โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

พิกัด: 14°57′04″N 102°02′04″E / 14.9510665°N 102.034514°E / 14.9510665; 102.034514
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
Ratchasima Witthayalai School
ที่ตั้ง
แผนที่
เลขที่ 1753 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
ข้อมูล
ชื่ออื่นร.ส. / RS
ประเภทโรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัด
โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญมานะ - วินัย
สถาปนา14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 (125 ปี 69 วัน)
หน่วยงานกำกับรัฐบาล สังกัด สพฐ.
รหัส11300101
ผู้อำนวยการนายสุพล เชื่อมพงษ์
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 1-6
จำนวนนักเรียน4,087 คน
(ข้อมูล ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566)[1]
องค์การนักศึกษา/สมาคมนายภาคิน สุขบันเทิง (ประธานสภานักเรียน)
สี   แสด-ขาว
เพลงมาร์ชโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
ดอกไม้ทองกวาว(ดอกจาน)
เว็บไซต์www.rajsima.ac.th

โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (อักษรย่อ: ร.ส., R.S.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทโรงเรียนชายล้วน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งอยู่เลขที่ 1753 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยปัจจุบันมีผู้อำนวยการโรงเรียน คือ นายสุพล เชื่อมพงษ์ และประธานสภานักเรียน คือ นายภาคิน สุขบันเทิง

ประวัติโรงเรียน[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นตามมณฑลต่างๆ โดยทั่วกัน ยึดแบบอย่างของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย (จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2425) ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลในพระองค์ที่มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นนี้ เพราะพระองค์มีพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ดังปรากฏในลายพระราชหัตถเลขา ความตอนหนึ่งว่า

เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป จนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองนี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้

พระบรมราชโองการฯ จัดตั้งโรงเรียนหลวงตามมณฑล ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2441 ซึ่งมณฑลนครราชสีมา มีเมืองบุรีรัมย์และชัยภูมิ อยู่ในความดูแล ตัวเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหลัก วัดกลางหรือวัดพระนารายณ์มหาราช เหมาะสมที่จะตั้งโรงเรียนหลวง และมีเจ้าคณะมณฑลพำนักอยู่วัดนี้ จึงได้เปิดทำการสอนครั้งแรกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2442 ตรงกับปีกุน เอกศกปกติมาส จุลศักราช 1261 รัตนโกสินทร์ศก 118 คริสต์ศักราช 1899

อันถือเป็นจุดกำเนิดของ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งประวัติของโรงเรียนจัดแบ่งตามสถานที่ตั้งโรงเรียนได้ 4 ยุค คือ ยุคที่ 1 วัดกลางหรือวัดพระนารายณ์ ยุคที่ 2 โรงเรียนประจำมณฑล ยุคที่ 3 เสือดงจิระ และยุคที่ 4 บ้านใหม่กิโลเก้า ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ด้วยเนื้อที่ 176 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา

โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เป็นโรงเรียมมัธยมชายขนาดใหญ่ที่สุดประจำจังหวัดนครราชสีมา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ อาคารเรียน และอื่นๆ จำนวนกว่ายี่สิบอาคาร มีนักเรียนกว่าสี่พันคน และครูกว่าสองร้อยคน มีนโยบายที่สำคัญในเนื้อหาของการปฏิรูปทางการศึกษา คือการปรับเปลี่ยนบทบาทให้องค์กรการศึกษาสามารถสร้างสรรค์แนวทางเรียนรู้ ความเข้าใจร่วมกัน และก่อกำเนิดรูปแบบใหม่ๆ ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนสามารถเรียนรู้เพื่อเข้าใจชีวิต สังคม และความสัมพันธ์ในภาวะแวดล้อมแบบองค์รวม ถึงพร้อมด้วยการเรียนรู้เพื่อเข้าใจบทบาทหน้าที่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชน ท้องถิ่น และภูมิภาค มีส่วนในการกำหนดเนื้อหาและแนวทางการเรียนรู้ เพื่อกระจายการมีส่วนร่วมทางการศึกษาในแต่ละชุมชนท้องถิ่นขนานไปกับการศึกษาวิทยาการนานาชาติ ภายใต้แนวทางการพัฒนาแห่งชาติที่กำหนดให้ทรัพยากรบุคคล เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาที่สามารถเข้าใจพื้นฐานของตนเอง และสามารถก้าวย่างไปเพื่อสัมพันธ์กับนานาชาติได้

