มานะ มานี ปิติ ชูใจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มานะ มานี ปิติ ชูใจ  
ผู้ประพันธ์รัชนี ศรีไพรวรรณ
ผู้วาดภาพประกอบเตรียม ชาชุมพร
ประเทศ ไทย
ภาษาไทย
ประเภทตำราเรียน

มานะ มานี ปิติ ชูใจ เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1–6 รวม 12 เล่ม (ภาคเรียนละ 1 เล่ม) ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2521–2537 เขียนเรื่องโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และมีรูปภาพประกอบ ซึ่งวาดขึ้นโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล[1]

ประวัติ[แก้]

ที่มาของแบบเรียน เริ่มจากที่กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าแบบเรียนภาษาไทย ชุดที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น มีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย จึงต้องการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยวางวัตถุประสงค์ให้นักเรียนอ่านแล้ว มีความรู้สึกสนุกสนาน เพื่อกระตุ้นให้อยากเรียนภาษาไทย แบบเรียนชุดนี้ ใช้เวลาเขียนอยู่นานกว่า 4 ปี มุ่งให้ความรู้ทางภาษาไทย ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน หลังจากนั้นจึงนำมาปรับปรุง และทดลองใช้เรียนจนแน่ใจว่า เนื้อหาที่นักเรียนประถมทั้งประเทศ ต้องอ่านเพื่อใช้ศึกษา เป็นเรื่องราวอันบริสุทธิ์ดีงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัย โดยกำหนดจำนวนคำ ให้เรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น ทั้งนี้ เมื่อแรกเผยแพร่ยังไม่มีชื่อ แต่รัชนีผู้เขียนเล่าว่า มีผู้เรียกอย่างลำลองว่า ตำนานเด็กดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกเลิกแบบเรียนชุดนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย[2]

การคิดเนื้อหา รัชนีเห็นว่า เด็กชอบสัตว์เลี้ยง จึงเป็นที่มาของตัวละครที่มีสัตว์เลี้ยง มานะ มานี เป็นพี่น้องกันที่มีเจ้าโต (สุนัข) และต่อมามีนกแก้ว ชูใจมีแมว วีระมีเจ้าจ๋อ (ลิง) ปิติมีเจ้าแก่ (ม้า)[3] และรัชนีเคยให้สัมภาษณ์ วราภรณ์ สมพงษ์ ผู้สื่อข่าวของไอทีวีว่าฉากทั้งหมดที่เกิดในเนื้อเรื่องนั้น จำลองมาจากสถานที่ ๆ มีอยู่จริง คือ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เนื่องจากรัชนีชื่นชอบบรรยายกาศของสถานที่นั้น[4]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการของไทย อนุญาตให้ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย (Thai Language and Culture Centre; ชื่อย่อ: TLCC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งขอนำแบบเรียนชุดนี้ ไปใช้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของสถาบัน[5]

อนึ่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557 องค์การค้าของ สกสค. ประกาศว่าจะตีพิมพ์แบบเรียนดังกล่าว เพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป โดยรวมเนื้อหาเป็นชั้นปีละ 1 เล่ม จากเดิมที่แยกเป็นเล่ม 1 และเล่ม 2 ส่วนภาพประกอบนั้นวาดขึ้นใหม่ แต่ยังคงเนื้อหาตามเดิมทุกประการ ซึ่งจะเริ่มจัดจำหน่าย ที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันเป็นต้นไป[ต้องการอ้างอิง]

สาระของบทเรียน[แก้]

มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งจำลองมาจากชีวิตจริง เพื่อให้มีความสนุกสนาน ชวนให้สนใจอ่าน และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ทางภาษา ทั้งแสดงถึงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยอันดีงาม ของแต่ละตัวละคร แต่ละบทจะมีภาพวาดประกอบ โดยช่วงท้ายของแต่ละบท จะมีแบบฝึกเพื่อทดสอบความรู้ โดยกำหนดจำนวนคำพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ไว้ในหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–4 จำนวน 4,000 คำ ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ไม่กำหนดจำนวนคำ[6]

