เรือหลวงสุโขทัย

พิกัด: 11°00′N 99°53′E / 11.000°N 99.883°E / 11.000; 99.883
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือหลวงสุโขทัย ใน พ.ศ. 2530
ประวัติ
ประเทศไทย
ชื่อเรือหลวงสุโขทัย
ตั้งชื่อตามอาณาจักรสุโขทัย
อู่เรือบริษัทต่อเรือทาโคมา ทาโคมา สหรัฐ
ปล่อยเรือ26 มีนาคม พ.ศ. 2527
เดินเรือแรก20 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
เข้าประจำการ19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
รหัสระบุ
สถานะอับปางจากพายุเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565
สัญลักษณ์
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือคอร์เวต
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 960 ตัน
ความยาว: 76.8 เมตร
ความกว้าง: 9.6 เมตร
กินน้ำลึก: 4.5 เมตร
ความเร็ว:
  • สูงสุด 24 นอต
  • ล่องเรือ 18 นอต
พิสัยเชื้อเพลิง: 3,568 ไมล์ทะเล ที่ความเร็วสูงสุด
อัตราเต็มที่: 87 นาย
ยุทโธปกรณ์:

เรือหลวงสุโขทัย (FS-442) (อังกฤษ: HTMS Sukhothai) เป็นเรือคอร์เวตชั้นรัตนโกสินทร์ของกองทัพเรือไทย โดยเป็นเรือลำที่ 2 ที่ชื่อเรือหลวงสุโขทัย[1] เรืออับปางเนื่องจากพายุเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เหตุเรือจมดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 24 นาย[2] ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ต่อกองทัพเรือเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเรือ การออกเรือท่ามกลางพายุ อุปกรณ์ชูชีพที่ไม่เพียงพอ การค้นหาและกู้ภัยที่ไม่ทันกาล และการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ไม่เหมาะสม

ประวัติ[แก้]

เรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือลำที่ 2 ในเรือคอร์เวตชั้นรัตนโกสินทร์ มีความยาวตลอดตัวเรือ 76.8 เมตร ความกว้าง 9.6 เมตร กินน้ำความลึก 4.5 เมตร ระวางขับน้ำปกติ 840 ตัน และระวางขับน้ำสูงสุด 960 ตัน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรใหญ่ดีเซล 2 เครื่อง ทำงานบนเพลาใบจักร 2 เพลา ทำความเร็วล่องเรือ 18 นอต และความเร็วสูงสุด 24 นอต[3] ซึ่งมีแผนการต่อเรือลำนี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526[4] และเริ่มต้นต่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 ณ บริษัทต่อเรือทาโคมา เมืองทาโคมา รัฐวอชิงตัน สหรัฐ ในชื่อโครงการว่า RTN 252 FT PSMM MK-16#446[5] โดยทำพิธีวางกระดูกงูเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527[6] และเข้าประจำการในกองทัพเรือเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ในหมวดเรือที่ 1 กองเรือฟรีเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ[5]

อาวุธยุทโธปกรณ์[แก้]

เรือหลวงสุโขทัยเป็น 1 ใน 5 ลำที่มีศักยภาพสูงที่สุดของกองทัพเรือ เนื่องจากมีความสามารถในการรบทั้ง 3 มิติ คือ สามารถต่อสู้ได้ทางอากาศ, บนผิวน้ำ และใต้น้ำ[7] เรือหลวงสุโขทัย ประกอบด้วยระบบอาวุธ

  • ขีปนาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นฮาร์พูน 2 แท่น แท่นละ 4
  • ท่อยิงขีปนาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศอัลบราทรอส
  • ท่อยิงตอร์ปิโด 6 ท่อยิง
  • ปืนใหญ่เรือ 76/62 จำนวน 1 กระบอก
  • ปืนใหญ่ลำกล้องคู่ขนาด 40 มม. 1 ระบบ
  • ปืนใหญ่เออร์ลิคอนขนาด 20 มม. จำนวน 2 ระบบ[8]

สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2565 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับเรือทั้งสิ้น 60 รายการ มูลค่ากว่า 40.76 ล้านบาท[9]

ภารกิจ[แก้]

เรือหลวงสุโขทัยในอ่าวไทยระหว่างการฝึกการัต 2013

เรือหลวงสุโขทัย เข้าประจำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530[5] เดิมเรือใช้หมายเลขประจำเรือคือหมายเลข 2 และต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข 442[4]

