แมนรัตน์ ศรีกรานนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แมนรัตน์ ศรีกรานนท์

เกิดเรมอนด์ ซีเกร่า
25 สิงหาคม พ.ศ. 2471
เสียชีวิต5 กันยายน พ.ศ. 2561 (90 ปี)
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่าวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี
โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
โรงเรียนอัสสัมชัญ
อาชีพอาจารย์, นักดนตรี, นักประพันธ์เพลง, นักธุรกิจ
คู่สมรสลออวรรณ ศรีกรานนท์
บุตรอินทุอร บาลาเคาสคัส
ภาธร ศรีกรานนท์
บิดามารดา
  • เรนัลโด ซีเกร่า (บิดา)
  • จำรัส เรณางกูร (มารดา)

ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หรือ เรมอนด์ ซีเกร่า (โปรตุเกส: Reimondo Amato de Sequeira) เป็นนักดนตรีลูกครึ่งชาวไทย-โปรตุเกส เป็นสมาชิก วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ได้รับพระราชทานนามในภาษาไทยจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า "แมนรัตน์ ศรีกรานนท์" ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ส่งไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานที่ โรงเรียนการดนตรีเบิร์กลี (Berklee School of Music) ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคือวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี - Berklee College of Music)

เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร บิดาของท่านคือ เรนัลโด ซีเกร่า (Reinaldo Maria de Sequeira) นักดนตรีชาวโปรตุเกส เป็นคนแรก ๆ ที่นำเพลงตะวันตกมาบรรเลงในประเทศไทย แมนรัตน์เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี "คีตะเสวี" เมื่อปี พ.ศ. 2493 เป็นวงดนตรีร่วมสมัยกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ บรรเลงตามสถานีวิทยุและงานลีลาศต่าง ๆ แต่เน้นดนตรีสากล สมรสกับคุณลออวรรณ ศรีกรานนท์ มีบุตรและธิดา 2 คน ชื่อ ดร.อินทุอร และ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์

ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ประจำปี พ.ศ. 2535 และเป็นผู้ก่อตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นอาจารย์พิเศษคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้บริหารโรงเรียนดนตรีสยามกลการ

ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1]

ประวัติ[แก้]

ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หรือที่รู้จักกันในนาม ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เกิดวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่ตำบลบางรัก เจริญกรุง เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของ คุณพ่อโรนาโด ซีแกร่า และคุณแม่จำรัส เรณางกูร ซึ่งมีเชื้อสายโปรตุเกส คุณพ่อเป็นนักเปียโนและเล่นดนตรีแต่ยังทำงานด้านอื่นประจำด้วยนอกเหนือจากดนตรี จากการเติบโตในครอบครัวที่มีดนตรีในหัวใจ จึงได้รับแรงบันดาลใจและมีความรักในดนตรีมาโดยตลอด

สมรสกับ คุณลออวรรณ อนุสารสุนทร มีบุตร 2 คน คือ ดร.อินทุอร ศรีกรานนท์, CONCERT PIANIST จบจากมหาวิทยาลัยเยล และดร.ภาธร ศรีกรานนท์ จบการศึกษาปริญญาเอก สาขาการประพันธ์เพลง จากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก สกอตแลนด์ และได้เล่น SAXOPHONE พร้อมทั้งยังเป็นนักดนตรีในวงดนตรี อ.ส วันศุกร์ ซึ่งเป็นวงดนตรีส่วนพระองค์อีกด้วย

เริ่มการศึกษา เมื่ออายุ 9 ปี ที่โรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์คาเบรียลจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.5 เกิดสงคราม การเรียนได้ชะงักลงช่วงหนึ่ง หลังสงครามสงบกลับมาเรียนต่อ แต่ไม่จบเนื่องจากบิดาได้ล้มป่วยและเสียชีวิต จึงต้องออกจากโรงเรียนมาเล่นดนตรีหาเงินส่งน้อง ๆ เรียนหนังสือ ช่วยเหลือภาระทางบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งการเรียน ช่วงที่ทำงานอยู่อีสต์ เอเซียติค ได้เรียนกวดวิชาตลอดเวลาแต่ก็ไม่มีโอกาสสอบชั้นมัธยมศึกษา 6

ผ่านการทำงานหลายที่ เช่น บริษัทเชลล์ ซึ่งที่นี่ได้ตั้ง วงดนตรีพนักงานบริษัทเชลล์ ขึ้น และได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง จากนั้นได้ตั้งวงดนตรีเล็กๆของตนเองอีก 1 วง ชื่อ วงดนตรีเรมอนด์และสหาย (ต่อมาเปลี่ยนเป็น คีตะเสวี ) ซึ่งเป็นชื่อวงดนตรีของบิดา รวบรวมเพื่อน ๆ มาเล่นดนตรียามว่างจากการทำงาน แรก ๆ เล่นกันในงานเลี้ยงสังสรรค์ตามบ้านเพื่อนฝูงเท่านั้น แต่ภายหลังได้เล่นออกอากาศทางสถานีวิทยุ 1 ปณ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยด้วย

