เอ็ดมันด์ เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงคาสเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


เอ็ดมันด์หลังกางเขน
ตราประทับของเอ็ดมันด์หลังกางเขน
เอิร์ลแห่งแลงคัสเตอร์และเลสเตอร์
ประสูติ16 มกราคม ค.ศ. 1245
เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สิ้นพระชนม์5 มิถุนายน ค.ศ. 1296 (51 พรรษา)
ฝังพระศพวิหารเวสต์มินสเตอร์
ชายาแอเวอลีน เดอ ฟอร์
บล็องช์แห่งอาร์ตัว
ราชวงศ์แพลนแทเจเนต
พระราชบิดาพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ
พระราชมารดาอะลิอูโนแห่งพรอว็องส์

เอ็ดมันด์ เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงคัสเตอร์ (อังกฤษ: Edmund, 1st earl of Lancaster) หรือ เอ็ดมันด์หลังกางเขน (อังกฤษ: Crouchback) เป็นพระราชโอรสคนที่สี่ (แต่เป็นคนที่สองที่รอดชีวิต) ของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษกับพระนางอะลิอูโนแห่งพรอว็องส์ พระองค์เป็นต้นตระกูลของราชวงศ์แลงคัสเตอร์


วัยเยาว์[แก้]

พระเจ้าเฮนรีที่ 3 (บน) กับพระราชบุตร คือ (จากซ้ายไปขวา) เอ็ดเวิร์ด, มาร์กาเร็ต, เอ็ดมันด์, เบียทริซ และแคทเธอรีน

เอ็ดมันด์ประสูติที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1245 โดยทรงเป็นพระราชบุตรคนที่สี่และพระราชโอรสคนที่สองของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 กับพระราชินีอะลิอูโนแห่งพรอว็องส์ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 ได้ตั้งชื่อพระองค์ว่า "เอ็ดมันด์" ตามชื่อของนักบุญที่พระองค์นับถือ คือ พระเจ้าเอ็ดมันด์มรณสักขี กษัตริย์แห่งอีสต์แองเกลียที่ถูกชาวไวกิงสังหารในปี ค.ศ. 869 ตามคำสั่งของอิวาร์ผู้ไร้กระดูกและอุบบาผู้เป็นน้องชาย เอ็ดมันด์เติบโตในปราสาทวินด์เซอร์ภายใต้การดูแลของเอย์มอน ธูร์เบิร์ต ตำรวจวังประจำปราสาทวินด์เซอร์ ร่วมกันพี่ๆ น้องๆ ของพระองค์ คือ เอ็ดเวิร์ด (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ), มาร์กาเร็ต (ต่อมาเป็นพระราชินีของชาวสกอต), เบียทริซ (ต่อมาเป็นดัชเชสแห่งเบรอตาญ) และแคทเธอรีน


ตั้งแต่เด็กเอ็ดมันด์เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระราชบิดาที่ต้องการขยายอำนาจของราชวงศ์อ็องฌูไปทั่วยุโรป ในปี ค.ศ. 1255 ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 10 พรรษา พระองค์ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 ให้เป็นกษัตริย์แห่งซิซิลี เนื่องจากในขณะนั้นสมเด็จพระสันตะปาปากำลังขัดแย้งอยู่กับจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ปกครองซิซิลี สมเด็จพระสันตะปาปาต้องการเงินทุนก้อนโตเพื่อใช้ในการต่อสู้ซึ่งพระเจ้าเฮนรีที่ 3 รับปากว่ามอบให้เพื่อแลกกับตำแหน่งของพระราชโอรส ทว่าเหล่าบารอนอังกฤษไม่เห็นด้วยที่จะต้องจ่ายเงินให้กับสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นธุรกิจซื้อขายตำแหน่ง ทำให้พระเจ้าเฮนรีไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้ได้ตามที่สัญญาไว้ ตำแหน่งกษัตริย์แห่งซิซิลีของเอ็ดมันด์จึงถูกเพิกถอนไปในปี ค.ศ. 1258 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 4

พระราชโอรสผู้องอาจ[แก้]

