เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ (ค.ศ. 1796–1817)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าหญิงชาร์ลอตต์
พระสาทิสลักษณ์ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ วาดโดยจอร์จ ดาวี ใน ค.ศ. 1817
ประสูติ7 มกราคม ค.ศ. 1796(1796-01-07)
เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ
สิ้นพระชนม์6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1817(1817-11-06) (21 ปี)
เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ
ฝังพระศพ19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1817
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ ประเทศอังกฤษ
พระสวามีเจ้าชายเลออปอลแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์
พระนามเต็ม
ชาร์ลอตต์ ออกัสตา
ราชวงศ์
  • ฮันโนเฟอร์ (โดยประสูติ)
  • ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์ (อภิเษกสมรส)
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร
พระมารดาคาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
ลายพระอภิไธย

เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ออกัสตาแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Princess Charlotte Augusta of Wales; 7 มกราคม ค.ศ. 1796 – 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1817) ทรงเป็นพระราชธิดาและบุตรพระองค์เดียวในเจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ (ต่อมาคือ พระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร) กับเจ้าหญิงคาโรลีนแห่งเบราน์ชไวก์ หากว่าเจ้าหญิงทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวกว่าพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร พระอัยกาและเจ้าชายจอร์จ พระราชบิดา พระนางอาจได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ แต่พระนางสิ้นพระชนม์เสียก่อนด้วยพระชันษา 21 ปี

พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่ชอบพอกันตั้งแต่ก่อนการอภิเษกสมรสและแยกกันประทับในเวลาต่อมา เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์อยู่ภายใต้การอภิบาลของพระอภิบาลและข้าบริพาร และทรงได้รับอนุญาตให้ติดต่อเจ้าหญิงแห่งเวลส์อย่างจำกัด ผู้เสด็จออกจากประเทศ เมื่อเจ้าหญิงทรงเจริญพระชันษา พระราชบิดาของเจ้าหญิงทรงกดดันให้พระนางเสกสมรสกับวิลเลิม เจ้าชายรัชทายาทแห่งออเรนจ์ (ต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์) ทีแรกเจ้าหญิงทรงตอบรับการสู่ขอจากเจ้าชาย แต่ต่อมา พระนางทรงยกเลิกการหมั้นนี้ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหญิงกับพระราชบิดา และที่สุดเจ้าชายแห่งเวลส์ทรงอนุญาตให้เจ้าหญิงเสกสมรสกับเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ (ต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม) หลังทรงมีชีวิตสมรสที่มีความสุขเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง เจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์หลังพระประสูติการพระโอรสตายคลอด

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทำให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจในหมู่ชาวอังกฤษเป็นจำนวนมากซึ่งได้มีการไว้ทุกข์อย่างแพร่หลาย โดยชาวอังกฤษมองพระนางในฐานะสัญลักษณ์แห่งความหวังและต่อต้านพระราชบิดาซึ่งไม่เป็นที่นิยมและพระอัยกาผู้วิปลาส เนื่องจากเจ้าหญิงทรงเป็นพระราชนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าจอร์จที่ 3 การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงสร้างแรงกดดันให้พระโอรสของพระมหากษัตริย์ที่ยังโสดต้องเร่งแสวงพระชายา เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรธเอิร์น พระราชโอรสองค์ที่สี่ในพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงมีรัชทายาทในที่สุด คือ เจ้าหญิงอเล็กซานดรินา วิกตอเรียแห่งเคนต์ ผู้ประสูติหลังเจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว 18 เดือน

ภูมิหลัง[แก้]

เจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ในปีค.ศ. 1792

ในปี ค.ศ. 1794 เจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงเสาะหาว่าที่พระชายาที่เหมาะสม พระองค์ไม่ได้มีพระประสงค์ที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่การสืบราชสันตติวงศ์ แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรี วิลเลียม พิตต์ ผู้เยาว์ได้สัญญากับพระองค์ว่าจะเพิ่มรายได้แก่พระองค์ถ้าหากพระองค์เสกสมรส เจ้าชายจอร์จแม้จะทรงมีรายได้มหาศาลจากพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเวลส์และดยุกแห่งคอร์นวอลล์ ทรงมีพระชนม์ชีพความเป็นอยู่ที่ดีในความประพฤติที่ไม่ค่อยดี และในปี ค.ศ. 1794 รายได้ของพระองค์ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้ของพระองค์[1]

เจ้าชายจอร์จทรงเคยที่จะพยายามเสกสมรสครั้งหนึ่งกับพระสนมของพระองค์ คือ มาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ความพยายามในการเสกสมรสนี้เป็นความพยายามที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระราชบิดาของเจ้าชาย ซึ่งการเสกสมรสต้องถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสกสมรสของพระราชวงศ์ปี ค.ศ. 1772 แต่เจ้าชายก็ทรงเก็บ ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ไว้ในฐานะพระสนมของพระองค์ และเช่นเดียวกับพระสนมคนอื่น ๆ คือ เลดีเจอร์ซีย์ ซึ่งไม่ได้เป็นที่โปรดปรานมากนัก[2]

เจ้าหญิงคาโรลีนในปี ค.ศ. 1795 เวลาไม่นานก่อนที่จะเสกสมรสกับเจ้าชายจอร์จ (พระเจ้าจอร์จที่ 4 ในอนาคต)

เจ้าชายจอร์จทรงพิจารณาแล้วว่ามีเจ้าหญิงเพียงสองพระองค์ที่สามารถเป็นว่าที่พระชายาของพระองค์ได้ ซึ่งเจ้าหญิงทั้งสองก็มีศักดิ์เป็นพระญาติของพระองค์ เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ เป็นพระราชธิดาในพระมาตุลา (พระเชษฐาในพระมารดาของเจ้าชายจอร์จ) ในขณะที่เจ้าหญิงคาโรลีนแห่งเบราน์ชไวก์ เป็นพระราชธิดาในพระปิตุจฉา (พระเชษฐภคินีในพระบิดาของเจ้าชายจอร์จ) สมเด็จพระราชินีชาร์ลอตต์ พระราชมารดาของเจ้าชายจอร์จ ทรงเคยได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าหญิงคาโรลีนและทรงโปรดที่จะให้เจ้าชายเสกสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์ ซึ่งมีพระสิริโฉมมากกว่า และเป็นพระนัดดาของพระนางโดยสายพระโลหิต มีการเล่าลือว่าเจ้าหญิงคาโรลีนทรงประพฤติพระองค์ไม่เหมาะสม โดยทรงมีความสัมพันธ์กับทหารชาวไอริชในกองทัพของคาร์ล วิลเฮล์ม แฟร์ดีนันด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล พระบิดาของเจ้าหญิงเอง และการเจรจาการหมั้นของเจ้าหญิงก่อนหน้านี้ก็ต้องหยุดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เจ้าชายจอร์จซึ่งทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของ เลดี้เจอร์ซีย์ (ซึ่งมองว่าเจ้าหญิงคาโรลีนจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวน้อยกว่าเจ้าหญิงหลุยส์) ได้เลือกเจ้าหญิงจากเบราน์ชไวก์ ทั้งที่ไม่ทรงเคยพบพระพักตร์กันมาก่อน และทรงเดินเรื่องไปยังทูต เจมส์ แฮร์ริส เอิร์ลที่ 1 แห่งมาล์มบิวรี ให้พาพระนางมาจากเบราน์ชไวก์มายังอังกฤษ[3]

แฮร์ริสพบเจ้าหญิงซึ่งทรงฉลองพระองค์อย่างไม่เรียบร้อยและเห็นได้ชัดว่าไม่ทรงซักฉลองพระองค์มาหลายวัน เขาพบว่าบทสนทนาของเจ้าหญิงนั้นหยาบคายและทรงแสดงความคุ้นเคยมากเกินไป แฮร์ริสใช้เวลาเกือบสี่เดือนกับเจ้าหญิง เขาพยายามอย่างดีที่สุดที่จะปรับปรุงพฤติกรรมและพระอุปนิสัยของเจ้าหญิง ก่อนที่จะมาถึงอังกฤษ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจากสภาพอากาศในฤดูหนาวที่เลวร้ายและความล่าช้าเนื่องจากสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส[4] นักการทูตนำเจ้าหญิงคาโรลีนมายังพระราชวังเซนต์เจมส์ ครั้งแรกที่เจ้าชายทรงพบกับเจ้าหญิง เจ้าชายตรัสว่า "แฮร์ริส ข้ารู้สึกไม่ค่อยดี ขอบรั่นดีสักแก้วหน่อย"[5] หลังจากเจ้าชายเสด็จออกไป เจ้าหญิงคาโรลีนทรงตรัสว่า "ฉันว่าพระองค์ทรงอ้วนมากเลยนะ ไม่เห็นหล่อเหมือนในรูปสักนิด"[6] เมื่อทั้งสองพระองค์ได้ร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำในวันนั้น เจ้าหญิงผู้ขุ่นเคืองทรงตรัสอย่างหยาบคายถึงความสัมพันธ์ของเจ้าชายกับเลดีเจอร์ซีย์ ด้วยเหตุนี้แฮร์ริสจำเป็นต้องประสานความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงกับเจ้าชายจอร์จซึ่งไม่โปรดพระนางเลย ก่อนวันเสกสมรสในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1795 เจ้าชายจอร์จได้ส่งเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งแคลเรนซ์ (ต่อมาคือพระเจ้าวิลเลียมที่ 4) พระอนุชาให้ไปบอก ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ว่า เธอ (ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต) เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่พระองค์จะรัก จากนั้นได้เสด็จไปยังพิธีเสกสมรส ด้วยทรงเมา[7]

ในภายหลังเจ้าชายจอร์จทรงกล่าวว่าทรงมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าหญิงเพียงสามครั้ง และเจ้าหญิงมักจะวิพากษ์วิจารณ์ขนาดของพระคุยหฐาน (อวัยวะเพศชาย) ซึ่งทำให้เจ้าชายทรงสรุปได้ว่าเจ้าหญิงต้องทรงมีประสบการณ์เพราะสามารถเปรียบเทียบได้ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าเจ้าหญิงไม่ทรงบริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันเจ้าหญิงคาโรลีนทรงกล่าวในเวลาต่อมาว่าเจ้าชายทรงไร้สมรรถภาพ[8] ทั้งสองพระองค์แยกกันประทับในแต่ละสัปดาห์แม้ว่าจะทรงประทับในพระตำหนักเดียวกัน วันหนึ่งหลังจากเสกสมรสมาเป็นเวลาเก้าเดือน เจ้าหญิงคาโรลีนมีพระประสูติกาลพระธิดา[9]

