เรซิเดนต์อีวิล (วิดีโอเกม พ.ศ. 2539)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรซิเดนต์อีวิล
ปกเกมภาษาอังกฤษ
ผู้พัฒนา
ผู้จัดจำหน่าย
แคปคอม
กำกับชินจิ มิคะมิ
อำนวยการผลิตโทะกุโระ ฟุจิวะระ
มะซะยุกิ อะกะโฮะริ
ออกแบบทะกะฮิโระ อะริมิสึ
อิซะโอะ โออิชิ
โปรแกรมเมอร์ยะสุฮิโระ อัมโพะ
เขียนบทเคะนิชิ อิวะโอะ
ยะสุยุกิ ซะกะ
แต่งเพลงมะโกะโตะ โทะโมะซะวะ
โคะอิชิ ฮิโระกิ[2][3]
มะซะมิ อุเอะดะ
ชุดเรซิเดนต์อีวิล
เครื่องเล่นเพลย์สเตชัน, ไมโครซอฟท์ วินโดวส์, เซก้า แซทเทิร์น, นินเทนโด ดีเอส
วางจำหน่าย
22 มีนาคม 1996
  • เพลย์สเตชัน
    • JP: March 22, 1996
    • NA: March 30, 1996
    • PAL: August 1, 1996
    Director's Cut
    • JP: September 25, 1997
    • NA: September 30, 1997
    • PAL: December 10, 1997
    Director's Cut Dual Shock Ver.
    • JP: August 6, 1998
    • NA: September 14, 1998
    ไมโครซอฟท์ วินโดวส์
    • JP: December 6, 1996
    • PAL: September 17, 1997
    • NA: September 30, 1997
    เซก้า แซทเทิร์น
    • JP: July 25, 1997
    • NA: August 31, 1997
    • PAL: October 1, 1997
    นินเทนโด ดีเอส
    • JP: January 19, 2006
    • NA: February 7, 2006
    • PAL: March 30, 2006
แนวสยองขวัญเอาชีวิตรอด
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว

เรสซิเดนต์อีวิล (อังกฤษ: Resident Evil) หรือในญี่ปุ่นชื่อ ไบโอ ฮาซาร์ด (ญี่ปุ่น: バイオハザードโรมาจิBaiohazādo)[a] เป็นวิดีโอเกมแนวสยองขวัญเอาชีวิตรอด พัฒนาและจำหน่ายโดยแคปคอมสำหรับเครื่องเล่นเพลย์สเตชัน ในปี ค.ศ. 1996 และเป็นเกมแรกในเกมชุดเรซิเดนต์อีวิล เนื้อเรื่องของเกมเล่าถึงคริส เรดฟิลด์ และจิล วาเลนไทน์ สมาชิกหน่วย S.T.A.R.S. ขณะพวกเขากำลังสอบสวนชานเมืองแร็กคูนซิตี หลังสมาชิกในทีมหลายคนหายตัวไป พวกเขาติดอยู่ในคฤหาสน์แห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยซอมบีและสัตว์ประหลาดตัวอื่น ๆ ตอนเริ่มเกม ผู้เล่นเลือกได้ว่าจะเล่นเป็นคริสหรือจิล และต้องสำรวจคฤหาสน์เพื่อไขความลับต่าง ๆ

โทะกุโระ ฟุจิวะระ ตั้งใจทำเป็นเกมรีเมกของเกมสวีตโฮม (1989) ต่อมาทีมพัฒนาเกมเรซิเดนต์อีวิลนำโดยชินจิ มิคะมิ ระบบเกมเป็นเกมแอ็กชันมุมมองบุคคลที่สาม เสริมด้วยการจัดการสิ่งของ การสำรวจ และการแก้ปริศนา เรสซิเดนต์อีวิลสร้างข้อตกลงซึ่งต่อมาพบได้ในเกมหลัง ๆ เช่น การควบคุม ระบบคลังสิ่งของ ระบบบันทึกเกม และการใช้โมเดลสามมิติซ้อนในฉากหลังแบบพรีเรนเดอร์

เรสซิเดนต์อีวิล ได้รับการตอบรับที่ดีมากทั้งคำวิจารณ์และยอดขาย และเป็นเกมที่กำหนดแนวเกมสยองขวัญเอาชีวิตรอด ความสำเร็จนำไปสู่แฟรนไชส์สื่อ ประกอบด้วยวิดีโอเกม ภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน นวนิยาย และสินค้าอื่น ๆ เกมถูกทำลงเครื่องเซก้า แซทเทิร์น ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ และนินเทนโด ดีเอส ในปี ค.ศ. 2002 เกมรีเมกในชื่อเดียวกันออกจำหน่ายบนเครื่องเกมคิวบ์ แสดงให้เห็นกราฟิก เสียง ระบบเกมและเนื้อเรื่องที่ปรับปรุงใหม่ ต่อมาเกมเวอร์ชันเกมคิวบ์ถูกมาสเตอร์ระดับคุณภาพสูงอีกครั้ง ออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 2015 ในเครื่องเล่นใหม่ ภาคต่อโดยตรงของเกมในชื่อ เรซิเดนต์อีวิล 2 จำหน่ายในปี ค.ศ. 1998 และภาคเล่าย้อนในชื่อ เรซิเดนต์อีวิล ซีโร่ จำหน่ายในปี ค.ศ. 2002