ใน พ.ศ. 2537 เรือหลวงสุโขทัย เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือไทยเข้าร่วมการฝึกกับประเทศออสเตรเลียในการฝึกประจำปี AUSTHAI 94

ใน พ.ศ. 2538 ได้ฝึกยิงขีปนาวุธพื้นสู่อากาศอาสปิเด ต่อเป้าหมายอากาศยานไร้คนขับในระหว่างการฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ หรือ “การัต” (CARAT 95) ร่วมกับกองทัพเรือจากสหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และบรูไน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรือได้ยิงขีปนาวุธนับตั้งแต่ได้จัดซื้อระบบอาวุธมาในปี พ.ศ. 2528[10]

เดือนมกราคม พ.ศ. 2546 เรือหลวงสุโขทัยได้เป็นหนึ่งในหมู่เรือเฉพาะกิจของปฏิบัติการโปเชนตงในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพื่อกดดันกัมพูชา[11]

จนถึง พ.ศ. 2565 สังกัดกองเรือปราบเรือดำน้ำ[12]

การอับปางจากพายุ[แก้]

เรือหลวงสุโขทัยอับปาง
เรือหลวงสุโขทัยตั้งอยู่ในประเทศไทย
เรือหลวงสุโขทัย
รายละเอียด
วันที่18 ธันวาคม พ.ศ. 2565
สถานที่อ่าวไทย ใกล้อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พิกัด11°00′N 99°32′E / 11.00°N 99.53°E / 11.00; 99.53
ประเทศไทย
เจ้าของกองทัพเรือ
จำนวน
ลูกเรือ105
เสียชีวิต29 (ยืนยัน 24 นาย สูญหาย 5 นาย)

เรือหลวงสุโขทัยอับปางหลังจากเกิดพายุในอ่าวไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565[13] ขณะกำลังเดินทางไปร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ศาลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร[14] ในช่วงที่เกิดเหตุ คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2–4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร[15] เรือดังกล่าวได้รับความพยายามช่วยเหลืออย่างหนักหลังจากระบบไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำล้มเหลวเนื่องจากน้ำท่วม ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดจากน้ำทะเลเข้าสู่ท่อไอเสียในทะเลลึก ซึ่งนำไปสู่การลัดวงจรในระบบไฟฟ้าของเรือ[16][17] นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี เป็นผู้บังคับการเรือในขณะเกิดเหตุ[18] เหตุเรือสุโขทัยล่มนับเป็นเรือรบในราชนาวีไทยลำแรกที่อับปางลงนับตั้งแต่เรือหลวงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2494[19]

บนเรือนั้นมีการเปิดเผยว่ามีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอต่อกำลังพลบนเรือ 105 นาย (ซึ่งมากกว่าอัตราเต็มที่)[15] และมีหลักฐานในแชตที่ออกมาว่า เรือหลวงสุโขทัยพยายามขอเข้าเทียบท่ากับท่าเรือประจวบ ซึ่งท่าเรืออนุญาตแล้ว แต่สุดท้ายเรือตัดสินใจเดินทางไปยังสัตหีบแทน[20] ขณะที่เรืออับปางนั้น เรือสุโขทัยมีอายุ 36 ปีแล้ว ซึ่งตามระเบียบและข้อกำหนดมีอายุใช้งาน 40 ปี[21] จากคำให้การของพยานที่บอกว่าเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 20 ธันวาคม มีคลื่นทะเลและน้ำเริ่มรั่วเข้าบริเวณพื้นห้องชั้นล่าสุด จึงนำปั๊มน้ำเข้ามาสูบน้ำออก จากนั้นเวลา 16.00 น. มีเสียงนายทหารตะโกนแจ้งว่าเกิดเหตุไฟไหม้บนเรือแต่ก็สามารถควบคุมไว้ได้ และเวลาประมาณ 19.00 น. น้ำที่ทะลักเข้าใต้ท้องเรือเริ่มท่วมชั้นล่างสูง ทำให้เพจไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม เว็บไซต์อิสระด้านกิจการทหาร วิเคราะห์ว่า น้ำเข้าจากบริเวณหน้าเรือ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ยาก แต่อาจเกิดจากการเข้าทางประตูกั้นน้ำและฝาฮัทช์ที่อาจปิดไม่ได้ หรือชำรุด รวมทั้งอาจมีความผิดปกติหรือรอยแตกของตัวเรือมากกว่าที่ทหารบนเรือทราบ[20] ขณะที่กองทัพเรือชี้แจงว่าเรือหลืองสุโขทัย เพิ่งซ่อมบำรุงไปเมื่อ 2 ปีก่อน และมีการใช้คอมพิวเตอร์สแกนหารอยแตกรอยทะลุทั้งลำแล้ว[22] ผู้บัญชาการทหารเรือยืนยันว่า ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานข้อเท็จจริง ความสูญเสียและความรับผิดตามกฎหมาย แต่บางเรื่องเป็นความลับราชการ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540[23]

มีเอกชนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเรือจึงไม่ขอความช่วยเหลือทางวิทยุฉุกเฉินซึ่งเป็นช่องทางสากล และไม่ขอความช่วยเหลือจากเรือ offshore ทั้งที่อยู่ห่างไปเพียง 20 ไมล์ทะเลหรือ 37.04 กิโลเมตร[24] ขณะที่มีกระแสข่าวว่าห้ามสละเรือ ก่อนที่เสนาธิการทหารเรือจะออกมายืนยันว่าไม่มีคำสั่ง[25] ต่อมากองทัพเรือยอมรับว่าขณะเกิดเหตุไม่มีต้นกลบนเรือ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเครื่องจักรและป้องกันความเสียหาย[26] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 มีการเปิดเผยเอกสารราชการที่ระบุว่าแผ่นเหล็กของเรือใต้แนวน้ำในจุดสำคัญ 13 จุดอาจบางกว่ามาตรฐานถึง 25% ส่วนกองทัพเรือออกมาแถลงอ้างว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ยังขาดข้อมูลการซ่อมทำของอู่[27]

มูลค่าความเสียหายของเรือคิดเป็น 5,000 ล้านบาท[28] ซึ่งกองทัพเรือเปิดเผยแผนกู้เรือในเดือนธันวาคม 2566 ว่าอาจช้วงเงินจำนวน 100 ล้านบาท[29] โดยในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566 กองทัพได้มีการกำหนดกรอบงบประมาณในการเก็บกู้เรือไปยังกระทรวงกลาโหมเป็นวงเงินจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างบริษัทเอกชนในการดำเนินการให้ได้สภาพเรือที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีการแยกหรือตัดชิ้นส่วนเรือในการเก็บกู้[30] เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงและพยายานหลักฐานถึงสาเหตุในการอัปปางต่อไป[31][30][32] โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 กองทัพเรือได้แถลงผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร[33]

ลำดับเหตุการณ์และผู้เสียชีวิต[แก้]

ลำดับเหตุการณ์เบื้องต้น[34][35]
เวลา เหตุการณ์
15:30 เรือสุโขทัยขอเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือประจวบฯ เนื่องจากคลื่นลมทะเลรุนแรง
17:16 น้ำทะเลเข้าเรือ
18:00 ทหารบนเรือแจ้งทางวิทยุว่า เครื่องยนต์มีปัญหา 1 เครื่อง เหลือใช้งานได้ 1 เครื่อง
18:17 เครื่องยนต์ดับ เครื่องไฟฟ้าดับ ระบบการสื่อสารล่ม
19:56 เรือเอียง 45 องศา
21:03 เรือเอียง 80 องศา
23.08 ปลดแพชูชีพ
23:46 เรือสุโขทัยจมทั้งลำ ที่ระดับความลึกราว 40 เมตร เขตพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากฝั่งไปประมาณ 19 ไมล์ทะเล (พิกัด 11°00′N 99°53′E / 11.000°N 99.883°E / 11.000; 99.883{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้) ลูกเรือทั้งหมดสละเรือ

ข้อมูลผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2565 จำนวน 24 นาย ประกอบด้วย[36]