ตราประจำตัวของเอ็ดมันด์หลังกางเขน

เป็นที่รู้กันว่าพระเจ้าเฮนรีและอะลิอูโนเป็นพระราชบิดามารดาที่ใส่ใจพระราชบุตรและสนิทสนมกับพระราชบุตรทุกคน ทว่าเอ็ดมันด์โตมาในช่วงที่ราชอาณาจักรอังกฤษประสบกับความวุ่นวายครั้งใหญ่ เหล่าบารอนอังกฤษไม่พอใจพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ในหลายๆเรื่องจนก่อเกิดเป็นสงครามกลางเมืองชื่อว่าสงครามบารอนครั้งที่สอง (ค.ศ. 1264 – 1267) โดยผู้นำฝั่งบารอนคือซิมง เดอ มงฟอร์ เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ผู้เป็นพระขนิษฐภรรดาของกษัตริย์ กลุ่มบารอนต้องการตอกย้ำมหากฎบัตรและบีบบังคับให้กษัตริย์มอบอำนาจให้แก่สภาขุนนางมากขึ้นจนทำให้เกิดรัฐสภาอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรก ในตอนนั้นเอ็ดมันด์ได้ติดตามพระราชมารดาเดินทางไปมาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเพื่อรวบรวมกองพลทหารรับจ้างและเงินทุนมาสนับสนุนการต่อสู้ของพระราชบิดา สุดท้ายซิมง เดอ มงฟอร์ ผู้นำฝ่ายบารอนก็พ่ายแพ้และถูกสังหารที่สมรภูมิอีฟแชมในปี ค.ศ. 1265

หลังการจากไปของซิมง เดอ มงฟอร์ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 ได้พระราชทานตำแหน่งเอิร์ลแห่งเลสเตอร์ซึ่งเคยเป็นของเดอ มงฟอร์ให้แก่เอ็ดมันด์ สองปีต่อมาในปี ค.ศ. 1267 พระองค์ได้รับแต่งตั้งเป็นเอิร์ลแห่งแลงคัสเตอร์อีกหนึ่งตำแหน่ง นอกจากนี้พระองค์ยังได้รับพระราชทานที่ดินทั้งหมดซึ่งเคยเป็นของเดอ มงฟอร์ หนึ่งในนั้นคือปราสาทเคนิลเวิร์ธที่ยังไม่ยอมจำนน เอ็ดมันด์เป็นผู้บัญชาการในการปิดล้อมปราสาทที่กินเวลา 6 เดือนจนทหารรักษาการณ์ยอมจำนนเนื่องจากความหิวโหย


ในปี ค.ศ. 1269 เอ็ดมันด์กับเอ็ดเวิร์ดผู้เป็นพระเชษฐาลอบวางแผนปลดโรเบิร์ด เดอ เฟอร์เรอร์ส์ เอิร์ลแห่งเดอร์บี อดีตผู้สนับสนุนเดอ มงฟอร์ออกจากตำแหน่งและดินแดนที่ครอบครอง ตำแหน่งและดินแดนทั้งหมดของเขาตกเป็นของเอ็ดมันด์


พระราชินีอะลิอูโน พระราชมารดาของเอ็ดมันด์ได้จัดแจงให้พระองค์สมรสกับแอเวอลีน เดอ ฟอร์ เคาน์เตสแห่งอูแมลและเลดีแห่งโฮลเดอร์เนส ทายาทหญิงผู้มั่งคั่งของเอิร์ลแห่งอูแมลและทายาทหญิงโดยสันนิษฐานในตำแหน่งเอิร์ลแห่งเดวอนและลอร์ดแห่งเกาะไวต์ในทางฝั่งมารดา พิธีสมรสของทั้งคู่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1269 ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ โดยเอ็ดมันด์และแอเวอลีนเป็นเชื้อพระวงศ์คู่แรกที่สมรสกันในวิหารที่ได้รับการบูรณะใหม่ วิหารเดิมถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพและถูกบูรณะใหม่โดยพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ในปี ค.ศ. 1245 ในตอนที่สมรสกันเจ้าสาวมีอายุเพียง 10 ปี ขณะที่เจ้าบ่าวมีพระชนมายุ 24 พรรษา การสมรสถูกทำให้สมบูรณ์ในอีกปีสี่ต่อมาเมื่อแอเวอลีนมีอายุได้ 14 ปี ทว่าในปี ค.ศ. 1274 แอเวอลีนถึงแก่กรรมขณะมีอายุได้ 15 ปีและยังไม่มีทายาท เป็นไปได้ว่าเธออาจเสียชีวิตระหว่างคลอดบุตรหรือหลังแท้งบุตร ร่างของแอเวอลีนถูกฝังที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ หลังถึงแก่กรรมดินแดนของเธอได้กลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของราชบัลลังก์ เอ็ดมันด์จึงไม่ได้สืบทอดตำแหน่งเอิร์ลแห่งเดวอน, เอิร์ลแห่งอูแมล, ลอร์ดแห่งโฮลเดอร์เนสและลอร์ดแห่งเกาะไวต์ตามที่หวังไว้