ส่วนในอดีตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยถือได้ว่าเป็นผลผลิตจากการปฏิรูปทางการศึกษาที่สำคัญของประเทศ ภายใต้แนวทางในการพัฒนาการศึกษาและขยายโอกาสในระดับภูมิภาคท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างขนานใหญ่ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่ทรงวางแนวทางให้โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาระดับภูมิภาคโดยเฉพาะภูมิภาคอีสาน ในโอกาสที่กระแสการปฏิรูปการศึกษาของประเทศก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปรับกระบวนทัศน์ บทบาท และมุมมองใหม่ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จึงเสมือนหนึ่งบทบันทึกที่สำคัญของก้าวย่างใหม่ในการปรับแนวคิด และกระบวนการปฏิรูปการศึกษาให้กลายเป็นรูปธรรมจากเดิมในการสร้างสรรค์เยาวชนของชาติตลอดระยะเวลามาอย่างยาวนาน

โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เริ่มขึ้นที่วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลาง) ในปี พ.ศ. 2442 หลังจากมีพระบรมราชโองการฯ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายการศึกษาออกสู่หัวเมือง ในการนี้ เพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระรังสรรค์สารกิจ ปลัดเทศาภิบาล (ปลัดมณฑล) พร้อมด้วยกรมการเมืองนครราชสีมา ได้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในวัดกลางเมืองนครราชสีมา โดยอาศัยพื้นที่ของโรงเรียนอัษฎางค์ซึ่งเป็นโรงเรียนธรรมของวัด[2] มีฐานะเป็นโรงเรียนหลวงมณฑลของนครราชสีมา เรียกชื่อว่า โรงเรียนวัดกลางเมืองนครราชสีมา[3] เมื่อวันอาทิตย์ แรม 14 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล จัตวาศก 1264 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2445 (ร.ศ.121) และมีพระอ๊อก[2]หรือนายอ๊อด[4]เป็นครูท่านแรก

