เฏาะลากสามครั้งในอินเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เฏาะลากสามครั้ง (อังกฤษ: triple talaq)[1] เป็นรูปแบบหนึ่งของการหย่าในศาสนาอิสลาม (ซึ่งภาษาอาหรับเรียก talaq-e-mughallazah แปลว่า การหย่าอันลบล้างมิได้)[2] ชายมุสลิมสามารถหย่าภรรยาได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแจ้งภรรยาว่า "เฏาะลาก" (talaq แปลว่า "หย่า") สามครั้ง ซึ่งมักทำในคราวเดียว ไม่ว่าด้วยวาจา ด้วยลายลักษณ์อักษร หรือปัจจุบันด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ก็มี การแจ้งเฏาะลากสามครั้งที่ประพฤติกันในหมู่มุสลิมอินเดียนั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เสมอมา บรรดาผู้ตั้งคำถามเห็นว่า การหย่าดังกล่าวเป็นการไม่ยุติธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำทางเพศ ขัดต่อสิทธิมนุษยชน และขัดต่อหลักฆราวาสนิยม อันเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องถึงการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งที่เป็นระเบียบเดียวกันทั่วประเทศ และเกี่ยวพันไปถึงรัฐบาลอินเดียกับศาลสูงสุดอินเดีย[3] ฉะนั้น ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2017 ศาลสูงสุดอินเดียจึงวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงสามต่อสองว่า การหย่าโดยแจ้งเฏาะลากสามครั้งในคราวเดียว (talaq-e-biddat; instant triple talaq) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[4][5] โดยตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า การหย่าเช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนเสียงข้างน้อยเห็นว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ควรที่รัฐบาลจะออกกฎหมายมาห้ามต่อไป[6]

วิธีการ[แก้]

เฏาะลากสามครั้ง เป็นวิธีหย่าที่ประพฤติกันในอินเดีย โดยชายมุสลิมสามารถหย่าภรรยาได้โดยชอบ เพียงแจ้งภรรยาว่า "เฏาะลาก" สามครั้ง การแจ้งนี้สามารถกระทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวาจา ลายลักษณ์อักษร และในปัจจุบัน มีการแจ้งด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์ ข้อความ อีเมล หรือสื่อสังคม ในการแจ้งนี้ ชายไม่ต้องแสดงเหตุผลใด ๆ และเพียงแจ้งลอย ๆ ไม่ต้องมีภรรยามาอยู่ต่อหน้าเลยก็ได้ เมื่อพ้นเวลาที่เรียก "อิดดะฮ์" (‘iddah) ซึ่งกำหนดไว้ให้แน่ใจว่า ภรรยามิได้ตั้งครรภ์อยู่แล้ว การหย่าก็เป็นอันลบล้างมิได้อีกต่อไป[7][8] มีการแนะนำว่า ก่อนแจ้งหย่าครบทั้งสามครั้ง ควรรั้งรอไว้สักระยะ เผื่อจะไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันได้ แต่ก็ไม่เคยมีการรั้งรอเช่นนั้น เพราะโดยทั่วไปแล้วมักแจ้งหย่าสามครั้งรวดเดียว[9]

หญิงที่ชายหย่าแล้วจะสมรสกับชายเดิมมิได้ เว้นแต่ "ล้างน้ำ" (เรียก nikah halala) โดยสมรสกับชายอื่นแล้วกลับมาแต่งงานกับชายคนเดิม แต่จนกว่าจะสมรสใหม่ หญิงต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูบุตรชายที่ยังเล็ก และเลี้ยงดูบุตรหญิงไปจนกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อพ้นเวลานั้นแล้ว บุตรทั้งหลายก็ตกอยู่ในความปกครองของบิดาต่อไป[8]

คณะกรรมการกฎหมายบุคคลอิสลามเพื่อชนอินเดียทั้งมวล (All India Muslim Personal Law Board: AIMPLB) องค์การนอกภาครัฐที่สนับสนุนการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง เคยชี้แจงต่อศาลสูงสุดอินเดียว่า หญิงก็สามารถหย่าสามีโดยวิธีเดียวกัน และจะกำหนดเงื่อนไขมิให้สามีแจ้งหย่าตนก็ได้[10]

ปัจจุบัน ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจำนวน 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึงปากีสถาน ได้ห้ามหย่าโดยแจ้งเฏาะลากสามครั้งรวดเดียว[11]

ประวัติ[แก้]

กิจการครอบครัวมุสลิมในอินเดียนั้นอยู่ในบังคับของรัฐบัญญัติให้ใช้กฎหมายบุคคลมุสลิม (ชะรีอะฮ์) ค.ศ. 1937 (Muslim Personal Law (Shariat) Application Act, 1937) ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายฉบับแรก ๆ ที่ประกาศใช้หลังจากพระราชบัญญัติการปกครองอินเดีย ค.ศ. 1935 (Government of India Act, 1935) มีผลใช้บังคับ กฎหมายดังกล่าวเข้าแทนที่ "กฎหมายแบบอังกฤษ–มุฮัมมัด" (Anglo-Mohammedan Law) ที่เคยใช้แก่ชาวอิสลาม โดยมีผลผูกพันชาวอิสลามทั้งหมดในอินเดีย[12][13]

