กวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กวี หมายถึง ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทร้อยกรองในรูปฉันทลักษณ์ อันหมายถึงแบบข้อบังคับสัมผัส วรรคตอน และถ้อยคำให้เรียงร้อยรับกันอย่างเหมาะเจาะไพเราะด้วยจังหวะและน้ำหนักของคำที่กำหนดไว้ โดยทั่วไป อาจจำแนกแบบฉันทลักษณ์ออกเป็น 7 ชนิดด้วยกันคือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต และกลบท มักใช้คำนี้ในภาษาแบบแผนหรือภาษาการประพันธ์ในวรรณคดีโบราณ และอาจรวมถึงปัจจุบัน โดยปริยาย..หมายถึง ผู้ชำนาญในการประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นบทร้อยกรอง หรือวรรณกรรมในรูปแบบอื่น ๆ โดยมีความหมายในเชิงยกย่อง

รากศัพท์[แก้]

คำว่า กวี มาจากคำเดิม ในภาษาบาลีและสันสกฤต "กวิ" แปลว่า ผู้คงแก่เรียน ผู้เฉลียวฉลาด ผู้มีปัญญาเปรื่องปราด ผู้ประพันธ์กาพย์กลอน และแปลอย่างอื่น ได้อีก โดยมีรากศัพท์ จาก "กุ" หรือ "กู" ธาตุ แปลว่า "เสียง, ทำให้เกิดเสียง, ร้อง, ร้องระงม, คราง, ร้องเหมือนเสียงนก หรือเสียงแมลงผึ้ง"

ประเภทของกวี[แก้]

ในทางวรรณคดี มักจะแบ่งเป็นกวีเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการแต่ง คือ

  1. จินตกวี หมายถึง กวีที่แต่งโดยความคิดของตนได้แก่ วรรณคดีประเภทที่เกิดจากจินตนาการของผู้แต่งหรือกวีเอง เช่น เรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เรื่องมัทนะพาธา ของรัชกาลที่ 6 เรื่องเห็นแก่ลูกของ "พระขรรค์เพชร" เป็นต้น
  2. สุตกวี หมายถึง กวีที่แต่งโดยได้ฟังมา ได้แก่ เรื่องที่แต่งตามที่เล่าสืบกันมา อาทิ เสือโคคำฉันท์ และ สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นต้น
  3. อรรถกวี คือ กวีที่แต่งตามความจริง ได้แก่ เรื่องที่แต่งตามเหตุการณ์หรือหลักความเป็นจริง เช่น เรื่อง ลิลิตยวนพ่ายและลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น
  4. ปฏิภาณกวี คือ กวีที่แต่งบทกวีได้สด ๆ ทันทีโดยไม่ต้องเตรียมมาก่อนได้แก่ เรื่องที่แต่งด้วยไหวพริบที่คิดขึ้นเองโดยทันทีทันใด เช่น โคลงที่ศรีปราชญ์พูดกับนายประตู เป็นต้น

ความหมายอื่น ๆ[แก้]

ในปัจจุบัน คำว่า "กวี" มีความหมายที่กว้างมากขึ้น ไม่เพียงแต่หมายถึงผู้แต่งร้อยกรองเพียงอย่างเดียว หากยังหมายถึง ผู้มีฝีมือในการแต่งวรรณกรรมในรูปแบบอื่น ๆ เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมมุขปาฐะ (แต่งปากเปล่า ด้วยการขับ ร้อง หรือเล่า โดยไม่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร) เช่น กวีซีไรต์ มีทั้งผู้แต่งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ขณะที่เรียกผู้ชำนาญในการแต่งเพลงว่า คีตกวี

คำศัพท์ที่เกี่ยวกับกวี[แก้]