  • พ.ศ. 2447 วันที่ 1 พฤษภาคม ได้กระทำเปิดพิธีโรงเรียนอย่างเป็นทางการ โดยมี พระยากำแหงสงคราม สมุหเทศาภิบาล เป็นประธานในพิธี มีนักเรียน 110 คน พระสมุห์จริง ป. เป็นครูใหญ่ จัดการเรียนการสอนเพียงประโยคประถมศึกษา
  • พ.ศ. 2456 ได้สร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ ณ บริเวณศาลารัฐบาลมณฑลนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนศิริวิทยากร (โรงเรียนรวมมิตรวิทยาในปัจจุบัน) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตัวอย่าง กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2456
  • พ.ศ. 2457 โรงเรียนขยายการศึกษาจากระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาเป็นระดับฝึกหัดครู (ป.) เพิ่มขึ้น นับว่าเป็นการฝึกหัดครูแห่งแรกในส่วนภูมิภาค
  • พ.ศ. 2458 มีพระราชบัญญัติการใช้นามสกุลครูและนักเรียนโรงเรียนตัวอย่างและครูทุกคนจึงมีนามสกุลตั้งแต่นั้นมา ครูใหญ่ชื่อ นายศุข อาสนนันทน์
  • พ.ศ. 2461 ในสมัยขุนอักษรเสรฐ เป็นครูใหญ่ โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประจำมณฑลนครราชสีมาเปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
  • พ.ศ. 2470 โรงเรียนได้จัดให้มีแตรวงลูกเสือขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดดุริยางค์ลูกเสือ และวงโยธวาทิตของโรงเรียนในปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2471 โอนนักเรียนหญิงทั้งหมดจากโรงเรียนประจำมณฑลนครราชสีมาไปอยู่รวมกับโรงเรียนประจำจังหวัด ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่วัดสุทธจินดา (ปัจจุบันคือโรงเรียนสุรนารีวิทยา) จึงเปิดสอนเฉพาะนักเรียนชาย
  • พ.ศ. 2476 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้มาตรวจโรงเรียนมีนักเรียนกว่า 1,000 คน เห็นควรให้เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 และ 8 ขึ้น
  • พ.ศ. 2477 ได้ขยายโรงเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยมี หลวงทรงวิทยาศาสตร์ เป็นครูใหญ่
  • พ.ศ. 2478 ได้ขยายนักเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 และได้เปิดสอนแผนกพาณิชยการเพิ่มขึ้น
  • พ.ศ. 2481 ได้ยุบชั้นประถมศึกษาทั้งหมด จึงกลายเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีแต่นักเรียนชายล้วน เปิดถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ยุบแผนกพาณิชยการ และยุบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 และ 8 ไปเปิดสอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท เพียงแห่งเดียว
  • พ.ศ. 2483 ได้ย้ายโรงเรียนจากสถานที่เดิมไปอยูที่บ้านแสนสุข ติดกับค่ายสุรนารี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2483 นาย สำเนียง ตีระวนิช ป.ม.,อ.บ. เป็นอาจารย์ใหญ่ เกิดคำขวัญ 'มานะ-วินัย'
  • พ.ศ. 2484 ก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าราชสีมาวิทยาลัย (ส.น.ร.)
  • พ.ศ. 2489 เริ่มจัดการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกวิทยาศาสตร์ และปี พ.ศ. 2490 เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์ นับเป็นโรงเรียนต่างจังหวัดแห่งแรกที่เปิดสอนทั้งสองแผนก นายดำรง มัธยนันท์ เป็นอาจารย์ใหญ่
  • พ.ศ. 2490 โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากกรมวิสามัญศึกษาเป็นโรงเรียนประเคราะห์ (Project School) ของโครงการพัฒนาการศึกษา เรียกย่อ ๆ ว่า ค.พ.ศ. (General Education Development Project G.E.D.)
  • พ.ศ. 2506 กรมวิสามัญศึกษาได้สั่งให้เปิดสอนเป็นโรงเรียนมัธยมแบบประสม (Comprehensive School) โดยเริ่มรับนักเรียนชั้น ม.ศ. 1 จำนวน 8 ห้อง
  • พ.ศ. 2510 โรงเรียนได้ย้ายจากสถานที่เดิม ณ บ้านแสนสุข มาอยู่ ณ ที่ตั้งในปัจจุบัน เลขที่ 1753 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง (เดิมคือ ตำบลบ้านใหม่) อำเภอ เมือง จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ 176 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา นายคณิต พุทธิรัตน์ เป็นอาจารย์ใหญ่
  • พ.ศ. 2511 โรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการมัธยมแบบประสม แบบที่ 1 (คมส.1) (Comprehensive School) โดยจัดหลักสูตรให้กว้างขวางเพื่อให้นักเรียนที่มีความสามารถและความสนใจแตกต่างกันได้เลือกเรียนตามสาขาวิชาต่างๆ ที่สนใจและถนัดในหลักสูตร มีทั้งวิชาสามัญที่นักเรียนจำเป็นต้องเรียน และมีวิชาที่นักเรียนเลือกเรียนได้ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคนทั้งด้านวิชาสามัญและวิชาชีพ
  • พ.ศ. 2517 นายคณิต พุทธิรัตน์ อาจารย์ใหญ่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนชั้นพิเศษ เปิดสอนนักศึกษาผู้ใหญ่ ระดับ 5 เรียกว่า โรงเรียนผู้ใหญ่ราชสีมาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2471 ถึง พ.ศ. 2525 โรงเรียนเปิดรับเฉพาะนักเรียนชาย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโรงเรียนประจำจังหวัดชาย
  • พ.ศ. 2526 เปิดรับนักเรียนหญิงในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นต้นมา จึงเป็นโรงเรียนสหศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นยังคงเปิดรับเฉพาะนักเรียนชาย นายมาโนช ปานโต เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
  • พ.ศ. 2531 วงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศแห่งประเทศไทยรับถ้วยพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งนับเป็นปีสุดท้ายของการประกวดที่กำหนดให้มีถ้วยรางวัลพระราชทานประเภทเดียว ได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่น รางวัลพระราชทานโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ของเขตการศึกษา 11 นายสุชาติ สุประกอบ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
  • พ.ศ. 2532 วงโยธวาทิตของโรงเรียนเข้าร่วมประกวดดนตรีโลก ณ เมืองเกอร์กาเด ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับรางวัลเหรียญทองประเภทดิสเพลย์และมาร์ชชิ่ง นายสุชาติ สุประกอบ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
  • พ.ศ. 2533 โรงเรียนได้รับเชิญจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น ให้ไปร่วมแสดงวงโยธวาทิต และศิลปะการแสดง