เนติบัณฑิตอุลมา (ulama) เท่านั้นที่จะตีความกฎหมายชะรีอะฮ์ดังกล่าวได้ เหล่าอุลมาเคยถกเถียงครั้งใหญ่ในเรื่องนี้กันเมื่อ ค.ศ. 2003 โดยอุลมาจากสำนักกฎหมายฮะนะฟี (Hanafi) ของนิกายซุนนี (Sunni) เห็นว่า การหย่าแบบเฏาะลากสามครั้งมีผลผูกพัน ถ้ากระทำต่อหน้าพยานที่เป็นมุสลิม และให้ศาลชะรีอะฮ์รับรอง แต่อุลมาจากสำนักอื่น ๆ เช่น Ahl-i Hadith, Twelver, และ Musta'li ไม่เห็นด้วยกับการหย่าเช่นนี้[8]

สำหรับนิติปรัชญาอิสลามแบบดั้งเดิมแล้ว การหย่าแบบเฏาะลากสามครั้งไม่เป็นที่ยอมรับ แต่อาจชอบด้วยกฎหมาย[14] นับแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สืบมา สถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทวีความไม่พอใจต่อกฎหมายหย่าของอิสลาม ทำให้ประเทศมุสลิมหลายแห่งปฏิรูปการหย่าในหลายวิธี[15] กระนั้น ความสัมพันธ์ทางสมรสของมุสลิมในอินเดียยังคงเดิม คือ ไม่ต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ฝ่ายบ้านเมืองจะไม่ก้าวก่าย เว้นแต่เข้ามาอยู่ในบังคับของกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสตามรัฐบัญญัติการสมรสพิเศษ ค.ศ. 1954 (Special Marriage Act, 1954)[16] และเพราะปัจจัยทางประวัติศาสตร์ สิทธิที่สามีสามารถหย่าภรรยาได้แต่ฝ่ายเดียวในอินเดียจึงไม่เคยมีการตรวจสอบเหมือนในประเทศอื่น[16]

การสนับสนุน[แก้]

AIMPLB สนับสนุนการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง[17] โดยอ้างรายงานของคณะวิจัยมุสลิมมหิลา (Muslim Mahila Research Kendra) กับคณะกรรมการชะรีอะฮ์เพื่อสตรี (Shariah Committee for Women) ว่า มุสลิมมีอัตราการหย่าต่ำกว่าชาวศาสนาอื่น ข้ออ้างที่ว่ามีการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้งมากนั้นจึงฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้ AIMPLB ยังว่า มีหญิงมุสลิมกว่า 35 ล้านคนทั่วอินเดียลงชื่อสนับสนุนกฎหมายชะรีอะฮ์และการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง[18][19][20]

การถกเถียงเรื่องหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง ทำให้ AIMPLB ออกประมวลจริยธรรมกำหนดแนวทางการหย่าดังกล่าวในเดือนเมษายน ค.ศ. 2017 พร้อมชี้ชวนให้คว่ำบาตรผู้หย่าแบบเฏาะลากสามครั้งโดยปราศจากการไตร่ตรองและเหตุผลรองรับ[21] AIMPLB ยังแนะนำว่า เพื่อให้มีเวลาปรองดอง การแจ้งหย่าแต่ละครั้งควรทำอย่างน้อยหนึ่งเดือนห่างกัน[22]

การคัดค้าน[แก้]

หญิงมุสลิมไม่เห็นด้วยกับการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง[23] หญิงบางคนฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อศาลสูงสุดอินเดีย โดยพรรณนาว่า เป็นวิถีประพฤติที่ "ล้าหลัง" (regressive)[17] โดยผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนมาตรา 2 ของรัฐบัญญัติให้ใช้กฎหมายบุคคลมุสลิม (ชะรีอะฮ์) ค.ศ. 1937 ที่ยอมให้มีการหย่าดังกล่าว อ้างว่า ขัดต่อมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งว่าด้วยความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย[24]

วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2016 ศาลสูงอัลลอฮาบาด (Allahabad High Court) จึงวินิจฉัยว่า การหย่าแบบเฏาะลากสามครั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิสตรีมุสลิม[25][26]

ครั้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 กลุ่มอิสลามในสังกัดกลุ่มชาตินิยมฮินดูที่ชื่อ ราษฏรียสวยัมเสวกสังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh) ล่ารายชื่อเรียกร้องให้ยุติการหย่าแบบเฏาะลากสามครั้ง มีชาวมุสลิมในอินเดียร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่าหนึ่งล้านคน[27] วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 นักบวชผู้ใหญ่ในศาสนาอิสลามบางคนออกแถลงการณ์ว่า การหย่าดังกล่าว "ไม่ใช่ของอิสลาม" (un-Islamic) เป็นแต่เครื่องมือกดขี่สตรี[28]

