็นสองแถว โดยมีรถซีดานออสติน เวสต์มินสเตอร์ ซึ่งแปะด้วยป้ายคำต่าง ๆ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเวียดนาม ผู้ประท้วงประกาศประณามรัฐบาลของเสี่ยมและนโยบายของเขาต่อชาวพุทธ และเรียกร้องให้เขาปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาถึงความเท่าเทียมทางศาสนา[26] มีภิกษุอีกรูปเสนอตัว แต่ท้ายที่สุดเป็นพระกว๋าง ดึ๊ก เนื่องด้วยพรรษาของเขาที่มากกว่า[27]

การจุดไฟเผาตนเองเกิดขึ้นที่สี่แยกระหว่างถนนฟาน ดิ่ญ ฝุ่ง (ปัจจุบันคือถนนเหงียน ดิ่ญ เจี๋ยว) กับถนนเล วัน เสวียต (ปัจจุบันคือถนนก๊ากหมั่งท้างต๊าม) ไม่กี่ช่วงถนนทางใต้จากวังประธานาธิบดี (ปัจจุบันคือวังแห่งการรวมชาติ) พระกว๋าง ดึ๊ก ลงจากรถพร้อมภิกษุอีกสองรูป ภิกษุรูปหนึ่งนำเอาหมอนวางบนถนน และอีกรูปเปิดกระโปรงรถและหยิบเอาถังน้ำมันรถขนาดห้าแกลลอนออกมา ผู้เดินขบวนล้อมวงเป็นวงกลมรอบ ๆ ในขณะที่พระกว๋าง ดึ๊ก นั่งลงบนหมอนในท่านั่งขัดสมาธิแบบปัทมาสน์ในลักษณะเดียวกับการนั่งสมาธิ ภิกษุรูปหนึ่งได้เทน้ำมันรถออกจากถังเหนือศีรษะของพระกว๋าง ดึ๊ก ขณะที่เขาสวดลูกประคำและภาวนาวลี นามโมว์อายีย์ด่าเฝิก (Nam mô A Di Đà Phật, "นะโมอมิตาพุทธ") ก่อนจะจุดไม้ขีดและโยนลงใส่ตนเอง เปลวเพลิงลุกไหม้จีวรและเนื้อหนังมังสาของเขาและเขม่าควันดำพวยพุ่งออกจากร่าง[26][28]

คำกล่าวสุดท้ายของเขาก่อนการจุดไฟเผาตนเองมีบันทึกไว้ในจดหมายที่เขาทิ้งไว้ว่า

"ก่อนจะหลับตาลงและออกเดินทางสู่จิตของพระพุทธเจ้า อาตมาร้องขอด้วยเกียรติแด่ประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยม โปรดจงมีจิตเมตตาต่อผู้คนในชาติ และนำพาความเท่าเทียมทางศาสนามาสู่พวกเขา เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของชาติบ้านเกิดแห่งนี้ตลอดกาล อาตมาร้องขอแด่บรรดาพระสังฆราช พระสังฆาจารย์ และพระสงฆ์ ตลอดจนฆราวาสพุทธศาสนิกชนที่ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานต่อการเสียสละเพื่อปกปักรักษาพุทธศาสนา"[7]

เดวิด แฮลเบอร์สแตม เขียนว่า

"ข้าพเจ้าคิดว่ากำลังจะเดินทางไปยังสถานที่นั้นอีกครั้ง แต่ครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว เปลวเพลิงลุกไหม้ออกจากตัวมนุษย์ ร่างกายของเขาค่อย ๆ มอดไหม้และเหี่ยวย่นลง, ศีรษะของเขากลายเป็นสีดำและไหม้เกรียม ในอากาศเป็นกลิ่นของเนื้อหนังมนุษย์ที่กำลังลุกไหม้ ปรากฏว่ามนุษย์ถูกไฟไหม้สลายไปอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงร้องไห้ของชาวเวียดนามที่มารวมตัวอยู่ด้านหลังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าในเวลานั้นตกใจเกินกว่าจะร้องไห้ สับสนเกินว่าจะบันทึกหรือสอบถามคำถาม ลำบากใจเกินกว่าแม้แต่จะคิด ... ขณะที่เขากำลังลุกไหม้ เขาไม่แม้แต่ขยับกล้ามเนื้อ ไม่มีการเปล่งเสียงใดออกมา เขาสงบเงียบตลอดเวลาต่างกันกับผู้คนที่กำลังโศกเศร้ารอบตัว"[29]