ระบบเกม[แก้]

ตัวละครของผู้เล่นเป็นสมาชิกหน่วยพิเศษคนหนึ่งที่ติดอยู่ในคฤหาสน์ที่มีสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์อาศัยอยู่ จุดประสงค์ของเกมคือเปิดโปงปริศนาของคฤหาสน์และหนีรอดให้ได้ กราฟิกในเกมประกอบด้วยตัวละครและวัตถุหลายเหลี่ยมสามมิติเรียลไทม์ ซ้อนอยู่บนฉากหลังแบบพรีเรนเดอร์ และมุมกล้องตั้งนิ่ง ผู้เล่นควบคุมตัวละครโดยกดปุ่มที่แผงดีแพด หรือก้านอะนาล็อกไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อหมุนตัวละคร และเคลื่อนไหวตัวละครไปข้างหน้าหรือข้างหลังโดยกดปุ่มขึ้นลงที่แผงดีแพด

ในการบรรลุเป้าหมาย ตัวละครต้องหาเอกสารหลายฉบับที่ชี้แจงรายละเอียดในเกม รวมถึงเบาะแสที่ช่วยแก้ปริศนาต่าง ๆ ในคฤหาสน์ สิ่งของสำคัญเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ผู้เล่นเข้าห้องใหม่หรือสิ่งของใหม่ ๆ ได้ ผู้เล่นมีอาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรู แต่กระสุนปืนมีจำกัด และผู้เล่นต้องเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น ในการเติมพลังตัวละคร ผู้เล่นต้องใช้สเปรย์ปฐมพยาบาล หรือสมุนไพรสามชนิดที่สามารถผสมกันจนได้ผลการรักษาที่ต่างกัน ช่องเก็บสิ่งของของผู้เล่นมีจำกัดขึ้นกับตัวละครที่ผู้เล่นเลือกเล่น และสิ่งของที่ผู้เล่นไม่ต้องการถือไว้สามารถเก็บไว้ในกล่องเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในภายหลังได้ ในการบันทึกเกม ผู้เล่นต้องเก็บแถบผ้าหมึก และใช้กับเครื่องพิมพ์ดีดที่มีกระจายทั่วตำแหน่งในเกม อย่างไรก็ตาม แถบผ้าหมึกที่ผู้เล่นเก็บได้ก็มีจำกัด เช่นเดียวกับกระสุนปืนและยา ผู้เล่นจะได้เผชิญหน้าและต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตที่ติดเชื้อ เช่น ซอมบีกินเนื้อ สุนัขที่ตายแล้วฟื้น แมงมุมยักษ์ และสัตว์ประหลาดชนิดอื่น ๆ

โครงเรื่อง[แก้]

ฉากท้องเรื่อง[แก้]

เกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องในชานเมืองแร็กคูนซิตี โดยมีร่องรอยของมนุษย์กินคนบนซากศพเหยื่อ หน่วยช่วยชีวิตและยุทธวิธีพิเศษ (S.T.A.R.S.) ของสถานีตำรวจแร็กคูนซิตีได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคดีฆาตกรรม หน่วย S.T.A.R.S. แบ่งออกเป็นสองหน่วยย่อยคือ อัลฟา และบราโว หน่วยบราโวถูกส่งออกไปก่อน แต่การติดต่อขาดหายไป หน่วยอัลฟาจึงถูกส่งไปตามหาหน่วยบราโว

ตัวละคร[แก้]

ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะเล่นเป็นคริส เรดฟิลด์ และจิล วาเลนไทน์ สมาชิกหน่วยอัลฟา แต่ละคนมีความสามารถเอกลักษณ์แตกต่างกัน จิลมีอาวุธปืนมากกว่า และมีกุญแจผีที่ทำให้เข้าถึงห้องและเก็บสิ่งของได้ง่าย และช่องเก็บสิ่งของได้ถึงแปดอย่าง ขณะที่คริสมีอาวุธปืนจำกัด แต่แข็งแกร่งกว่า และมีช่องเก็บของเล็กกว่า เก็บของได้หกอย่าง