วัยเยาว์[แก้]

เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ขณะทรงพระเยาว์

เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ประสูติในตำหนักของเจ้าชาย ตำหนักคาร์ลตัน ลอนดอน ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1796 ในขณะที่เจ้าชายจอร์จไม่ทรงพอพระทัยเล็กน้อยเนื่องจากพระบุตรเป็นพระธิดาไม่ใช่พระโอรส พระมหากษัตริย์ทรงพอพระทัยในเจ้าหญิงมาก เนื่องจากเป็นการประสูติของพระราชนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมายองค์แรก และทรงหวังว่าการประสูติของเจ้าหญิงจะช่วยไกล่เกลี่ยความบาดหมางระหว่างเจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงคาโรลีนได้[10] แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้น สามวันหลังจากที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ประสูติ เจ้าชายจอร์จมีพระประสงค์โดยตรงคือการไม่ให้พระชายามีบทบาทในการอภิบาลพระธิดา และทรงหมกมุ่นอยู่แต่กับฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต แม้ว่าสมาชิกพระราชวงศ์หลายพระองค์จะไม่เป็นที่นิยมชมชอบ แต่ทั้งประเทศก็เฉลิมฉลองการประสูติของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์[11] ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1796 เจ้าหญิงพระองค์น้อยได้รับการขานพระนามว่า ชาร์ลอตต์ ออกัสตา จากพระนามของพระอัยยิกาคือ สมเด็จพระราชินีชาร์ลอตต์และเจ้าหญิงออกัสตา ดัชเชสแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล[12] ในห้องวาดภาพของตำหนักคาร์ลตัน โดยจอห์น มัวร์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี พระบิดามารดาอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงคือ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินีและดัชเชสแห่งเบราน์ชไวก์ (ซึ่งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระราชกุมารี เสด็จแทนองค์ดัชเชส)[13]

แม้ว่าจะมีการปฏิบัติต่อเจ้าคาโรลีนดีขึ้นหลังจากที่พระนางทรงมีพระประสูติกาลองค์รัชทายาทลำดับที่สองในราชบัลลังก์ แต่เจ้าชายจอร์จก็ยังทรงขัดขวางไม่ให้เจ้าหญิงทรงพบกับพระธิดา ทรงปฏิเสธไม่ให้พระนางประทับอยู่กับพระธิดาเว้นเสียแต่ว่าจะมีพยาบาลและพระอภิบาลอยู่ด้วย[12] เจ้าหญิงคาโรลีนทรงได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจวัตรประจำวันตามแบบบิดามารดาชนชั้นสูงคือ การให้เงินแก่บุตรหลานในเวลานี้ แต่พระนางไม่ทรงได้รับอนุญาตในการตัดสินพระทัยเกี่ยวกับการอบรมดูแลเจ้าหญิงชาร์ลอตต์[14] นางกำนัลหรือผู้ดูแลพระตำหนักซึ่งเห็นใจพระนาง ไม่ทำตามพระบัญชาของเจ้าชายยจอร์จ และได้อนุญาตให้เจ้าหญิงคาโรลีนทรงประทับตามลำพังกับพระธิดา เจ้าชายจอร์จไม่ทรงทราบถึงเรื่องนี้ เนื่องจากพระองค์เสด็จเข้ามาพบพระธิดาน้อยครั้งมาก เจ้าหญิงคาโรลีนทรงมีความกล้าที่จะประทับรถม้าพระที่นั่งไปตามถนนกรุงลอนดอนพร้อมกับพระธิดา โดยทรงได้รับการปรบมือสรรเสริญจากฝูงชน[12]

เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงมีพระสุขภาพดี และเป็นไปตามที่เทีย โฮล์ม ผู้เขียนพระประวัติของพระนาง เขียนไว้ว่า "ความประทับใจอย่างหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้เป็นเรื่องแรก ๆ ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ คือ การที่ทรงมีความสุขอย่างไร้การเสแสร้ง และทรงมีพระทัยที่อ่อนโยน"[15] ขณะที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระบิดาและพระมารดาของพระนางยังคงขัดแย้งกัน และทรงใช้พระธิดาองค์น้อยเป็นเครื่องมือของความขัดแย้ง ทั้งพระบิดาและพระมารดาทรงพยายามเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีเข้าข้างฝ่ายตน[16] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1797 เจ้าหญิงคาโรลีนทรงเสด็จออกจากตำหนักคาร์ลตัน ทรงออกไปเช่าที่พำนักของพระนางเองใกล้แบล็กฮีธ ทรงละทิ้งพระธิดาไว้เบื้องหลัง โดยกฎหมายอังกฤษในขณะนั้นได้ให้สิทธิในการดูแลเด็กเล็กแก่ฝ่ายบิดา แต่ครั้งนี้เจ้าชายก็ไม่ได้ทรงกีดกันพระชายาในการเข้าถึงพระธิดา[17] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1798 เจ้าชายทรงเชิญพระชายาที่แยกกันประทับให้เสด็จมาเยือนตำหนักคาร์ลตันในช่วงฤดูหนาว ซึ่งพระนางปฏิเสธคำเชิญ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในการพยายามคืนดีกันอย่างจริงจัง ซึ่งความล้มเหลวนี้ก็ได้ทำให้สิทธิในราชบัลลังก์มีความเป็นไปได้น้อยลง โดยเจ้าชายจอร์จจะต้องทรงมีพระโอรสที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งจะมาแทนระหว่างเจ้าหญิงชาร์ลอตต์กับราชบัลลังก์อังกฤษ[18] เจ้าหญิงคาโรลีนเสด็จมาเยี่ยมพระธิดาที่ตำหนักคาร์ลตัน และบางครั้งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้รับการหนุนได้เสด็จไปยังแบล็กฮีธเพื่อเยี่ยมพระมารดา แต่ไม่ทรงเคยได้รับอนุญาตให้ประทับที่บ้านของพระมารดา[19] ในช่วงฤดูร้อน เจ้าชายทรงเช่าบ้านพักชรูวส์บิวรีที่แบล็กฮีธให้พระธิดา ซึ่งทำให้การเดินทางมาเยี่ยมเยียนง่ายขึ้น ตามบันทึกของเอลิสัน พลาวเดน ซึ่งได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายจอร์จ พระชายาและพระธิดา ระบุว่า เจ้าหญิงคาโรลีนสามารถพบกับพระธิดาได้ตราบเท่าที่มีพระประสงค์[20]

เลดีเอลกิน
มาร์ธา บรูซ
เลดีเอลกิน
เลดี เดอ คลิฟฟอร์ด
โซเฟีย เซาท์เวลล์
เลดี เดอ คลิฟฟอร์ด
พระอภิบาลในเจ้าหญิงชาร์ลอตต์

เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงมีพระชนมายุ 8 พรรษา พระบิดาของเจ้าหญิงได้กลับไปคบหากับ ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต และทรงตัดสินใจว่าทรงต้องการตำหนักคาร์ลตันให้เป็นของพระองค์เอง พระองค์ทรงยึดห้องชุดของพระชายา (เจ้าหญิงคาโรลีนทรงได้รับห้องว่างในพระราชวังเค็นซิงตันแทน) และทรงย้ายพระธิดาให้ไปประทับที่ตำหนักมองตากิว ซึ่งอยู่ติดกับตำหนักคาร์ลตัน ตามบันทึกของเจมส์ แชมเบอร์ ผู้เขียนพระประวัติของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์อีกคนหนึ่ง ได้ระบุว่า เจ้าหญิงองค์น้อย "ประทับในตำหนักที่เป็นของพระนางเอง ซึ่งไม่มีใครเลยที่จะไม่ต้องจ่ายค่าอยู่อาศัยที่นั่น"[19] การย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านการดูแลของหัวหน้าพระอภิบาลในเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ เลดีเอลกิน (ภริยาม่ายในชาร์ล บรูซ เอิร์ลที่ 5 แห่งเอลกิน) ซึ่งเป็นบุคคลที่เจ้าหญิงทรงใกล้ชิดที่สุด เลดี้เอลกินถูกบังคับให้เกษียณอายุ ซึ่งสังเกตได้ชัดจากอายุที่มากของเธอ แต่เหตุผลโดยส่วนใหญ่คือ เจ้าชายจอร์จทรงพิโรธ เนื่องจากเลดี้เอลกินทรงนำเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์โดยไม่ผ่านการขอพระอนุญาตจากพระองค์[21] เจ้าชายจอร์จยังทรงปลด มิสเฮย์แมน รองพระอภิบาล เนื่องจากเป็นมิตรกับเจ้าหญิงคาโรลีนมากเกินไป และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงจ้างเธอต่อทันทีที่เธอถูกปลดออก ผู้ที่มาแทนที่เลดี้เอลกิน คือ เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ด (ภริยาม่ายในเอ็ดเวิร์ด เซาท์เวลล์ บารอนที่ 20 เดอ คลิฟฟอร์ด) เป็นบุคคลที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงติดมาก และมีอัธยาศัยดีเกินไปในการอบรมสั่งสอนพระธิดา ซึ่งทำให้เจ้าหญิงทรงเจริญวัยมาในลักษณะทอมบอย เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ดได้นำหนึ่งในหลานชายของเธอ ซึ่งก็คือ ฮอนอเรเบิล จอห์น เคปเปล ที่มีอายุน้อยกว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ 3 ปี มาเป็นพระสหายร่วมเล่นกับพระนาง สี่สิบปีถัดมา เคปเปล ซึ่งในตอนนั้นดำรงเป็นเอิร์ลแห่งอัลเบมาร์ล ได้บันทึกความทรงจำของเขาถึงเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เกี่ยวกับหลายเรื่องราวของเจ้าหญิงขณะยังทรงพระเยาว์ นอกเหนือจากเรื่องราวความเป็นทอมบอยของพระนางในการโปรดทรงม้ากับการชกมวย เขาจดจำได้ว่า พวกเขาได้ไปดูฝูงชนรวมตัวกันด้านหน้าบ้านเคปเปลที่เอิร์ลส์คอร์ท ซึ่งฝูงชนเหล่านี้หวังที่จะพบเห็นเจ้าหญิงองค์น้อย เขาและเจ้าหญิงได้ออกไปข้างนอกและร่วมอยู่ในฝูงชน โดยที่ไม่มีใครจำพวกเขาได้เลย[22]

