เพกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพกา
ภาพวาด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Lamiales
วงศ์: Bignoniaceae
สกุล: Oroxylum
สปีชีส์: O.  indicum
ชื่อทวินาม
Oroxylum indicum
(L.) Benth. ex Kurz[1] or Vent.[2]

เพกา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Oroxylum indicum) เป็นพืชในวงศ์แคหางค่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ดังนี้: ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ ดุแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เบโด (มาเลเซีย-นราธิวาส) มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ (เหนือ) ลิ้นฟ้า หมากลิ้นฟ้า บ่าลิ้นไม้ (เลย) เพกาเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย โดยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป

แม้เพกาจะขึ้นอยู่ในหลายประเทศ แต่ดูเหมือนจะมีแต่ชาวไทยเท่านั้นที่นำเพกามากินเป็นผัก เพกาเป็นผักที่อยู่ในหมวดดอกฝัก

ลักษณะพืชทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ใบ ใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้นปลายคี่ ใบย่อยเรียงตัวตรงข้าม เส้นใบแบบตาข่าย โดยสีของผิวใบด้านบนเข้มกว่าผิวใบด้านล่าง

ดอก ดอกช่อแบบกระจะ ก้านช่อดอกยาว สมบูรณ์เพศ สมมาตรด้านข้างกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยติดคงทนจนเป็นผล กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแยกเป็นรูปปากเปิด ส่วนที่อยู่บนมี 2 กลีบ เนื้อกลีบพับย่น สีแดงเลือดหมู เกสรเพศผู้มี 5 อัน โดยมี 1 อันเป็นหมันซึ่งก้านชูอับเรณูจะสั้น ส่วนอีก 4 อัน เป็นแบบ 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน ติดบนหลอดกลีบดอกด้านใน อับเรณูติดกับก้านชูอับเรณูแบบถ่าง เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ กานเรียงพลาเซนตาเป็นแบบพลาเซนตารอบแกนร่วม

ผล เป็นฝักแบนขนาดใหญ่ รูปดาบ ปลายฝักแหลม ตรงกลางขอบมีรอยโป่งเล็กน้อย คล้ายฝักหางนกยูงฝรั่ง มักออกห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอด เมื่อฝักแก่ รอบข้างของฝักจะปริแตก ปล่อยเมล็ดที่อยู่ข้างในฝักจำนวนมากมาย ล่องลอยไปตามลม

เมล็ด ลักษณะแบนสีน้ำตาลอ่อน ทั้งสองด้านมีเยื่อบางใส สีขาว โปร่งแสงคล้ายปีก ช่วยให้ล่องลอยไปตามกระแสลมได้ไกล ๆ เกิดการแพร่พันธุ์ไปทั่วทุกบริเวณโดยรอบ

ฝัก

ส่วนที่รับประทานเป็นผัก[แก้]

ยอดและดอกอ่อนสีเหลืองอ่อนเกสรแดงนั้น มีรสขมอ่อนๆ คล้ายใบยอ นำมาลวก ต้ม หรือเคี่ยวหัวกะทิข้นๆ ราดไปบนยอดดอกอ่อน ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาผัดใส่กุ้งก็อร่อย นำมายำใส่กระเทียมเจียวก็มีรสชาติเยี่ยม

ฝักอ่อน ที่อายุไม่เกิน 1 เดือน ขนาดไม่ใหญ่มากนัก ต้องใช้เล็บมือจิกลงไปได้ จิ้มกินกับน้ำพริก นำฝักอ่อนที่ได้มาเผาไฟแรงๆ จนเปลือกพองไหม้ทั่ว ขูดลอกเอาส่วนดำที่ผิวออกให้หมด จะได้ส่วนในที่มีกลิ่นหอม หั่นเป็นชิ้นตามขวางหนา นำมาปรุงเป็นอาหารทั้งนำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก เป็นเครื่องเคียงลาบ ก้อย ใช้ทอดกินกับไข่ ใส่แกง คั่ว ยำ ผัดกับหมู หรือทำแกงอ่อมปลาดุกใส่ฝักเพกาแทนใบยอ

ชาวกะเหรี่ยงนำเปลือกต้น สับให้ละเอียดใส่ลาบ ทำให้มีรสขม [3]

คุณค่าทางโภชนาการ[แก้]

ในยอดอ่อน 100 กรัม พบว่าให้พลังงาน 101 กิโลแคลอรี โปรตีน 6.4 กรัม ไขมัน 2.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13.0 กรัม วิตามินบี1 0.18 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.69 มิลลิกรัมและวิตามินบี3 2.4 มิลลิกรัม นอกนั้นเป็นเถ้าและน้ำ

ฝักอ่อนเพกา100 กรัม มีวิตามินซีสูงมาก ถึง484 มิลลิกรัม วิตามินเอ 8.3 กรัม มีประโยชน์ช่วยป้องกันมิให้เซลล์ร่างกายแก่เร็วเกินไป ปกป้องอนุมูลอิสระมิให้เกิดขึ้นในร่างกาย อันเป็นผลทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ หากรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินอีสูง ๆ เช่น รำข้าวในข้าวกล้อง ช่วยเสริมฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย

การใช้ประโยชน์[แก้]

