ใบเสมา
ใบสีมา เป็นหลักกำหนดเขตเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ นิยมทำด้วยแผ่นหินสกัดเป็นแผ่นหนาประมาณ 5–7.5 เซนติเมตร มีรูปทรงเฉพาะ บางแห่งสกัดเป็นลายเส้นรูปธรรมจักรเพิ่มความสวยงาม ประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างคร่อมนิมิตทั้ง 8 ทิศของโบสถ์ คล้ายเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต ถ้าเป็นวัดราษฎร์นิยมทำซุ้มละแผ่นเดียว ถ้าเป็นวัดหลวงนิยมทำซุ้มละสองแผ่นเรียกว่า สีมาคู่ นัยว่าเพื่อเป็นข้อสังเกตให้ทราบว่าเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง
ความหมาย
[แก้]สีมา แปลว่า เขต, แดน, เครื่องหมายบอกเขต ใช้ว่า เสมา ก็มี
สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ กำหนดเขตแดนด้วยเครื่องหมายบอกเขตที่เรียกว่า นิมิต ที่เหนือนิมิตนิยมสกัดหินเป็นแผ่นประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างครอบนิมิต ถือเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต เรียกแผ่นหินนั้นว่า ใบสีมา หรือ ใบเสมา เรียกซุ้มนั้นว่า ซุ้มสีมา หรือ ซุ้มเสมา
สีมา ยังหมายถึงอุโบสถได้ด้วย
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ระบุว่า ใบเสมาคือนิมิต ในขณะที่พระไตรปิฏกแสดงว่าเสมาเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งซึ่งใช้กำหนดเขตพระอุโบสถอันเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์
ประวัติและลักษณะ
[แก้]ใบเสมาว่ามีวิวัฒนาการมาจากวัฒนธรรมหินตั้ง[1] ในอดีตใบเสมามักจำหลักภาพที่สื่อธรรมเกี่ยวเนื่องพระพุทธศาสนา ในปัจจุบันจะไม่ปรากฏใบเสมาที่จำหลักภาพที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือชาดกต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าด้วยขนาดของใบเสมาที่ดั่งเดิมที่นิยมใช้หินขนาดใหญ่ ไม่มีความคล่องตัวในการขนย้ายหินขนาดใหญ่หายากมากขึ้น ทำให้ใบเสมาในสมัยต่อมามีขนาดเล็กลงและไม่นิยมสลักภาพที่เล่าเรื่องราว[2]
ใบเสมาสมัยทวารวดีที่เก่าแก่ ได้แก่ ใบเสมาที่สลักภาพตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เสมาหินที่พบน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13–16[3] ใบเสมาสมัยทวารวดีที่พบบริเวณภาคอีสานนี้มีความโดดเด่นกว่าภาคอื่น แต่สันนิษฐานว่าใบเสมาบริเวณภาคอีสานมีร่องรอยของอารยธรรมทวารวดีที่เผยแพร่ มาจากภาคกลาง ในขณะที่ภาคกลางมีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างพระธรรมจักร ขนาดใหญ่ ซึ่งใบเสมาที่ว่านี้ มีความแตกต่างจากรูปแบบของใบเสมาที่พบในปัจจุบันมาก ตัวอย่างเช่น กลุ่มใบเสมาที่พบมากมายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี อาจเป็นการแสดงขอบเขตที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมหินตั้ง หรือใบเสมาหินทรายเมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา
ใบเสมาศิลปะลพบุรี ส่วนใหญ่ที่พบแผงกลางแผ่นหลักสีมาที่เคยเป็นอกเสาก็กลายเป็นระนาบตาบทับทรวงไม่มีการยกเก็จเป็นเพียงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด เช่น หลักสีมาวัดตองปุ ลพบุรี และเริ่มจะมีเสมาที่ทำด้วยหินแกรนิต (ไม่ใช่หินครก)[4]
ใบเสมาในสมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นใบแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่ปักอยู่บนดิน ยังไม่มีแท่น หรือฐานมารองรับ เช่นที่วัดมหาธาตุ วัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย สามารถจำแนกได้เป็น 3 แบบคือ แบบแผ่นศิลารูปสี่เหลี่ยม ขอบปากมนยอดทั้งสองด้านไปบรรจบเป็นยอดแหลมตรงกลาง ตรงกลางใบเสมาสลักเป็นสันตรงตลอดคล้ายใบเสมาในสมัยทวารวดี แบบแผ่นศิลาปาดขอบกลมยอดแหลมแล้วคอดเล็กน้อย ส่วนล่างผายออกยกมุมแหลมเล็กน้อย ตัวใบเสมาสลักเป็นแนวสันเล็ก ๆ ลงมาถึงกึ่งกลางแล้วสลักแยกออกเป็น 2 ส่วนดูคล้ายรูปสามเหลี่ยม และแบบแผ่นศิลาเรียบไม่มีลวดลาย ปาดขอบทั้งสองด้านเกิดเป็นสันแหลมตรงกลาง