ในปี ค.ศ. 1805 พระมหากษัตริย์ทรงเริ่มวางแผนการศึกษาแก่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และทรงจ้างกลุ่มคณาจารย์จำนวนมากสำหรับพระนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงองค์เดียวของพระองค์ โดยบิชอปแห่งเอ็กเซเตอร์ได้ให้การศึกษาเกี่ยวกับคริสตจักรแห่งอังกฤษ ซึ่งพระเจ้าจอร์จทรงเชื่อว่าในวันหนึ่งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์จะทรงได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถ และเป็นผู้พิทักษ์ประจำนิกายนี้ พระมหากษัตริย์ทรงหวังว่าคณาจารย์เหล่านี้จะ "ปฏิบัติกับเจ้าหญิงอย่างให้เกียรติและมีความสัมพันธ์ที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และอำนวยพรให้แก่อาณาจักรซึ่งพระนางอาจจะได้เป็นประมุขในอนาคต"[23] ตามบันทึกของโฮล์ม การเรียนการสอนนี้ได้ให้ความประทับใจเล็ก ๆ แก่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ซึ่งเจ้าหญิงทรงเลือกที่จะศึกษาเพียงเฉพาะในสิ่งที่พระนางต้องการศึกษาจริง ๆ[23] พระอาจารย์ที่ถวายการศึกษาด้านเปียโนแก่เจ้าหญิงคือ เจน แมรี เกสต์ นักแต่งเพลง[24] และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเป็นผู้ทรงเปียโนได้อย่างยอดเยี่ยม[25]

พฤติกรรมที่ผิดธรรมเนียมของเจ้าหญิงคาโรลีนได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1807 โดยมีข้อกล่าวหาพระนางว่าทรงเคยมีเพศสัมพันธ์กับชายคนอื่นในช่วงที่ทรงแยกห่างจากพระสวามี เจ้าหญิงคาโรลีนทรงเลี้ยงดูเด็กหนุ่มน้อยที่ชื่อว่า วิลเลียม ออสติน ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นบุตรของพระนางกับชายคนอื่น เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงหวังว่า "การสืบสวนที่ละเอียดอ่อน" จะได้หลักฐานในเรื่องการผิดประเวณี ซึ่งจะทำให้พระองค์สามารถหย่าร้างได้ และทรงห้ามไม่ให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์พบกับพระมารดาเด็ดขาด[26] คณะผู้สืบสวนไม่ได้สอบปากคำเจ้าหญิงคาโรลีนหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนรักของพระนาง แต่ได้จดจ่ออยู่แต่เพียงปากคำของคนรับใช้ในเจ้าหญิงคาโรลีน เมื่อคนรับใช้ถูกถามว่าเจ้าหญิงคาโรลีนทรงพระครรภ์หรือไม่ บางคนตอบว่าใช่ บางคนตอบว่าไม่ บางคนตอบว่าไม่แน่ใจ และอื่น ๆ ซึ่งชี้ว่าพระนางทรงมีน้ำหนักมากและพระวรกายอวบอ้วนซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะบอก คนรับใช้ยืนยันว่าไม่มีใครเลยที่เป็นคนรักของพระนาง แม้ว่าคนรับใช้ชายของพระนาง คือ โจเซฟ โรเบิร์ตส์ จะกล่าวว่า เจ้าหญิงทรง "รักในการร่วมเพศมาก"[27] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงรับรู้ถึงการสืบสวน เจ้าหญิงวัย 10 พรรษาทรงรู้สึกเจ็บปวดลึก ๆ เมื่อพระมารดาและพระนางทรงทำได้แค่เพียงสบมองพระพักตร์กันในสวนสาธารณะ และเจ้าหญิงคาโรลีนทรงเชื่อฟังคำสั่งของเจ้าชายที่ไม่ให้ติดต่อหรือตรัสสิ่งใดกับเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ โดยทรงแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นพระธิดา[28] เจ้าชายจอร์จทรงผิดหวังอย่างมาก เมื่อคณะผู้สืบสวนไม่พบหลักฐานว่าเจ้าหญิงคาโรลีนทรงมีพระบุตรองค์ที่สองจริง แม้ว่าจะเป็นที่ระบุชัดแจ้งว่าพฤติกรรมของเจ้าหญิงได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเมตตาเจ้าหญิงคาโรลีน ทรงปฏิเสธที่จะพบพระนางในช่วงที่มีการสอบสวน แต่ทรงเริ่มให้พระนางเข้าเฝ้าพระองค์ได้หลังจากนั้น[27] หลังจากสิ้นสุดการสอบสวนที่ละเอียดอ่อน เจ้าชายทรงมีพระอนุญาตอย่างไม่เต็มพระทัยนัก ทรงให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์พบกับพระมารดาอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าอย่าให้ วิลเลียม ออสติน มาเป็นพระสหายของเจ้าหญิง[29]

วัยแรกรุ่น[แก้]

วิลเลิม เจ้าชายรัชทายาทแห่งออเรนจ์ ในราวปีค.ศ. 1815 (ต่อมาคือ พระเจ้าวิลเลิมที่ 2 แห่งเนเธอร์แลนด์)

ในช่วงที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเข้าสู่วัยแรกรุ่นนั้น ข้าราชสำนักได้ให้ความเห็นว่าพฤติกรรมของพระนางนั้นไม่สมเกียรติ[30] เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ดได้บรรยายว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์มักจะทรงปล่อยให้กางเกงชั้นในยาวของพระนางแสดงออกมา[31] เลดี ชาร์ลอตต์ บิวรี หนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงคาโรลีนและเป็นนักบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันโดยมีงานเขียนที่มีชีวิตชีวา บรรยายถึงเจ้าหญิงว่า ทรงเป็น "เนื้อและเลือดชั้นดี" ซึ่งทรงมีพระอุปนิสัยตรงไปตรงมาและไม่ค่อยใส่พระทัย "ในเกียรติยศศักดิ์ศรี"[32] พระบิดาของเจ้าหญิงทรงภาคภูมิในทักษะการทรงม้าของพระนางมาก[31] เจ้าหญิงทรงโปรดโวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ทและโจเซฟ ไฮเดิน เจ้าหญิงทรงโปรดตัวละคร มารีอานน์ในนวนิยายเรื่อง Sense and Sensibility[25]ของเจน ออสเตน ในปี ค.ศ. 1808 ชาร์ลอตต์ โจนส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจิตรกรวาดภาพประจำพระองค์ขนาดเล็กของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์

ในช่วงครึ่งหลังของ ค.ศ. 1810 พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงมีพระสติวิปลาสโดยสมบูรณ์ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระอัยกามากกว่าคนอื่น ๆ และเจ้าหญิงทรงรู้สึกเศร้าอย่างมากในพระอาการประชวรของพระองค์ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1811 พระบิดาของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงสาบานพระองค์เป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการต่อหน้าคณะองคมนตรี[33] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้ทรงม้าเสด็จกลับมาและทรงอยู่ข้างนอกสวนของตำหนักคาร์ลตัน ทรงพยายามเหลือบมองพระราชพิธีผ่านทางหน้าต่างชั้นล่าง[34] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงสนับสนุนพรรควิกอย่างแรงกล้าเหมือนกับพระบิดาของพระนาง แต่ในขณะนี้เจ้าชายทรงสามารถใช้พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ พระองค์ไม่ทรงฟื้นฟูสมาชิกพรรควิกเข้าสู่ตำแหน่งราชการมากเท่าที่พวกเขาต้องการให้ทรงแต่งตั้ง เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงถูกทำลายในสิ่งที่พระนางทรงเห็นว่าเป็นการทรยศของพระบิดา และในการแสดงโอเปร่า เจ้าหญิงทรงแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของพระนางโดยทรงส่งจุมพิตไปในทิสที่นั่งของชาร์ล เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 หัวหน้าพรรควิก[35]

เจ้าชายจอร์จทรงอยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด ซึ่งต้องทรงพบกับการกบฏต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงพยายามควบคุมพระธิดา ซึ่งทรงเป็นสตรีผู้เจริญพระชันษาด้วยวัย 15 พรรษา ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น พระองค์ทรงให้ค่าฉลองพระองค์ที่ไม่เพียงพอแก่เจ้าหญิง และทรงยืนกรานว่าถ้าเจ้าหญิงจะทรงเข้าชมโอเปร่า พระนางจะต้องทรงประทับอยู่หลังช่องชมโอเปร่าหรือไม่ก็ต้องเสด็จออกมาก่อนที่การแสดงจะจบลง[36] ด้วยเจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงยุ่งอยู่กับกิจการของรัฐ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ที่วินด์เซอร์กับนางกำนัลทึนทึก ทรงเบื่อหน่าย ในไม่ช้าเจ้าหญิงทรงหลงรักพระญาติของพระนางคือ จอร์จ ฟิตซ์แคลเรนซ์ โอรสนอกสมรสของดยุกแห่งแคลเรนซ์ ต่อมา ฟิตซ์แคลเรนซ์ ถูกเรียกตัวกลับไบรตันเพื่อเข้ารับราชการทหาร และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงสนพระทัยร้อยโทชาร์ล เฮสส์แห่งกองทหารม้าไลท์ดรากูนส์ ซึ่งโด่งดังเนื่องจากเป็นโอรสนอกสมรสของเจ้าชายเฟรเดอริก ดยุกแห่งยอร์กและออลบานี พระปิตุลาของเจ้าหญิง[37] เฮสส์และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้พบกันอย่างลับ ๆ เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ด เกรงกลัวความโกรธของเจ้าชายผู้สำเร็จราชการถ้าหากทรงล่วงรู้ความจริง แต่เจ้าหญิงคาโรลีนทรงยินดีในความรักของพระธิดา พระนางทรงทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์นี้ ทรงช่วยให้ทั้งสองประทับตามลำพังในห้องชุดของพระนาง[38] การพบกันนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อเฮสส์เข้าไปรับราชการกองทัพอังกฤษที่ไปทำการรบในสเปน[38] พระราชวงศ์ส่วนใหญ่ยกเว้นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ ทรงทราบถึงการพบกันลับ ๆ นี้ แต่ก็ไม่ทรงขัดขวาง เนื่องจากทรงไม่พอพระทัยวิธีการปฏิบัติต่อพระธิดาของเจ้าชายจอร์จ[39]