ชาวกะเหรียงใช้เปลือกต้นย้อมผ้าให้สีเขียว[3]สรรพคุณตามตำรายาไทย พบว่ามีการใช้เพกาตั้งแต่เปลือกต้น ราก ฝัก ใบ และเมล็ด จัดเป็น "เพกาทั้ง 5" ใช้รากเป็นยาบำรุงธาตุ แก้บิด ท้องร่วง เมล็ดเป็นยาระบาย

เปลือกต้น มีรสฝาด เย็น ขมเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ขับลมในลำไส้ แก้โรคบิด ท้องร่วง บำรุงโลหิต ขับน้ำเหลืองเสีย บางแห่ง ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอาเปลือกต้นมาต้มน้ำให้แม่ลูกอ่อนดื่ม ช่วยขับน้ำคาวปลา ให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ดับพิษโลหิต และบำรุงโลหิต การใช้รักษาฝี – นำเปลือกต้นฝนทารอบ ๆ บริเวณฝี ช่วยลดความปวดฝีได้ การใช้รักษาอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ - นำเปลือกต้นฝนกับน้ำปูนใสทาลดอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ

ราก มีรสฝาดขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ เรียกน้ำย่อย เจริญอาหาร รักษาโรคท้องร่วง บิด หากนำมาฝนกับน้ำปูนใสทาแผลที่อักเสบ ฟกช้ำ บวม จะช่วยให้หายไปในระยะเวลาอันสั้น

ฝักอ่อน นิยมรับประทานเป็นผัก ช่วยบำรุงธาตุ ขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น

ใบ ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ขับลม บรรเทาอาการปวดไข้ และยังช่วยให้เจริญอาหาร

เมล็ด สามารถใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ

ยาพอกแก้โรคฝี เอา เปลือกเพกา ฝนกับน้ำสะอาด ผสมกับเมล็ดต้อยติ่ง ทาหรือพอก ดับพิษฝี

แก้โรคงูสวัด ใช้รากต้นหมูหมุน (พืชตระกูลสาวน้อยปะแป้ง) เปลือกคูณ เปลือกต้นเพกา ฝนใส่น้ำทา

ยาพอกแก้โรคฝี เอาเมล็ดต้อยติ่ง ผสมกับน้ำเปลือกเพกา ฝนทา หรือพอกดับพิษฝี

ยาแก้พิษหมาบ้ากัด เอาใบกระทุ้งหมาบ้า ลนไฟปิดปากแผล หรือเอาเปลือกเพกา ตำพอกแผล

ยาแก้ลูกอัณฑะลง (ไส้เลื่อน) ใช้รากเขยตาย เปลือกเพกา หญ้าตีนนก ทั้งหมดตำให้ละเอียด ละลายน้ำข้าวเช็ด ใช้ขนไก่ชุบพาด ทาลูกอัณฑะ ทาขึ้น (อย่าทาลง)

ยาแก้เบาหวาน ใช้ใบไข่เน่า เปลือกต้นไข่เน่า ใบเลี่ยน รากหญ้าคา บอระเพ็ด แก่นลั่นทม เปลือกเพกา รวม 7 อย่าง หนักอย่างละ 2 บาท มาต้มรับประทานครั้งละ 1 แก้วกาแฟ ก่อนอาหาร เช้า - เย็น

สรรพคุณทางวิทยาศาสตร์การแพทย์[แก้]

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า สารสกัดฟลาโวนอยด์ที่ได้จากเปลือกต้นเพกา มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ การแพ้ (anti-inflammatory and anti-allergic) ทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหนูตะเภาในหลอดทดลอง สารลาพาคอล(lapacol) ที่สกัดได้จากรากเพกา มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์5-ไลพอกซีจีเนส (5-lipoxygenase) ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้การรับประทานฝักเพกาหรือยอดอ่อนยังสามารถช่วยลดคอเรสเตอรอลในกระแสเลือดได้ ในงานสาธารณสุขมูลฐาน เมล็ดเพกาเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่กำหนดเพื่อใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ โดยนำเมล็ดแก่ ประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5-3.0 กรัม) ใส่ในหม้อ เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร ต้มไฟอ่อน ๆ พอเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง จนอาการไอดีขึ้น ซึ่งเมล็ดเพกาในภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า "โชยเตียจั้ว" หรือ "บักหู่เตี้ยบ" (อักษรจีน: 木蝴蝶; กระดาษบางนับพัน, ผีเสื้อไม้) ใช้เป็นส่วนผสมในจับเลี้ยง โดยใช้เมล็ดที่แห้งแล้วจะมีความบางเหมือนกระดาษสีขาวเหมือนปีกผีเสื้อ[4]

การขยายพันธุ์[แก้]

  • เพาะเมล็ด
  • การเพาะชำ

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2010-01-10.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2010-01-10.
  3. 3.0 3.1 ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า ดูฉบับเต็ม เก็บถาวร 2021-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. "โชยเตียจั้ว หรือที่ไทยเราเรียกว่า ใบเพกา". เจี้ยนคัง ร้านขายยาจีนและไทย Jian Kang Chinese & Thai Herbal Products. 2014-10-10.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Oroxylum indicum ที่วิกิสปีชีส์