ในปี ค.ศ. 1268 เอ็ดมันด์และเอ็ดเวิร์ดผู้เป็นพระเชษฐาได้รับกางเขน สาบานตนเข้าร่วมสงครามครูเสดครั้งที่ 9 ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสงครามครูเสดใหญ่ครั้งสุดท้ายของยุคกลาง แต่ทั้งคู่ไม่ได้ออกเดินทางไปทำศึกในทันที สองพี่น้องแยกกันเดินทาง โดยเอ็ดมันด์ไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1271 แม้จะมีนักพงศาวดารในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตีความสมญานามว่าพระองค์ผิดไปว่ามีที่มามาจากความพิการทางร่างกาย แต่สมญานาม "หลังกางเขน" น่าจะมาจากลายปักรูปกางเขนบนด้านหลังของชุดที่พระองค์สวมใส่ระหว่างทำสงคราม เนื่องจากไม่พบหลักฐานว่าทรงมีความพิการทางร่างกาย



หลังได้รับชัยชนะประปรายแต่รู้ตัวว่ากองทัพที่มีอยู่มีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะยึดดินแดนศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมาได้และไม่มีวี่แววว่ากำลังเสริมจากยุโรปจะมาถึง เอ็ดเวิร์ดได้ลงนามในสนธิสัญญาพักรบ 10 ปีกับไบบาร์ส์ ผู้นำฝ่ายมุสลิม เอ็ดมันด์ล่องเรือกลับบ้านเกิดเมืองนอนในเดือนต่อมา คือ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1272

พระอนุชาผู้จงรักภักดี[แก้]

จุลจิตรกรรมภาพเอิร์ลแห่งแลงคัสเตอร์ (อาจเป็นเอ็ดมันด์หลังกางเจน) กับนักบุญจอร์จในเอกสารยุคกลางที่หอสมุดโบเดียนในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1272 พระเจ้าเฮนรีที่ 3 เสด็จสวรรคต พระเชษฐาของเอ็ดมันด์จึงเดินทางกลับอังกฤษและเข้ารับการสวมมงกุฎเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1274 เอ็ดมันด์รับใช้พระเชษฐาด้วยความซื่อสัตย์ตลอดการครองราชย์ ทรงให้การสนับสนุนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทั้งด้านการทหารและการทูต


ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1276 หลังชายาคนแรกถึงแก่กรรมได้สองปี เอ็ดมันด์ได้สมรสใหม่ในปารีสกับบล็องช์แห่งอาร์ตัว เคาน์เตสแห่งช็องปาญซึ่งเป็นพระมเหสีม่ายของพระเจ้าเอนริเกที่ 3 แห่งนาวาร์ พระนางเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสและปกครองนาวาร์มานับตั้งแต่ที่พระสวามีเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1274 ในฐานะพระราชินีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนฌานแห่งนาวาร์ พระราชธิดาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ การสมรสครั้งนี้ถูกจัดแจงขึ้นโดยพระนางมาร์การิดาแห่งพรอว็องส์ พระราชินีม่ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระมาตุจฉาของเอ็ดมันด์ที่ต้องการให้หลานชายได้สมรสกับหญิงผู้มั่งคั่ง ในปี ค.ศ. 1284 ฌานแห่งนาวาร์ พระราชธิดาของบล็องช์แห่งอาร์ตัวกับพระเจ้าเอนริเกที่ 3 ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟีลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส เอ็ดมันด์จึงกลายเป็นพระบิดาเลี้ยงของสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส การสมรสกับบล็องช์ทำให้เอ็ดมันด์ได้รับตำแหน่งเป็นเคานต์พาลาไทน์แห่งช็องปาญและบรี ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ


ในปี ค.ศ. 1277 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทำศึกกับเวลส์ เอ็ดมันด์ซึ่งเป็นผู้ครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในเวลส์ตอนใต้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพในเวลส์ตอนใต้ คอยให้ความช่วยเหลือกองกำลังหลักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด หลังออกเดินทางในวันที่ 10 กรกฎาคมได้ไม่นาน กองทัพของเอ็ดมันด์ทะลวงลึกเข้าไปในเวลส์และได้รับการต่อต้านน้อยเมื่อเทียบกับกองทัพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ผู้ครองที่ดินรายหลักๆ ในตอนใต้ยอมจำนนแต่โดยดี บางส่วนได้หนีไปเข้าร่วมกับลาเวลิน แอป กรึฟฟิด เจ้าชายแห่งกีเนดด์ซึ่งเป็นเจ้าชายพระมหากษัตริย์คนสุดท้ายของเวลส์ กองทัพของเอ็ดมันด์ไปถึงแอเบรัสทวิธในวันที่ 25 กรกฎาคมและเริ่มทำการก่อสร้างปราสาทในช่วงต้นเดือนสิงหาคม สงครามจบลงในเดือนกันยายน เอ็ดมันด์เลิกทัพในวันที่ 20 ทรงเดินทางกลับอังกฤษโดยทิ้งทหารกลุ่มเล็กๆ ไว้รักษาการณ์ปราสาท ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ทำให้เวลส์ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษในปี ค.ศ. 1283