ในปี ค.ศ. 1813 ด้วยกระแสของสงครามนโปเลียนได้กลายมาเป็นที่สนใจของอังกฤษ เจ้าชายจอร์จทรงเริ่มที่จะพิจารณาปัญหาการเสกสมรสของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์อย่างจริงจัง เจ้าชายผู้สำเร็จราชการและที่ปรึกษาของพระองค์ตัดสินใจเลือกวิลเลิม เจ้าชายรัชทายาทแห่งออเรนจ์ พระโอรสและองค์รัชทายาทในเจ้าชายวิลเลิมที่ 6 แห่งออเรนจ์ การเสกสมรสครั้งนี้จะเพิ่มอิทธิพลของอังกฤษในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ เจ้าชายวิลเลิมทรงสร้างความประทับใจที่ไม่ดีนักต่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เมื่อพระนางทรงพบพระองค์ครั้งแรก ในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติของเจ้าชายจอร์จ วันที่ 12 สิงหาคม เมื่อพระองค์ทรงเป็นพวกชอบเมาสุรา เช่นเดียวกับตัวเจ้าชายผู้สำเร็จราชการเองและแขกคนอื่น ๆ แม้ว่าจะไม่มีใครที่มีอำนาจพอจะกราบทูลเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เกี่ยวกับข้อเสนอการเสกสมรส แต่พระนางก็ทรงทราบแผนการเนื่องจากค่อนข้างคุ้นเคยกับเรื่องเล่าลือในพระราชวัง[40] เฮนรี ฮาลฟอร์ด ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความเห็นของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ต่อการจับคู่เสกสมรสนี้ เขาพบว่าพระนางทรงรู้สึกกระอักกระอ่วนพระทัย ทรงมีความรู้สึกว่าสมเด็จพระราชินีแห่งบริเตนในอนาคตไม่สมควรที่จะอภิเษกสมรสกับชาวต่างชาติ[41] พระบิดาทรงเชื่อว่าเจ้าหญิงทรงตั้งพระทัยจะเสกสมรสกับเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงพบกับพระธิดา พระองค์จึงทรงใช้คำปรามาสดูถูกทั้งเจ้าหญิงและดยุกแห่งกลอสเตอร์ ตามบันทึกของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ที่ว่า "พระองค์มักจะทรงพูดเมื่อทรงมีความคิดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องความชอบของฉัน ฉันเห็นว่าพระบิดาพยายามใส่ร้ายฉันโดยสมบูรณ์ (Sic;ทรงเขียนว่า compleatly แทนที่จะเป็น completely ทรงตั้งใจสะกดผิด) และทรงบอกว่าพระองค์จะไม่เข้ามาวุ่นวาย"[42] พระนางทรงเขียนจดหมายถึงเอิร์ลเกรย์เพื่อปรึกษา เขาแนะนำให้พระนางทรงถ่วงเวลาให้นาน[43] เรื่องราวนี้ได้รั่วไหลเป็นเอกสารในไม่ช้า โดยเขียนว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์จะต้องเสกสมรสกับ "สัมหรือชีส" (อ้างถึงออเรนจ์กับชีสกลอสเตอร์), "บิลลีผอม" (แห่งออเรนจ์) หรือ "บิลลีทึ่ม"[44] เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงพยายามใช้วิธีที่นุ่มนวล แต่ก็ทรงล้มเหลวที่จะโน้มน้าวเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ซึ่งพระนางทรงเขียนว่า "ฉันจะไม่ออกไปจากประเทศนี้ แม้ในฐานะสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษก็จะออกไปน้อยอยู่ดี" และถ้าพระนางต้องทรงเสกสมรส เจ้าชายแห่งออเรนจ์จะต้อง "เสด็จมาพบกับของพระองค์ด้วยตัวคนเดียว"[45] อย่างไรก็ตามในวันที่ 12 ธันวาคม เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงจัดให้มีการพบกันระหว่างเจ้าหญิงชาร์ลอตต์และเจ้าชายแห่งออเรนจ์ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำและทรงถามเจ้าหญิงชาร์ลอตต์สำหรับการตัดสินพระทัย พระนางทรงตอบว่าพระนางทรงโปรดในสิ่งที่พระนางเคยพบเห็นจนกระทั่งตอนนี้ ซึ่งเจ้าชายจอร์จทรงได้นำคำตอบรับนี้รีบแจ้งแก่เจ้าชายแห่งออเรนจ์อย่างเร็วพลัน[46]

ภาพวาดโดยจิตรกรที่ประทับใจในการพบกันครั้งแรกระหว่างเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (ซ้ายสุด) กับเจ้าชายเลโอโปลด์ (ประทับด้านหน้าของหน้าต่าง) พร้อมกับแกรนด์ดัชเชสแคทเทอรีน ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซีย (กลาง) และเจ้าชายชาวรัสเซียนิโคไล กาการิน (ขวาสุด)

การเจรจาต่อรองเรื่องการเสกสมรสต้องใช้เวลานานหลายเดือน โดยเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงยืนกรานว่าพระนางจะไม่เสด็จออกจากบริเตนใหญ่โดยไม่จำเป็น นักการทูตก็ไม่ปรารถนาที่จะให้สองราชบัลลังก์รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว และดังนั้นข้อตกลงได้ระบุว่าราชบัลลังก์อังกฤษจะไปได้แก่พระโอรสองค์โตของทั้งสองพระองค์ ในขณะที่พระโอรสองค์ที่สองจะได้ครองราชบัลลังก์เนเธอร์แลนด์ ถ้าหากทั้งสองพระองค์มีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว ราชบัลลังก์เนเธอร์แลนด์จะไปได้แก่ราชนิกุลเชื้อสายเยอรมันจากราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา[47] ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1814 เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงลงพระนามในสัญญาการเสกสมรส[48] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเริ่มหลงใหลในเจ้าชายปรัสเซียซึ่งไม่ทราบว่าคือใคร ตามบันทึกของชาร์ล เกรวิลล์ ระบุว่าราชนิกุลองค์นั้นคือ เจ้าชายออกัสตัสแห่งปรัสเซีย[49] แต่นักประวัติศาสตร์อย่าง อาเทอร์ อัสปินัล ไม่เห็นด้วย เขาคิดว่าเจ้าหญิงทรงหลงรักในเจ้าชายผู้หนุ่มกว่าคือ เจ้าชายเฟรเดอริกแห่งปรัสเซีย[49] ในงานเลี้ยงที่โรงแรมพัลเทนีย์ในลอนดอน เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพบกับนายพลแห่งกองพันทหารม้ารัสเซีย คือ เจ้าชายเลโอโปลด์แห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์[50] เจ้าหญิงทรงเชิญให้เจ้าชายเลโอโปลด์มาพบพระนาง เจ้าชายทรงตอบรับคำเชิญ ทรงใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 45 นาที และทรงเขียนจดหมายขออภัยโทษไปยังเจ้าชายผู้สำเร็จราชการสำหรับการกระทำที่ประมาทขาดความรอบคอบของพระนางเอง จดหมายฉบับนี้สร้างความประทับใจแก่เจ้าชายจอร์จมาก แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงพิจารณาเจ้าชายเลโอโปลด์ผู้ยากจนในฐานะคู่ครองที่สมควรสำหรับพระธิดาของพระองค์[51]

เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงต่อต้านการจับคู่ระหว่างพระธิดาของพระนางกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ และทรงได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างวงกว้าง เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เสด็จไปในที่สาธารณะ ฝูงชนได้ตะโกนไม่ให้เจ้าหญิงทรงละทิ้งพระมารดาไปสมรสกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงแจ้งกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ว่าถ้าทั้งสองพระองค์เสกสมรสกัน พระมารดาของพระนางจะต้องได้รับการต้อนรับในตำหนักที่ประทับของทั้งสองพระองค์ด้วยเช่นกัน เงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการไม่อาจยอมรับได้ เมื่อเจ้าชายแห่งออเรนจ์ทรงปฏิเสธ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ก็ทรงถอนหมั้น[52] พระบิดาของเจ้าหญิงทรงตอบรับการกระทำครั้งนี้โดยทรงมีพระบัญชาให้เจ้าหญิงประทับอยู่ในตำหนักของพระนางที่ตำหนักวอร์วิก (ติดกับตำหนักคาร์ลตัน) จนกว่าพระนางจะต้องย้ายไปประทับที่บ้านเครนบูร์นในวินด์เซอร์ ที่ซึ่งพระนางไม่ทรงได้รับอนุญาตให้พบปะผู้ใดยกเว้นสมเด็จพระราชินี เมื่อทรงทราบพระบัญชานี้ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงวิ่งหนีออกไปยังถนน ชายคนหนึ่งเห็นเจ้าหญิงทรงระทมทุกข์จากทางหน้าต่าง เขาได้ช่วยเจ้าหญิงผู้ไร้ประสบการณ์เรียกรถม้ารับจ้าง ซึ่งจะพาพระนางไปยังที่ประทับของพระมารดา ขณะนั้นเจ้าหญิงคาโรลีนทรงเสด็จไปเยี่ยมพระสหายและทรงรับเสด็จกลับที่ประทับ ในขณะที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเรียกนักการเมืองพรรควิกมาให้คำปรึกษาแก่พระนาง สมาชิกราชวงศ์ได้รวมตัวกันรวมทั้งพระปิตุลาของพระนางคือ เจ้าชายเฟรเดอริก ดยุกแห่งยอร์ก ได้เสด็จมาโดยมีหนังสือพระราชานุญาตในกระเป๋าฉลองพระองค์ในการนำเจ้าหญิงให้เสด็จกลับอย่างปลอดภัยโดยสามารถใช้กำลังได้เมื่อจำเป็น หลังจากมีปากเสียงกันอย่างยาวนาน พรรควิกได้แนะนำให้เจ้าหญิงเสด็จกลับพระตำหนักของพระบิดา ซึ่งพระนางทรงยอมทำตามในวันถัดไป[53]