  • พ.ศ. 2534 วงโยธวาทิตของโรงเรียนเข้าร่วมประกวดดนตรีโลก ณ เมืองเกอร์กาเด ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับรางวัลเหรียญทองประเภทดิสเพลย์และมาร์ชชิ่ง นายชวลิต ตัณฑเศรณีวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
  • พ.ศ. 2535 เปิดโรงเรียนสาขารับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นสหศึกษา
  • พ.ศ. 2536 โรงเรียนแบ่งพื้นที่จำนวน 14 ไร่ ให้กองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา จัดตั้งเป็นโรงเรียนศึกษาพิเศษนครราชสีมา (โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล) เปิดสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และบกพร่องทางการได้ยิน ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3
  • พ.ศ. 2537 โรงเรียนสาขาได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย 2 (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย นครราชสีมา) และย้ายไปทำการสอน ณ ที่แห่งใหม่ ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2540
  • พ.ศ. 2538 นายสุจินต์ แซ่ตั้ง ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิค ณ ประเทศแคนาดา (ซึ่งนับว่าเป็นเหรียญเงินเหรียญแรกของประเทศไทยในสาขาวิชาคณิตศาสตร์)
  • พ.ศ. 2540 โรงเรียนได้งบประมาณสร้างอาคารเรียน 7 ชั้น ชื่อว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา"
  • พ.ศ. 2542 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนา
  • พ.ศ. 2544 นายอุดม พรมพันธ์ใจ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
  • พ.ศ. 2545 จัดตั้งหอสมุด IT, หลังคาคลุมทางเดินเท้า ถมดิน และปรับสนามกีฬาให้เป็นขนาดมาตรฐาน
  • พ.ศ. 2546 พัฒนาการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และพัฒนาห้องเรียนพิเศษ รวมทั้งห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
  • พ.ศ. 2547 โรงเรียนพัฒนาระบบบริหารให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา เพื่อมุ่งเน้นสู้ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน
  • พ.ศ. 2548 จัดให้มีกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ จำนวน 1 ห้องเรียน พร้อมทั้งจัดตั้งห้องปฏิบัติการพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์
  • พ.ศ. 2549 ได้เปิดทำการสอนห้องเรียน School in school เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียน จำนวน 1 ห้องเรียน , ปิดรับนักเรียนหญิง พร้อมเข้าสู่โรงเรียนชายล้วน (อีกครั้ง) ในปีการศึกษา 2551 ปรับพื้นที่ศูนย์กีฬาให้เป็นสนามตะกร้อ สนามเทนนิส สนามบาสเก็ตบอล ในระดับมาตรฐาน มูลนิธิสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี โดย คุณสรพงศ์ ชาตรี (กรีพงศ์ เทียมเศวต) จัดสร้างสวนหน้าโรงเรียน มอบพระประธาน ปางสุโขทัย 29 นิ้ว 1 องค์ รูปหล่อเหมือนสมเด็จโต 1 องค์ จัดสร้างห้องพุทธศาสน์ เปิดใช้ต้นปี พ.ศ. 2550
  • พ.ศ. 2551 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น To Be Number One Friend Corner ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  • พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้ายอาคารวิทยาศาสตร์ ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยได้ทำการตั้งเสาธงใหม่สูง 37 เมตร โดยใช้ฤกษ์ในการตั้งเวลา 09.19 น. นับได้ว่าเป็นเสาธงของสถานศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
  • พ.ศ. 2553 ครบรอบ 111 ปี แห่งการสถาปนาโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และ นายอุทัย หวังอ้อมกลาง เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นคนที่ 24 พัฒนาอาคารสถานที่ สร้างบ้านคุณย่าโม สนามมวยผวนกาญจนกาศ และอาคารโดม 111 ปี โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2554 จัดการเรียนการสอนใช้หลักสูตรมาตรฐานสากล (World Class Standard School)
  • พ.ศ. 2556 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และ สพม.31 ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.เกมส์ 2555 ครั้งที่ 2 รอบชิงชนะเลิศ นักเรียนราชสีมาวิทยาลัยที่คว้าแชมป์ประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง การแข่งขันหุ่นยนต์ว่ายน้ำอัตโนมัติควบคุมด้วยอุปกรณ์สื่อสารไร้สายสมัยใหม่ ในรายการ 2012 Thailand Swimming Robot ในงาน ZEER Robotic Open 2013 พิธีเปิดธนาคารโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ธนาคารโรงเรียนลำดับที่ 776 ของประเทศ (โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสิน)
  • พ.ศ. 2557 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จัดงานฉลองครบรอบ 115 ปี แห่งการสถาปนา หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ให้เกียรติบรรยายพิเศษและมอบเหรียญที่ระลึกกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิธีเปิดอาคาร 113 ปี โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (อาคารหอประชุม-โรงอาหารอเนกประสงค์) ถือเป็นอาคารโรงอาหารอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และ นายบุญเลิศ พ่วงเพ็ชร เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นคนที่ 25
  • พ.ศ. 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "อาคารสิริสีมาพัฒน์" เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น สร้างขึ้นทดแทนหลังเดิมที่ชำรุดใช้งานมานาน ได้รับพระราชทานนามว่า "อาคารสิริสีมาพัฒน์" มีความหมายว่า อาคารที่เป็นแหล่งความเจริญและความเป็นมงคล และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย "สธ" ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
  • พ.ศ. 2567 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ได้รับรางวัลสถาบันการศึกษาหน้าใหม่ โดยเข้าร่วมการประกวดโครงงานในรอบชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรก จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 (YSC 2024) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จังหวัดปทุมธานี จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รายนามผู้บริหาร[แก้]

ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 พระภิกษุ (ขณะที่อาศัยเรียนที่โรงธรรมวัดกลาง สันนิษฐานว่า คือ พระอ๊อก[2]หรือนายอ๊อด[4]) ครูใหญ่ พ.ศ. 2442-2445 (หลักฐานสูญหาย)
2 พระสมุห์จริง ครูใหญ่ พ.ศ. 2445-2451
3 พระสมุห์ศรี ครูใหญ่ พ.ศ. 2451-2451
4 นายพุก ครูใหญ่ พ.ศ. 2451-2454
5 ขุนกัลยาณเวทย์ (ศุข อาสนนันทน์) ครูใหญ่ พ.ศ. 2454-2459
6 นายทองสุก ปานสิงหะ ครูใหญ่ พ.ศ. 2459-2461
7 ขุนอักษรเสรฐ ครูใหญ่ พ.ศ. 2461-2467
8 ขุนวิโรจน์จรรยา (ศุข ดามพ์สุกรี) ครูใหญ่ พ.ศ. 2467-2470
9 ขุนศาสตร์สุนทร (จำรัส นาราคาม) ครูใหญ่ พ.ศ. 2470-2475
10 นายเพ็ชร เปรื่องการ ครูใหญ่ พ.ศ. 2475-2477
11 หลวงทรงวิทยาศาสตร์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2477-2478
12 หลวงศรีภาษะเวทิน อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2478-2479
13 ขุนเชี่ยวพิทยาการ (สงวน บุญสมบัติ) อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2479-2483
14 นายสำเนียง ตีระวนิช อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2483-2490
15 นายดำรง มัธยมนันทน์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2490-2492
16 นายจินต์ รัตนสิน อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2492-2497
17 นายคิด เลิศสิริ ก้องสมุท อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2497-2507
18 นายคณิต พุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2507-2519
19 นายสนอง มณีภาค ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2519-2524
20 นายมาโณช ปานโต ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2524-2528
21 นายสุชาติ สุประกอบ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2528-2532
22 นายชวลิต ตัณฑเศรณีวัฒน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2532-2544
23 ดร.อุดม พรมพันธ์ใจ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2544-2553
24 นายอุทัย หวังอ้อมกลาง ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2553-2557
25 นายบุญเลิศ พ่วงเพ็ชร ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2557-2562
26 นายสภูษณพงศ์ เครื่องกลาง ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2562-2563
27 นายประยงค์ ประทุมวัน ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2563-2566
28 นายสุพล เชื่อมพงษ์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน

อาคารสถานที่ภายในสถานศึกษา[แก้]

ต้นทองกวาว(ดอกจาน) ต้นไม้ประจำโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
  • อาคารสิริสีมาพัฒน์ เป็นอาคาร 4 ชั้น เป็นอาคารเรียนห้องพิเศษ
    • ห้องเรียนโครงการพิเศษ
    • ห้องประชาสัมพันธ์
    • ห้องแนะแนว
  • อาคาร 2 หรืออาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เป็นอาคาร 7 ชั้น ประกอบด้วย ศูนย์ถ่ายเอกสาร , ห้องดนตรีไทย , ศูนย์คอมพิวเตอร์ , ห้องกลุ่มงานบริหารบุลคล , ห้องกลุ่มงานบริหารวิชาการ , ห้องเรียนวิทยาศาสตร์แบบพิเศษ , ห้องประชุมอเนกประสงค์ , ห้องพิพิธภัณฑ์พืช , ห้องผู้อำนวยการ ,จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
  • อาคาร 3 เป็นอาคาร 3 ชั้น จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
  • อาคาร 4 เป็นอาคาร 3 ชั้น จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
  • อาคาร 5 เป็นอาคาร 2 ชั้น จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาธุรกิจ
  • อาคาร 6 เป็นอาคาร 3 ชั้น จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
  • อาคาร 7 เป็นอาคาร 4 ชั้น จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
  • อาคารศิลปศึกษา จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา มีรูปปั้นพระวิษณุกรรมอยู่ด้านหน้า
  • อาคารศูนย์เกษตรกรรม มี 2 ห้องเรียน และมีอาคารศูนย์เกษตรเพื่อประสานงานดูแลรับผิดชอบเนื้อที่ 80 ไร่ ซึ่งเป็นแปลงไม้ดอก ไม้ประดับ และสวนพฤกษศาสตร์ราชสีมาวิทยาลัยรวมทั้งสัตว์เลี้ยงต่างๆ
  • อาคารศูนย์กีฬาราชสีมาวิทยาลัย
    • ชั้นบน เป็นสนามบาสเกตบอลมีอัฒจันทร์รอบด้านทั้ง 4 ด้าน จุคนได้ประมาณ 800 คน
    • ชั้นล่าง เป็นห้องพักอาจารย์ ห้องเก็บตัวนักกีฬา ห้องเรียน และยังใช้เป็นศูนย์ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
  • อาคารกิจกรรมลูกเสือ อยู่ทางทิศตะวันออกของอาคารศิลปศึกษา
  • อาคารหอประชุม 90 ปี ชั้นบนเป็นหอประชุมใช้ในการจัดงาน-พิธีต่างๆ และชั้นล่างเป็นห้องสมุดของโรงเรียน
  • อาคาร 80 ปี ราชสีมาศิษยานุสรณ์ เป็นอาคารจากการจัดงานครบรอบ 80 ปี ของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จัดสำหรับเป็นที่ประดิษฐานท่านท้าวสุรนารี (องค์ต้นแบบองค์ที่อนุเสาวรีย์ท้าวสุรนารีปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และปัจจุบันได้ทำการย้ายสถานที่ประดิษฐานท่านท้าวสุรนารีไปอยู่ ณ ศาลาใหม่หน้าบริเวณทางเข้าโรงเรียน) และที่ทำการกองบังคับการกรมนักศึกษาวิชาทหารโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยมณฑลทหารบกที่ 21
  • อาคารธรรมสถาน ใช้เป็นที่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและเรียนวิชาพระพุทธศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธราชสีมามงคลชัยพระพุทธรูปประจำโรงเรียน รวมทั้งใช้เป็นอาคารประชุมอเนกประสงค์
  • เรือนพยาบาล เป็นอาคารที่ ม.ศ.5 รุ่นสุดท้ายหาทุนสร้างให้เป็นอนุสรณ์สำหรับใช้บริการตรวจสุขภาพและปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีห้องผ่าตัดขนาดเล็ก
  • โรงอาหาร ใช้เป็นที่รับประทานอาหารกลางวันของนักเรียน (พ.ศ. 2509-2554)
  • โรงอาหารใหม่ ใช้เป็นที่รับประทานอาหารกลางวันของนักเรียน (พ.ศ. 2535-2554)
  • ศาลากฤษณ์ จันทนโรจน์ ตั้งอยู่หน้าอาคาร 80 ปี ราชสีมาศิษยานุสรณ์ อาจารย์จินตนา จันทนโรจน์ สร้างให้เป็นอนุสรณ์ให้นายกฤษณ์ จันทนโรจน์
  • สำนักงานพัสดุ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของอาคาร 1
  • อาคารอุตสาหกรรม ใช้เป็นสถานที่เรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี แบ่งสายงานดังนี้
    • อาคารโรงงาน 1 แผนกช่างเขียนแบบ
    • อาคารโรงงาน 2 แผนกช่างยนต์และแผนกช่างโลหะ
    • อาคารโรงงาน 3 แผนกช่างไฟฟ้าและแผนกช่างไม้ก่อสร้าง
    • อาคารโรงงาน 4 แผนกคหกรรม
  • ศาลาพระอาจารย์ศุภชัย อัคฺคธมฺโมเป็นที่ตั้งสำนักงานสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มงานกิจการนักเรียน
  • สวนป่า ใช้เป็นที่เรียนกิจกรรมลูกเสือ
  • อาคารสำนักงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด To be Number One ตั้งอยู่บริเวณใต้อาคาร 2 ตรงกลางอาคาร
  • อาคารสำนักงานคณะกรรมการนักเรียน เป็นห้องปฏิบัติงานของคณะกรรมการนักเรียน
  • ศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น (Friend Corner) ชั้นหนึ่ง อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
  • ห้องพุทธศาสน์ชั้นหนึ่ง อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ประดิษฐาน พระพุทธรังสีราชสีมามงคลและรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
  • อาคาร 111 ปีราชสีมาวิทยาลัย เป็นลานอเนกประสงค์ มีหลังคาครอบขนาดใหญ่ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนซึ่งครอบคลุมบริเวณสนามเทนนิส , สนามฟุตบอล , สนามบาสเกตบอล , สนามเซปักตระกร้อ และสนามวอลเลย์บอลเดิมของโรงเรียน
  • อาคารโรงอาหาร 113 ปีราชสีมาวิทยาลัย เป็นโรงอาหารที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดใน ASEAN ขนาด 2 ชั้น [ต้องการอ้างอิง]
    • ชั้นบนใช้เป็นที่รับประทานอาหารกลางวันของนักเรียน
    • ชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียน ห้องประชุม ธนาคารโรงเรียน ห้องสมาคมนักเรียนเก่า สำนักงานพัสดุ สำนักงานสภานักเรียน มินิมาร์ทซันดิว

