เฮฟีสเทียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮฟีสเทียน
แฮไพส์ตีออน
รูปสลักของเฮฟีสเทียน
ชื่อเล่นพะทรอคลัส (ปาโตรโกลส)
เกิดปีที่ 356 ก่อนคริสต์กาล
เพลลา
เสียชีวิตตุลาคม ปีที่ 324 ก่อนคริสต์กาล
(อายุ 32 ปี)
เอกแบทานา
รับใช้อาณาจักรมาเกโดนีอา
ชั้นยศคีลีอาร์คอส (จอมพล)
บัญชารองจากอเล็กซานเดอร์
บังคับบัญชากองทหารม้าเฮไตรอย

เฮฟีสเทียน (อังกฤษ: Hephaestion) หรือ แฮไพส์ตีออน (กรีกโบราณ: Ἡφαιστίων) เป็นแม่ทัพกรีกชาวมาเกโดนีอาของอเล็กซานเดอร์มหาราช ความสัมพันธ์ตลอดช่วงชีวิตของทั้งสองมักถูกนำเปรียบเปรยโดยบุคคนอื่นรวมถึงตัวพวกเขาเองว่าเป็นดั่งอคิลลีสกับพะทรอคลัส

เฮฟีสเทียนเป็นเพื่อนสนิทกับอเล็กซานเดอร์มาตั้งแต่เยาว์วัย จนความสัมพันธ์ของทั้งสองก็พัฒนาเกินเพื่อน อาจกล่าวได้ว่าเขาคือวิญญาณครึ่งหนึ่งของอเล็กซานเดอร์ และเป็นบุคคลที่อเล็กซานเดอร์ไว้ใจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยการเสื่อมลงของวัฒนธรรมกรีกและการมีอิทธิพลขึ้นมาของศาสนาคริสต์ซึ่งต่อต้านการรักร่วมเพศ ทำให้ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเรื่องราวของทั้งสองว่าเป็น "เพื่อนที่ดีที่สุด" แทนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

จริงอยู่ว่าข้อมูลวัยเด็กและการศึกษาของเฮฟีสเทียนมีน้อยมาก แต่สิ่งหลงเหลือก็พอจะยืนยันเรื่องราวในวัยโตของเขา ความสัมพันธ์ของเขากับอเล็กซานเดอร์นั่นเป็นความสัมพันธ์อมตะ ระหว่างอยู่ที่สำนักในเมืองเพลลา เฮฟีสเทียนได้รับการศึกษาบ่มเพาะเช่นเดียวกับมหากษัตริย์แห่งกรีกและเอเชียในอนาคต ไม่แปลกเลยที่ประสบการณ์เช่นนี้จะหล่อหลอมให้เขากลายเป็นชายที่วันหนึ่งมีจะอำนาจเป็นอันดับสองในจักรวรรดิ

เฮฟีสเทียนมีผลงานทางทหารที่โดดเด่น เขาเป็นนายทหารรักษาพระองค์ของอเล็กซานเดอร์ (Somatophylakes) และเป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารม้า ตลอดจนและได้รับตำแหน่งสำคัญมากมาย ตลอดระยะเวลาสิบปีของการทัพในทวีปเอเชีย นอกจากเป็นทหารแล้ว ความรู้ด้านวิศวกรรมและการทูตที่ได้รับมาจากปราชญ์อริสโตเติลและเซโนคราแตสก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อแผนของอเล็กซานเดอร์ที่จะเข้ารุกรานอาณาจักรกรีกและเปอร์เซีย อเล็กซานเดอร์แต่งตั้งเฮฟีสเทียนเป็น "คีลีอาร์คอส" (χιλίαρχος) คนแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือจอมพลผู้มีอำนาจเป็นลำดับสองรองจากตัวเอง อเล็กซานเดอร์ยังรับเฮฟีสเทียนเป็นสมาชิกราชวงศ์ เมื่อเฮฟีสเทียนเสียชีวิตขณะมีอายุ 32 ปี อเล็กซานเดอร์ตกอยู่ในภาวะตรอมใจและสิ้นพระชนม์ในอีกแปดเดือนให้หลัง