ความโดดเดี่ยวและการมีความรัก[แก้]

เจ้าชายเลโอโปลด์แห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ในฉลองพระองค์ทหารขณะทรงม้า (ต่อมาคือ พระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม) ภาพวาดในศตวรรษที่ 19

เรื่องราวการหลบหนีของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์และการเสด็จกลับได้เป็นที่พูดถึงกันในเมือง เฮนรี โบร์กแฮม อดีตสมาชิกสภาและต่อมาคือประธานศาลสูงสุดจากพรรควิก ได้รายงานว่า "ทั้งหมดนี้ล้วนต่อต้านเจ้าชายโดยเฉพาะ" และแรงกดดันจากฝ่ายค้านได้เผยแพร่เรื่องราวของเจ้าหญิงผู้หลบหนีอย่างมาก[54] แม้ว่าจะทรงคืนดีกับพระธิดา แต่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการยังคงมีพระบัญชาให้นำตัวพระธิดาไปยังบ้านเครนบูร์น ที่ซึ่งข้าราชบริพารที่รับใช้พระนางได้รับพระบัญชาให้คอยดูพระธิดาอย่าให้คาดสายตา แต่เจ้าหญิงก็ทรงลักลอบเขียนจดหมายไปให้กับพระปิตุลาที่ทรงสนิท คือ เจ้าชายออกัสตัส เฟรเดอริก ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ดยุกทรงตอบรับโดยทรงมีคำถามไปยัง ลอร์ดลิเวอร์พูล นายกรัฐมนตรีจากพรรคทอรี ในสภาขุนนาง พระองค์ทรงขอให้ปล่อยเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เป็นอิสระ หรือไม่ก็อนุญาตให้พระนางสามารถเสด็จไปชายทะเลได้ตามที่แพทย์ประจำพระองค์ได้แนะนำพระนางในอดีต และตอนนี้เจ้าหญิงมีพระชนมายุ 18 พรรษาแล้ว หรือว่ารัฐบาลมีแผนจะแยกพระนางให้โดดเดี่ยว ลอร์ดลิเวอร์พูลพยายามเลี่ยงที่จะตอบคำถาม[54] และดยุกทรงถูกพระเชษฐาเรียกพระองค์ไปที่ตำหนักคาร์ลตัน ทรงถูกตำหนิจากเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ ซึ่งต่อมาเจ้าชายก็ไม่ทรงตรัสใด ๆ กับพระอนุชาองค์นี้อีก[55]

แม้ว่าพระนางจะทรงถูกโดดเดี่ยว แต่เจ้าหญิงชาร์ลอตตก็พบว่าพระชนม์ชีพของพระนางในเครนบูร์นนั้นน่าพอพระทัยอย่างประหลาดและทรงค่อย ๆ ปรับพระองค์ต่อสถานการณ์ได้อย่างช้า ๆ[56] ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1814 เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้เสด็จมาเยี่ยมเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ในช่วงการโดดเดี่ยวเจ้าหญิง และทรงแจ้งต่อพระธิดาว่าพระมารดาของพระนางจะเสด็จออกจากอังกฤษไปพักผ่อนที่ภาคพื้นทวีปเป็นเวลานาน ข่าวนี้ทำให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์เสียพระทัยมาก แต่พระนางก็ไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนความคิดพระมารดาของพระนางได้ และทรงเสียพระทัยต่อในการจากไปโดยไม่สนพระทัยของพระมารดา ทรงตรัสว่า "พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ว่านานเท่าใด หรือเหตุการณ์ใดที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่เราจะพบกันอีกครั้ง"[57] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่ได้ทรงพบกับพระมารดาอีกเลย[58] ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จไปชายทะเลได้ พระนางทรงขอไปที่ไบรตันซึ่งเปี่ยมไปด้วยสีสัน แต่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงปฏิเสธโดยทรงส่งเจ้าหญิงไปที่เวย์มัธแทน[59] เมื่อรถม้าของเจ้าหญิงได้หยุดตามรายทาง ฝูงชนผู้เป็นมิตรได้รวมตัวกันเพื่อที่จะได้เห็นพระนาง ตามบันทึกของโฮล์มที่ว่า "การที่ทรงเป็นที่ชื่นชอบได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั้งหลายคิดว่าพระนางจะทรงเป็นพระราชินีของพวกเขาในอนาคต"[60] เมื่อเสด็จถึงเวย์มัธ มีการประดับตัวอักษรด้วยคำว่า "เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพระเจริญ ความหวังของยุโรปและความรุ่งโรจน์ของบริเตน"[61] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงใช้เวลาสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ทรงซื้อผ้าไหมฝรั่งเศสที่ถูกลักลอบมาขาย และนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนทรงเข้าคอร์สการสรงน้ำทะเลอุ่น[61] เจ้าหญิงยังคงหลงเสน่ห์ชายชาวปรัสเซียของพระนาง และทรงหวังอย่างเปล่าประโยชน์ว่า เขาจะประกาศต่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการว่าเขารักพระนาง และถ้าเขาไม่ทำเช่นนั้น พระนางทรงมีจดหมายไปถึงพระสหาย ทรงเขียนว่า พระนางจะ "เอาสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งต่อไป ที่ซึ่งเป็นผู้ชายอารมณ์ดีและมีสติที่ดี (Sic;ทรงเขียนว่า sence แทนที่จะเป็น sense ทรงตั้งใจสะกดผิด)...ผู้ชายคนนั้นคือ พี แห่ง เอส-ซี (เจ้าชายแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก; Prince of Saxe-Coburg ซึ่งก็คือ เจ้าชายเลโอโปลด์)"[62] ในช่วงกลางเดือนธันวาคม เวลาไม่นานที่จะทรงเสด็จออกจาเวย์มัธ พระนางทรง "ตกพระทัยอย่างมาก" เมื่อทรงทราบว่าชายชาวปรัสเซียของพระนางได้สานสัมพันธ์ความรักกับคนอื่น[63] ในการพูดคุยกันเป็นเวลานานหลังงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำวันคริสต์มาส พระบิดาและพระธิดาได้ผิดใจกันอย่างมาก[56]

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1815 เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงคำนึงถึงเจ้าชายเลโอโปลด์ (พระนางทรงเรียกเจ้าชายว่า "เลโอ") ในฐานะพระสวามี[64] พระบิดาของเจ้าหญิงทรงปฏิเสธที่จะยอมแพ้ ทรงยินยันให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ แต่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเขียนว่า "ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องขู่ ไม่มีอะไรมาโน้มน้าวให้ลูกแต่งงานกับคนดัตช์น่ารังเกียจคนนี้ได้หรอก"[65] ด้วยเหตุที่ต้องเผชิญกับกระแสการต่อต้านพระราชวงศ์ ในที่สุดเจ้าชายจอร์จทรงยอมละทิ้งแผนการเสกสมรสของพระธิดากับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงหมั้นกับแกรนด์ดัชเชสแอนนา ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซียในฤดูร้อนปีนั้นเอง[66] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงติดต่อกับเจ้าชายเลโอโปลด์โดยผ่านคนกลางและทรงประจักษ์ว่าเจ้าชายทรงเป็นผู้ที่เปิดกว้าง แต่ด้วยจักรพรรดินโปเลียนพยายามสร้างวิกฤตในภาคพื้นทวีปอีกครั้งในสมัยร้อยวัน เจ้าชายเลโอโปลด์และทหารของพระองค์จึงต้องเข้าร่วมรบ[67] ในเดือนกรกฎาคม เวลาไม่นานก่อนที่จะเสด็จกลับไปเวย์มัธ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงขออย่างเป็นทางการต่อพระบิดาโดยทรงต้องการเสกสมรสกับเจ้าชายเลโอโปลด์ เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงตอบว่าสถานการณ์ทางการเมืองบนภาคพื้นทวีปยังไม่แน่นอน พระองค์จึงไม่สามารถพิจารณาคำขอได้[68] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเสียพระทัย เจ้าชายเลโอโปลด์ไม่ได้เสด็จมาอังกฤษหลังจากสันติภาพได้รับการฟื้นฟูแล้ว แม้ว่าพระองค์ถูกส่งไปประจำการที่ปารีส ที่ซึ่งพระนางทรงเห็นว่าเป็นการเดินทางระยะสั้น ๆเหมือนจากเวย์มัธไปลอนดอน[69]

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1816 เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้เชิญพระธิดามายัง Royal Pavilion ในไบรตัน และพระนางทรงวิงวอนขอพระบิดาให้ประทานอนุญาตให้เสกสมรส เมื่อพระนางได้เสด็จกลับวินด์เซอร์ ทรงเขียนจดหมายถึงพระบิดาความว่า "ลูกจะไม่ลังเลอีกต่อไปที่จะประกาศว่าลูกมีใจเอนเอียงไปยังเจ้าชายแห่งโคบูร์ก พระบิดาวางพระทัยได้เลยว่า จะไม่มีการหมั้นใดในอดีตและปัจจุบันที่จะมั่นคงและเหนียวแน่นไปมากกว่าตัวลูกเอง"[70] เจ้าชายจอร์จทรงโอนอ่อนผ่อนตามและทรงเรียกเจ้าชายเลโอโปลด์มายังอังกฤษ ซึ่งเจ้าชายทรงอยู่ที่เบอร์ลินและกำลังเดินทางไปรัสเซีย[71] เจ้าชายเลโอโปลด์เสด็จถึงอังกฤษในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1816 และได้เสด็จไปยังไบรตันซึ่งทรงถูกสัมภาษณ์โดยเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ หลังจากเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้ถูกเชิญมาและทรงร่วมเสวยพระกระยาหารกับเจ้าชายเลโอโปลด์และพระบิดา เจ้าหญิงทรงเขียนว่า