แผนการเรียนพิเศษ[แก้]

มัธยมศึกษาตอนต้น

  • ความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ (Gifted Mathematics Student Project)
  • ความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ (science in School)
  • ความสามารถพิเศษทางด้านภาษาอังกฤษ (English Program)
  • ความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตามหลักสูตร สสวท. และ สอวน.
  • ห้องเรียน Cadet (เตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่การเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร)
  • ห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม (SMTE)

มัธยมศึกษาตอนปลาย

  • ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการ วมว.) โดยจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (บังคับให้เปิดแบบสหศึกษาเพียงโครงการเดียวของโรงเรียน) เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • ห้องเรียนพิเศษนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (โครงการ พวค. หรือ GSMP) เปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

บุคคลมีชื่อเสียง ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "จำนวนนักเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-08. สืบค้นเมื่อ 2019-02-17.
  2. 2.0 2.1 2.2 รายงานการตั้งโรงเรียนกลางเมืองนครราชสีมาhttp://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/030/64.PDF
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2446/051/9.PDF
  4. 4.0 4.1 เปลี่ยนครูโรงเรียน เมืองนครราชสีมาhttps://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1026264.pdf

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

14°57′04″N 102°02′04″E / 14.9510665°N 102.034514°E / 14.9510665; 102.034514