เกเลน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดเกเลนในศตวรรษที่ 18 โดยเกออร์ก เพาล์ บัสช์

เกเลน (อังกฤษ: Galen; กรีก: Γαληνός, Galēnos; ละติน: Claudius Galenus; ค.ศ. 129[1] - ประมาณ ค.ศ. 200 หรือ 216) แห่งเพอร์กามอน เป็นแพทย์ชาวโรมันเชื้อสายกรีกซึ่งเขามีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ของตะวันตกมาเป็นเวลานานกว่าพันปี ชื่อหน้า "Claudius" ซึ่งไม่ได้ระบุเอาไว้ในเอกสารภาษากรีก ปรากฏอยู่ในเอกสารในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

ชีวิต[แก้]

เกเลนเกิดที่เมืองเพอร์กามอน (Pergamum), มีเชีย (Mysia) (ปัจจุบันคือเมืองเบอร์กามา (Bergama) ประเทศตุรกี) [1] เป็นบุตรของสถาปนิกที่มีฐานะชื่อ อียูลิอุส นิคอน (Aeulius Nicon) เขามีความสนใจในหลายๆ ด้าน เช่น เกษตรกรรม สถาปัตยกรรม ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ปรัชญา ก่อนที่สุดท้ายจะสนใจในวิชาการแพทย์

เมื่อเขาอายุ 20 ปี เขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยรักษาโรคของเทพเจ้าแอสคลีปิอุส (Asclepius) ในโบสถ์ท้องถิ่นเป็นเวลา 4 ปี แม้ว่าเกเลนจะสนใจศึกษาร่างกายมนุษย์ แต่การชำแหละร่างกายมนุษย์ในสมัยนั้นถือว่าขัดกับกฎหมายของโรมัน เขาจึงศึกษาในหมู เอป และสัตว์อื่นๆ แทน ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ศึกษาร่างกายมนุษย์ทำให้เขาเข้าใจอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ผิดไป ตัวอย่างเช่นเขาคิดว่า rete mirabile ซึ่งเป็นกลุ่มหลอดเลือดที่อยู่ใกล้ด้านหลังของสมองนั้นพบได้ทั่วไปในมนุษย์ แต่ความเป็นจริงแล้วโครงสร้างนี้พบได้เฉพาะในสัตว์บางชนิดเท่านั้น หลังจากที่บิดาของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 148 หรือ ค.ศ. 149 เข้าได้ออกจากเมืองเพอร์กามอนเพื่อไปศึกษาในเมืองสเมอร์นา (Smyrna), โครินธ์ และอเล็กซานเดรีย เป็นเวลา 12 ปี ในปี ค.ศ. 157 เกเลนได้กลับมาที่เมืองเพอร์กามอน และทำงานเป็นแพทย์ในโรงเรียนสอนกลาดิอาตอร์เป็นเวลา 3-4 ปี ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้รับประสบการณ์มากมายในการรักษาอาการบาดเจ็บโดยเฉพาะบาดแผล ซึ่งในเวลาต่อมาเขาเรียกว่าเป็น หน้าต่างที่เปิดเข้าสู่ร่างกาย (windows into the body)

เกเลนเป็นผู้ที่กล้าผ่าตัดในบริเวณที่ไม่มีใครกล้าทำ เช่น การผ่าตัดสมองหรือดวงตา ซึ่งแม้กระทั่งหลังจากยุคเกเลนเป็นเวลากว่าสองพันปีก็ไม่มีใครกล้าทำเช่นเขา ในการผ่าตัดต้อกระจก เกเลนได้ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายเข็มเข้าไปในหลังเลนส์ตา แล้วจึงดึงเครื่องมือไปทางด้านหลังเล็กน้อยเพื่อเอาต้อกระจกออก การดึงเครื่องมือไถลไปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ตาบอดถาวรได้