ผู้เห็นเหตุการณ์ส่วนใหญ่ตกใจจนเงียบ บางส่วนร้องไห้คร่ำครวญ และบางส่วนเริ่มสวดภาวนา ภิกษุและภิกษุณีจำนวนมากรวมถึงผู้ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ ก้มลงกราบกับพื้นเพื่อสักการะต่อหน้าภิกษุผู้กำลังมอดไหม้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้รับมอบหมายก้มลงกราบเช่นกัน[27]

ภิกษุรูปหนึ่งได้ประกาศออกไมโครโฟนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเวียดนามหลายครั้งว่า "นักบวชชาวพุทธรูปหนึ่งได้จุดไฟเผาตนเองจนมรณภาพ ภิกษุรูปหนึ่งได้กลายมาเป็นผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ" หลังจากนั้นราว 10 นาที ร่างของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มอดไหม้จนหมด และล้มลงด้านหลังโดยส่วนหลังล้มลงสู่พื้น หลังไฟสงบ คณะสงฆ์ได้นำจีวรสีเหลืองคลุมร่างที่กำลังคุกกรุ่นด้วยควัน และนำไปใส่ในโลงศพ กระนั้นส่วนแขนขาไม่สามารถดัดงอให้ตรงได้ และแขนข้างหนึ่งยื่นออกมาจากกล่องไม้ ร่างของเขาถูกนำไปยังวัดเจดีย์ซ้าเหล่ยในไซ่ง่อนตอนกลางที่อยู่ไม่ไกลกัน ด้านนอกเจดีย์ นักศึกษาได้แขวนป้ายสองภาษาที่เขียนว่า "นักบวชชาวพุทธได้เผาตนเองเพื่อข้อเรียกร้องห้าประการของพวกเรา"[26]

เวลา 13:30 น. พระสงฆ์ราว 1,000 รูปได้รวมตัวกันภายในเพื่อจัดการประชุม ในขณะที่ฝูงชนจำนวนมากซึ่งเป็นนักศึกษาฝั่งสนับสนุนศาสนาพุทธก่อกำแพงมนุษย์ล้อมอยู่ภายนอก การประชุมสิ้นสุดไม่นานหลังจากนั้น และพระสงฆ์ทั้งหมดค่อย ๆ เดินทางออกจากพื้นที่ เหลือเพียง 100 รูปภายใน พระสงฆ์เกือบ 1,000 รูป ประกบด้วยคฤหัสถ์ เดินทางกลับไปยังจุดที่ประกอบพิธีศพ และมีตำรวจเข้าสังเกตการณ์อยู่รอบ ๆ เมื่อเวลาราว 18:00 น. ภิกษุณีสามสิบรูปและภิกษุหกรูปถูกจับกุมตัวเนื่องจากรวมตัวกันสวดภาวนาบนถนนด้านนอกวัดซ้าเหล่ย ตำรวจเข้าล้อมเป็นวงรอบวัด ปิดกั้นบุคคลภายนอกไม่ให้เข้าออกบริเวณวัด ผู้สังเกตเหตุการณ์มองว่าขณะนั้นคล้ายกับว่าการล้อมวัดโดยมีอาวุธคงจะเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากมีอุปกรณ์ควบคุมจลาจลปรากฏอยู่ในวงล้อม[30]

การปลงศพและเหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]

วัดเจดีย์ซ้าเหล่ย

หลังการจุดไฟเผาตนเอง สหรัฐเพิ่มความกดดันมากขึ้นต่อเสี่ยมให้กลับมาเจรจาอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้าไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา เสี่ยมจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉินเมื่อเวลา 11:30  น. ของวันที่ 11 มิถุนายน เพื่อถกประเด็นวิกฤตการณ์ชาวพุทธที่เขาเชื่อว่ากำลังจะสงบลงไปแล้ว หลังมรณภาพของพระกว๋าง ดึ๊ก เสี่ยม เขายกเลิกการประชุมและเข้าพบรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัวรายบุคคล วิลเลียม ทรูฮาร์ต รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเวียดนามใต้ เตือนเหงียน ดิ่ญ ถ่วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีเสี่ยมว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องบรรลุข้อตกลง โดยระบุว่าสถานการณ์ "ใกล้จุดแตกหักอย่างอันตรายยิ่ง" และคาดหวังให้เสี่ยมปฏิบัติตามเจตจำนงห้าประการของชาวพุทธ ดีน รัสก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตือนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไซ่ง่อนว่าทำเนียบขาวจะประกาศตัวอย่างเป็นสาธารณะว่าสหรัฐไม่ "เกี่ยวข้องอันใด" กับรัฐบาล [ของเสี่ยม] อีกต่อไป การสิ่งนี้ [การปฏิบัติตามเจตจำนงของชาวพุทธ] ไม่เกิดขึ้น"[31] ข้อตกลงร่วมและการโอนอ่อนให้กับชาวพุทธได้รับการลงนามในวันที่ 16 มิถุนายน[32]