คดีข้างต้นไปถึงศาลสูงสุดอินเดียใน ค.ศ. 2017 ผู้รับผิดชอบเป็นองค์คณะซึ่งประกอบด้วยตุลาการห้าคนที่หลากความเชื่อและศาสนา[29][30] ตุลาการสองคนเห็นว่า การหย่าโดยแจ้งเฏาะลากสามครั้งรวดเดียวนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตุลาการอีกสามคนเห็นว่า ขัด จึงเกิดคำวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากสามต่อสอง[31] องค์คณะตุลาการยังกำหนดให้รัฐบาลกลางตรากฎหมายเกี่ยวกับการสมรสและการหย่าของชาวอิสลามเสียใหม่ภายในหกเดือน[32] แต่จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ องค์คณะตุลาการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามแจ้งเฏาะลากสามครั้งเพื่อหย่า[33][34]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Triple Talaq verdict: What exactly is instant divorce practice banned by court". Hindustan Times. 2017-08-22. สืบค้นเมื่อ 2017-09-18.
  2. Mohammed Siddique Patel. "The different methods of Islamic separation – Part 2: The different types of Talaq". www.familylaw.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2017-05-29.
  3. "Triple Talaq". The Times of India. 13 May 2017. สืบค้นเมื่อ 2017-05-13.
  4. "Supreme Court scraps instant triple talaq: Here's what you should know about the practice".
  5. "Small step, no giant leap".
  6. "Triple talaq verdict LIVE updates: Jaitley says SC judgment a great victory and welcome step". Indian Express.
  7. Choudhury, (Mis)Appropriated Liberty (2008), pp. 72–73.
  8. 8.0 8.1 8.2 Rao, Kinship, Descent Systems and State – South Asia (2003), p. 341.
  9. Choudhury, (Mis)Appropriated Liberty (2008), p. 95.
  10. "Women can say triple talaq, Muslim law board tells Supreme Court". The Times of India. 17 May 2017.
  11. Stacey, Kiran (22 August 2017). "India supreme court bans Islamic 'instant divorce'". Financial Times.
  12. Mukhopadhyay, Construction of Gender Identity (1994), p. 61.
  13. Murshid, Inheritance: Contemporary Practice – South Asia (2003), p. 304.
  14. Esposito & Delong-Bas, Women in Muslim Family Law (2001), pp. 30–31.
  15. Schacht, J.; Layish, A. (2000). "Ṭalāḳ". ใน P. Bearman; Th. Bianquis; C. E. Bosworth; E. van Donzel; W. P. Heinrichs (บ.ก.). Encyclopaedia of Islam. Vol. 10 (2nd ed.). Brill. p. 155.
  16. 16.0 16.1 Esposito & Delong-Bas, Women in Muslim Family Law (2001), pp. 111–112.
  17. 17.0 17.1 "Lucknow: Muslim Personal Law Board to discuss Ayodhya dispute, triple talaq on Saturday", Hindustan Times, 14 April 2017, สืบค้นเมื่อ 22 August 2019
  18. Khan, Shoeb (10 April 2017). "Muslims have lower divorce rate than other groups". The Times of India. สืบค้นเมื่อ 2017-04-21.
  19. PTI (10 April 2017). "Muslim community has a low rate of divorce". The Hindu. สืบค้นเมื่อ 2017-04-21.
  20. "Divorce rate among Muslims low compared to other communities". India Today. 8 April 2017. สืบค้นเมื่อ 2017-04-21.
  21. Shaurya, Surabhi (17 April 2017). "Triple Talaq: All India Muslim Personal Law Board issues code of conduct; here's what it says". India.com.
  22. Bajpai, Namita (16 April 2017). "All India Muslim Personal Law Board announces code of conduct for triple talaq". The New Indian Express.
  23. "What India's liberals get wrong about women and sharia law".
  24. Thakur, Pradeep (23 January 2017). "Triple Talaq: Law panel studies practices of Muslim nations". The Times of India.
  25. "Allahabad High Court calls triple talaq unconstitutional, says no personal law board is above Constitution". India Today. 8 December 2016. สืบค้นเมื่อ 2017-04-21.
  26. Rashid, Omar (8 December 2016). "'Triple talaq' a cruel and most demeaning form of divorce practised by Muslim community: HC". The Hindu. สืบค้นเมื่อ 2017-04-21.
  27. Suri, Manveena (17 March 2017). "Triple talaq: 1 million Indian Muslims sign petition against divorce practice". CNN. สืบค้นเมื่อ 2017-05-22.
  28. "The case against Triple talaq". Livemint. 16 May 2017.
  29. "Triple talaq case: Muslim judge on multi-faith bench kept silence all through".
  30. "5 Judges Of 5 Faiths Give Verdict On Triple Talaq".
  31. "Triple Talaq declared invalid by Supreme Court - Lexspeak". Lexspeak (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-08-23. สืบค้นเมื่อ 2017-08-23.
  32. "Supreme Court declares triple talaq unconstitutional, strikes it down by 3:2 majority".
  33. "Injunction on husbands pronouncing triple talaq until law is made: SC advocate".
  34. "This Is What Supreme Court Said In Triple Talaq Judgment [Read Judgment]".

บรรณานุกรม[แก้]