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1[แก้]

เล่ม 1–2 รวม 40 บท มีคำใหม่ 450 คำ โดยเล่ม 1 นำคำที่สื่อความหมายได้ มาเรียงเป็นคำ ๆ ผสมคำจากพยัญชนะบางตัวและรูปสระง่าย ๆ เริ่มจาก แม่ ก กา จนมีตัวสะกดทั้ง 8 แม่ คำควบกล้ำ, อักษรนำ, สระ, เครื่องหมายไม้ยมก, รูปวรรณยุกต์ทั้ง 4 รูป และไม้ทัณฑฆาต คำต่าง ๆ นั้นผูกเป็นเรื่องราว มีตัวละครจำนวน 5 คน ได้แก่ มานะ, ปิติ, วีระ เด็กหญิง 2 คน ได้แก่ มานี, ชูใจ มีสัตว์เลี้ยงประจำตัวเด็ก เช่น มานี มานะ มีหมาชื่อ เจ้าโต, วีระ มีลิง ชื่อ เจ้าจ๋อ, ปิติ มีม้า ชื่อ เจ้าแก่ และชูใจ มีแมวชื่อ สีเทา

เล่ม 2 มีเนื้อหาสอดแทรกให้เด็กรู้จักรักสัตว์ รักเพื่อน รักธรรมชาติ รักษาความสะอาดในโรงเรียน ตลาด มารยาทสังคม เช่นการกล่าวสวัสดี ขอโทษ และการใช้หางเสียง เป็นต้น

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2[แก้]

รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 800 คำ ตัวละครยังคงเป็นชุดเดิม สอนคำใหม่อย่าง คำควบกล้ำ, ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา, อักษรนำ การย้ำคำที่ , สะกด โดยผูกกับเรื่องราวที่มีสาระเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เด็กควรรู้ ควรปฏิบัติ เช่น การศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน, ดวงจันทร์, รุ้งกินน้ำ, การเดินทางโดยรถไฟ, ภูมิประเทศสองข้างทางรถไฟ ทำความรู้จักกับยานพาหนะชนิดต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน, รถยนต์ ยังคงกล่าวย้ำเรื่องความสะอาดในสถานที่ต่าง ๆ วัฒนธรรมอย่างการขนทรายเข้าวัด ตักบาตร ลอยกระทง นอกจากนั้นยังสอนให้รู้จักเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สัญญาณจราจร, การรู้จักบุคคลในท้องถิ่น เช่น สาธารณสุขอำเภอ, เกษตรอำเภอ, ตำรวจ, นายอำเภอ เป็นต้น

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3[แก้]

รวมมี 20 บท มีคำใหม่ 1,200 คำ สอนเรื่องคำที่สะกดไม่ตรงมาตราในแม่ต่าง ๆ, การใช้ รร, ทร เป็น ซ, กลุ่มคำซ้อน, คำประวิสรรชนีย์, คำพ้องเสียง, คำราชาศัพท์ที่ควรรู้ ผูกเรื่องราวโดยแทรกนิทานพื้นบ้างอย่าง โสนน้อยเรือนงาม, ศรีธนญชัย, พระอภัยมณี ตอนสุดสาครปราบม้านิลมังกร, ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้ นอกจากนั้นยังมี เรื่องความรู้ทั่วไปนำมาสอดแทรกอย่างเช่น ยาเสพติด กิจกรรมของลูกเสือ ความรู้เชิงธรรมชาติศึกษา และยังมีการนำวรรณคดีไทย นิทานพื้นบ้าน แทรกเข้ามา ส่วนตัวละครเริ่มเห็นนบุคลิกภาพต่าง ๆ กัน

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4[แก้]

รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 1,550 คำ นอกจากการเรียนรู้ภาษาไทยยังมีให้ความรู้ในวิชาอื่น ในส่วนภาษาไทย ความรู้ที่ได้เช่น เกมต่อคำไทย, กลุ่มคำ, รูปประโยคแบบต่าง ๆ, สำนวน, พังเพย, ภาษิตต่าง ๆ, ปริศนาคำทาย, การเขียนจดหมาย, การบันทึกประจำวัน, การใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ เช่น ปรัศนี, อัศเจรีย์, นขลิขิต เป็นต้น ราชาศัพท์ มีเรื่องวรรณคดีไทยอย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายแก้ว, คนังเงาะน้อย, สังข์ทอง, รามเกียรติ์ ตอน หนุมานลองดีพระฤๅษี, สุวรรณสาม ในด้านการให้ความรู้ประวัติศาสตร์เช่น ดอนเจดีย์, ท้าวเทพกษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร ส่วนด้านประเพณีไทยเช่น สงกรานต์, เล่นสะบ้า, ละครลิง, เพลงพวงมาลัย ในด้านความรู้ด้านอาชีพ เช่น เกษตรอำเภอ, การเลี้ยงปลานิล, การปลูกเงาะ, การเลี้ยงหอย นอกจากนั้นยังให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น การทำโทรศัพท์อย่างง่าย อีกทั้งยังมีการสอดแทรกด้านจริยธรรม เช่นการที่ปิติที่ไม่ยอมลอกข้อสอบของเพื่อน และตอนเก็บกระเป๋าสตางค์ได้แล้วนำไปคืนเจ้าของ

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5[แก้]

ในหนังสือเรียนชั้นปีนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกมี 20 บท ส่วนหลังเป็นนักเรียนค้นคว้านอกเวลา 4 เรื่อง มีการเรียนรู้ ความหมายของคำ ทุ่ม-โมง, ย่ำ-ยาม, เกาะหนู เกาะแมว, เกษตรกรที่หุบกะพง ส่วนด้านวรรณคดีไทย กล่าวถึงเรื่อง พระอภัยมณี ตอน สินสมุทร, รามเกียรติ์ ตอนน้ำบ่อน้อย ด้านการละเล่นไทยพูดถึงลักษณะเพลงเกี่ยวข้าว เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและการท่องเที่ยวเช่น เรื่องธรรมชาติของน้ำตก วีรกรรมที่บ้านบางระจัน, ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน และนิทานเรื่องสามัคคีเภท

ส่วนหลังของเล่ม ที่เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา 4 เรื่องคือ เรื่องนกกระจาบ, เรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่และหาเนื้อหาปลา, เรื่องการผจญภัยของผ้าขี้ริ้ว (ผลงานนักเรียน) และ เรื่องแปล 1 เรื่อง คื่อเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6[แก้]

เล่ม 1 มี 10 บท โดยสอนเรื่องด้านต่าง ๆ ทั้งการฟัง, พูด, อ่าน, เขียน และคิด เช่น การตั้งใจฟัง, การพูดในโอกาสต่าง ๆ, การเขียนจดหมาย, การใช้สำนวนอุปมาอุปมัย, การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เป็นต้น ในส่วนวรรณคดี เช่น เรื่อง พระรถเมรี, สังข์ศิลป์ชัย มีการให้ความรู้ด้านประวัตศาสตร์และตำนานอย่างเรื่อง พระยาพิชัยดาบหัก และประวัติวัดพนัญเชิง (พระเจ้าสายน้ำผึ้ง และนางสร้อยดอกหมาก) ในส่วนรัฐพิธี กล่าวถึงพิธีพืชมงคล, พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และการลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนท้ายเล่มมีหนังสืออ่านนอกเวลา 3 เรื่องคือ ละครพูดเรื่อง พระร่วง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 สองตอน บทละครเรื่อง ระบำดอกฝิ่น (ผลงานนักเรียน) และเรื่องสั้น ไอ้ตุ่น ของรัชนี ศรีไพรวรรณ

เล่ม 2 มี 10 บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมุดบันทึก สอนให้ฝึกหัดการบันทึก ประวัตินักเล่านิทานอย่างอีสปและสุนทรภู่ ในด้านภาษา สอนการฝึกพูดโต้วาที เรื่อง การอ่านยากกว่าการเขียน มีเนื้อหาวรรณคดีอย่าง เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนศึกทรพี ส่วนในบทสุดท้าย กล่าวถึงการเรียนจบประโยคประถมศึกษา ในตัวละครของเรื่องก็แยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิตของตน

ตัวละคร[แก้]

ภาพตัวละครในเรื่อง
  • มานะ รักเผ่าไทย : พี่ชายของมานี เลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าโต เขาขยันตั้งใจเรียน จึงมีผลการเรียนดี จึงเป็นนักเรียนคนเดียวของโรงเรียน ที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6
  • มานี รักเผ่าไทย : น้องสาวของมานะ เลี้ยงนกแก้วไว้ตัวหนึ่ง เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อนๆ เลือกตั้งให้เธอเป็นรองประธานนักเรียน
  • ปิติ พิทักษ์ถิ่น : เลี้ยงม้าไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าแก่ แต่ภายหลังก็ตายไปตามวัย ทำให้ปิติเสียใจมาก ต่อมาเขาถูกรางวัลสลากออมสิน เป็นเงิน 10,000 บาท จึงนำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่ เพื่อทดแทนเจ้าแก่ และตั้งชื่อให้ว่า เจ้านิล
  • ชูใจ เลิศล้ำ : เป็นเพื่อนสนิทของมานี เลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่งชื่อ สีเทา เธอพักอยู่กับย่าและอาตั้งแต่ยังเล็ก โดยไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อแม่ ซึ่งความจริงก็คือ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 1 ขวบ ส่วนแม่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และต่อมาก็เดินทางกลับมา ตั้งใจจะรับลูกสาวกลับไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอเลือกจะอยู่กับย่าต่อไป
  • วีระ ประสงค์สุข : มีพ่อเป็นทหาร แต่เสียชีวิตในระหว่างรบ ตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ตรอมใจ เสียชีวิตหลังจากคลอดวีระได้ 15 วัน ทำให้เขาต้องอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด และเลี้ยงลิงแสมไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าจ๋อ
  • สมคิด : เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6 แล้ว เขาย้ายกลับไปอาศัยอยู่กับปู่ และศึกษาต่อชั้นมัธยมที่จังหวัดภูเก็ต
  • เพชร : เกิดในครอบครัวยากจน มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยพุ่งฉมวกเข้าปักงูในอุโมงค์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อน แม่ของเขาถูกงูกัดเสียชีวิต ขณะเข้าไปเก็บหน่อไม้ในป่า
  • ดวงแก้ว ใจหวัง : มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
  • จันทร : เป็นเด็กหญิงพิการขาลีบข้างหนึ่ง ในตอนท้ายของเรื่อง โรงเรียนคัดเลือกให้เป็นผู้แทนร้องเพลง "ความฝันอันสูงสุด" รวมถึงอ่านทำนองเสนาะถวาย เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทาน รับเธอไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งหายเป็นปกติ
  • คุณครูไพลิน : เป็นครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–3 เมื่อคราวไฟไหม้ตลาด เธอมีโอกาสพบ ทวีป เกษตรอำเภอเป็นครั้งแรก และต่อมาลูกศิษย์ของเธอ เป็นสื่อนำพาให้รู้จักคุ้นเคย และแต่งงานกันในที่สุด โดยทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน
  • คุณครูกมล : เป็นครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4–6

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2537 ในสตูดิโออัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นด็อก มีเพลงหนึ่งชื่อ มานี (Manee) เนื้อเพลงส่วนหนึ่งมาจากบทร้อยแก้ว ในแบบเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1[7] ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเค้าโครงของเรื่องนี้ มาเสนอเป็นละคอนถาปัด โดยให้ชื่อว่า มานีและชูใจ

ปี พ.ศ. 2547 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำเรื่องราวของ มานีมานะ มาดัดแปลงเป็นละครเวที ลำดับที่ 6 ชื่อ Miss Manee กุลสตรี ชะนีป่วนโลก

