เขียดจิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขียดจิก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
อันดับ: Anura
วงศ์: Ranidae
วงศ์ย่อย: Raninae
สกุล: Hylarana
สปีชีส์: H.  erythraea
ชื่อทวินาม
Hylarana erythraea
(Schlegel, 1837)
ชื่อพ้อง
  • Hyla erythraea Schlegel, 1837
  • Rana erythraea (Schlegel, 1837)

เขียดจิก กบบัว เขียดเขียว หรือ เขียดบัว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylarana erythraea) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก ชนิดหนึ่ง ในวงศ์กบนา (Ranidae)

มีลำตัวด้านหลังและด้านข้างลำตัวสีเขียว ขอบด้านล่างของด้านข้างลำตัวสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดสีเข้มกระจายอยู่ที่ด้านข้างลำตัวกับบนหลังทางส่วนท้ายของลำตัว ขอบปากบนสีขาว ด้านท้องสีขาว แผ่นเยื่อแก้วหูสีน้ำตาล ขาหน้าและขาหลังสีน้ำตาลและมีแถบสีเข้มพาดตามความยาวของขา ขาหน้าเรียวและนิ้วตีนยาว ขาหลังเรียวยาวและนิ้วตีนยาว เมื่อพับขาหลังแนบกับลำตัวไปทางด้านหน้า ข้อตีนอยู่ในตำแหน่งช่องเปิดจมูก นิ้วตีนหน้าไม่มีแผ่นหนังระหว่างนิ้ว นิ้วตีนหลังมีแผ่นหนังเกือบเต็มความยาวนิ้ว

มีขนาดจากปลายปากถึงรูก้นประมาณ 70 มิลลิเมตร ลำตัวเรียว ผิวหนังลำตัวเรียบ มีแผ่นหนังหนา สีขาวหรือสีครีมขอบสีน้ำตาลเข้มค่อนข้างกว้างอยู่ที่ขอบด้านนอกลำตัว แผ่นหนังนี้เริ่มต้นจากด้านท้ายตาไปที่ส่วนต้นขาหลัง

ลูกอ๊อดมีขนาดตัวปานกลาง ลำตัวยาวและหัวแบน ด้านหลังสีเขียว ท้องและด้านข้างลำตัวสีน้ำตาลและมีลายร่างแหสีน้ำตาลเข็มที่ข้างตัว หางยาวและมีกล้ามเนื้อแข็งแรง แผ่นครีบหางใหญ่และมีลวดลายเป็นร่างแหสีน้ำตาลเข้ม ปากอยู่ด้านล่างแต่ค่อนข้างสูงขึ้นมาทางด้านหน้าของส่วนหัว ช่องปากเล็ก มีตุ่มฟัน ขอบของจะงอยปากบนและของจะงอยปากล่างมีรอยหยัก จะงอยปากล่างใหญ่กว่าจะงอยปากบน ลูกอ๊อดมีนิสัยการกินอาหารแบบผู้ล่าและมีพฤติกรรมล่าเหยื่อที่อยู่ในน้ำ

จัดได้ว่าเป็นสมาชิกในวงศ์นี้ที่มีขนาดเล็ก มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีกอพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เช่น บัว, จอกแหน, ผักตบ เป็นต้น หากินในเวลากลางคืน มีความว่องไวมาก พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค[2]

ภาพนี้ถูกถ่ายโดยนายแพทย์วรกานต์ รุ่งประเสริฐ ในพื้นที่แหล่งน้ำใกล้ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาส

เขียดจิก มีเสียงร้อง "จิ๊ก ๆๆๆๆๆ" ประกอบกับมักหลบซ่อนอยู่ตามกอบัว อันเป็นที่มาของชื่อ [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Hylarana erythraea". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.1. 2011. สืบค้นเมื่อ 30 August 2011.
  2. "เขียดจิก" (PDF).
  3. เขียด ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hylarana erythraea ที่วิกิสปีชีส์