ใบเสมาในสมัยล้านนา เป็นรูปแบบที่ไม่เน้นการประดับตกแต่งมากนัก สามารถจำแนกได้เป็น 3 แบบคือ แบบแท่งศิลากลมยาว ปลายปาดมน รูปแบบในลักษณะนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรหริภุญไชย แบบศิลาเรียบไม่มีลวดลาย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพระยาลิไท เมื่อครั้งรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และแบบใช้ก้อนหินธรรมดาเป็นใบเสมา[5]
ในสมัยอยุธยาตอนต้นและกลาง ยังคงสืบเนื่องจากสมัยสุโขทัย ใบเสมายังคงทำจากหินที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมัยอยุธยาตอนปลาย ใบเสมามีขนาดเล็กกว่าเดิมและมีความหนาไม่มากนัก มีการทำฐานหรือแท่นสูงเพื่อรองรับใบเสมา เรียกว่า เสมานั่งแท่น เช่น ที่วัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี
ต่อมาเริ่มมีการสร้างซุ้มครอบใบเสมา เรียกว่า ซุ้มสีมา ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใดแต่สันนิษฐานว่าคงสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่ปลายสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นต้นมา ซุ้มสีมานี้ได้รับความนิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์แต่เริ่มหมดความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4[6]
ใบเสมาโบราณนอกประเทศไทย
[แก้]ในกัมพูชาพบใบเสมาหินศิลปะร่วมสมัยทวารวดี สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 6 ที่เขาพนมกุเลน (Phnom Kulen) นครธม พนมเปญ ส่วนในพม่าพบในกลุ่มเมืองโบราณในอาณาจักรปยู พบใบเสมาหินที่เมืองเวตาลีและเมืองเบะตะโน่ และพบใบเสมาหินที่วัดกัลยาณีสีมาที่เมืองสะเทิมในพม่าตอนล่าง นอกจากนี้ได้พบแท่งหินขนาดเล็กปักไว้ที่มุมและตรงกลางของวิหาร เจดีย์ และสถูป พบทั่วไปในเมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา พบที่พุทธสีมาปราสาท (Baddhasimapasada) และเมืองโปโรนนารุวะ (Polonnaruwa) ประเทศศรีลังกา[7]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, (2558). ใบเสมา ทวารวดีในอีสาน. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 54.
- ↑ "เสมา : ประวัติศาสตร์คุณค่าและการจัดการการอนุรักษ์ของ องค์กรพระพุทธศาสนาในจังหวัดบุรีรัมย์". วารสารสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
- ↑ "ใบเสมา". ศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
- ↑ ดร.ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ , พระครูศรีปัญญาวิกรม, ดร.และ ไว ชึรัมย์. "เสมา : ประวัติศาสตร์คุณค่าและการจัดการการอนุรักษ์ของ องค์กรพระพุทธศาสนาในจังหวัดบุรีรัมย์". วารสารสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "เสมา ๓ สมัย". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ ภาวิดา จินประพัฒน์. "ซุ้มสีมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ พระครูปลัดพีระพันธ์ ธมฺมวุฑฺโฒ (ตรีศรี). "การศึกษาวัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างใบเสมาหินกับวิถีชีวิตชุมชนชาวพุทธใน จังหวัดชัยภูมิ" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย: 55.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help)
บรรณานุกรม
[แก้]- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548