จากนั้น นิตยสารอะเดย์ ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 นำเรื่องราวเกี่ยวกับแบบเรียนชุดนี้ มาเผยแพร่เป็นเรื่องจากปก และต่อมายังเชิญอาจารย์รัชนี ผู้เขียนเรื่องตามแบบเรียนเดิม ขอให้เขียนวรรณกรรมชุดใหม่ในชื่อ ทางช้างเผือก โดยนำเค้าโครงมาจากเรื่องดังกล่าว แล้วนำลงตีพิมพ์ระหว่างฉบับที่ 26 ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 จนถึงฉบับที่ 37 ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 รวมทั้งสิ้น 12 ตอน ซึ่งเนื้อหาดำเนินไปอย่างสมจริงมากขึ้น และเป็นเรื่องยาวต่อเนื่องกัน ต่างจากเรื่องราวในแบบเรียน ที่ต้องระมัดระวังในสำนวนภาษา และถ้อยคำที่กำหนดให้เรียนรู้ตามหลักสูตร โดยในเดือนกันยายนปีถัดมา (พ.ศ. 2547) สำนักพิมพ์อะบุ๊ก นำมาตีพิมพ์รวมเล่ม และเพิ่มเนื้อหาเรื่องราวมากขึ้น รวมทั้งมีตัวละครใหม่เพิ่มเติม หลังจากนั้นยังมีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง[8] ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มีการจัดแสดงละครเวทีเรื่อง มานีและชูใจ ขึ้นโดยนำเค้าโครงของเรื่องนี้มาเขียนบทใหม่[9]

มีการนำตัวละครมาใช้ ทั้งเพื่อหวนรำลึกถึงอดีต และนำมาล้อเลียนเสียดสี เช่น แฟนเพจในเฟซบุ๊ก หนังสือเพี้ยน ป.1 และ กาตูนร์ ระทม ที่นำตัวละครอย่างมานี ซึ่งเป็นเด็กเรียบร้อยเรียนดี มาสร้างเป็นมีมในแก๊ก และถูกเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ [10] และแฟนเพจ มานีมีแชร์ ที่นำมานี เจ้าโต และตัวละครอื่นในบางโอกาส มาใช้ล้อเลียนทางการเมือง และวัฒนธรรมร่วมสมัย[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. "รวมแบบเรียนชุดที่ 5 หนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถม ชุด มานี มานะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2011-02-15.
  2. วันวานแห่งวัยเยาว์ ..เรื่องเล่าจากมานะ มานี ปิติ ชูใจ... yenta4.com.
  3. "อาจารย์รัชนี ผู้สร้างหนังสือเรียนในตำนาน มานะ มานี ปิติ ชูใจ". 12 มีนาคม 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มิถุนายน 2018. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2018.
  4. "ท่านรู้หรือไม่ว่ามานี มานะ บ้านอยู่ที่ อ.ลำสนธิ ของเรานี่เอง". จงรวย สมจิตรนา -หยอง ลูกหยี. 5 มกราคม 2019.
  5. ผู้แต่งหนังสือเรียน'มานะ-มานี'ถึงแก่กรรม เก็บถาวร 17 เมษายน 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 16 เมษายน 2014. คมชัดลึกออนไลน์.
  6. "แบบเรียนภาษาไทยชุด มานี-มานะ". บางกอกบุคคลัภย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012.
  7. 375°F Bakery Music Magazine. ฉบับที่ 1.
  8. มานะ มานี ปิติ ชูใจ...เพื่อนเก่าที่เราคิดถึง เก็บถาวร 16 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ผู้จัดการรายวัน. โดยทาง sudipan.net.
  9. "สิ้นแล้ว 'อาจารย์รัชนี' ผู้แต่งแบบเรียนภาษาไทย". กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 16 เมษายน 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 เมษายน 2014.
  10. iheartia (29 กันยายน 2007). "ตอนที่ 8 มานี...2007". โอเคเนชั่น.
  11. ทำไม? มานีต้องมีแชร์ หาคำตอบกับแอดมินแฟนเพจ 'มานีมีแชร์'. 3 กรกฎาคม 2013. ประชาไท.