วันที่ 15 มิถุนายน เป็นวันที่ตั้งไว้เป็นวันปลงศพ ในวันนั้น มีผู้คนราว 4,000 คนรวมตัวกันด้านนอกของวัดเจดีย์ซ้าเหล่ย กระนั้นพิธีปลงศพได้ถูกเลื่อนวันออกไป ในวันที่ 19 มิถุนายน อัฐิที่เหลือของเขาได้ถูกขนส่งออกมาจากวัดซ้าเหล่ย ไปยังสุสานที่ห่างออกไป 16 กิโลเมตร (9.9 ไมล์) ทางใต้ของกรุงไซ่ง่อน เพื่อประกอบพิธีเผาศพอีกครั้งและพิธีปลงศพ หลังการลงนามในข้อตกลงร่วม จำนวนผู้เข้าร่วมถูกจำกัดอยู่ที่พระสงฆ์ราว 500 รูป ตามข้อตกลงระหว่างผู้นำศาสนาพุทธกับตำรวจ[32]

หัวใจที่ไม่ไหม้และสัญลักษณ์[แก้]

พระสรีรธาตุหัวใจที่ไม่ไหม้ของพระกว๋าง ดึ๊ก

ร่างของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้รับการเผาศพอีกครั้งในระหว่างพิธีศพ กระนั้นปรากฏว่าหัวใจของเขายังคงสภาพและไม่ได้มอดไหม้ไปด้วย[27] หัวใจของท่านจึงถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และถูกนำไปประดิษฐานบนจอกแก้วในวัดเจดีย์ซ้าเหล่ย[33] พระสรีรธาตุของหัวใจที่ไม่ไหม้[27] นี้ได้รับการถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาปรานี ในภายหลังพระกว๋าง ดึ๊ก จึงได้รับการเคารพบูชาโดยพุทธศาสนิกชนในเวียดนามให้เป็นพระโพธิสัตว์ (Bồ Tát) จึงมักได้รับการเรียกขานเป็นภาษาเวียดนามว่า โบ่ต๊าตทิก กว๋าง ดึ๊ก[7][34] ในวันที่ 21 สิงหาคม กองกำลังพิเศษ ARVN ที่นำโดยโง ดิ่ญ ญู เข้าโจมตีวัดเจดีย์ซ้าเหล่ยและวัดพุทธอื่นทั่วประเทศ ตำรวจลับมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ายึดอัฐิของพระกว๋าง ดึ๊ก แต่พระสงฆ์สองรูปสามารถนำผอบของท่านหลบหนีออกไปได้ทันโดยการกระโดดข้ามรั้วด้านหลัง และนำไปรักษาไว้โดยปลอดภัยที่ศูนย์กิจการของสหรัฐที่ตั้งอยู่ติดกัน[35]

สถานที่ก่อการจุดไฟเผาตนเองซึ่งถูกเลือกให้เป็นบริเวณด้านหน้าของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชานั้นนำไปสู่คำถามว่าเป็นเรื่องตั้งใจหรือเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ ทรูฮาร์ตและชาลส์ ฟลาวเวอร์รี เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต เชื่อว่าสถานที่นี้ถูกเลือกเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เวียดนามใต้และกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงต่อกันในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สมเด็จพระนโรดม สีหนุ กล่าวโทษเสี่ยมว่าทารุณกรรมชาวพุทธเวียดนามและชาติพันธุ์พุทธเขมรซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ไทมส์ออฟเวียดนาม ซึ่งมีมุมมองสนับสนุนเสี่ยม ตีพิมพ์บทความในวันที่ 9 มิถุนายน อ้างว่าพระสงฆ์ชาวกัมพูชาสนับสนุนให้เกิดวิกฤตการณ์ชาวพุทธ และกล่าวโทษว่านี่เป็นแผนการหนึ่งของกัมพูชาเพื่อขยายนโยบายต่างประเทศที่มีจุดยืนเป็นกลางมาสู่เวียดนามใต้ ฟลาวเวอร์รีชี้ให้เห็นว่าเสี่ยม "พร้อมและอยากที่จะเห็นว่ากัมพูชามีส่วนในขบวนการชาวพุทธที่มีการจัดขึ้น"[36]