ตัวละครสนับสนุนในเกมได้แก่ แบร์รี เบอร์ตัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธของหน่วยอัลฟาที่คอยหาอาวุธปืนและกระสุนให้จิล รวมไปถึงการช่วยปราบศัตรูบางชนิดที่ตัวละครหลักไม่สามารถกำจัดได้ด้วยตัวเองอีกด้วย รีเบ็กกา แชมเบอส์ สมาชิกหน่วยบราโวที่รอดชีวิต คอยช่วยเหลือคริสเรื่องยา อัลเบิร์ต เวสเกอร์ กัปตันของหน่วย S.T.A.R.S. และหัวหน้าหน่วยอัลฟา และแบรด วิกเกอส์ กัปตันเฮลิคอปเตอร์ที่ส่งสัญญาณช่วยเหลือ

สมาชิกหน่วย S.T.A.R.S. คนอื่น ๆ ได้แก่ โจเซฟ ฟรอสต์ สมาชิกคนที่หกของหน่วยอัลฟาที่ตายกะทันหัน เอ็นริโก มารินี หัวหน้าหน่วยบราโวที่ทำให้ผู้เล่นพบจุดหักมุมมากที่สุด ริชาร์ด ไอเคน ผู้มอบวิทยุสื่อสารให้ผู้เล่น เคนเนท เจ. ซัลลิแวน สมาชิกหน่วยบราโวถูกฆ่าหลังหน่วยอัลฟามาถึง และฟอเรสต์ สเปเยอร์ ศพถูกพบที่ระเบียง

เนื้อเรื่อง[แก้]

เหตุการณ์ในเกมเริ่มต้นในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 หน่วยอัลฟาพบพิกัดของเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยบราโว แต่ไม่พบผู้รอดชีวิต พบเพียงมือข้างหนึ่งที่เสียหาย ขณะตรวจบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อหาเบาะแส หน่วยอัลฟาถูกฝูงสุนัขปีศาจจู่โจม มีสุนัขตัวหนึ่งฆ่าโจเซฟ ฟรอสต์ หนึ่งในหน่วยอัลฟาจนเสียชีวิต กัปตันเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยอัลฟาชื่อ แบรด ตื่นตระหนกและบินหนีไปคนเดียว หน่วยอัลฟาที่เหลือถูกสุนัขปีศาจตามล่า และจำเป็นต้องหาที่หลบภัยในคฤหาสน์หลังหนึ่ง เชื่อกันว่าถูกทิ้งร้างไว้

เนื่องจากยังมีสุนัขวนเวียนอยู่ข้างนอก หน่วยอัลฟาที่เหลือสี่คน (เวสเกอร์ คริส จิล และแบร์รี่) ติดอยู่ในคฤหาสน์ ตัวละครที่ผู้เล่นเลือกจะะส่งผลให้ตัวละครคนหนึ่งไม่ได้เข้ามาอยู่ในคฤหาสน์ (แบร์รี่ไม่ได้เข้ามาถ้าเลือกเล่นคริส คริสไม่ได้เข้ามาถ้าเลือกเล่นจิล) มีเสียงยิงปืนดังขึ้น ผู้เล่นแยกย้ายไปตรวจสอบ ณ จุดนี้ ผู้เล่นจะได้ควบคุมตัวละครและเริ่มสำรวจคฤหาสน์ สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือศพสมาชิกหน่วยบราโวชื่อ เคนเนท เจ. ซัลลิแวน ถูกซอมบี้กินจนตาย ขณะกำลังค้นหาในคฤหาสน์ ตัวละครพบหน่วยบราโวอีกหลายคน เช่น ริชาร์ด ไอเคน ถูกงูพิษกัดปางตายและเสียชีวิตในที่สุด และมอบวิทยุให้ผู้เล่นก่อนเขาสิ้นลม ฟอเรสต์ สเปเยอร์ พบเป็นศพที่ระเบียง (ในเกมเวอร์ชันหลัง ศพนี้ฟื้นขึ้นมาเป็นซอมบี้ด้วย) และเอ็นริโก มารินี กัปตันหน่วยบราโว ผู้เปิดเผยว่าหนึ่งในหน่วยอัลฟาเป็นผู้ทรยศก่อนถูกมือสังหารปริศนายิงจนตาย

ในที่สุดตัวละครพบว่าคฤหาสน์มีปริศนา กับดัก และเรื่องสยองขวัญมากมาย เอกสารที่กระจายทั่วไปแนะว่ามีการทดลองที่ผิดกฎหมายกระทำโดยทีมวิจัยลับ ภายใต้อำนาจและการดูแลของบริษัทชีวการแพทย์ อัมเบรลลาคอร์เปอเรชัน สิ่งมีชีวิตที่วนเวียนอยู่ในคฤหาสน์และรอบ ๆ คือผลจากการทดลองนี้ ซึ่งทำให้บุคลากรในคฤหาสน์ สัตว์และแมลงต่าง ๆ โดนสารกลายพันธุ์ที่เรียกว่า ที-ไวรัส