  1. ว่าที่เรือเอก สามารถ แก้วผลึก
  2. พันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์
  3. พันจ่าเอก สมเกียรติ หมายชอบ
  4. พันจ่าเอก อำนาจ พิมที
  5. พันจ่าเอก คุณากร จริยศ
  6. จ่าเอก จักร์พงศ์ พูลผล
  7. จ่าเอก บุญเลิศ ทองทิพย์
  8. จ่าเอก ชูชัย เชิดชิด
  9. จ่าโท ธวัชชัย สาพิราช
  10. จ่าโท สหรัฐ อีสา
  11. จ่าตรี สถาพร สมเหนือ
  12. จ่าตรี นพณัฐ คำวงค์
  13. จ่าตรี ศุภกิจ ทิวาลัย
  14. จ่าตรี ศราวุธ นาดี
  15. จ่าตรี สิริธิติ งามทอง
  16. พลทหาร อัครเดช โพธิ์บัติ
  17. พลทหาร จิราวัฒน์ ธูปหอม
  18. พลทหาร สิทธิพงษ์ หงษ์ทอง
  19. พลทหาร วรพงษ์ บุญละคร
  20. พลทหาร ปรีชา รักษาภักดี
  21. พลทหาร จำลอง แสนแก
  22. พลทหาร ชลัส อ้อยทอง
  23. จ่าเอก ไพร ร่วมญาติ
  24. ว่าที่ นาวาตรี พลรัตน์ สิโรดม

การค้นหาและกู้ภัย[แก้]

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม โฆษกกองทัพเรือยืนยันว่าลูกเรือทุกคนปลอดภัย[37] แต่ ณ วันที่ 24 ธันวาคม กองทัพเรือกลับยืนยันว่ามีลูกเรือเสียชีวิตแล้ว 13 นาย[38]

กองทัพเรือ[แก้]

หลังจากเกิดเหตุ กองทัพเรือได้ส่งเรือรบ 3 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช, เรือหลวงกระบุรี, เรือหลวงอ่างทอง และอากาศยานของกองทัพเรือ 2 ลำ เพื่อช่วยเหลือลูกเรือ[39]

กองทัพอากาศ[แก้]

ในส่วนของกองทัพอากาศได้สนับสนุนอากาศยาน 1 ลำและเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำในการร่วมภารกิจช่วยเหลือของกองทัพเรือ[40]

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[แก้]

ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์จากกองบินตำรวจ ชุดกู้ภัยของกองบิน และกองร้อยกู้ชีพ กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ รวมถึงเรือตรวจการณ์ของตำรวจน้ำร่วมปฏิบัติภารกิจ[7]

กองทัพเรือต่างประเทศ[แก้]

มีกองทัพเรือมาเลเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอาสาให้ความช่วยเหลือในการกู้ภัย แต่กองทัพเรือไทยยังไม่ตอบรับ[41][42]

สันนิษฐานถึงแก่ความตาย[แก้]

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พล.อ. สิทธิพร มุสิกะสิน รองปลัดกระทรวงกลาโหม ทำการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 254/2566  เรื่อง สันนิษฐานว่าข้าราชการ กห. ถึงแก่ความตายเพราะสูญหายในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 43 และคำสั่ง กห.(เฉพาะ ที่ 281/60 ลง  27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เรื่อง มอบอำนาจให้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทน และสั่งการในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผนวก ก ข้อ 153 กับคำสั่ง สป.(เฉพาะ) ที่ 555/65 ลง 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เรื่อง มอบอำนาจหน้าที่ให้รองปลัดกระทรวงกลาโหมและหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงปฏิบัติราชการ ผนวก ง ข้อ 2.10[43]

ฉะนั้น จึงให้สันนิษฐานว่ากำลังพลกองทัพเรือ จำนวน 5 นาย ได้ถึงแก่ความตายเพราะสูญหาย ในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ ดังนี้[43]

  1. พันจ่าเอก จิราวัฒน์ เจริญศิลป์
  2. จ่าโท โสภณ วงษ์สนิท
  3. พลทหาร อับดุลอาชิส มะแอ
  4. พลทหาร ชัยชนะ ช่างวาด
  5. พลทหาร ทวีศักดิ์ แซ่เชียว

ข้อวิจารณ์[แก้]

กองทัพเรือถูกวิจารณ์อย่างมากในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มจากคำถามในการจัดซื้ออาวุธแบบใช้แล้วทิ้ง ขาดการบำรุงรักษา และละเลยชีวิตกำลังพล ส่วนการสื่อสารในภาวะวิกฤตก็ทำได้ไม่ดี จากคำกล่าว มีเสื้อชูชีพก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดชีวิต[44]

ล่าสุด ปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย ชุดปฏิบัติการของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ สามารถนำป้ายเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาจากทะเล เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณทะเลอ่าวไทย ในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[45]

ผลการสอบสวนกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง[แก้]

เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 กองทัพเรือ โดยพล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานการแถลงข่าว ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง[33] เกิดความเสียหายกับตัวเรือจำนวน 4 จุด ประกอบกับคลื่นลมแรง ทำให้น้ำเข้าสู่ห้อง Gun bay ปืน 76/62 และห้องกระซับบเชือก ซึ่งเป็นห้องที่อยู่เหนือแนวน้ำ และเหนือจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity , CG) เป็นเหตุให้เรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัว จนเรืออยู่ในสภาวะเอียงเกินกว่า 30 องศา เมื่อเรืออยู่ในสภาวะเอียงเกินกว่า 30 องศา น้ำทะเลก็สามารถเข้าภายในตัวเรือได้ทางช่องทางระบายอากาศ จนเรือสูญเสียกำลังลอย และจมลงในที่สุด[33] โดยสรุปผลการสอบสวนว่าการอับปางไม่ได้เกิดจากความจงใจของ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย และกำลังพลในเรือแต่เกิดจากสภาพอากาศมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทำให้เรือเกิดภาวะผิดปกติ และเกิดจากน้ำทะเลเข้ามาในตัวเรือจากรูทะลุเป็นเหตุที่ทำให้เรือเอียง และอับปาง[33] อย่างไรก็ตามเห็นว่าผู้บังคับการเรือตัดสินใจผิดพลาด คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ เสนอกองทัพเรือให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เต็มตามอำนาจการลงทัณฑ์ของผู้บัญชาการทหารเรือ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ลงทัณฑ์ “กัก” เป็นเวลา 15 วัน[33]

ทั้งนี้ ไม่อาจสรุปได้ว่าสิ่งใดทำให้เรือเกิดความเสียหาย เนื่องจากตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ไม่พบวัตถุตกอยู่บริเวณรอยแยก

ขณะที่รอยรั่วของเรือที่ยุบเข้าไป เกิดจากวัตถุภายนอกกระแทก ไม่ได้เกิดจากตะเข็บของเรือ ซึ่งเกิดจากการกระแทก แต่ไม่พบวัตถุตกอยู่เช่นกัน ยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว[33]

ลำดับเหตุการณ์ตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ[33][แก้]