วัยเด็กและการศึกษา[แก้]

ภาพโมเสก อเล็กซานเดอร์กับเฮฟีสเทียนกำลังล่ากวาง

เฮฟีสเทียนเป็นบุตรข้าราชการนามว่าอมินทอร์ (Amyntor) วันเกิดที่ชัดเจนของเฮฟีสเทียนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด แทบไม่มีข้อมูลเรื่องประวัติที่มาของเขา แต่นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่า เฮฟีสเทียนซึ่งเป็นเพื่อนตั้งแต่วัยเด็กกับอเล็กซานเดอร์ มีอายุเท่ากับอเล็กซานเดอร์ ทำให้คาดเดาได้ว่า เขาน่าจะเกิดเมื่อ 356 ปีก่อนคริสตกาล และมีเกร็ดเล็กน้อย จากตำนาน Alexander romance ซึ่งได้บันทึกว่า "...วันหนึ่ง เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 15 ชันษา [...] ได้แล่นเรือไปกับสหายเฮฟีสเทียนจนไปถึงปิซา แล้วจึงลงไปเดินเล่นกับเฮฟีสเทียน"[1] ซึ่งอายุของอเล็กซานเดอร์ในบันทึกนี้เอง เป็นเบาะแสที่สำคัญต่อการศึกษาที่มาของเฮฟีสเทียน เพราะขณะอเล็กซานเดอร์อายุ 15 ชันษา เขาต้องกำลังศึกษาอยู่ที่มีเอซา ภายใต้การประสาทวิชาโดยอริสโตเติล และด้วยมิตรภาพของทั้งสองที่แน่นแฟ้น ทำให้รู้ได้ว่า เฮฟีสเทียนเป็นหนึ่งในนักเรียนที่นี่เช่นกัน

ความสัมพันธ์กับอเล็กซานเดอร์[แก้]

เป็นที่รู้กันว่า ความสัมพันธ์ของเฮฟีสเทียนและอเล็กซานเดอร์นั้นมีมากเกินกว่ามิตรภาพระหว่างเพื่อน ดังที่ อริสโตเติล ครูของทั้งสอง ได้อธิบายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่าเปรียบดั่ง "...หนึ่งวิญญาณที่ดำรงอยู่ในสองร่าง" ครั้งที่อเล็กซานเดอร์รบชนะเปอร์เซีย เฮฟีสเทียนได้เดินนำอเล็กซานเดอร์ไปยังกระโจมที่คุมตัวสมาชิกราชวงศ์เปอร์เซียไว้ เมื่อพระพันปีแกมบิสแห่งเปอร์เซียทอดพระเนตรเห็นก็รีบเข้าไปคุกเข่าอ้อนวอนขอชีวิตราชวงศ์เปอร์เซียต่อเฮฟีสเทียนด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเฮฟีสเทียนคืออเล็กซานเดอร์ เนื่องจากเฮฟีสเทียนนั้นตัวสูงกว่าอเล็กซานเดอร์ ประกอบกับทั้งคู่ยังหนุ่มและสวมชุดที่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อพระพันปีแกมบิสทรงทราบก็เกิดความอับอาย แต่อเล็กซานเดอร์ก็รับสั่งแก่พระพันปีแกมบิสว่า "ท่านไม่ได้เข้าใจผิดไปหรอกท่านแม่ เขาคนนี้ก็คืออเล็กซานเดอร์เช่นกัน"[2]

พระพันปีแห่งเปอร์เซียคุกเข่าต่อเฮฟีสเทียน (ชุดเกราะดำ) ด้วยเข้าใจผิดว่าเขาคืออเล็กซานเดอร์