ฉันพบเสน่ห์ในตัวเขา และฉันนอนหลับอย่างมีความสุขที่สุด สุขมากกว่าใด ๆ ในชีวิตของฉันเสียอีก... ฉันมั่นใจในความโชคดีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างสรรค์และฉันได้สวดอ้อนวอนพระองค์ ฉันเชื่อว่าเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ๆ ไม่เคยได้กำหนดชีวิต (หรือการแต่งงาน) ด้วยโอกาสแห่งความสุขเช่นนี้ ดังเช่นสามัญชนคนหนึ่งที่เหมือนกับคนอื่นๆ[72]

ภาพพระราชพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์กับเจ้าชายเลโอโปลด์ ภาพวาดขึ้นในปี ค.ศ. 1818

เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงประทับใจเจ้าชายเลโอโปลด์มาก และทรงตรัสแก่พระธิดาว่า เจ้าชายเลโอโปลด์ "มีคุณสมบัติทุกประการที่ทำให้ผู้หญิงมีความสุข"[73] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงถูกส่งกลับไปที่เครนบูร์นในวันที่ 2 มีนาคม โดยเจ้าชายเลโอโปลด์ยังทรงอยู่กับเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ ในวันที่ 14 มีนาคม ได้มีการประกาศในสภาสามัญชนซึ่งมีการโห่ร้องแสดงความยินดีจากทั้งสองพรรคทึ่โล่งใจว่าละครชีวิตความรักของเจ้าหญิงจะได้สิ้นสุดลงเสียที[74] รัฐสภาได้ลงมติมอบเงินจำนวน 50,000 ปอนด์ต่อปีแก่เจ้าชายเลโอโปลด์ จัดซื้อบ้านแคลร์มอนท์สำหรับทั้งสองพระองค์ และอนุญาตให้ชำระเงินสำหรับการตกแต่งบ้านด้วยค่าใช้จ่ายเพียงคนเดียว[75] เนื่องจากความกลัวที่จะเกิดความล้มเหลวในการหมั้นเช่นเดียวกับกรณีของเจ้าชายแห่งออเรนจ์ เจ้าชายจอร์จทรงจำกัดการติดต่อกันระหว่างเจ้าหญิงชาร์ลอตต์กับเจ้าชายเลโอโปลด์ เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เสด็จกลับมายังไบรตัน พระองค์อนุญาตให้ทั้งคู่พบกันเพียงในเวลาพระกระยาหารค่ำและไม่ทรงให้ทั้งสองพระองค์อยู่กันตามลำพัง[76]

พระราชพิธีเสกสมรสได้ถูกกำหนดในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1816 ในวันเสกสมรส ฝูงชนขนาดใหญ่เต็มกรุงลอนดอน ผู้เข้าร่วมงานมีความยากลำบากในการเดินทาง ในเวลาสามทุ่มที่ห้องวาดภาพคริมสัน ณ ตำหนักคาร์ลตัน เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงฉลองพระองค์ชุดนายพลอังกฤษเป็นครั้งแรก (เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงฉลองพระองค์ชุดจอมพล) ทั้งสองพระองค์ได้เสกสมรสกัน เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงฉลองพระองค์ชุดเจ้าสาวราคา 10,000 ปอนด์ เรื่องร้ายเพียงอย่างเดียวในระหว่างพระราชพิธี เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงได้ยินเสียงหัวเราะคิกคัก เมื่อเจ้าชายเลโอโปลด์ผู้ยากจนได้สัญญาต่อพระนางว่าจะทรงยกทรัพย์สมบัติมีค่าของพระองค์ทั้งหมดแก่พระนาง[77]

พระชนม์ชีพสมรสและสิ้นพระชนม์[แก้]

เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ออกัสตาและเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ พระสวามี วาดโดยจอร์จ ดาวี

ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปฮันนีมูนที่พระราชวังโอ๊ตแลนด์ ซึ่งเป็นที่ประทับของดยุกแห่งยอร์กในเซอร์เรย์ เป็นพระตำหนักที่ไม่ดีและเต็มไปด้วยสุนัขจากยอร์กและอบอวนไปด้วยกลิ่นของสัตว์ แต่เจ้าหญิงทรงเขียนถึงเจ้าชายเลโอโปลด์ว่าทรงเป็น "คู่พระทัยที่สมบูรณ์แบบ"[78] สองเดือนหลังจากการเสกสมรส เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้เสด็จมาเยี่ยมทั้งสองพระองค์ที่โอ๊ตแลนด์ พระองค์ทรงใช้เวลาสองชั่วโมงในการอธิบายรายละเอียดของเครื่องแบบทหารแก่เจ้าชายเลโอโปลด์ ซึ่งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงบันทึกว่า "เป็นสิ่งแสดงถึงอารมณ์ขันที่สมบูรณ์แบบที่สุด"[79] เจ้าชายเลโอโปลด์และพระชายาได้เสด็จกลับลอนดอนในช่วงออกงานสังคม และเมื่อทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังโรงละคร ทรงได้รับการปรบมือโห่ร้องอย่างหนักหน่วงจากผู้เข้าร่วมชมเช่นเคย และมีตัวแทนร้องเพลง "ก็อดเซฟเดอะคิง" เมื่อเจ้าหญิงทรงพระประชวรที่โรงละครโอเปร่าหลวง สาธารณชนได้กังวลต่อพระพลานามัยของพระนางอย่างมาก ได้มีการประกาศออกมาว่าพระนางทรงแท้งพระบุตร[80] ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1816 ทั้งสองพระองค์ได้ทรงเข้าประทับครั้งแรกที่แคลร์มอนท์[81]

แพทย์ประจำพระองค์ของเจ้าชายเลโอโปลด์[82] คริสเตียน สต็อกมาร์ (ต่อมาคือ บารอนสต็อกมาร์ เป็นที่ปรึกษาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต)[83] ได้เขียนว่าในช่วงเดือนแรกของการเสกสมรส เขาไม่เคยเห็นเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่ทรงสวมฉลองพระองค์ที่ดูเรียบ ๆ เช่นเคย และทรงมีรสนิยมที่ดี เขายังคงตั้งข้อสังเกตว่าพระนางทรงสงบเสงี่ยมมากขึ้นและทรงควบคุมพระองค์เองได้มากกว่าเดิม และทั้งนี้คาดว่าเป็นเพราะอิทธิพลของเจ้าชายเลโอโปลด์[82] เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงเขียนในภายหลังว่า "ยกเว้นในช่วงที่ฉันออกไปยิงปืน เราอยู่ด้วยกันตลอด และเราอยู่ด้วยกันได้โดยไม่เหนื่อยใจกันเลย"[84] เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงตื่นเต้นเกินไป เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงตรัสแต่เพียงว่า "Doucement, chėrie" ("เบา ๆ หน่อย ที่รัก";"Gently, my love") เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงยอมรับคำติเตือนโดยทรงปรับปรุงพระองค์และจะทรงเริ่มเรียกพระสวามีว่า "Doucement"[85]

คนโคบูร์ก ซึ่งเป็นคำที่ถูกเรียกเมื่อพวกเขาเดินทางมาอังกฤษ ได้ใช้เวลาในช่วงวันหยุดคริสต์มาสที่ Brighton Pavilion พร้อมกับพระราชวงศ์คนอื่น ๆ ในวันที่ 7 มกราคม เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้จัดงานเลี้ยงรื่นเริงเพื่อฉลองวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ครบ 21 พรรษา แต่กลุ่มคนโคบูร์กไม่ได้เข้าร่วม พวกเขาได้กลับไปยังแคลร์มอนท์และเลือกที่จะอยู่ที่นั่นเงียบ ๆ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1817 เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงแจ้งต่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการว่า เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพระครรภ์ และมีโอกาสว่าเจ้าหญิงจะทรงพระครรภ์ได้จนถึงกำหนด[86]

ภาพเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ วาดโดยเซอร์โทมัส ลอว์เรนซ์ ซึ่งเป็นภาพที่วาดก่อนพระนางจะสิ้นพระชนม์ในอีกไม่กี่วัน

การที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพระครรภ์เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก ร้านค้าต่าง ๆ ได้พนันถึงเพศของบุตรที่ประสูติมา นักเศรษฐศาสตร์คำนวณว่าการที่เจ้าหญิงทรงมีพระสูติกาลจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นสูงขึ้นถึง 2.5% และถ้าทรงมีพระประสูติกาลพระโอรสจะพุ่งขึ้นเป็น 6% เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงประทับอย่างเงียบ ๆ ทรงใช้เวลาส่วนมากในการประทับนั่งเพื่อให้เซอร์โทมัส ลอว์เรนซ์ได้วาดภาพของพระนาง[87] พระนางทรงเสวยอย่างหนักและทรงออกกำลังน้อย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1817 กลุ่มแพทย์ได้เริ่มต้นถวายการดูแลก่อนมีพระประสูติกาล พวกเขาได้วางกฎเกณฑ์การเสวยอย่างเข้มงวด โดยหวังว่าจะช่วยลดขนาดของบุตรที่ประสูติออกมา การอดอาหารและการเอาพระโลหิตออกในบางครั้งได้ทำให้พระพลานามัยของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรุดลง สต็อกมาร์ประหลาดใจในวิธีการรักษาที่ล้าสมัยนี้มากและเขาถูกปฏิเสธในการเข้าร่วมกับกลุ่มแพทย์ โดยเชื่อว่าการที่เขาเป็นชาวต่างชาติจะทำให้เขาถูกตำหนิเมื่อมีบางสิ่งผิดพลาด[88]