เวลา เหตุการณ์
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565
17.30 เรือหลวงสุโขทัยออกเดินทางจากท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่หมายคือ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร
20.00 ถือเข็ม 200 ความเร็ว 15 นอต ขณะนั้นมีคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร
22.00 เปลี่ยนไปถือเข็ม 220
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565
02.00 เรือยังคงเดินเรือด้วยทิศทางเดิม เครื่องจักรใหญ่ข้ายเกิดการขัดข้อง ใช้งานเครื่องจักรใหญ่ขวาได้ จึงทำความเร็วได้เพียง 8 นอต (15 กม./ชม.) ขณะเดินทางคลื่นลมมีความแปรปวนตลอดเวลา คลื่นมีความสูงขึ้นเป็นลำดับ
04.00 คลื่นมาในทิศหัวเรือ มีความสูงประมาณ 4 ม.ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็วประมาณ 28 นอต
04.30 ได้ตรวจพบประตูทางเข้าบริเวณหัวเรือกราบข้ายเปิดอยู่ และสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดัง กำลังพลประจำเรือจึงได้ปิดประตูจนแนบสนิท ต่อมาในเวลาประมาณ 05.00 น.ประตูดังกล่าวเปิดและสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดังอีก เมื่อปิดแล้วไม่สามารถหมุนพวงมือล็อกประตูได้จึงใช้เชือกมัดไว้ไม่ให้เปิดออก
06.00 คลื่นสูงประมาณ 4 - 6 เมตร ไม่สามารถนำเรือจอดทอดสมอได้
06.30 เครื่องไฟฟ้าหมายเลข 3 หยุดการทำงาน แผนกช่างกลจึงเดินเครื่องไฟฟ้าหมายเลข 1 ทดแทน ทั้งนี้ในการเดินเรือปกติจะสลับเดินเครื่องไฟฟ้าครั้งละ 1 เครื่อง
07.00 ผู้บังคับการเรือตัดสินใจนำเรือกลับขั้นทางเหนือ ทิศทางสวนคลื่น สวนลม ต่อมาเกิดเสียงสัญญาณที่ห้องสะพานเดินเรือเตือนว่ามีน้ำท่วมห้องคลังลูกปืน 40 มม.
07.30 ติดต่อ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร ในการลำเลียงกำลังพลขึ้นฝั่ง แต่ได้รับแจ้งว่าเรือเล็กไม่สามารถออกมารับกำลังพลดังกล่าวได้เนื่องจากคลื่นลมแรง
08.00 เรือหลวงสุโขทัยตกลงใจเดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ระหว่างนั้นได้รับการประสานจากทัพเรือภาคที่ 1 ให้ส่งกำลังพลที่ร่วมเดินทางไปกับเรือจำนวน 30 นาย ขึ้นที่ท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
08.15 ตรวจพบน้ำนองบริเวณช่องทางเดินหน้าห้องศูนย์ยุทธการ ภายในห้องยุทธการ และห้องวิทยุ ความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร เกิดฟ้าช็อต หม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับประดับไฟเรือ
10.00 เกิดเหตุไฟไหม้จากเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) สำหรับคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมภายในห้องวิทยุ ต่อมาได้รับการประสานข้อมูลสภาพคลื่นลมบริเวณท่าเรือประจวบฯ ว่ามีคลื่นและลมรุนแรงมาก ไม่ปลอดภัยต่อการนำเรือเข้าเทียบหรือทอดสมอบริเวณท่าเรือ ทั้งนี้ มีเรือสินค้าของบริษัทที่มีแผนเข้าเทียบ ก็ไม่สามารถเข้าเทียบได้เช่นกัน
12.00 ห้องบรรจุลูกปืนมีน้ำไหลเข้ามา
12.45 อยู่ห่างจากท่าเรือประจวบฯ ประมาณ 15 ไมล์ ผู้บังคับการเรือตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ โดยทำความเร็ว 8 นอต ระยะท่าง 100 ไมล์
13.00 ตรวจพบน้ำไหลออกมาจากผนังใยแก้วตัวเรือกราบซ้าย ในห้องปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำสูงประมาณ 1 ฟุต โดยคลื่นยังคงรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ความสูง 4 - 6 ม.ลมกระโชกแรง ความเร็วลมมากกว่า 45 กม./ชม.
15.00 เกิดน้ำท่วมบริเวณหน้าห้องเครื่องไฟฟ้า 3
16.00 ผู้บังคับการเรือตัดสินใจหันเรือกลับท่าเรือประจวบฯ เรือเอียงประมาณ 30 องศา การควบคุมเรือเป็นไปด้วยความยากลำบาก
16.30 ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงได้ขึ้นมาปิดประตูผนึกน้ำด้านบนที่เป็นดาดฟ้าหลัก
16.45 ได้มีการสั่งการให้กำลังพลที่ร่วมมากับเรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานไปรวมตัวที่ห้องเมสจ่า และยังคงประสานขอรับการสนับสนุนเรือลากจูงมาลากเรือหลวงสุโขทัยกลับเข้าฝั่ง
17.00 เรือเอียงมากราบซ้ายมากขึ้น อ่านค่าได้จากเครื่องวัดความเอียงของเรือ เรือเอี่ยงอยู่ทีมุมระหว่าง 15 - 30 องศา
17.30 ให้กำลังพลทั้งหมดขึ้น มาบนดาดฟ้าทัศนะสัญญาณ
17.45 เรือเอียงมากขึ้น ประมาณ 50 - 60 องศา มีการใช้สัญญาณโคมไฟ ไม่บังคับทิศส่งสัญญาณ S O S ขอความช่วยเหลือ และมีสัญญาณไฟตอบรับ
