โอลิเวอร์ เฮวิไซด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โอลิเวอร์ เฮวิไซด์
เกิด18 พฤษภาคม ค.ศ. 1850(1850-05-18)
แคมเดนทาวน์, มิดเดิลเซ็กส์, อังกฤษ
เสียชีวิต3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1925(1925-02-03) (74 ปี)
ทอร์คีย์, เดวอน, อังกฤษ
สัญชาติบริติช
มีชื่อเสียงจาก
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า, คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์
สถาบันที่ทำงานบริษัทโทรเลขเกรตนอร์เธิร์น

โอลิเวอร์ เฮวิไซด์ (อังกฤษ: Oliver Heaviside, 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1850 – 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1925) เป็นวิศวกรไฟฟ้า นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เฮวิไซด์ประยุกต์จำนวนเชิงซ้อนเพื่อใช้ในการศึกษาเครือข่ายไฟฟ้า คิดค้นวิธีแก้สมการเชิงอนุพันธ์ และปรับปรุงสมการของแมกซ์เวลล์ในส่วนของแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและฟลักซ์พลังงาน นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นแคลคูลัสเวกเตอร์ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในวิชาฟิสิกส์และวิศวกรรมศาสตร์

เฮวิไซด์เกิดในปี ค.ศ. 1850 ที่เมืองแคมเดนซึ่งในขณะนั้นอยู่ในมณฑลมิดเดิลเซ็กส์ เฮวิไซด์ในวัยเด็กมีสุขภาพไม่แข็งแรงและมีปัญหาทางการได้ยิน เมื่ออายุ 13 ปี เขาเรียนที่โรงเรียน Camden House Grammar School แต่ภายหลังต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน[2] ต่อมาชาลส์ วีตสตัน ผู้มีศักดิ์เป็นลุงส่งเฮวิไซด์ไปทำงานที่บริษัทโทรเลขของเขาเองที่เมืองนิวคาสเซิล 2 ปีต่อมา เฮวิไซด์ทำงานที่บริษัทโทรเลขเกรตนอร์เธิร์นและเขียนบทความลงวารสารวิชาการ Philosophical Magazine ในปี ค.ศ. 1873 เฮวิไซด์ได้อ่านศาสตรนิพนธ์ว่าด้วยไฟฟ้าและความเป็นแม่เหล็ก (A Treatise on Electricity and Magnetism) ของเจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ ก่อนจะทำการศึกษาเพิ่มเติมจนได้ telegrapher's equations สมการที่ว่าด้วยแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าในสายส่งสัญญาณ[3]

ระหว่าง ค.ศ. 1880–1902 เฮวิไซด์มีผลงานด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์หลายอย่าง เช่น จดสิทธิบัตรสายโคแอ็กเชียล ซึ่งเป็นสายส่งสัญญาณที่แกนกลางประกอบด้วยตัวนำไฟฟ้า 2 ชนิด[4] ปรับปรุงสมการของแมกซ์เวลล์ด้วยเวกเตอร์[5] พัฒนาแคลคูลัสเชิงตัวดำเนินการที่คล้ายคลึงกับการแปลงลาปลาส เพื่อใช้แก้สมการเชิงอนุพันธ์เชิงเส้น[6] คิดค้นแคลคูลัสเวกเตอร์ที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาพลศาสตร์ของไหล สนามแม่เหล็กไฟฟ้าและสนามความโน้มถ่วง[7] และทำนายถึงชั้นเคนเนลลี–เฮวิไซด์ ซึ่งเป็นชั้นหนึ่งของไอโอโนสเฟียร์ที่อยู่เหนือพื้นโลกราว 90–150 กิโลเมตร ชั้นดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่ามีอยู่จริงโดยเอ็ดเวิร์ด วิกเตอร์ แอปเพิลตัน และทำให้แอปเพิลตันได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1947[8]

ช่วงบั้นปลายชีวิต เฮวิไซด์มีพฤติกรรมแปลกประหลาด เช่น ไม่พบปะผู้คน ทาเล็บสีชมพูและใช้แผ่นหินแกรนิตแทนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน[9] เขาเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บจากการตกบันไดในปี ค.ศ. 1925 ที่เมืองทอร์คีย์ มณฑลเดวอน[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. Anon (1926). "Obituary Notices of Fellows Deceased: Rudolph Messel, Frederick Thomas Trouton, John Venn, John Young Buchanan, Oliver Heaviside, Andrew Gray". Proceedings of the Royal Society A: Mathematical, Physical and Engineering Sciences. 110 (756): i–v. Bibcode:1926RSPSA.110D...1.. doi:10.1098/rspa.1926.0036.
  2. Bruce J. Hunt (1991) The Maxwellians, Cornell University Press ISBN 978-0-8014-8234-2
  3. "1911 Encyclopædia Britannica/Telephone". Wikisource. สืบค้นเมื่อ December 28, 2019.
  4. Nahin, Paul J. (2002). Oliver Heaviside: The Life, Work, and Times of an Electrical Genius of the Victorian Age. ISBN 0-8018-6909-9.
  5. Bruce J. Hunt (1991) The Maxwellians, chapter 5 and appendix, Cornell University Press
  6. "Oliver Heaviside's electromagnetic theory". Royal Society Publishing. August 14, 2018. สืบค้นเมื่อ December 28, 2019.
  7. Davidson, Peter (2019). An Introduction to Electrodynamics. Oxford, United Kingdom: Oxford University Press. ISBN 9780192519108.
  8. "History - Sir Edward Appleton". BBC. สืบค้นเมื่อ December 28, 2019.
  9. Nahin, Paul J. (9 October 2002). Oliver Heaviside: The Life, Work, and Times of an Electrical Genius of the Victorian Age. JHU Press. ISBN 978-0-8018-6909-9.
  10. "Oliver Heaviside". Journal of the AIEE. 44 (3): 316–317. March 1925. doi:10.1109/JAIEE.1925.6537168.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]