ปฏิกิริยาจากเสี่ยมและทางการ[แก้]

โง ดิ่ญ เสี่ยม ภาพถ่ายปี 1960

เสี่ยมออกแถลงการณ์ทางวิทยุเมื่อเวลา 19:00 น. ในวันเดียวกับที่พระกว๋าง ดึ๊ก มรณภาพ ระบุว่าเขาไม่สบายใจกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก เขาได้กล่าวร้องขอถึง "ความสงบและความรักชาติ" รวมถึงประกาศว่าการเจรจากับชาวพุทธที่ได้พับเก็บไปก่อนหน้าจะกลับมาเดินหน้าต่อ เขาอ้างว่าการเจรจาดำเนินมาได้อย่างดีและในห้วงเวลาของความตึงเครียดทางศาสนานี้ เขาเน้นย้ำซึ่งบทบาทของปรัชญาโรมันคาทอลิกในการแยกแยะประเด็นส่วนตัวออกจากการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ เขากล่าวโทษว่ากลุ่มหัวรุนแรงได้ดัดแปรข้อเท็จจริงต่าง ๆ และยืนยันว่าชาวพุทธสามารถ "ยึดมั่นเชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญ หรือกล่าวก็คือ ในตัวข้าพเจ้า"[30]

กองทัพ ARVN ปฏิบัติตามคำขอของเสี่ยมและจัดการแสดงจุดยืนร่วมลับหลังเสี่ยมเพื่อผลักใสเจ้าหน้าที่ที่ความเห็นไม่ลงรอยกัน นายทหารระดับสูงสามสิบนายที่นำโดยพลเอก เล วัน ติ ประกาศทางออกว่าจะปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายแก่กองทัพเพื่อป้องกันรักษารัฐธรรมนูญและสาธารณรัฐ การประกาศนี้เป็นแค่การปิดบังแผนการโค่นล้มรัฐบาลของเสี่ยม[37] ผู้ลงนามบางคนต่อมามีบทบาทอย่างเป็นส่วนตัวในการโค่นล้มและสังหารเสี่ยมในเดือนพฤศจิกายน พลเอก เซือง วัน มิญ และพลเอก เจิ่น วัน โดน ที่ปรึกษาด้านการทหารต่อประธานาธิบดีและผู้นำการรัฐประหารรัฐบาลของเสี่ยม ซึ่งในเวลานั้นอยู่ต่างประเทศ[37]

มาดามญู อดีตชาวพุทธที่เปลี่ยนมาเข้ารีตเป็นคริสต์ สตรีหมายเลขหนึ่งของเวียดนามใต้ (เธอเป็นภรรยาของโง ดิ่ญ ญู น้องชายของเสี่ยมและเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษารัฐบาล เป็นที่ยอมรับกันว่าเธอเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งเช่นนั้น เนื่องจากเสี่ยมไม่ได้แต่งงาน) กล่าวว่าเธอจะ "ปรบมือให้กับการแสดงปิ้งย่างพระสงฆ์อีกรูป"[38] ในเดือนเดียวกันนั้น รัฐบาลได้คาดโทษพระกว๋าง ดึ๊ก ว่าใช้ถูกกรอกยาก่อนจะถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย[39] รัฐบาลยังกล่าวโทษว่านักข่าวบราวน์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังว่าจ้างให้พระกว๋าง ดึ๊ก เผาตัวเองจนถึงแก่มรณกรรม[40]

ผลต่อสื่อและการเมือง[แก้]

มัลคอล์ม บราวน์ กับภาพถ่ายพระกว๋าง ดึ๊ก

ภาพถ่ายของมัลคอล์ม บราวน์ แพร่กระจายไปทั่วสำนักข่าวต่าง ๆ และได้รับการตีพิมพ์เป็นภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลก เหตุการณ์การเผาตนเองนี้ต่อมาได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤตการณ์ชาวพุทธและจุดสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลของเสี่ยม[41]