หลังจากตรวจตราในอาคารหลาย ๆ หลัง ทางเดินต่าง ๆ และอุโมงค์ใต้ดิน ผู้เล่นพบห้องปฏิบัติการลับใต้ดินที่มีการทดลองของอัมเบรลลาคอร์เปอเรชัน ในห้องทดลอง ผู้เล่นเรียนรู้ว่าเวสเกอร์คือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้อัมเบรลลา เวสเกอร์ถูกสิ่งมีชีวิตในห้องทดลองฆ่าจนดูเหมือนตาย ผู้เล่นพบตัวละครอีกตัวที่ผู้เล่นเล่นได้ถูกเวสเกอร์ขังอยู่ในห้องขัง และช่วยพาเขาออกโดยเปิดระบบระเบิดตัวเอง ผู้เล่น (และตัวละครหน่วย S.T.A.R.S. ที่รอดชีวิตอีกสองคน ถ้าผู้เล่นช่วยชีวิตไว้ได้ทัน) มุ่งหน้าไปที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ผู้เล่นมาถึงลานจอดและสามารถติดต่อแบรดได้ และพบกับผู้รอดชีวิตอีกสองคน แต่ถูกไทแรนต์ สัตว์ประหลาดเหมือนคนที่เกิดหลังโดนสารทีไวรัสนานเกินไป เข้าจู่โจม หลังจากต่อสู้ไทแรนต์จนชนะ หน่วย S.T.A.R.S. ที่รอดชีวิตขึ้นเฮลิคอปเตอร์และหนีไปได้

ฉากจบ[แก้]

ตัวละครแต่ละตัวมีฉากจบสี่แบบ ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นช่วยชีวิตหน่วย S.T.A.R.S. อีกสองคนได้หรือไม่ ตัวละครที่ไม่ถูกเลือกจะถูกขังเดี่ยวในห้องปฏิบัติการลับใต้ดิน ในการเข้าถึงห้องขัง ผู้เล่นต้องเก็บแผ่นดิสก์ MO ที่อยู่ในคฤหาสน์ และใช้ถอดรหัสเพื่อปลดล็อกประตู ฉากจบที่ดีที่สุด ผู้เล่นจะต้องช่วยตัวเอกอีกคนหนึ่งนอกจากคู่หูด้วย

  • ฉากจบที่ดีที่สุด คริสและจิลหนีออกจากคฤหาสน์ร่วมกับสมาชิก S.T.A.R.S. คนที่สาม (รีเบ็กกาหรือแบร์รี ขึ้นกับตัวละครที่ผู้เล่นเลือก) หลังจากชนะไทแรนต์และทำลายคฤหาสน์แล้ว
  • ฉากจบที่ดีที่สุดอันดับที่สอง ตัวละครผู้เล่น (คริสหรือจิล) หนีออกจากคฤหาสน์กับคู่หูของตน (รีเบ็กกาหรือแบร์รี) หลังจากชนะไทแรนต์และทำลายคฤหาสน์แล้ว
  • ฉากจบที่แย่ที่สุดอันดับที่สอง คริสและจิลหนีออกจากคฤหาสน์ได้เพียงสองคน คฤหาสน์ไม่ถูกทำลาย และไทแรนต์ถูกปล่อยไปในป่า
  • ฉากจบที่แย่ที่สุด ตัวละครผู้เล่นรอดเพียงคนเดียว คฤหาสน์ไม่ถูกทำลาย และไทแรนต์ถูกปล่อยไปในป่า

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ญี่ปุ่น: バイオハザードโรมาจิBaio Hazādo; Bio Hazard เกมภาคแรกสะกดชื่อแยกเป็นสองคำว่า ไบโอ ฮาซาร์ด ไม่เหมือนกับภาคต่อที่สะกดติดกันเป็นคำเดียว

อ้างอิง[แก้]

  1. "Products". เนกซ์เอนเตอร์เทนเมนต์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-15. สืบค้นเมื่อ November 14, 2010.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  2. "VGMdb Forums - View Single Post - TYCY-5511: BIO HAZARD SOUND TRACK REMIX". Vgmdb.net. 2011-11-14. สืบค้นเมื่อ 2013-11-14.
  3. "VGMdb Forums - View Single Post - TYCY-5511: BIO HAZARD SOUND TRACK REMIX". Vgmdb.net. 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2013-11-14.