โดยส่วนมากเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงได้รับการถวายการรักษาวันต่อวันจากเซอร์ริชาร์ด ครอฟท์ ครอฟท์ไม่ใช่แพทย์หลวง แต่เป็นสูติแพทย์ หรือพยาบาลผดุงครรภ์ชาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ขณะนั้นนิยมในหมู่ผู้ร่ำรวย[89] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเชื่อว่าพระนางจะมีพระประสูติกาลในวันที่ 19 ตุลาคม แต่เมื่อเดือนตุลาคมสิ้นสุด ก็ไม่มีสัญญาณการประสูติของเจ้าหญิง และมีการกีดกันเจ้าชายเลโอโปลด์ออกไปเช่นเคยตามประเพณีในวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน[90] ในช่วงเย็นของวันที่ 3 พฤศจิกายน เจ้าหญิงทรงเริ่มมีพระอาการเกร็ง เซอร์ริชาร์ด ได้กระตุ้นให้พระนางทรงออกกำลัง แต่ไม่ให้พระนางเสวยใด ๆ ในเย็นวันนั้น เขาได้ส่งคนไปหาเจ้าหน้าที่ที่มาเป็นสักขีพยานและยืนยันการประสูติของพระบุตร จากวันที่ 4 พฤศจิกายนจนถึงวันที่ 5 เป็นที่แน่ชัดได้ว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่อาจมีพระประสูติกาลพระบุตรออกมาได้ ครอฟท์และแม็ททิว บาอิลลี แพทย์ประจำองค์เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ได้ตัดสินใจเรียกตัวสูติแพทย์คือ จอห์น ซิมส์[91] แต่ครอฟท์ไม่อนุญาตให้ซิมส์พบผู้ป่วยและมีการสั่งห้ามใช้คีมคีบ ตามที่พลาวเดนบันทึกในหนังสือของเธอว่า พวกเขาอาจจะพยายามช่วยชีวิตทั้งเจ้าหญิงและพระบุตร แม้ว่าจะมีโอกาสการสิ้นพระชนม์สูงเนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้ถูกใช้ก่อนยุคยาฆ่าเชื้อโรค[92]

ในเวลาสามทุ่มของวันที่ 5 พฤศจิกายน เจ้าหญิงทรงมีพระประสูติกาลพระโอรสซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ มีความพยายามอย่างเปล่าประโยชน์ที่จะรักษาชีวิตของพระโอรส และผู้สังเกตการณ์ได้ยืนยันว่าเป็นพระโอรสที่หล่อเหลา ซึ่งดูเหมือนกับพระราชวงศ์ พวกเขามั่นใจว่าพระมารดาทรงทำดีที่สุดแล้ว จากนั้นพวกเขาก็เดินออกไป เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ผู้อ่อนล้าทรงฟังข่าวอย่างสงบ และทรงกล่าวว่ามันเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เจ้าหญิงทรงบำรุงพระกำลังหลังจากที่พระอาการดูเหมือนจะฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว[93] เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงประทับอยู่กับพระชายาโดยตลอด เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเสพฝิ่นและทรงทรุดพระองค์ลงบนแท่นบรรทม[94]

ไม่นานหลังเที่ยงคืน เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเริ่มอาเจียนอย่างรุนแรงและทรงตรัสว่าทรงปวดท้องอย่างมาก เซอร์ริชาร์ดถูกเรียกมา เขาตกใจมากที่ผู้ป่วยมีพระวรกายเย็นเฉียบเมื่อเขาสัมผัส พระนางทรงหายใจลำบากและพระโลหิตไหลออก เขาพยายามประคบร้อนลงบนพระนาง ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับในสมัยนั้นสำหรับอาการตกเลือดหลังคลอด แต่พระโลหิตกลับไม่หยุดไหล เขาเรียกสต็อกมาร์และเร่งให้เขาไปพาเจ้าชายเลโอโปลด์มา สต็อกมาร์พบว่าเจ้าชายเลโอโปลด์ทรงยากที่จะปลุกให้ทรงตื่น และทรงพยายามต้องการพบเจ้าหญิง ทรงจับแขนของเขาแล้วตรัสว่า "พวกมันทำให้ฉันมึนไปหมด" สต็อกมาร์ออกไปจากห้อง เขาพยายามที่จะปลุกเจ้าชายอีกครั้ง แต่เขาถูกเรียกด้วยเสียงของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ที่ว่า "สต็อกกี้! สต็อกกี้!" เขารีบเข้าไปที่ห้องของพระนางและพบว่าพระนางสิ้นพระชนม์แล้ว[95]

ผลที่ตามมา[แก้]

พระพิธีฝังพระศพเจ้าหญิงชาร์ลอตต์

เฮนรี โบร์กแฮม ได้เขียนถึงปฏิกิริยาของสาธารณชนต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ว่า "เหมือนกับว่าทุกครอบครัวทั่วบริเตนใหญ่ได้สูญเสียลูกคนโปรดไป"[96] ทั้งราชอาณาจักรจมลึกอยู่กับความโศกเศร้า ผ้าลินินสีดำขาดตลาด แม้กระทั่งคนยากจนและคนไร้บ้านก็ยังผูกข้อมือด้วยผ้าสีดำและบนเสื้อของพวกเขา ร้านค้าปิดเป็นเวลาสองสัปดาห์ รวมทั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา, ศาลและท่าเรือ แม้กระทั่งซ่องการพนันก็ปิดในงานพระพิธีศพ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ[97] เดอะไทมส์ได้เขียนว่า "แน่นอนมันไม่ใช่ความไม่พอใจของเราต่อโชคชะตาจากพระผู้เป็นเจ้าที่มาถึง...มันไม่มีอะไรที่แสดงความไม่เคารพต่อความเศร้าโศกเสียใจสำหรับเภทภัยนี้"[98] การไว้ทุกข์เสร็จสมบูรณ์โดยผู้ผลิตริบบิ้นและสินค้าแฟนซีอื่น ๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสวมใส่ได้ในช่วงของการไว้ทุกข์) ได้ส่งคำขอไปยังรัฐบาลให้ย่นระยะเวลาการไว้ทุกข์ เนื่องจากพวกเขากลัวที่จะล้มละลาย[96] บันทึกที่เห็นต่างซึ่งเขียนโดยนักกวี เพอร์ซี บิซชี เชลลีย์ เขียนใน An Address to the People on the Death of the Princess Charlotte ชี้เห็นว่าการประหารชีวิตคนสามคนในวันหลังจากที่เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์จากข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาลนั้นต่างหากเป็นโศกนาฎกรรมที่เลวร้ายกว่า[99]

เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงนอนราบด้วยความโทมนัส และไม่ทรงสามารถมาร่วมงานฝังพระศพของพระธิดาได้ เจ้าหญิงคาโรลีนทรงทราบข่าวจากคนส่งข่าว พระนางทรงตกพระทัยและเป็นลมหมดสติ หลังจากทรงฟื้น พระนางทรงตรัสว่า "อังกฤษ เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในการสูญเสียลูกสาวสุดที่รักของฉัน"[100] แม้แต่เจ้าชายแห่งออเรนจ์ก็ทรงหลั่งพระอัสสุชลเมื่อทรงทราบข่าว และพระชายาของพระองค์ทรงมีรับสั่งให้นางกำนัลในราชสำนักไว้ทุกข์ด้วย[100] เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงได้รับผลกระทบที่มากที่สุด สต็อกมาร์เขียนในปีถัดมาว่า "เดือนพฤศจิกายนได้ทำให้บ้านที่แสนสุขกลายเป็นซาก และได้ทำลายความหวังและความสุขของเจ้าชายเลโอโปลด์ พระองค์ไม่ทรงเคยได้เยียวยาความสุขซึ่งทรงเคยได้รับในชีวิตสมรสที่แสนสั้นของพระองค์อีกเลย"[101] ตามบันทึกของโฮล์มที่ว่า "เมื่อไร้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระองค์ก็ไม่สมบูรณ์อีกเลย มันเหมือนกับว่าพระองค์ได้สูญเสียพระหทัยของพระองค์ไปแล้ว"[101]

เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงเขียนถึง เซอร์โทมัส ลอว์เรนซ์ ว่า

ชีวิตทั้งสองรุ่นหายไป หายไปในเวลาเดียว! ฉันรู้สึกเสียใจต่อตนเองแต่ก็ยังรู้สึกเสียใจต่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการด้วย ชาร์ลอตต์ของฉันไปจากประเทศนี้แล้ว ประเทศนี้สูญเสียเธอ เธอเป็นคนดี เป็นสตรีที่น่าชื่นชม ไม่มีใครรู้จักชาร์ลอตต์ได้ดีเท่าฉัน! มันเป็นการเรียนรู้ของฉัน เป็นหน้าที่ของฉัน ที่จะต้องรู้นิสัยใจคอของเธอ แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นความสุขใจของฉัน![102]

เจ้าหญิงทรงถูกฝังพร้อมพระโอรส ซึ่งถูกฝังอยู่เบื้องพระบาทของเจ้าหญิง ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ, ปราสาทวินด์เซอร์ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 อนุสรณ์ได้ถูกสร้างขึ้นโดยการลงนามของสาธารณชนในที่โลงฝังพระศพ[103] ไม่นานหลังจากที่ประชาชนเริ่มที่จะกล่าวโทษต่อโศกนาฎกรรมนี้ สมเด็จพระราชินีและเจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงถูกกล่าวหาว่าไม่ทรงอยู่กับพระนางในช่วงมีพระประสูติกาล แม้ว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงร้องขอให้ทั้งสองพระองค์[103] แม้ว่าการชันสูตรพระศพยังพิสูจน์ไม่ได้ หลายคนประณามครอฟท์สำหรับการถวายการรักษาต่อเจ้าหญิง เจ้าชายผู้สำเร็จราชการปฏิเสธที่จะตำหนิครอฟท์ แต่ในสามเดือนให้หลังหลังจากที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์ และขณะที่เขาอยู่กับหญิงสาวคนหนึ่ง ครอฟท์ได้หยิบปืนขึ้นมาและยิงตนเองจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต[99] เหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า "สามโศกนาฎกรรมการคลอดบุตร" (การตายของเด็ก แม่และแพทย์) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปฏิบัติการการคลอดบุตร โดยสูตินารีแพทย์ซึ่งมักจะถูกแทรกแซงตามความโปรดปรานในการใช้แรงงานที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานอุปกรณ์ใหม่ ๆ อย่างคีมหนีบ จะได้รับพื้นที่ในการทำงานมากกว่าผู้ที่ไม่ใช้[104]