18.10 ปิดประตูสะพานเดินเรือทางกราบขวา ได้สั่งการให้ตรวจสอบยอดกำลังพลด้วยวิธีนับตลอด ซึ่งนับกำลังพลได้ครบ 105 นาย ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้สั่งการให้เรือหลวงกระบุรีออกเรือจากท่าเรือประจวบฯ ไปช่วยเหลือเรือหลวงสุโขทัย
18.40 เรือหลวงสุโขทัยขอความช่วยเหลือเร่งด่วนไปยังศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ เรือเอียงประมาณ 60 องศา
20.00 เครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 Dornier จำนวน 1 เครื่อง ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ทราบตำบลที่ เรือหลวงสุโขทัย โดยเรือหลวงกระบุรีได้เข้าไปถึงเรือหลวงสุโขทัย
20.21 เรือเอียงมาทางกราบซ้ายมากกว่า 70 องศา ท้องเรือโผล่พ้นน้ำจนสามารถเห็นมองใบจักร เรือหลวงกระบุรีเข้าช่วยเหลือ
23.30 ท้ายเรือเริ่มจม
วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565
00.12 เรือหลวงสุโขทัยได้จมลงทั้งลำ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เรือหลวงสุโขทัย(ลำที่ 1) – Seafarer Library" (ภาษาอังกฤษ).
  2. ทร.ยืนยันกำลังพล เรือหลวงสุโขทัย เสียชีวิตรายที่ 24 คือ ต้นเรือพลับ
  3. Sudprasert, Prudtinan (2022-12-19). "รู้จัก เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงแห่งราชนาวี เด่นด้านการรบ 3 มิติ". ประชาชาติธุรกิจ.
  4. 4.0 4.1 Jane's (2002), p. 709.
  5. 5.0 5.1 5.2 "ประวัติ "เรือหลวงสุโขทัย" รับใช้ชาติยาวนาน 35 ปี ก่อนประสบเหตุอับปาง". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 2022-12-19.
  6. "เปิดประวัติ "เรือหลวงสุโขทัย" ก่อนอับปางกลางอ่าวไทย". mgronline.com. 2022-12-19.
  7. 7.0 7.1 "เรือหลวงสุโขทัย : ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียชี้โอกาสพบผู้รอดชีวิตจากเรือหลวงสุโขทัยมีริบหรี่". BBC News ไทย. 2022-12-20.
  8. "ผ่าสเปก "เรือหลวงสุโขทัย" กับคำถามทำไมอับปาง คลื่นลม-ระบบ ?". thansettakij. 2022-12-21.
  9. "ย้อนภารกิจซื้อจ้าง 6 ปี 'เรือหลวงสุโขทัย' ก่อนอับปาง". สำนักข่าวอิศรา. 21 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  10. Asia Pacific Defense Forum. Commander of the U.S. Pacific Command. 1995. p. 47.
  11. "ย้อนอดีต! ปฏิบัติการโปเชนตง เมื่อกองทัพไทย เปิดปฏิบัติการช่วยคนไทยจากกัมพูชา". ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม. 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2022-01-03.
  12. "เรือหลวงสุโขทัย : ค้นหาวันที่ 4 ยังไม่พบผู้สูญหายเพิ่ม". BBC News ไทย. 2022-12-19.
  13. "Thai Royal Navy Vessel HTMS Sukhothai Sinks". Atlas News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-12-18. สืบค้นเมื่อ 2022-12-18.
  14. "นาทีต่อนาที "เรือหลวงสุโขทัย" อับปางลงท้องทะเลอ่าวไทย". Thai PBS. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  15. 15.0 15.1 "เรือหลวงสุโขทัย : แผนค้นหาผู้สูญหายวันที่ 5 กับเงื่อนปมเหตุอับปาง". BBC News ไทย. 23 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  16. "Thai Royal Navy Corvette sank in Gulf of Siam". Fleetmon. สืบค้นเมื่อ 18 December 2022.
  17. https://cnn.com/cnn/2022/12/19/asia/thailand-warship-sinks-intl-hnk-ml/index.html[ลิงก์เสีย]
  18. พบร่างผู้เสียชีวิต 1 ราย จุด“เรือหลวงสุโขทัย”จม ส่งพิสูจน์อัตลักษณ์
  19. "เพจดังวิเคราะห์เบื้องต้นสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ตั้ง 10 ข้อสังเกตน่าสนใจ". ch7.com. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  20. 20.0 20.1 "เรือหลวงสุโขทัย : แผนค้นหาผู้สูญหายวันที่ 5 กับเงื่อนปมเหตุอับปาง". BBC News ไทย. 23 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  21. "4 วันหลัง 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง และความหวังในการค้นหาอีก 23 กำลังพลที่ยังคง 'สูญหาย'". THE STANDARD. 22 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  22. "ทร.เร่งค้นหาผู้สูญหาย 23 ราย เผย เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งซ่อมบำรุง 2 ปีก่อน". ประชาชาติธุรกิจ. 21 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  23. "คืบหน้า"เรือหลวงสุโขทัย"อับปาง พบผู้รอดชีวิตเพิ่ม 2 ราย ตาย 4 ราย". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  24. "ครบ 1 สัปดาห์ 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง พบผู้เสียชีวิต 18 นาย". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