เกเลนย้ายไปที่โรมในปี ค.ศ. 162 ซึ่งเป็นที่ที่เขาบรรยาย มีงานเขียน และสาธิตความรู้ทางด้านกายวิภาคศาสตร์อย่างมาก เกเลนเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นในฐานะที่เป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ ทำให้มีนักเรียนมาเรียนกับเขามากมาย ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีกงสุลนามว่า ฟลาวิอุส โบเอธิอุส (Flavius Boethius) ซึ่งได้แนะนำเขาให้เข้าสู่อิมพีเรียล คอร์ท (imperial court) เกเลนได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของจักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius) แม้เกเลนจะเป็นสมาชิกของอิมพีเรียล คอร์ท แต่เกเลนกลับเลี่ยงที่จะใช้ภาษาละติน แต่พูดและเขียนภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาแม่ของเขา เกเลนเป็นแพทย์ที่ถวายการรักษาจักรพรรดิของโรมันหลายพระองค์ เช่น ลูซิอุส เวรุส (Lucius Verus) , คอมโมดุส (Commodus) , และเซพติมิอุส เซเวรุส (Septimius Severus) ในปี ค.ศ. 166 เกเลนได้เดินทางกลับเมืองเพอร์กามอน และอยู่ที่นั่น แล้วเดินกลับมาที่โรมครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 169

เกเลนใช้เวลาที่เหลือของชีวิตในอิมพีเรียล คอร์ท และทำงานเขียนและการทดลอง เขาได้ทดลองชำแหละสัตว์ที่มีชีวิตอยู่หลายชนิดเพื่อศึกษาหน้าที่ของไตและไขสันหลัง

มีรายงานว่าเกเลนใช้เสมียนจำนวน 12 คนในการจดบันทึกงานของเขา ในปี ค.ศ. 191 เกิดเพลิงไหม้ในวิหารแห่งความสงบ (Temple of Peace) เพลิงทำลายงานเขียนของเขาบางส่วน จากเอกสารอ้างอิงในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10 กล่าวว่าเกเลนน่าจะเสียชีวิตในราว ค.ศ. 200 แต่มีนักวิจัยบางคนแย้งว่ามีหลักฐานงานเขียนของเกเลนที่เขียนในราวปี ค.ศ. 207 ดังนั้นเกเลนน่าจะมีชีวิตหลังจากนี้ ปีที่เกเลนน่าจะเสียชีวิตที่มีการเสนอขึ้นคือในราวปี ค.ศ. 216[2]

มรดกของเกเลน[แก้]

มีการแปลงานของเกเลนจำนวน 129 ชิ้นเป็นภาษาอาหรับในราวปี ค.ศ. 830 - ค.ศ. 870 โดยฮุไนน์ อิบน์ อิชาก (Hunayn ibn Ishaq) และผู้ช่วย และมีการก่อตั้งแบบแผนของการแพทย์อิสลามขึ้นตามแนวคิดของเกเลนที่ยึดมั่นในการหาความรู้ทางการแพทย์อย่างเป็นระบบที่มีเหตุและผล ซึ่งแบบแผนนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วจักรวรรดิอาหรับ ชาวอาหรับนับถือเกเลนเป็นอย่างสูง[3] แต่ก็ไม่มีการผ่าตัดอย่างที่เกเลนเคยทำ ส่วนในโลกคริสเตียนตะวันตกมีการห้ามผ่าตัดเนื่องจากถือว่าเป็นบาปและเป็นพวกนอกศาสนา[4] หนังสือของมุฮัมมัด อิบน์ ซะกะรียะ ราซิ (Muhammad ibn Zakarīya Rāzi, เสียชีวิต ค.ศ. 925) ที่ชื่อ "Doubts on Galen" (ข้อสงสัยเกี่ยวกับเกเลน) รวมทั้งงานเขียนของ อิบน์ อัล-นะฟิส (Ibn al-Nafis) แสดงให้เห็นว่างานของเกเลนนั้นไม่ใช่งานที่ปราศจากข้อสงสัย แต่เป็นพื้นฐานที่น่าท้าทายสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ทำให้มีการศึกษาจากการทดลองและประสบการณ์เกิดเป็นความรู้และข้อสังเกตใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งที่ต่างไปจากของเกเลนและเพิ่มเติมเนื้อหาของเกเลนให้สมบูรณ์โดยแพทย์ชาวอาหรับ เช่น ราซี (Razi) , อาลี อิบน์ อับบัส อัล-มะจุซิ (Ali ibn Abbas al-Majusi, Haly Abbas) , อาบู อัล-กาซิม อัล-เซาะห์ระวิ (Abu al-Qasim al-Zahrawi, Abulasis) , แอวิเซนนา (Avicenna) , อิบน์ ซุห์ร (Ibn Zuhr, Avenzoar) และ อิบน์ อัล-นะฟิส (Ibn al-Nafis)