ความรักของทั้งคู่ไม่ใช่เรื่องลับ เฮฟีสเทียนเคยเขียนจดหมายตอบพระนางโอลิมพีอัส ผู้เป็นมารดาอเล็กซานเดอร์ว่า "ท่านก็รู้ว่าอเล็กซานเดอร์มีค่าสำหรับข้ามากกว่าสิ่งใด"[3] นักวิชาการพอล คาร์ตเลดจ์ อธิบายความใกล้ชิดของทั้งคู่ว่า "ที่จริงแล้วอเล็กซานเดอร์มักพูดถึงเฮฟีสเทียนว่าเป็นตัวเขาอีกคนหนึ่ง"[4] ศาสตราจารย์แฮมมอนด์สรุปความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่า "ไม่แปลกเลยที่อเล็กซานเดอร์ยึดติดกับเฮฟีสเทียนเหมือนที่อคิลลีสยึดติดกับพะทรอคลัส"[5]

แอร์เรียนเคยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่อเล็กซานเดอร์และเฮฟีสเทียนได้แสดงตนเป็นดั่งวีรบุรุษในตำนานอย่างอคิลลีสกับพะทรอคลัส ก่อนที่จะยกทัพบุกทวีปเอเชีย กองทัพของอเล็กซานเดอร์ได้ไปเยือนกรุงทรอย ฉากหนึ่งในตำนานอีเลียดที่อเล็กซานเดอร์โปรดปราน อเล็กซานเดอร์วางพวงหรีดที่วิหารของอคิลลีส เฮฟีสเทียนวางพวงหรีดที่วิหารพะทรอคลัส แล้วทั้งคู่จึงแก้ผ้าวิ่งแข่งกันเพื่อเป็นการสดุดีแก่วีรบุรุษกรุงทรอยทั้งสอง[6]

อเล็กซานเดอร์ถอดแหวนไปแตะริมฝีปากเฮฟีสเทียนขณะอ่านจดหมายจากพระมารดา

พลูทาร์กเคยบันทึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง โดยกล่าวถึงอุปนิสัยของพระพันปีโอลิมพีอัสว่านางชอบส่งจดหมายส่วนตัวมาให้ลูกชายเสมอ: "โอลิมพีอัสมักเขียนจดหมายมาหาพระองค์เสมอ อเล็กซานเดอร์จะเก็บจดหมายพวกนี้ไว้อ่านคนเดียว แต่ยกเว้นคนหนึ่งไว้ เฮฟีสเทียนชอบอ่านจดหมายของกษัตริย์หนุ่มกับท่าน เมื่อสายตาตกกระทบบนจดหมายที่เปิดออก กษัตริย์หนุ่มไม่ได้ห้ามเขาไม่ให้อ่าน กลับกันได้ถอดพระธำมรงค์แล้วเอาหัวแหวนไปแตะที่ริมฝีฝากของเขา เหมือนจะบอกว่าให้เก็บไว้เป็นความลับ"[7]

อะทีแนอุส นักเรียนชาวโรมเคยอ้างถึงปราชญ์ดีแคอาร์ชุส ผู้ร่วมสมัยกับอเล็กซานเดอร์ว่า กษัตริย์หนุ่ม "ชอบพยายามทำให้นี่เป็นกระแสนิยม" (หมายถึงการรักร่วมเพศ)[8] ซึ่งสอดคล้องกับพลูทาร์กที่เคยกล่าวทำนองนี้เช่นกัน นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคนเชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ไม่ได้มีสัมพันธ์ทางเพศกับเฮฟีสเทียนแค่ในวัยเยาว์เท่านั้น แต่พวกเขายังดำเนินความสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไปในวัยผู้ใหญ่เช่นกัน ขณะนั้นการรักร่วมเพศถือเป็นเรื่องผิดปกติในบางนครรัฐกรีกอย่างเช่นเอเธนส์[9][10] นักวิชาการสมัยใหม่บางส่วนเสนอว่าอาณาจักรมาเกโดนีอาอาจอดทนต่อการรักร่วมเพศได้มากกว่า[11]