  25. "เสนาธิการทหารเรือ ยันคำสั่งเรือห้ามจมไม่เป็นความจริง". อมรินทร์ทีวี. 22 December 2022. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
  26. "พบกางเกงลายพราง ติดหาด แจงต้นกลไม่ลงเรือสุโขทัย เป็นดุลพินิจผู้การ". ข่าวสด. 30 December 2022. สืบค้นเมื่อ 2 January 2023.
  27. "ทร.แจงปมเพจดังชี้แผ่นเหล็กซ่อม "เรือหลวงสุโขทัย" ไม่ผ่านมาตรฐาน 13 จุด". คมชัดลึกออนไลน์. 5 January 2023. สืบค้นเมื่อ 5 January 2023.
  28. "เพจดังวิเคราะห์! สาเหตุเบื้องต้น ทำเรือหลวงสุโขทัย จมลงนอกชายฝั่งบางสะพาน". ผู้จัดการ. 19 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  29. "เปิดงบ-แผนกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" 100 ล้านบาท ทร.ชี้จำเป็นต้องกู้ขึ้นบก". คมชัดลึกออนไลน์. 23 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  30. 30.0 30.1 "ทร.เคาะราคาเสนอกลาโหมกู้ 'เรือหลวงสุโขทัย' ได้สภาพสมบูรณ์ ไม่แตกหัก". คมชัดลึกออนไลน์. 2023-03-01.
  31. "กองทัพเรือ เคาะราคากลางชงกลาโหม 200 ล้าน เตรียมกู้เรือหลวงสุโขทัย". workpointTODAY.
  32. https://www.pptvhd36.com. "ทร.ชง กลาโหมไฟเขียวงบ 200 ล้านบาท กู้เรือหลวงสุโขทัย". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  33. 33.0 33.1 33.2 33.3 33.4 33.5 33.6 "อ่านฉบับเต็ม ทร.แถลง สาเหตุ "เรือหลวงสุโขทัย" อับปาง". Thai PBS.
  34. "ไทม์ไลน์ล่าสุด โศกนาฏกรรม คำสั่งสุดท้าย "เรือหลวงสุโขทัย"". ไทยรัฐ. 27 December 2022. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
  35. "ย้อนไทม์ไลน์ "เรือหลวงสุโขทัย" ก่อนอับปางกลางอ่าวไทย". ฐานเศรษฐกิจ. 20 December 2022. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
  36. "กองทัพเรือ ยืนยันผลพิสูจน์เอกลักษณ์เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง 'ต้นเรือพลับ' เป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 24". Workpoint Today. 12 January 2023. สืบค้นเมื่อ 12 January 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  37. ""เรือหลวงสุโขทัย" อับปางแล้ว ช่วงก่อนเที่ยงคืน - ลูกเรือทุกคนปลอดภัย". กรุงเทพธุรกิจ. 19 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  38. "ทร.สรุปยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง พบล่าสุด 13 นาย เหลือสูญหายอีก 9 นาย". ผู้จัดการ. 24 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  39. "แถลงการกรณีเรือหลวงสุโขทัยตัวเรือมีอาการเอียงจากคลื่นลมแรง". เพจทางการกองทัพเรือ Royal Thai Navy (ภาษาอังกฤษ).
  40. "กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ระดมเรือขนาดใหญ่ เครื่องบินลาดตระเวน และโดรน ปูพรมค้นหา 30 กำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัย". THE STANDARD. 2022-12-20.
  41. "ล่มเพราะอะไร? ทำไมช่วยชีวิตลูกเรือไว้ไม่ได้? สรุปเหตุ 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง". The MATTER. 21 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  42. ทัพเรือสหรัฐฯ, อังกฤษ, มาเลเซีย เสนอตัวที่จะช่วยเหลือ-ค้นหา ลูกเรือร.ล.สุโขทัยแต่ ทร.ไทย ขอบคุณ แจ้งไปว่า เราจะร้องขอ เมื่อมีความจำเป็น, วาสนา นาน่วม 20 ธันวาคม 2565
  43. 43.0 43.1 คำสั่งกลาโหม สันนิษฐาน 5 กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ถึงแก่ความตาย.pptvhd36.com. 28 กุมภาพันธ์ 2566. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566
  44. บำรุงสุข, สุรชาติ (21 December 2022). "สัญญาใจปฏิรูปกองทัพ | สุรชาติ บำรุงสุข". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  45. กู้ได้แล้ว ป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย ใช้เวลาถึง 2 วัน เผยสาเหตุ ทำไมต้องนำขึ้นมาเป็นสิ่งแรก

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]