ไม้ขุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไม้ขุด

ไม้ขุด หรือบางครั้งเรียก ไม้ขุดมัน (อังกฤษ: digging stick) ในทาง โบราณคดี และ มานุษยวิทยา เป็นเครื่องไม้ที่ใช้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เพื่อการยังชีพเป็นหลัก ไม้ขุดใช้ในการขุดหาอาหารจากพืชจำพวกที่มีรากและหัวใต้ดิน หรือ สัตว์ที่อาศัยในโพรงดิน จอมปลวก และรังมดขนาดใหญ่ใต้ดิน [1] ไม้ขุดอาจมีประโยชน์อย่างอื่นในการประกอบการล่าสัตว์หรืองานในบ้านทั่วไปด้วย

ปัจจุบันยังสามารถพบได้ในชุมชนชาติพันธุ์ที่มียังมีวัฒนธรรมแบบยังชีพ ได้แก่ ชาวออสเตรเลียพื้นเมือง ซึ่งยังรวมถึงชนชาติอื่น ๆ กระจายตัวในบางพื้นที่ที่ห่างไกลทั่วโลกด้วย โดยปกติการทำไม้ขุดไม่เป็นเพียงเลือกท่อนไม้ที่แข็งแรงพอท่อนหนึ่ง แต่ยังต้องได้รับการแต่งด้วยการถากกิ่งและลับคมส่วนปลาย บางครั้งก็ทำให้แกร่งขึ้นโดยการอังไฟหรือรมไฟชั่วคราว บางชิ้นยังเพิ่มมือจับสำหรับช่วยในการกด การงัด หรือการลากดึง สันนิษฐานว่าไม้ขุดเป็นต้นกำเนิดของ คันไถ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยังเป็นแม่แบบของเครื่องมือการเกษตรแบบมือถือที่ทันสมัยในปัจจุบัน [2] เช่น เสียมมือ สว่านขุดหลุมดิน

ความสำคัญในภูมิภาคต่าง ๆ[แก้]

เม็กซิโกและภูมิภาคมีโซอเมริกาา[แก้]

ไม้ขุดในวัฒนธรรมเม็กซิโกโบราณ

ในเม็กซิโกและ ภูมิภาคมีโซอเมริกาา ไม้ขุดเป็นเครื่องมือทางการเกษตรที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ [3] [4][5]

ไม้ขุด เรียกว่า ไม้โคอา (Coa stick) โดยทั่วไปมีปลายด้านหนึ่งบานออกเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือใบพายแบบอสมมาตร ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโพด ปัจจุบันยังคงใช้เพื่อการเกษตรในชุมชนชาติพันธุ์พื้นเมืองบางแห่ง โดยมีการปรับพัฒนาไม้ขุดเป็นรุ่นใหม่กว่าหลายลักษณะ บางรุ่นมีการเพิ่มปลายที่เป็นโลหะ

ไม้ขุดอื่น ๆ ในภูมิภาค ได้แก่ ไม้ขุดของชาวอเมริกันพื้นเมืองของที่ราบสูงโคลัมเบีย ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อขุดรวบรวมรากและหัวพืชที่กินได้ เช่น balsamroot bitterroot camas และ biscuitroot[6] ชนิดต่าง ๆ ไม้ขุดนี้โดยทั่วไปมีความยาวประมาณ 2 - 3 ฟุต (0.6 - 1 เมตร) โดยปกติจะมีปลายด้านที่ใช้ขุดโค้งเล็กน้อยและด้านล่างของปลายถากให้เป็นมุม ติดด้วยแท่งไม้ขวางในแนวตั้งฉากในแบบรูปกากบาทในส่วนปลายด้านมือจับ มีขนาด 5 - 8 นิ้ว (12 - 20 ซม.) ที่ทำจากเขากวาง กระดูก หรือไม้ ทำให้สามารถใช้สองมือกดบังคับไม้ขุดลงสู่พื้นได้ ซึ่งนับตั้งแต่มีการติดต่อกับชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอเมริกันพื้นเมืองก็ได้ปรับการใช้โลหะเป็นวัสดุในการทำไม้ขุด

เอธิโอเปียและภูมิภาคฮาราร์[แก้]