คอนสแตนตินชาวแอฟริกา (Constantine the African) เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยนำการแพทย์สมัยกรีกกลับไปยังยุโรป ผลงานการแปลงานของฮิปโปกราเตสและเกเลนของเขา ทำให้ชาวตะวันตกเห็นมุมมองการแพทย์ของกรีกทั้งหมดเป็นครั้งแรก[5]

ต่อมาในยุโรปยุคกลาง งานเขียนของเกเลนเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์กลายมาเป็นตำราหลักของหลักสูตรการเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัย แต่ก็มีอุปสรรคเนื่องจากการหยุดชะงักและความซบเซาของการศึกษา ในทศวรรษที่ 1530 นักกายวิภาคและแพทย์ชาวเบลเยียมชื่อว่า แอนเดรียส เวซาเลียส (Andreas Vesalius) ได้แปลตำราของเกเลนจากภาษากรีกเป็นภาษาละติน งานของเวซาเลียสอันมีชื่อเสียงชื่อว่า De humani corporis fabrica ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานเขียนของเกเลน เนื่องจากเวซาเลียสต้องการจะรื้อฟื้นวิธีการและทัศนคติการศึกษาของเกเลน เขาจึงทำการชำแหละร่างกายมนุษย์ถือเป็นการปฏิวัติปรัชญาธรรมชาติของเกเลน เวซาเลียสถือเป็นผู้รือฟื้นงานเขียนของเกเลนและทำให้เกเลนเป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านทางหนังสือและงานสอน ตั้งแต่มีการแปลตำราส่วนใหญ่ของเกเลนเป็นภาษาอาหรับทำให้ชาวตะวันออกกลางรู้จักและเรียกเขาว่า "Jalinos" (จาลินอส) [6] เกเลนเป็นผู้ที่สามารถจำแนกหลอดเลือดดำ (สีแดงเข้ม) ออกจากหลอดเลือดแดง (สีจางกว่าและเล็กกว่า) ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน โดยเชื่อว่าเลือดดำมีต้นกำเนิดมาจากตับ และเลือดแดงมีต้นกำเนิดจากหัวใจ เลือดจะไหลจากอวัยวะเหล่านี้ไปให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้นำไปใช้

การรักษาโรคเกือบทุกโรคของเกเลนโดยการผ่าเอาเลือดออก (bloodletting) มีอิทธิพลอย่างมากและมีการปฏิบัติจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Galen". Encyclopædia Britannica. Vol. IV. Encyclopædia Britannica, Inc. 1984. p. 385.
  2. Nutton, Vivian (May 1973). "The Chronology of Galen's Early Career". The Classical Quarterly. 2. 23 (1): 169. ISSN 0009-8388. สืบค้นเมื่อ 2007-07-02.
  3. How Greek Science Passed to the Arabs
  4. Ancient surgery
  5. Constantine the African
  6. Dear, Peter. Revolutionizing the Sciences: European Knowledge and Its Ambitions, 1500-1700. Princeton, NJ: Princeton University Press (2001) , 37-39.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

งานของเกเลน[แก้]

อื่นๆ[แก้]