เซท เจเคิบส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เสนอว่าพระกว๋าง ดึ๊ก ได้ "สลายการทดลองของอเมริกาในเสี่ยมไปสิ้นเป็นผงธุลี" และ "ไม่ว่าจะร้องขอเพียงใดก็ไม่สามารถกู้คืนชื่อเสียงของเสี่ยมได้อีก" หลังภาพถ่ายของบราวน์ได้เข้าไปอยู่ในจิตใจของผู้คนทั่วโลก[42] เอลเลน แฮมเมอร์ บรรยายเหตุการณ์นี้ว่าได้ "กระตุ้นภาพจำอันโหดร้ายของการลงโทษอย่างทารุณและความน่าหวาดกลัวที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นจริงอันเป็นเอเชียอย่างยิ่งที่ชาวตะวันตกเข้าใจได้"[43] จอห์น เมคลิน เจ้าหน้าที่ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่าภาพถ่ายนี้ "สร้างความสะพรึงอย่างประเมินค่ามิได้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ขบวนการของชาวพุทธ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนสภาวะของเวียดนามในเวลานั้น"[41] วิลเลียม โคลบี หัวหน้าส่วนงานตะวันออกไกลของซีไอเอในเวลานั้น ระบุว่าเสี่ยม "รับมือกับวิกฤตการณ์ชาวพุทธได้ค่อนข้างแย่ และปล่อยให้ลุกลาม แต่ผมคิดว่ามันคงไม่มีอะไรที่จะทำได้อีกหลังภิกษุรูปนั้นจุดไฟเผาตัวเอง"[41]

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลเสี่ยม รับทราบถึงมรณกรรมของพระกว๋าง ดึ๊ก จากหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าระหว่างกำลังคุยกับรอเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี น้องชายซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดสหรัฐทางโทรศัพท์อยู่ รายงานระบุว่าเคนเนดีขัดขึ้นมาระหว่างกำลังพูดคุยเรื่องการแบ่งแยกในรัฐแอละบามา โดยตะโกนออกมาว่า "พระเจ้า!" (Jesus Christ!) ต่อมาในภายหลังเขาได้กล่าวถึงภาพถ่ายนี้ว่า "ไม่มีภาพถ่ายข่าวใดในประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกไปทั่วโลกเท่ากับภาพนั้นอีก"[42] วุฒิสมาชิกแฟรงก์ เชิร์ช (พรรคเดโมแครต รัฐไอดาโฮ) สมาชิกคณะวุฒิสมาชิกกิจการระหว่างประเทศ กล่าวอ้างว่า "เหตุการณ์ที่น่าสยดสยองเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่การไล่สังหารชาวคริสต์ในสมัยโรมัน"[43]

ในทวีปยุโรป ภาพถ่ายนี้ถูกนำมาวางขายตามท้องถนนในรูปแบบไปรษณียบัตรในคริสต์ทศวรรษ 1960 ส่วนประเทศจีนได้เผยแพร่ภาพถ่ายนี้ไปทั่วเอเชียและแอฟริกาเพื่อเป็นหลักฐานถึงจักรวรรดินิยมของสหรัฐ[40] ภาพถ่ายของบราวน์ยังนำไปใส่กรอบและติดตั้งไว้กับรถยนต์คันที่นำพระกว๋าง ดึ๊ก ไปเผาตนเอง รถยนต์ที่ว่านี้จัดแสดงอยู่ในเมืองเว้[40] สำหรับบราวน์และเอพี ภาพถ่ายนี้เป็นความสำเร็จทางการตลาด เรย์ เฮิร์นดัน ผู้สื่อข่าวภาคพื้นเวียดนามของยูพีไอ ลืมนำกล้องติดตัวไปด้วยในวันนั้นและถูกนายจ้างตำหนิอย่างรุนแรงเป็นการส่วนตัว ยูพีไอคาดการณ์ว่าผู้อ่านราว 5,000 คนในนครซิดนีย์ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากร 1.5–2 ล้านคน ได้เปลี่ยนไปรับข่าวจากแหล่งของเอพีแทน[44]