บั้นปลายชีวิต[แก้]

ภาพวาดรูปแกะสลักหลุมศพของเอ็ดมันด์หลังกางเขนที่วิหารเวสต์มินสเตอร์

ในปี ค.ศ. 1294 เอ็ดมันด์ใช้สายสัมพันธ์ครอบครัวที่มีกับราชบัลลังก์ฝรั่งเศสเจรจาสันติภาพกับฝรั่งเศส โดยตกลงกันว่าจะสงบศึกในระยะยาวและพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด พระเชษฐาของพระองค์จะสมรสกับมาร์เกอรีต พระขนิษฐาของพระเจ้าฟีลิปที่ 4 เอ็ดมันด์ยอมสละเมืองใหญ่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือเมืองบอร์โดซ์ในกัสกอญ ด้วยเข้าใจว่าจะได้เมืองกลับมาเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสมรส แต่ฝรั่งเศสไม่คิดที่จะคืนกัสกอญให้ ในช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 1294 เอ็ดมันด์รู้ตัวว่าถูกหลอกเมื่อราชสำนักของพระเจ้าฟีลิปที่ 4 ประกาศริบกัสกอญมาจากกษัตริย์อังกฤษ เอ็ดมันด์เดินทางกลับอังกฤษพร้อมกับภรรยาและครอบครัว ขณะที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เตรียมกองทัพพร้อมทำศึก โดยสั่งรวมพลในวันที่ 1 กันยายน


ทว่าการก่อกบฏในเวลส์ทำให้การำศึกในกัสกอญถูกระงับไป เอ็ดมันด์ถูกสั่งให้นำทัพไปที่วูร์สเตอร์ ชาวเวลส์ถูกกำราบ ส่วนเอ็ดมันด์ก็หายจากโรคที่ติดเชื้อมาตอนช่วงปลายปี ค.ศ. 1295 สุดท้ายในปี ค.ศ. 1296 เอ็ดมันก์ถูกตั้งเป็นแม่ทัพแห่งกัสกอญและนำทัพล่องเรือสู่กัสกอญในเดือนมกราคมของปีนั้น พระองค์ได้นำกองทัพเข้าปิดล้อมเมืองบอร์โดซ์ เมืองหลวงของอากีแตนซึ่งอยู่ในการควบคุมของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสป้องกันเมืองได้เป็นอย่างดีทำให้อังกฤษไม่สามารถยึดบอร์โดซ์หรือเมืองใดๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนวแม่น้ำกาโรนกลับคืนมาได้ เมื่อเงินหมด เอ็ดมันด์ถูกบีบให้ถอยทัพไปบายอน พระองค์ล้มป่วยและสิ้นพระชนม์ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ 1296 ด้วยพระชนมายุ 51 พรรษาระหว่างที่ยังคงปิดล้อมบอร์โดซ์อยู่


เอ็ดมันด์ได้ประกาศไม่ให้ฝังร่างของพระองค์จนกว่าจะชำระแค้นได้ ร่างของพระองค์จึงถูกดองไว้ที่วิหารฟรันซิสกันในเมืองบายอน พระศพถูกนำกลับมาอังกฤษในช่วงต้นปี ค.ศ. 1297 โดยถูกนำไปเก็บรักษาที่คอนแวนต์คฟรันซิสกัน กระทั่งในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1301 ร่างของพระองค์ได้ถูกนำไปประกอบพิธีฝังที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ต่อหน้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ผู้เป็นพระเชษฐาในโบสถ์น้อยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ ใต้หลุมฝังศพอันวิจิตรงดงามที่ยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ข้างหลุมฝังศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ผู้เป็นพระเชษฐา


การสิ้นพระชนม์ของพระองค์สร้างความโศกเศร้าอย่างมากแก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ที่ได้เรียกคนของคริสตจักรมารวมตัวกันเพื่อสวดมนต์ให้แก่ "น้องชายเพียงคนเดียวผู้เป็นที่รักยิ่ง ผู้ที่ภักดีและซื่อสัตย์ต่อเราเสมอ ทั้งองอาจและมากด้วยฝีมือที่ฉายแสงแห่งความสง่างามออกมา"


อ้างอิง[แก้]