เสียชีวิต[แก้]

ในฤดูใบไม้ผลิ 324 ปีก่อนค.ศ. เฮฟีสเทียนพร้อมอเล็กซานเดอร์ได้เคลื่อนพลไปยังเอกแบทานา (ปัจจุบันอยู่ในอิหร่าน) และไปถึงในฤดูใบไม้ร่วง วันหนึ่งเฮฟีสเทียนเดินทางไปยังโรงละคร และทานไก่ต้มและไวน์เย็น แล้วจึงเกิดอาการไข้ เขาป่วยอยู่เจ็ดวัน วันที่เจ็ดนั้นมีอาการหนักมาก จนอเล็กซานเดอร์ต้องรีบละทิ้งการชมการแข่งขันและมาหาเฮฟีสเทียนในทันที แต่ก็มาไม่ทัน เมื่ออเล็กซานเดอร์มาถึงเฮฟีสเทียนได้เสียชีวิตแล้ว มีทฤษฎีว่าเฮฟีสเทียนอาจถูกวางยาพิษหรืออาจป่วยด้วยไข้รากสาดน้อย

แอร์เรียนระบุว่า: "เขาโอบร่างของสหายรักและอยู่เช่นนั้นเกือบทั้งวันด้วยน้ำตา ไม่ยอมแยกจากไปไหนต่อให้ผู้น้อยเข้ามาฉุดก็ตาม...สองวันเต็มหลังความตายของเฮฟีสเทียน อเล็กซานเดอร์มิได้เสวยสิ่งใด ไม่ตอบสนองหรือประสงค์สิ่งใด ได้แต่นอนร้องไห้อยู่บนเตียงเงียบๆด้วยความโทมนัส”[12] อีกส่วนกล่าวว่า "เขากอดศพและอยู่อย่างนั้นทั้งวันและทั้งคืน"[12] และยังกล่าวว่ากลัฟเคียสผู้เป็นหมอ ถูกประหารฐานดูแลไม่ดีพอ[13] ระบุอีกว่า อเล็กซานเดอร์ยังสั่งให้ทำลายวิหารของเทพแอสคลีเพียสในเอกแบทานา[14] กษัตริย์หนุ่มยังตัดผมสั้นเพื่อไว้ทุกข์[15] และยังระบุว่า "แม่ทัพนายกองจำนวนมากหมดความเคารพอเล็กซานเดอร์ เหมือนว่าพวกเขากำลังอุทิศตนเพื่อชายที่หมดอาลัยตายอยาก"[16] อเล็กซานเดอร์ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารม้าเฮไตรอยแทนที่เฮฟีสเทียน เขาอยากให้ชื่อเฮฟีสเทียนอยู่กับหน่วยทหารม้าเฮไตรอยตลอดกาล

พลูทาร์กระบุว่า: "ความตะลึงพลันตกแก่อเล็กซานเดอร์ที่เอกแบทานา เขาเสียเฮฟีสเทียน รักแรกตั้งแต่วัยเด็ก เฮฟีสเทียนจากไปแล้ว...เพื่อนที่เป็นมากกว่าเพื่อน สนิทยิ่งกว่าพี่น้อง ผู้คอยสร้างความรู้สึกสงบในจิตใจของจอมพิชิตผู้เปล่าเปลี่ยว..."[17]