ไทมส์ออฟเวียดนาม สื่อกระบอกเสียงภาษาอังกฤษของเสี่ยม เพิ่มความรุนแรงในการโจมตีทั้งนักข่าวและชาวพุทธ มีการตีพิมพ์หัวข่าวเช่น "โปลิตบูโรที่ซ้าเหล่ยสร้างภัยคุกคามใหม่" และ "พระสงฆ์วางแผนการฆาตกรรม"[45] บทความชิ้นหนึ่งยังตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหส่างพระสงฆ์กับสื่อว่า "ทำไมถึงได้มีหญิงสาวมากมายสลับกันเข้าออกวัดซ้าเหล่ยตั้งแต่เช้า [ของวันนั้น]" และกล่าวอ้างโทษว่าหญิงสาวเหล่านั้นถูกนำเข้ามาเพื่อบริการทางเพศแก่ผู้สื่อขาวของสหรัฐ[45]

เรื่องราวแต่ก่อนและอิทธิพล[แก้]

สถูปพระโพธิสัตว์กว๋าง ดึ๊ก ตรงสี่แยกที่ท่านเผาตนเอง

การเผาตนเองจนถึงแก่มรณกรรมของพระเวียดนามไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีบันทึกถึงการเผาตนเองของพระเวียดนามจนมรณภาพมานับศตวรรษ โดยทั่วไปทำไปเพื่อถวายเกียรติแด่พระโคตมพุทธเจ้า กรณีที่เกิดขึ้นใกล้กับเหตุการณ์นี้ที่สุดที่มีบันทึกไว้เกิดขึ้นในเวียดนามเหนือใน ค.ศ. 1950 เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสพยายามจะกำจัดการปฏิบัตินี้หลังเข้ายึดครองเวียดนามได้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีรายงานว่าทางการเคยป้องกันพระสงฆ์เผาตนเองในเว้ได้สำเร็จในคริสต์ทศวรรษ 1920 กระนั้นพระรูปนั้นหันไปอดอาหารจนมรณภาพแทน ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1920 ถึง 1930 หนังสือพิมพ์ในไซ่ง่อนรายงานเหตุการณ์การเผาตนเองมรณภาพของพระสงฆ์กันอย่างไร้ความรู้สึก การปฏิบัตินี้ยังเคยเกิดขึ้นในฮาร์บิน ประเทศจีน ใน ค.ศ. 1948 โดยพระสงฆ์รูปหนึ่งนั่งในท่าขัดสมาธิแบบปัทมาสน์บนกองขี้เลื่อยและน้ำมันถั่วเหลืองก่อนจะจุดไฟเผาตนเองเพื่อประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง ที่มีนโยบายปราบปรามศาสนา หัวใจของพระสงฆ์รูปนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์เช่นเดียวกับพระกว๋าง ดึ๊ก[46]

หลังจากพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มีพระสงฆ์อีกห้ารูปที่เผาตนเองเรื่อยมาจนปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963 ท่ามกลางการประท้วงของชาวพุทธที่ทวีความรุนแรงขึ้น[47] ในวันที่ 1 พฤศจิกายน กองทัพ ARVN โค่นล้มเสี่ยมในรัฐประหาร เสี่ยมและญูถูกลอบสังหารในวันต่อมา[48] นับจากนั้นยังคงมีพระสงฆ์เผาตนเองเพื่อเรียกร้องในประเด็นอื่น ๆ เรื่อยมา[49]

ชาวอเมริกันในไซ่ง่อนมักมองเหตุการณ์การเผาตนเองว่าเป็นเรื่องเหนือจริง และมักเล่นมุกเกี่ยวกับ "บอนซ์ไฟเออส์" (bonze fires แปลว่า ไฟพระสงฆ์; เป็นการเล่นคำกับ bonfire ที่แปลว่า กองไฟ) และ "ฮอตครอสบอนซิส" (hot cross bonzes)[50] ในตัวอย่างหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1963 ลูกชายอายุน้อยของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ณ กรุงไซ่ง่อน เทน้ำมันเครื่องใส่ตนเองและจุดไฟเผาตนเอง เขาเป็นบาดแผลไฟไหม้อย่างรุนแรงก่อนจะมีผู้มาดับไฟ ต่อมาเขาระบุว่า "อยากรู้ว่ามันรู้สึกอย่างไร"[50] ในสหรัฐมีการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพระกว๋าง ดึ๊ก ในการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงจนถึงแก่ชีวิต โดยทำไปเพื่อประท้วงต่อสงครามเวียดนาม ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1965 แอลิส เฮิตส์ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพวัย 82 ปี จุดไฟเผาตนเองประท้วงด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเฟเดอรัลในดีทรอยต์[51] ต่อมาในปีเดียวกันนั้น นอร์แมน มอร์ริสัน นักสันติภาพนิยมวัย 31 ปี สมาชิกลัทธิเคว็กเกอร์เทน้ำมันก๊าดและจุดไฟเผาตนเองใต้หน้าต่างชั้นสามของรอเบิร์ต แม็กนาแมรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่เดอะเพนตากอน[ต้องการอ้างอิง] ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965 และในสัปดาห์ต่อมา รอเจอร์ แอลเลน ลาพอร์ต เผาตนเองเช่นเดียวกันที่ด้านหน้าของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก[ต้องการอ้างอิง]