ไม้ขุดที่พบได้ทั่วไปใน เอธิโอเปีย ซึ่งเรียกว่า อังคาสเสย์ (ankassay) ใน ภาษาอัมฮาริก (Amharic language) ซึ่งเป็น กลุ่มภาษาเซมิติก ที่ใช้ใน เอธิโอเปีย และเป็นภาษาที่มีผู้พูดมากเป็นอันดับสองของโลกในกลุ่มภาษาเซมิติก ankassay เป็นไม้แกนยาวลำเดี่ยวที่มีความยาวประมาณ 4-5 ฟุต (1.2-1.5 เมตร) มีปลอกเหล็กสวมที่ปลายไม้และปลายปลอกเป็นใบมีด [7]

ไม้ขุดอีกสองแบบที่มีลักษณะเฉพาะของภูมิภาค Harar (ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออก - กลางของ เอธิโอเปีย) ซึ่งมีความแตกต่างจากไม้ขุดอื่น ๆ จากลักษณะการใช้งานที่นอกเหนือจากการใช้เป็นไม้ขุดแบบดั้งเดิม คือ การใช้เป็นไถ

deungora เป็นไม้ขุดที่มีความยาวเป็นพิเศษคือประมาณ 110 เซนติเมตรหรือยาวประมาณ 3.6 ฟุต มีปลอกเหล็กปลายใบมีดแหลมสวมที่ปลายไม้ ความพิเศษของไม้ขุดนี้คือ แหวนหิน (bored stone) ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตรติดอยู่ที่ปลายด้านตรงข้าม หินก้อนเจาะรูนี้มีรูปแบบเดียวกันกับแหวนหินอื่น ๆ ที่ถูกค้นพบในแหล่งโบราณคดีใน แอฟริกา [7]

Maresha เป็นชื่อใน ภาษา Gurage ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่ใช้ในชุมชนชาติพันธุ์ Amhara ไม้ขุดMaresha แตกต่างกันจากไม้ขุดอื่นที่รูปแบบของปลายที่คล้ายส้อม ส่วนใหญ่ใช้ในการขุดหลุมสำหรับการก่อสร้าง ปลูกพืช และเก็บเกี่ยวรากและหัวพืชจากใต้ดิน ไม้ขุดนี้ใช้เป็น ไถ สำหรับพลิกดินในแปลงปลูกทั้งแปลงก่อนการปลูก โดยเฉพาะการใช้ในการขุดทำลายก้อนดินดานในพื้นที่ที่ดินแข็งหรือในพื้นที่ที่อาจลาดชันเกินไปสำหรับการไถพรวน และการขุดหลุมเพื่อก่อสร้างหรือการขุดย้ายพืชไร่พืชสวน เมื่อเทียบกับ ankassay ไม้ขุดนี้สามารถทำหน้าที่เดียวกันและนอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นจอบได้อีกด้วย ☃☃

นิวกินีตะวันออก - กลาง[แก้]

ชาวคูมันในภูมิภาคนิวกินีตะวันออก - กลางเป็นนักพืชสวนที่ใช้เครื่องมือพื้นฐาน เช่น ไม้ขุด จอบไม้ เสียมไม้ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันเริ่มปรับใช้เครื่องมือกสิกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น เสียมเหล็ก และขวานขุด [8]

ไม้ขุดสองประเภทหลักมีรูปร่างคล้ายกัน แต่มีขนาดต่างกัน ได้แก่

  • ไม้ขุดขนาดใหญ่และหนัก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางด้ามไม้ประมาณ 4 เซนติเมตรยาว 2 เมตรใช้เพื่อจุดประสงค์ในการพลิกหน้าดินเพื่อจัดสวนใหม่
  • ไม้ขุดขนาดเล็กและเบา ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางด้ามไม้ประมาณ 2 เซนติเมตรและยาว 1 เมตร (หรือน้อยกว่า) ส่วนใหญ่ใช้สำหรับงานพืชสวนขั้นพื้นฐาน [8]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. The American Heritage Dictionary of the English Language, Fourth Edition. Retrieved July 24, 2008
  2. Encyclopædia Britannica, Inc. Retrieved March 26, 2015, from Britannica.com website: http://www.britannica.com/EBchecked/topic/163245/digging-stick
  3. Study the Digging Stick Mexicolore.
  4. Uictli Mexicolore.
  5. https://www.mexicolore.co.uk/aztecs/artefacts/study-the-digging-stick
  6. https://www.fs.usda.gov/detail/npnht/learningcenter/history-culture/?cid=stelprdb5312571
  7. 7.0 7.1 Simoons, Frederick J. "The Forked Digging Stick of the Gurage", "Zeitschrift für Ethnologie", Berlin, Retrieved February 27, 2015.
  8. 8.0 8.1 Nilles, John. "The Kuman people: A study of cultural change in a primitive society in the Central Highlands of New Guinea." Oceania (1953): 1-27.