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงไร้พระราชนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพระโอรสองค์เล็กสุดที่ทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นมีพระชนมายุมากกว่า 40 พรรษาแล้ว หนังสือพิมพ์ได้ปลุกเร้าให้พระโอรสของพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่ทรงเสกสมรสให้รีบเสกสมรส ดังเช่นกรณี พระโอรสองค์ที่สี่ของพระมหากษัตริย์คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรเธิร์น ทรงประทับอยู่ที่บรัสเซลส์ ซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่กับจูลี เดอ แซงต์-ลอว์แรงต์ พระสนม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงรีบเร่งปลดพระสนมและทรงสู่ขอเสกสมรสกับพระเชษฐภคินีในเจ้าชายเลโอโปลด์ คือ วิกตอเรีย เจ้าหญิงม่ายแห่งไลนิงเง็น[105] พระธิดาของทั้งสองพระองค์คือ เจ้าหญิงอเล็กซานดรินา วิกตอเรียแห่งเคนต์ ทรงได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรในที่สุด (ปี ค.ศ. 1837) หลังจากนั้นเจ้าชายเลโอโปลด์ทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม ทรงเป็นที่ปรึกษาทางไกลแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระนัดดา และทรงรับประกันความปลอดภัยให้พระนางอภิเษกสมรสกับ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและก็อตธา พระนัดดาอีกองค์ของพระองค์[101]

พระราชตระกูล[แก้]

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
16. พระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่
 
 
 
 
 
 
 
8. เจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
17. มาร์เกรฟวีนคาโรลีนแห่งบรันเดินบวร์ค-อันสบาค
 
 
 
 
 
 
 
4. พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
18. เฟรเดอริกที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
9. เจ้าหญิงออกัสตาแห่งซัคเซิน-โกทา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
19. เจ้าหญิงแม็กดาเลนา ออกัสตาแห่งอันฮัลท์-เซิร์บสท์
 
 
 
 
 
 
 
2. พระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
20. อดอลฟัส เฟรเดอริกที่ 2 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
 
 
 
 
 
 
 
10. ดยุกชาร์ล หลุยส์ เฟอร์ดินานด์แห่งเมคเลินบวร์ค
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
21. เจ้าหญิงคริสทีอานน์ เอมิลีแห่งชวาสบูร์ก-ซอนเดอส์เฮาเซน
 
 
 
 
 
 
 
5. ดัชเชสชาร์ลอตต์แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
22. เออร์เนสต์ เฟรเดอริกที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-ฮิลด์บูร์กเฮาเซน
 
 
 
 
 
 
 
11. เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อัลเบอร์ทีนแห่งซัคเซิน-ฮิลดบูร์กเฮาเซิน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
23. เคานท์เตสโซเฟีย อัลเบอร์ทีนแห่งเออร์บาช-เออร์บาช
 
 
 
 
 
 
 
1. เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
24. ฟรีดริช อัลแบร์ทที่ 2 ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล
 
 
 
 
 
 
 
12. คาร์ลที่ 1 ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
25. เจ้าหญิงอองตัวแนตแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล
 
 
 
 
 
 
 
6. คาร์ล วิลเฮล์ม แฟร์ดีนันด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
26. พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
13. เจ้าหญิงฟิลิปพิน ชาร์ลอตต์แห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
27. เจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียแห่งฮันโนเฟอร์
 
 
 
 
 
 
 
3. เจ้าหญิงคาโรลีนแห่งเบราน์ชไวก์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
28. พระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่ (=16)
 
 
 
 
 
 
 
14. เจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ (=8)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
29. มาร์เกรฟวีนคาโรลีนแห่งบรันเดินบวร์ค-อันสบาค (=17)
 
 
 
 
 
 
 
7. เจ้าหญิงออกัสตาแห่งบริเตนใหญ่
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
30. เฟรเดอริกที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนบูร์ก (=18)
 
 
 
 
 
 
 
15. เจ้าหญิงออกัสตาแห่งซัคเซิน-โกทา (=9)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
31. เจ้าหญิงแม็กดาเลนา ออกัสตาแห่งอันฮัลท์-เซิร์บสท์ (=19)
 
 
 
 
 
 

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Chambers, p. 6.
  2. Chambers, p. 7.
  3. Chambers, pp. 8–9.
  4. Chambers, pp. 10–12.
  5. Chambers, p. 13.
  6. Chambers, pp. 13–14.
  7. Chambers, p. 14.
  8. Williams, p. 24.
  9. Chambers, pp. 15–16.
  10. Williams, p. 26.
  11. Williams, p. 27.
  12. 12.0 12.1 12.2 Williams, p. 28.
  13. London Gazette & 16 February 1796.
  14. Plowden, pp. 32–33.
  15. Holme, p. 45.
  16. Williams, pp. 28–29.
  17. Plowden, pp. 43–44.
  18. Holme, pp. 46–47.
  19. 19.0 19.1 Chambers, p. 16.
  20. Plowden, p. 47.
  21. Chambers, p. 17.
  22. Chambers, pp. 18–19.
  23. 23.0 23.1 Holme, p. 53.
  24. Raessler, p. 133.
  25. 25.0 25.1 Holme, p. 69.
  26. Holme, pp. 62–63.
  27. 27.0 27.1 Chambers, pp. 26–29.
  28. Williams, p. 42.
  29. Plowden, p. 86.
  30. Williams, p. 50.
  31. 31.0 31.1 Holme, p. 68.
  32. Plowden, p. 88.
  33. Holme, p. 72.
  34. Plowden, pp. 94–95.
  35. Chambers, pp. 43–45.
  36. Williams, p. 51.
  37. Plowden, p. 102.
  38. 38.0 38.1 Williams, pp. 60–63.
  39. Chambers, pp. 39–40.
  40. Chambers, pp. 68–69.
  41. Plowden, pp. 130–131.
  42. Plowden, p. 132.
  43. Holme, pp. 122–123.
  44. Chambers, p. 73.
  45. Chambers, pp. 81–82.
  46. Plowden, pp. 134–135.
  47. Chambers, pp. 82–83.
  48. Chambers, p. 91.
  49. 49.0 49.1 Aspinall, p. xvii.
  50. Williams, pp. 88–89.
  51. Holme, pp. 196–197.
  52. Plowden, pp. 149–150.
  53. Plowden, pp. 156–160.
  54. 54.0 54.1 Plowden, pp. 161–163.
  55. Chambers, p. 120.
  56. 56.0 56.1 Smith, p. 163.
  57. Plowden, pp. 164–165.
  58. Holme, p. 177.
  59. Williams, p. 102.
  60. Holme, p. 183.
  61. 61.0 61.1 Holme, p. 186.
  62. Aspinall, p. 165; Williams, p. 107.
  63. Aspinall, p. 169; Williams, p. 107.
  64. Chambers, p. 138.
  65. Williams, p. 111.
  66. Plowden, p. 176.
  67. Plowden, p. 178.
  68. Plowden, p. 181.
  69. Holme, pp. 206–207.
  70. Holme, p. 210.
  71. Holme, p. 211.
  72. Holme, p. 213.
  73. Plowden, p. 187, "and the P.R. should have been an authority on the subject".
  74. Plowden, pp. 188–189.
  75. Chambers, p. 164.
  76. Holme, p. 215.
  77. Chambers, pp. 164–167.
  78. Holme, p. 223.
  79. Smith, p. 164.
  80. Holme, pp. 224–225.
  81. Chambers, p. 174.
  82. 82.0 82.1 Holme, p. 227.
  83. Pakula, p. 33.
  84. Chambers, p. 177.
  85. Holme, p. 228.
  86. Plowden, p. 201.
  87. Williams, p. 133.
  88. Chambers, pp. 188–189.
  89. Chambers, p. 1.
  90. Holme, pp. 237–238.
  91. Williams, pp. 134–135.
  92. Plowden, p. 206.
  93. Plowden, pp. 206–207.
  94. Williams, p. 136.
  95. Chambers, pp. 193–194.
  96. 96.0 96.1 Williams, p. 137.
  97. Holme, pp. 240–241.
  98. Plowden, pp. 208–209.
  99. 99.0 99.1 Williams, p. 240.
  100. 100.0 100.1 Williams, pp. 138–139.
  101. 101.0 101.1 101.2 Holme, p. 241.
  102. Chambers, p. 201, some references omit the word "also".
  103. 103.0 103.1 Chambers, p. 201.
  104. Gibbs et al. 2008, p. 471.
  105. Chambers, pp. 202–204.

อ้างอิง[แก้]

  • Aspinall, Arthur (1949). Letters of the Princess Charlotte 1811–1817. London: Home and Van Thal.
  • Chambers, James (2007). Charlotte and Leopold. London: Old Street Publishing. ISBN 978-1-905847-23-5.
  • Gibbs, Ronald S.; Danforth, David N.; Karlan, Beth Y.; Haney, Arthur F. (2008). Danforth's obstetrics and gynecology. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 978-0-7817-6937-2.
  • Holme, Thea (1976). Prinny's Daughter. London: Hamish Hamilton. ISBN 978-0-241-89298-5. OCLC 2357829.
  • Pakula, Hannah (1997). An Uncommon Woman: The Empress Frederick, daughter of Queen Victoria, wife of the Crown Prince of Prussia, mother of Kaiser Wilhelm. New York: Simon & Schuster. ISBN 978-0-684-84216-5.
  • Plowden, Alison (1989). Caroline and Charlotte. London: Sidgwick & Jackson. ISBN 978-0-283-99489-0.
  • Raessler, Daniel M. (2004). "Miles (née Guest), Jane Mary (c. 1762–1846)". ใน Matthew, H.C.G.; Harrison, Brian (บ.ก.). Oxford Dictionary of National Biography. Vol. 38. Oxford University Press. p. 133. ISBN 978-0-19-861388-6.
  • Smith, E.A. (2001). George IV. New Haven, Conn.: Yale University Press. ISBN 978-0-300-08802-1.
  • Williams, Kate (2008). Becoming Queen Victoria. New York: Ballantine Books. ISBN 978-0-345-46195-7.

เว็บไซต์อ้างอิง[แก้]