เมื่อลาออกจากเชลล์ ได้เข้าทำงานที่บริษัทน้ำมันแสตนดาร์ด เวคัม ออยส์ ในปี พ.ศ. 2498 ได้ร่วมเล่นดนตรีอยู่กับวงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตำแหน่งนัก PIANO ได้มีโอกาสเล่นเปียโนถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในวันที่ไปออกอากาศ ณ สถานีวิทยุ อ.ส. หลังจากนั้นได้ถวายตัวกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเพื่อที่จะเล่นเปียโนใน วงดนตรีลายคราม ซึ่งนักดนตรีในวงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นหม่อมเจ้าและชั้นหม่อมราชวงศ์ และที่พิเศษ คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นผู้ทรงแซกโซโฟน และคลาริเน็ต จนถึงปัจจุบันได้เล่นดนตรีถวายใน วงดนตรี อ.ส วันศุกร์ มาเป็นเวลา 50 ปี

นอกจากนี้ได้เคยร่วมเล่นดนตรีกับนักดนตรีแจ๊สชั้นนำของโลก เช่น เบนนี กูดแมน สก็อต แฮมิลตัน และเบนนี คาร์เตอร์ เป็นต้น

ต่อมาเมื่อบริษัทน้ำมันแสตนดาร์ด เวคัม ออยส์ แยกตัวออกเป็น 2 บริษัท คือ บริษัทน้ำมันเอสโซ และ บริษัท น้ำมันโมบิล อ.แมนรัตน์เลือกทำที่ บ.โมบิลและได้ลาออกในปี พ.ศ. 2508 เนื่องจากได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ไปศึกษาวิชาการดนตรีแจ๊ส ในสาขาวิชาเรียบเรียงเสียงประสานและการประพันธ์เพลงที่ BERKLEY SCHOOL OF MUSIC ในหลักสูตร 2 ปี จนจบได้รับ CERTIFICATE ทางด้าน JAZZ COMPOSITION หลังจากกลับมา ต้องการนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ให้นักศึกษาไทย จึงได้มาทำงานที่บริษัทสยามกลการ ดร.ถาวร พรประภา ได้มอบหมายให้ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีสยาม-กลการ โดยในช่วงแรกได้เชิญนักเรียบเรียงเสียงประสานที่มีฝีมือมาเรียนกันแบบเพื่อนฝูง เช่น อ.ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ประภาส อมรพันธ์ นริศ ทรัพย์ประภา เป็นต้น ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่นักดนตรีอาชีพ และนักศึกษาทั่วไป มีลูกศิษย์หลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการงานหลายคน ขณะเดียวกันก็ยังเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนจิตรลดา โดยเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนดนตรีแด่เจ้าฟ้าทุกพระองค์ด้วย

ลูกศิษย์ที่เรียนด้วยในขณะนั้นได้ตั้งวงดนตรีวงใหญ่ (BIG BAND) ขึ้น ชื่อ วงดนตรี ม.ศ ซึ่งย่อมาจากชื่อแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เพื่อเป็นการทดลองเพลงที่เขียนมาเนื่องจากการเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสาน และได้บรรเลงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นเวลาถึง 13 ปี

ในปี 2517 ได้ลาออกจากโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เพื่อเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ จนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2531 จึงได้มาทำงานในบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ในตำแหน่งที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริษัท

ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561 สิริอายุ 90 ปี 1 เดือน 11 วัน

ผลงานเพลง[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมามีผลงานเพลงที่ประพันธ์ไว้มากกว่า 1,000 เพลง โดยในช่วงที่ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ได้แต่งเพลงขึ้นหลายเพลง อาทิเช่น รักเอย, ชั่วฟ้าดินสลาย, จากยอดดอย, สวรรค์อำพราง, จับปู, ใครเอ่ย, ใจเอ๋ย ฯลฯ ผลงานที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ เพลงรักเอย ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ เพลงชั่วฟ้าดินสลาย ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงเงิน สำหรับเพลงจับปู เป็นเพลงในท่วงทำนองที่สนุกสนานมีวงดนตรีต่าง ๆ นำมาบรรเลงกันอย่างแพร่หลาย

สรุปผลงานประพันธ์

ผลงานวิชาการ[แก้]

เรียบเรียงตำราหลายเล่ม เพื่อให้ลูกศิษย์ได้ศึกษา พัฒนาวิชาการดนตรีให้เทียบเท่าอารยประเทศ เช่น วิชาการประพันธ์ดนตรีแจ๊ส (JAZZ COMPOSITION) วิชาการประสานเสียงดนตรีแจ๊ส (JAZZ HARMONY)

เนื่องจากมีผลงานดนตรีด้านต่าง ๆ และเป็นผู้ให้การส่งเสริมการดนตรีให้แพร่หลายมาโดยตลอดจึงทำให้ในปี 2535 จึงได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดุริยางคศาสตร์สากล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด และเป็นกรรมการและที่ปรึกษาของหน่วยงานราชการและเอกชนหลายแห่ง เป็นอาจารย์สอน เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี Jazz ของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อำนวยการโรงเรียนดนตรีสยามกลการ และสอนวิชา JAZZ COMPOSITION, JAZZ HARMONY ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ฯลฯ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ๋จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๔๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๙
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๒๒๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๕๗, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๗
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๔๓, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๙
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๑, ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๙

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]