หมายเหตุ[แก้]

  1. มาจากคำว่า ฮหว่าเถื่อง (hòa thượng) เป็นสมณศักดิ์ ในที่นี้เลือกใช้คำแปลตามคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย ซึ่งแปลไว้ว่า "พระมหาเถราจารย์"[4] สำหรับคำแปลอื่นเป็นภาษาไทยมีในพงศาวดารญวน แปลไว้ว่า พระสังฆราชอุปัฌายะอาจารย์ โดยแปลจากรูป đại sư hòa thượng[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Buswell & Lopez 2013, pp. 134, 906.
  2. "Monk Suicide by Fire in Anti-Diem Protest," New York Times, 11 June 1963, 6.; David Halberstam, "Diem Asks Peace in Religion Crisis," New York Times 12 June 1963. 3.; Marilyn B. Young, The Vietnam Wars: 1945–1990, New York: Harper Collins Publishers, 1990. 95–96.
  3. Zi Jun Toong, "Overthrown by the Press: The US Media's Role in the Fall of Diem," Australasian Journal of American Studies 27 (July 2008), 56–72.
  4. "ผลการค้นหาคำว่า "Hòa thượng" ในหน้าเฟซบุ๊กของคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย". สืบค้นเมื่อ 2024-03-08.
  5. Chiem, NT (2563). "การจัดทำอภิธานศัพท์พงศาวดารญวน ฉบับนายหยองกองทหารปืนใหญ่แปล และเทียนวรรณเป็นผู้เรียบเรียง" (PDF). คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สืบค้นเมื่อ 2024-03-08. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  6. Dung 2006.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Thích Nguyên Tạng 2005.
  8. Huỳnh Minh 2006, pp. 266–267.
  9. 9.0 9.1 9.2 Huỳnh Minh 2006, p. 268.
  10. Gettleman 1966, pp. 275–276, 366
  11. Unattributed 1963a
  12. Tucker 2000, pp. 49, 291, 293
  13. Ellsberg 1963, pp. 729–733
  14. Tucker 2000, p. 291
  15. 15.0 15.1 Gettleman 1966, pp. 280–282
  16. Harrison 1963b, p. 9
  17. Warner 1963, p. 210
  18. Fall 1963, p. 199
  19. Buttinger 1967, p. 993.
  20. Karnow 1997, p. 294
  21. 21.0 21.1 Jacobs 2006, p. 91
  22. Buttinger 1967, p. 933.
  23. Harrison 1963a, pp. 5–6
  24. Jacobs 2006, pp. 140–50
  25. Browne 1963
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 Jacobs 2006, p. 147
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 Karnow 1997, p. 297
  28. Jones 2003, p. 268
  29. Halberstam 1965, p. 211
  30. 30.0 30.1 Jones 2003, p. 270
  31. Jones 2003, p. 272.
  32. 32.0 32.1 Hammer 1987, p. 149.
  33. Jacobs 2006, p. 148
  34. Huỳnh Minh 2006, p. 266
  35. Jones 2003, pp. 307–308
  36. Jones 2003, p. 271.
  37. 37.0 37.1 Hammer 1987, p. 147
  38. Langguth 2002, p. 216
  39. Jones 2003, p. 284
  40. 40.0 40.1 40.2 Prochnau 1995, p. 309.
  41. 41.0 41.1 41.2 Jones 2003, p. 269
  42. 42.0 42.1 Jacobs 2006, p. 149
  43. 43.0 43.1 Hammer 1987, p. 145
  44. Prochnau 1995, p. 316
  45. 45.0 45.1 Prochnau 1995, p. 320
  46. Hammer 1987, p. 146
  47. Jacobs 2006, pp. 152, 168, 171.
  48. Jacobs 2006, pp. 173–180
  49. Hammer 1987, p. 318
  50. 50.0 50.1 Prochnau 1995, p. 310.
  51. Zinn 2003, p. 486.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]