ในบรรดาเรื่องราวเกี่ยวกับเฮฟีสเทียนที่พอสืบค้นได้ เอกสารโบราณมักจะกล่าวถึงการตายของเขามากที่สุด เนื่องจากมันมีผลโดยตรงต่ออเล็กซานเดอร์ บันทึกของพลูทาร์กระบุว่า: "ความเศร้าโศกต่อการสูญเสียครั้งนี้ของอเล็กซานเดอร์เกินจะควบคุม และเพื่อเป็นการไว้อาลัย ทรงสั่งให้ตัดขนหางและขนแผงคอของม้าทุกตัว สั่งให้รื้อใบเสมาบนกำแพงเมืองข้างเคียงทุกแห่ง สั่งตรึงกางเขนแพทย์ผู้เคราะห์ร้ายและสั่งห้ามเป่าขลุ่ยรวมถึงเครื่องดนตรีอื่นทุกชนิดในค่ายทหารเป็นเวลายาวนาน และเมื่อโหรหลวงเดินทางมาจากอัมโมน ก็ทรงสั่งให้สักการะเฮฟีสเทียนและบรวงสรวงเป็นวีรบุรุษ ยิ่งกว่านั้น อเล็กซานเดอร์มุ่งทำสงครามเพื่อพยายามลืมความโศกเศร้า ถึงขั้นตามล่าและเข้าทำลายชนชาวคอสแซน ประหารชายวัยหนุ่มขึ้นไปทั้งหมดเอาเป็นการบรวงสรวงแก่ดวงวิญญาณของเฮฟีสเทียน"[18] นักประวัติศาสตร์บางรายมองว่าการประหารชายชาวคอสแซนเป็นการทำตามเนื้อหาในมหากาพย์อีเลียดที่ระบุว่าอคิลลีสทำการสังหาร "ชายหนุ่มสูงศักดิ์สิบสองคน" เพื่อไว้อาลัยต่อสหายรักพะทรอคลัส[18]

พิธีการศพ[แก้]

รูปสลักของอเล็กซานเดอร์มหาราชและเฮฟีสเทียน

หลังการตายของเฮฟีสเทียน อเล็กซานเดอร์มัวแต่หมกหมุ่นกับพิธีการศพและการไว้อาลัยสหายรัก อเล็กซานเดอร์ถึงกับต้องการให้มีการบูชาเฮฟีสเทียนเยี่ยงเทพเจ้า แต่ถูกปฏิเสธโดยโหรหลวงว่ามิอาจทำได้แต่สามารถบรวงสรวงในฐานะวีรบุรุษจากสวรรค์ได้ ซึ่งก็ทำให้อเล็กซานเดอร์พอพระทัย การสร้างวิหารและการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้มีต้นทุนแรงงานช่างกว่า 10,000 ถึง 12,000 ชีวิต เคยมีการคำนวณว่าการพิธีศพทั้งหมดถ้าจัดขึ้นในยุคปัจจุบันจะใช้เงินถึง 1.5 พันล้านยูโร

อเล็กซานเดอร์บังคับรถม้าขนศพกลับกรุงบาบิโลนด้วยองค์เองเป็นช่วง ๆ มีการจัดมหกรรมการแข่งขันขึ้นที่บาบิโลนเพื่อไว้อาลัยเฮฟีสเทียน ตั้งแต่ด้านวรรณกรรมไปจนถึงกีฬา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน

อ้างอิง[แก้]

  1. Chugg 2006 p.67
  2. Curtius 3.12.17
  3. Diodorus 17.114.3
  4. Cartledge p. 19
  5. Hammond 1980, p.16
  6. Arrian I.12
  7. Penguin edition, pg. 324
  8. Deipnosophistae, 13.80.
  9. Marilyn Skinner (2013). Sexuality in Greek and Roman Culture (Ancient Cultures), 2nd edition. Wiley-Blackwell. p. 190. ISBN 978-1-4443-4986-3.
  10. Sacks 1995, p. 16.
  11. Thomas Hubbard (2014). "Chapter 8: Peer Homosexuality". ใน Hubbard, Thomas (บ.ก.). A Companion to Greek and Roman Sexualities. Blackwell Publishing Ltd. p. 143. ISBN 978-1-4051-9572-0.
  12. 12.0 12.1 Arrian 7.14.6
  13. Arrian 7.14.7
  14. Arrian 7.14.9
  15. Arrian 7.14.8
  16. Arrian 7.15.3
  17. Plutarch. Life of Alexander เก็บถาวร 2014-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  18. 18.0 18.1 Plutarch, Alexander Bernadotte Perrin, Ed.